จุดเริ่มต้น การรู้เท่าทันการสื่อสาร


ทักษะชุดการรู้เท่าทันการสื่อสาร และกระบวนการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร นี้ มิใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ผู้อยู่ในวงการศึกษา วงการครู และท่านที่เป็นครูล้วนแต่เข้าใจดีอยู่แล้ว ผู้รู้ในสาขานิเทศศาสตร์ท่านก็เข้าใจในมุมมองของการสื่อสารอย่างทะลุปรุโปร่ง อีกทั้งยังมีทฤษฎีมากมายกล่าวถึงเรื่องที่คล้ายๆกันนี้ เพียงแต่ท่านผู้รู้อาจเลือกใช้คำอื่นเพื่อสื่อความหมายเท่านั้น

 (1)

การรู้เท่าทันการสื่อสาร : ที่มา  (เฉพาะผู้เขียนบล็อกนี้)

ดิฉันโพสต์เรื่องการรู้เท่าทันการสื่อสารเป็นครั้งแรก ในเว็บไซต์วิชาการด็อตคอม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พศ.2548   ครูอาจารย์ผู้มีคุณวุฒิ และผู้รู้จากแดนไกลหลายท่านที่มี "วิญญาณครู" สูงมาก  ท่านเหล่านั้น ได้ให้คำแนะนำที่มีคุณค่าแก่ชีวิตดิฉัน 

"ครูไผ่"  เป็นท่านแรกที่อธิบายให้เข้าใจว่า  สิ่งที่ดิฉันกำลังทำ(หมายถึงสอนและฝึกเด็กๆมาโดยตลอด)นั้น  คือการสอนคนโดยวิธีฝึกให้คิดไตร่ตรอง 

 เป้าหมายสูงสุดของดิฉัน คือการฝึกคนให้เป็นคนดี 

 ดิฉันเริ่มต้นเขียนเล่าวิธีสอน การรู้เท่าทันการสื่อสาร  จากการตั้งกระทู้ในเว็บไซต์วิชาการด็อตคอมดังนี้

1.   กระทู้ ขอคำแนะนำ เรื่อง ..วิธีสอนแปลกๆ โพสต์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พศ.2548
2.   กระทู้ การรู้เท่าทันการสื่อสาร โพสต์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน2548 
3.   กระทู้ การรู้เท่าทันการสื่อสาร ( Communication Literacy) โพสต์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พศ. 2549

ดิฉันนึกถึงคำว่า  การรู้เท่าทันการสื่อสาร  ขึ้นมาก็เพราะ

1. ได้อ่านหนังสือจำนวนมากที่กล่าวถึงการรู้เท่าทัน  และได้อ่านเรื่อง  การรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) จากหลายที่ 
2.  ได้รับประสบการณ์ตรงจากการไม่รู้เท่าทัน  หลายๆครั้งเข้าก็เริ่มรู้ว่าถ้าเราอ่านเจตนาที่แท้จริงของเขา (ผู้ส่งสาร) ไม่ออก  เราก็จะตกเป็นเหยื่อเขาโดยง่าย

ดิฉันก็นึกขึ้นมาง่ายๆในวันหนึ่งว่า เราต้องรู้เท่าทันการสื่อสาร  และต้องสอนให้เด็กๆรู้เท่าทันกันการสื่อสารด้วย

แล้วก็นึกเป็นคำฝรั่งว่า  Communication Literacy    จะได้เข้ากับคำว่า Media Literacy  คือเมื่อมี การรู้เท่าทันสื่อ แล้ว  ก็ควรมี การรู้เท่าทันการสื่อสาร ด้วย จะได้อยู่เป็นชุดเดียวกัน  สอนเป็นกระบวนการกันไปเลย 

เมื่อปี พศ. 2548 ดิฉันลองใช้ google  ค้นคำฝรั่ง   Communication Literacy พบรายการคำค้นถึง 21,400,000 รายการ  แต่ไม่พบคำว่า การรู้เท่าทันการสื่อสาร  ในเว็บไซต์ของไทย 

ดิฉันค่อนข้างแน่ใจว่ามีหัวข้อเรื่องนี้ในรายวิชาของหลักสูตรนิเทศศาสตร์ประเทศไทย   แต่เนื่องจากการสืบค้นของดิฉันยังไม่ดีพอจึงค้นไม่พบข้อมูล เช่นหนังสือเรื่อง การรู้เท่าทันการสื่อสาร หรือบทความเรื่อง การรู้เท่าทันการสื่อสาร เป็นภาษาไทย ที่อาจมีผู้รู้ได้เขียนไว้ หรือนำเสนอผ่านสื่อต่างๆไปก่อนหน้านี้แล้ว

จุดมุ่งหมายแท้ๆของดิฉันที่โพสต์เรื่องนี้ ก็เพื่อหาครูภาษาไทยที่สนใจตรงกันจะได้สื่อสารกันได้ทันที   และเพื่อแสดงความรับผิดชอบหากข้อมูลผิดพลาด   ดิฉันจึงใช้ชื่อและนามสกุลจริง  และพร้อมที่จะแก้ไขปรับปรุงใหม่ให้ดี และไม่สงวนลิขสิทธิ์แต่อย่างใด 

ดิฉันมิใช่ต้นกำเนิดและมิใช่เจ้าของเรื่องการรู้เท่าทันการสื่อสาร   ดิฉันแค่นึกคิดอะไรไปเป็นที่สนุกสนาน และเล่าสู่กันฟังถึง เรื่องงานที่ดิฉันตั้งใจทำอย่างมีความสุขจนกว่าจะเกษียณ

ดิฉันรู้สึกขอบพระคุณกัลยาณมิตรทุกท่านในเว็บไซต์วิชาการด็อตคอมทุกครั้งที่เขียนเรื่องนี้ เพราะหากท่านเหล่านั้นไม่สละเวลาตอบคำถามหรือสนทนากับดิฉันด้วยความเมตตา ดิฉันคงต้องใช้เวลาวิ่งหาคำตอบเองด้วยความงุนงงสับสนจนตลอดชีวิต

ทักษะชุดการรู้เท่าทันการสื่อสาร และกระบวนการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร นี้ มิใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ผู้อยู่ในวงการศึกษา วงการครู และท่านที่เป็นครูมาก่อนดิฉันล้วนแต่เข้าใจดีอยู่แล้ว ผู้รู้ในสาขานิเทศศาสตร์ท่านก็เข้าใจในมุมมองของการสื่อสารอย่างทะลุปรุโปร่ง อีกทั้งยังมีทฤษฎีมากมายกล่าวถึงเรื่องที่คล้ายๆกันนี้ เพียงแต่ท่านผู้รู้อาจเลือกใช้คำอื่นเพื่อสื่อความหมายเท่านั้น

แต่ด้วยข้อจำกัดของตัวดิฉัน ซึ่งอ่านหนังสือมาน้อยและมีความรู้น้อย จึงไม่ทราบจะอ้างอิงหนังสือเล่มใด หรือเชื่อมโยงกับความรู้ที่เกี่ยวข้องชุดใด เท่าที่ดิฉันมีโอกาสได้อ่านหนังสือและตำราที่เขียนเป็นภาษาไทย ยังไม่พบคำนี้และการอธิบายความหมายเรื่องนี้โดยตรง

ดิฉันจึงได้แต่เขียนเล่าประสบการณ์  จากนั้นก็หัดทำวิจัยในชั้นเรียน เวลาสอนจะได้อ้างกับเด็กๆได้ว่าครูทำวิจัย(แผ่นนึง)แล้วเชียวนะ  แล้วก็กำลังหัดเขียนเป็นบทความอย่างง่ายให้เด็กๆอ่าน ให้หน้าตาดูเป็นเอกสารประกอบการสอน ความยาวตั้ง 13 หน้า  เด็กๆจะได้เลิกบ่นว่า "สอนอะไรก็ไม่รู้" เสียที .......

สุขุมาล จันทวี
หมายเลขบันทึก: 70448เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2007 14:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
ตามมาอ่านคร่าวๆ เพราะชอบความคิดนี้ค่ะ จะหาเวลามาช่วยวิเคราะห์วิจารณ์นะคะ ตอนนี้มีเรื่องต้องเตรียม แต่รับรองว่า จะไม่ทิ้งแน่นอนค่ะ เขียนต่อไปนะคะ เห็นแล้วว่ายังไม่มีใครมา comment แต่เชื่อว่าความคิดดีๆ เขียนไว้เถอะค่ะ ไม่หายไปไหน มีคนอ่านแน่นอน ถ้าเราคิด เราพูดในวงแคบๆก็จะเกิดผลน้อย ที่นี่แหละค่ะ เหมาะสมที่สุด ในที่สุดแล้ว สิ่งดีๆจะมีคนพบแน่นอนค่ะ เป็นกำลังใจให้นะคะ

ขอบคุณมากค่ะคุณโอ๋

ดิฉันจะตั้งใจเขียนเรื่อง การรู้เท่าทันการสื่อสาร ต่อไปจนกว่าจะถึงตอนจบค่ะ  ถึงแม้เรื่องนี้จะดูง่วงๆไปบ้าง  แต่คนเขียนยังมีกำลังใจเต็มเปี่ยม เพราะ Gotoknow เป็นพื้นที่แห่งมิตรภาพและการเอื้อเฟื้อแบ่งปัน  (เริ่มมาตั้งแต่ข้อคิดเห็นแรก  ..เริ่มต้นก็รู้สึกดีแล้วค่ะ)

สัญญามีตรามั่นก็จะเรียกกระดาษชิ้น
ละทิ้งธรรมมะสิ้น เพราะอ้างคำว่าจำเป็น
***************************

ตามไปอ่าน วิธีสอนแปลก ๆ มาค่ะ

ชอบค่ะ

เคยจดจำ*ครูคนหนึ่งของเราที่วิธีสอน "เหมือนไม่ได้สอน" ท่านหนึ่ง ท่านสอนภาษาไทยตั้งแต่น้องอยู่ประถมห้า เป็นโรงเรียนสอนพิเศษแบบการกุศล สอนธรรมะเป็นหลัก สอนเด็กนอกเวลา ไม่เลือกเด็กที่รับมาเรียนเลยค่ะ รับทุกคนที่มาเรียน ไม่เลือกชั้นวรรณะ,ไม่เลือกศาสนา (ศาสนาพุทธนี่ใจกว้างเป็นแม่น้ำ..)

นักเรียนใส่ชุดโรงเรียนกลางวันของตัวเองมาเรียนค่ะ สวมรองเท้าแตะได้

นักเรียนบางคนกลางวันไม่ได้เรียน คงมีความจำเป็น ก็ให้ใส่ชุดสุภาพหน่อยมาได้

ชื่อ"โรงเรียนยุวพุทธิกสมาคม" ตอนนั้นน้องอยู่ชลบุรีค่ะ

*ครูคนหนึ่ง คนนี้มีส่วนอย่างมากที่เป็นแรงบันดาลใจให้เรา ซึ่งเพิ่งจบการเรียนชั้นประถมต้นจากโรงเรียนจีนมา สนใจและชอบภาษาไทยมาก

ท่านมักจะนำรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ ติดมือมาที่โรงเรียน

ท่านให้เด็ก ๆ เขียนไทย คำไทยตามคำบอก

แล้วเมื่อเฉลยก็อธิบาย ความหมายของคำศัพท์นั้น ๆ
ท่านไม่ได้สอนสนุกขบขันมากนัก แต่ท่านมีความเมตตาปราณีเต็มเปี่ยม

เด็กคนไหนไม่มีดินสอ ท่านเอามาเผื่อและให้ไปใช้ที่บ้าน

ท่านแต่งกายเรียบร้อย สมถะ

....มีอีกมาก เขียนเป็นบันทึกน่าจะเหมาะสม...

แหมเกือบลืมบอกตอนสำคัญว่า เด็กหญิงเล็ก กวาดรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ เกือบทุกคืน

จนครูมากระซิบวันหนึ่งว่า "หนู ต่อนี้ไป ครูขอให้คนอื่น ๆ เขาแข่งกันนะ แต่ครูมีสิ่งละอันพันละน้อยแก่หนู นะครับ"

น้องจึงได้บทเรียนบทแรก ว่า

เรียนเพื่อรู้และการแบ่งปันมิใช่แข่งขัน..เสมอไป

  • การรู้เท่าทัน เป็นเรื่องที่จำเป็นมากสำหรับเด็กยุคใหม่ ซึ่งดูเหมือนว่า จะยังขาดมากเช่นกัน
  • มีการนำเรื่องนี้เป็นประเด็นสำหรับเด็ก เป็นกุศล
  • ผมเสนอวิธีหนึ่ง ที่ตัวเองใช้แล้ว คิดว่า กระตุ้นการเรียนรู้ได้พอสมควร
  • คือ เวลาเปิดทีวี ใช้วิธี "ปิดเสียง ดูภาพอย่างเดียว แล้วลองไตร่ตรอง"

 

มาสนับสนุนเหมือนเคยค่ะ

สำคัญที่สุดเลยเรื่องนี้

จะทำให้แก้ปัญหาในสังคมอีกหลายๆเรื่องได้โดยอัตโนมัติ

พี่แอมป์เคยทำงานหรือดูงานของสถาบันมายาที่เค้าทำโครงการเด็กไทยรู้ทันสื่อเมื่อหลายปีก่อนรึเปล่าค่ะ ที่คณะมัทเชิญทางทีมงานมาสอนนศ.ปี 3 น่าชื่นชมครูเหล่านี้มากเลยค่ะ น่าแนะนำให้เค้ารู้จักพี่แอมป์จริงๆ

อีกหน่อยพอค้น การรู้เท่าทันการสื่อสาร ในเว็บไซต์ของไทย ก็จะมีคำนี้ขึ้นเต็มไปหมดเลยเย้!

สวัสดีค่ะคุณหมอเล็ก

โอ้โห...  ขุดลงมาถึงก้นกรุเลยนะคะ แถมตามไปถึงต้นตออีกด้วย  พี่แอมป์ทึ่งคุณหมอเล็กจริงๆ !! 

ความประทับใจที่คุณหมอเล็กมีต่อคุณครูท่านนั้นน่ารักจังค่ะ  นี่คงเป็นแรงบันดาลใจครั้งสำคัญครั้งหนึ่งที่ส่งผลให้คุณหมอเล็กมีพื้นฐานทางภาษาไทยในระดับดีมาก  และคงส่งผลถึงพื้นฐานทางภาษาและจินตนาการของลูกภูด้วย  ..อย่างมีนัยสำคัญ.. : ) 

                    และข้อคิดสำคัญที่คุณหมอเล็กได้เรียนรู้จากคุณครูท่านนั้น

                    "เรียนเพื่อรู้และการแบ่งปันมิใช่แข่งขัน..เสมอไป"

                             เป็นข้อคิดที่งดงามนักนะคะ : )

ปล.  สมัยแรกๆที่พี่แอมป์เขียนเรื่องการรู้เท่าทันการสื่อสาร ที่วิชาการด็อตคอมนั้น มีผู้ร่วมสื่อสารที่อยู่ในสายวิทยาศาสตร์เป็นส่วนมากค่ะคุณหมอเล็ก ส่วนที่นี่ก็เริ่มมีผู้ร่วมสนทนาที่หลากหลายมากขึ้น แต่โดยภาพรวมแล้วก็ยังอยู่ในสายวิทยาศาสตร์  ทำให้พี่แอมป์รู้สึกทึ่งและประทับใจในมุมมองของผู้ที่ให้เกียรติแวะมาร่วมสนทนาอยู่เนืองๆ

และบันทึก"จุดเริ่มต้น การรู้เท่าทันการสื่อสาร" ที่พี่แอมป์เขียนอย่างมีความสุขและตรงกับใจตัวเองที่สุดนี้ ก็เป็นบันทึกที่ทำให้พี่แอมป์ได้เรียนรู้ว่า "การก่อร่างสร้างรูปความรู้และวิธีคิด เพื่อการให้,การแบ่งปัน และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน" นั้น  เป็นการสร้างความรู้ที่มีความสุขชะมัดเลย  เพราะไม่มีใครบังคับเรา และเราไม่ต้องไปบังคับใคร   เราสามารถเขียนเล่าในสิ่งเราทำจริงๆได้อย่างเปิดเผย  ตรงไปตรงมา  ตรงกับใจ   ไม่ต้องอยู่ใต้ระเบียบบังคับขององค์กรใดๆ  ไม่มีผลตอบแทนและผลต่างตอบแทนใดๆทั้งสิ้น มีแต่ตัวตนและความตั้งใจอันแน่วแน่(แบบบ้านๆ)ของเราที่จะพัฒนาตนเองและผู้ที่เรารับผิดชอบต่อไปอย่างเป็นธรรมชาติ เราไม่ไปอ้างสิทธิ์ในความรู้เพราะเราไม่ได้เป็นเจ้าของความรู้  แต่เราเป็นสมาชิกผู้ร่วมเรียนรู้คนหนึ่ง  ในเส้นทางแห่งการเรียนรู้เส้นนี้ 

...และเรียนรู้ร่วมกัน(..กับใครก็ได้...และกับทุกคน..)อย่างมีความสุขทุกวัน   ....ตลอดไป...
   
พี่แอมป์นึกขำๆว่าหาก การรู้เท่าทันการสื่อสาร หรือ Communication Literacy กลายเป็นวิชา  พี่จะออกแบบให้เป็นน็อนเครดิต อ่า..แบบ ผ่าน  กับไม่ผ่าน  ไม่มีเกรด และคนประเมินว่าผ่านหรือไม่   เป็นคนสองชุด คือหนึ่งครูที่โรงเรียน  สองพ่อกับแม่ที่บ้าน  ถ้าลูกไม่ผ่าน พ่อกับแม่ต้องเทคคอร์สใหม่  และเรียนได้ตลอดชีวิตโดยไม่ต้องจ่ายค่าลงทะเบียน  เป็นวิชาที่มหาวิทยาลัยคืนชีวิตจิตใจและจิตวิญญาณให้แก่สังคม  (ไม่ขอใช้คำว่า"คืนกำไร" คือพี่ไม่สบายใจถ้ามหาวิทยาลัยคิดเอากำไรจากสังคม   เพราะพี่ไม่เคยคิดว่าวิชาเป็นสินค้าที่ต้องใช้เงินเป็นเครื่องแลกเปลี่ยน) 


ขอบพระคุณจริงๆนะคะที่คุณหมอเล็กเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันอย่างรื่นรมย์   โอ้..โชคดีจริงๆที่มี G2K  เพราะทุกคนใจดีปล่อยให้พี่แอมป์บ่นไปยืดยาวอย่างเบิกบานโดยไม่ดุเลยสักคำ...
...แถมว่างๆยังเข้ามาร่วมขบวนบ่นกันอย่างสนุกสนานสมวัยอีกด้วย       คุยกันที่นี่มีความสุขจริงๆ...   อิอิอิ  : )

สวัสดีค่ะอาจารย์ wwibul P  ที่เคารพยิ่ง

 

 

  • แอมแปร์ดีใจที่สุดเลยค่ะที่อาจารย์แวะมา  และขอบพระคุณอย่างที่สุดค่ะสำหรับประโยคนี้ของอาจารย์
  • การรู้เท่าทัน เป็นเรื่องที่จำเป็นมากสำหรับเด็กยุคใหม่ ซึ่งดูเหมือนว่า จะยังขาดมากเช่นกัน มีการนำเรื่องนี้เป็นประเด็นสำหรับเด็ก เป็นกุศล
  • ถือเป็นคำพรจาก"ครู"ที่แอมแปร์เคารพรักยิ่งนะคะ
  • ความคิดเห็นของอาจารย์ทั้งในบันทึกต่างๆและในอนุทิน  เชื่อมโยงทั้งความ"รู้รอบ"และความ"รู้จริง"ในศาสตร์เฉพาะที่ลึกซึ้งแม่นยำ นำเสนอด้วยอารมณ์ขันที่เฉียบคม และสั้น กระชับ จับใจ
  • นึกถึงเรื่อง ยู่ อ๋า เว่นค่ำ ของอาจารย์ทีไร ยังขำกลิ้งเท่าเดิมไม่มีตกหล่น : ) 
  • แถมด้วยเรื่องทุเรียนและวัตถุอันตรายของอาจารย์ที่ทำให้แอมแปร์หัวเราะท้องคัดท้องแข็งทุกที  อารมณ์ขันของอาจารย์"เข้ม"จริงๆ
  • อาจารย์เป็นแม่แบบของการเขียนสื่อสารอย่าง "short clear and precise" ของแอมแปร์เลยค่ะ
  • วิธีกระตุ้นการเรียนรู้"เมื่อเปิดทีวี"  ด้วยการ  "ปิดเสียง ดูภาพย่างเดียว แล้วลองไตร่ตรอง" ของอาจารย์นั้น   "เฉียบ"มากค่ะ
  • การดูภาพเคลื่อนไหวจากโทรทัศน์เพียงอย่างเดียว  ไม่มีเสียงประกอบใดๆ  ผู้รับสารย่อมเกิดข้อสงสัย เกิดคำถาม และเกิดจินตนาการต่างกันไปตามกรอบความรู้และประสบการณ์ภูมิหลังของตน
  • ความไม่เข้าใจ  หรือความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน  มักเป็นสิ่งที่มนุษย์ทนไม่ได้  องค์ประกอบของสื่อที่ไม่ครบชุดนี้จะทำให้เกิดความอยากรู้  เกิดข้อสงสัย และนำไปสู่การพยายามคิดเชื่อมโยงและพยายามทำความเข้าใจ "มุมมอง"  ของผู้เลือกนำเสนอ"ภาพ"เหล่านั้น 
  • และจะนำไปสู่การ"แปลความ  ตีความ"ความหมายในระดับชั้นต่างๆอย่างละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น
  • โดยเฉพาะเมื่อมีครูคอยตั้งคำถามกระตุ้นการเรียนรู้ที่เหมาะสม
  • เป็นแบบฝึกหัดที่ทำให้เกิดวิจารณญาณ เกิดทักษะการรู้เท่าทัน และการรู้เท่าทันการสื่อสารที่ดีมากๆค่ะ  
  • ขอบพระคุณอาจารย์ wwibul  อย่างสูงค่ะที่แวะมาให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์ยิ่ง  และแอมแปร์ขออนุญาตนำไปใช้จริงแน่นอนในเทอมหน้า 
  • ได้ผลเป็นประการใดแอมแปร์จะรีบตรงรี่ไปรายงานอาจารย์โดยเร็วพลันนะคะ
  • ขอบพระคุณอาจารย์มากๆอีกครั้งค่ะ : )     

หวัดดีจ้ามัท

มัทหอบกำลังใจมาฝากพี่แอมป์อีกแล้วอะ  แต่พี่ก็รับอย่างหน้าชื่นตาบานเป็นจานติ่มซำเหมือนเคย
...โดยไม่ใคร่เขินอายเลย...  อิๆๆๆๆ

คำว่า "การรู้เท่าทันการสื่อสาร" นี้ พี่ชอบใจนักละ  เพราะพี่ว่ามันพูดง่ายดี  แต่ไม่ใคร่ติดปากคนแฮะ  หมายถึงคนที่พี่คุยด้วย   แต่พี่ก็ยังสนุกของพี่ต่อไป   เจอใครที่พอคุยด้วยได้พี่ก็คุยตามสมควร  ส่วนงานฝึกคนพี่ก็ทะลุ่มทะลุยทำไป  ชอบจังที่มัทบอกว่า   "อีกหน่อยพอค้น การรู้เท่าทันการสื่อสาร ในเว็บไซต์ของไทย ก็จะมีคำนี้ขึ้นเต็มไปหมดเลยเย้!"  โอ้..  ฟังแล้วคึกคัก ฮึกเหิม ได้อารมณ์เอ็มร้อยห้าสิบนะเนี่ย  ของพี่แอมป์ก็ได้แต่แจกฟรีทุกบันทึก  แบบว่าไม่สงวนกันแล้ว  แจกควีๆกันเห็นๆเลย.... อิอิ

นึกถึงหนังสือ "เลขคณิตคิดโดยวิธีนับ"ที่พ่อพี่แอมป์แจกตอนงานเกษียณทุกทีละ  พ่อบอกขำๆว่าตอนอยู่ในงานลูกศิษย์ชมว่าแหม..อาจารย์  อาจารย์เขียนดีจัง  พอเลิกงานหนังสือยังวางยิ้มอยู่ที่เก้าอี้เป็นตั้ง    จนบัดนี้ยังเหลืออยู่ที่บ้านอีกเป็นลัง  : )    แต่พ่อพี่ก็มิได้ย่อท้อ  ยังคงตั้งหน้าตั้งตาภูมิใจเสนอทฤษฎีเซ็ต คณิตศาสตร์ภาษาไทย  และรณรงค์ไม่ส่งเสริมให้เด็กไทยเรียนเลขด้วยวิธีนับทีละนิ้ว หนึ่ง สอง สาม สี่ ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง   ทั้งนี้ด้วยการสอนเลขสามเณรจนงุนงงเวียนหัวกันไปทั้งวัด  แต่เด็กเค้าเข้าใจแฮะ 

พี่นึกแล้วก็ขำๆดีละ  เพราะพี่ก็ออกแนวๆเดียวกับพ่อเหมือนกัน  พี่เชื่อว่าต้องฝึกเรื่องการรู้เท่าทันการสื่อสาร แก่เด็กที่"เรียนครู"อย่างครูอย่างเข้มข้น  เพราะพี่ห่วงอนาคตหลานพี่อะ  พี่เลยขอย้ายมาอยู่คณะครุฯทั้งที่ไม่เคยเรียนครู  ขอย้ายอยู่ตั้งสามปี จนเขาให้ย้ายหนนี้ถือเป็นบุญของพี่ ส่วนจะเป็นกรรมของเด็กหรือไม่ โปรดติดตามตอนต่อไป  แต่พี่ก็จะสู้สุดชีวิตของพี่ละ  สักวันค้นกุ๊กเกิ้ลเห็นคำนี้เต็มไปหมดเมื่อไหร่ พี่จะชวนน้องเจมาร้องเย้ๆกับป้าแอมป์ด้วยคน  อิๆๆๆ

โอ.."มายา" เหรอจ๊ะ ชอบๆ!!   ขอบคุณมัทมากจ๊ะ  พี่ต้องตามไปรบกวนถามข้อมูลมัทแน่นอน   พี่อ่านบันทึกเรื่องนี้ของมัทสองสามรอบแล้วและชื่นชมทีมงานของมัทจริงๆ   นักศึกษาทุกคนที่อยู่ในมหาชลาลัยมีสิทธิ์ที่จะเข้าใจโลกและชีวิตเหมือนๆกัน  คณะมัทไปไกลแล้วอะ (พี่ดีใจแทนเด็กๆจัง)  พี่อยากรู้จักและอยากเรียนเชิญทางทีมงานมายาเช่นกันจ๊ะ   ประทับใจในอุดมการณ์และชื่นชมในความสามารถของทีมนี้มานาน  แต่ไม่เคยคิดเรื่องลิ้งก์งานกันเลยเพราะทำไม่เป็นอะ   พูดจริงๆนะจ๊ะมัท    แต่ตอนนี้มาอยู่ครุศาสตร์แล้วพี่ก็พร้อมที่จะเริ่มลงมือลุยละ  อิอิ  

ก่อนหน้านี้ที่อยู่คณะ วจก. นักศึกษานิเทศศาสตร์รุ่นล่าสุดที่พี่เป็นที่ปรึกษารู้สึกจะไปอบรมกับมูลนิธิสื่อสีขาว  แล้วก็รันกิจกรรมอบรมนักศึกษาในนามสโมสรคณะ  พี่ได้แต่ฟังเด็กๆเล่า แต่ยังไม่เคยสัมพันธ์งานกับทีมลักษณะนี้  เด็กนิเทศฯเก่งกว่าพี่แฮะมัท เธอทำกิจกรรมฯลฯแล้วเธอก็ลิ้งก์คนหลายชุดเต็มไปหมด  ส่วนพี่ก็ได้แต่เชียร์ให้เธอทำงานเป็นทีม  พอฝึกทีมเสร็จแล้วเธอก็ไปออกค่ายไปทำอะไรต่อมิอะไรของเธอเอง ของพี่ฝึกเธอแบบบ้านๆเสร็จก็กลับบ้านไปนั่งตรวจงานเขียนของเธอกันตาลาย

นิสัยส่วนตัวของครูนี่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กมากเหมือนกันจ๊ะมัท  พี่มีข้อจำกัดมากจนกลุ้มใจตัวเอง  นิสัยที่ชอบอยู่คนเดียว ทำอะไรต่ออะไรคนเดียว มีโลกส่วนตัวสูง ไม่ใคร่สื่อสารกับใคร  ไม่ชอบเที่ยว   ไม่ทำกิจกรรม ไม่ชอบเข้าสังคม  และติดบ้าน   ทำให้โลกของพี่แคบเหลือเกิน โลกแคบๆนี้แหละทำให้พี่ไม่ฉลาด ไม่รู้เท่าทัน และทำให้พี่ต้องเดือดร้อนใจเพราะความฉลาดน้อย(แต่โฮ่มาก)ของตัวเองอยู่เนืองๆ  

และจะว่าไปแล้ว จุดเริ่มต้นของการคิดและเขียนเรื่องการรู้เท่าทันการสื่อสาร ก็เริ่มจากการไม่อยากฉลาดน้อยของพี่อีกแล้วนั่นเอง : )   

ดังนั้นแล้วก็ตกลงทันทีด้วยความยินดีเป็นที่ยิ่งจ๊ะ ก่อนอื่น พี่จะเริ่มประมวลข้อมูลเกี่ยวกับผู้เชี่ยวชาญด้านการรู้เท่าทันเหล่านี้ และนำเสนอคณะครุเพื่อจัดกิจกรรมที่จะเป็นประโยชน์สำหรับเด็กๆต่อไป คือที่จริงถ้าเด็กๆช่วยกันคิดและร่วมกันจัดได้พี่จะชอบใจมาก อิอิ  ที่ผ่านมาลูกศิษย์เก่งกว่าพี่แอมป์ทุกรุ่นเลยอะ  กิจกรรมสร้างคนให้เป็นผู้นำทั้งตนเองและผู้อื่นได้จริงๆนะเนี่ย  ฟันธง.. : ) 

ขอบคุณน้องสำหรับคำแนะนำและข้อคิดทุกอย่างที่ผ่านมานะจ๊ะมัท  พี่ดีใจแทนเด็กๆที่ได้เรียนกับมัทจริงๆ  พวกเขาโชคดีมากจริงๆนะจ๊ะ  : )   

ปล.พี่กำลังนับถอยหลังรอวันได้เห็นหน้าน้องเจด้วยเน้อ  : )   : )  : )  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท