การรู้เท่าทันการสื่อสาร ( Communication Literacy) คืออะไร


เป้าหมายของการฝึกทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร ก็เพื่อให้ผู้นั้นเป็นผู้มีวุฒิภาวะ เข้าใจโลก และรู้เท่าทันชีวิต

 (2)

การรู้เท่าทันการสื่อสาร ( Communication Literacy) : ที่มาและที่ไป

 

ทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร เป็นส่วนหนึ่งของทักษะการรู้เท่าทัน

(ในที่นี้หมายความถึง การรู้ว่าความจริงแท้ๆของสิ่งนั้นคืออะไร และรู้ว่าที่เห็น และเป็นอยู่นั้น ตรงตามความเป็นจริง หรือตรงตามที่ควรจะเป็น จริงหรือไม่ 

ทักษะการรู้เท่าทัน เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต

การฝึกทักษะชีวิต ก็น่าจะเริ่มได้ตั้งแต่ในครอบครัว

การรู้เท่าทันการสื่อสาร เป็นทักษะชีวิต    เป็นวิธีคิดที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กๆอย่างยิ่ง


ทักษะชุดนี้มีความเกี่ยวข้องกับนิเทศศาสตร์ ซึ่งเป็นศาสตร์ของการสื่อสารโดยตรง แม้จะมิใช่นิเทศศาสตร์กระแสหลัก แต่ก็เป็นกระแสนิเทศศาสตร์แห่งมโนสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม

ในฐานะที่การสื่อสารเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้สังคมดำรงอยู่และขับเคลื่อนไป การรู้เท่าทันการสื่อสาร ก็ควรมีบทบาทเป็นหนึ่งในปัจจัยภายในที่จะช่วยให้สังคมดำรงอยู่และขับเคลื่อนไปในวิถีที่ถูกต้องดีงาม

แม้ในประเทศไทย ขณะนี้ จะยังไม่ปรากฏวิชาการรู้เท่าทันการสื่อสาร เป็นวิชาเดี่ยวๆในหลักสูตรนิเทศศาสตร์ และยังไม่ได้ปรากฏชื่อเป็นวิชาพื้นฐานของสาขาวิชาใดก็ตาม แต่เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าผู้รู้และครูอาจารย์จำนวนมาก ท่านรู้และเข้าใจเรื่องนี้มาก่อนที่จะมีการโพสต์เรื่องการรู้เท่าทันการสื่อสาร ในเว็บไซต์วิชาการด็อตคอม  (และ ได้นำมาโพสต์เพื่อปรับปรุงเพิ่มเติมเนื้อหา  ใน Gotoknow นี้)

และหลายท่านคงได้กล่าวถึง หรือเขียนถึง ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่ท่านยังมิได้นำเสนอผ่านสื่อออนไลน์มากนักเท่านั้น

การรู้เท่าทันการสื่อสาร คือการที่ผู้สื่อสาร   รู้เท่าทันการสื่อสารทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การรู้เท่าทันจุดมุ่งหมายแท้ๆของผู้ส่งสาร รู้เท่าทันความหมายแท้ๆของสาร รู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันผลโดยตรงและผลกระทบสืบเนื่องของการสื่อสารครั้งนั้น รวมถึงการสามารถวางท่าทีต่อการสื่อสารครั้งนั้นๆ ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม มีการตัดสินใจเลือกท่าทีการสื่อสารที่เหมาะแก่สถานการณ์หรือภาวการณ์นั้น

เป้าหมายของการฝึกทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร   ก็เพื่อให้เป็นผู้มีวุฒิภาวะ เข้าใจโลก และรู้เท่าทันชีวิต 

ในระบบโรงเรียน หรือระบบมหาวิทยาลัย  วิธีฝึกคนให้รู้เท่าทันการสื่อสาร ทำได้โดยการใช้กลวิธีการสอนและการเลือกสถานการณ์อย่างง่ายในชั้นเรียน มาสื่อสาร ตั้งคำถามให้ผู้เรียนได้ฝึกการฉุกใจคิด และฝึกใช้วิจารณญาณในการคิด ฝึกทักษะการคิดไตร่ตรอง ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยฝึกให้ผู้เรียนเป็นเด็กฉลาด รู้จักคิด มีน้ำใจ กล้าคิดและลงมือทำ กล้าช่วยเหลือผู้อื่น(ในทางที่ถูก) ได้อย่างเต็มความสามารถและเป็นหนทางให้นำความฉลาดรู้จักคิดนี้ ไปปรับใช้กับชีวิตของตนในภายภาคหน้า

 

การฝึกการรู้เท่าทันการสื่อสาร ซึ่งได้นำเสนอในที่นี้ ได้ใช้วิธีการฝึกด้วยการสื่อสารระหว่างบุคคล หรือการสื่อสารระหว่างบุคคลกับกลุ่ม (แบบครูกับนักศึกษาสื่อสารกันในชั้นเรียน) ซึ่งเป็นการสื่อสารอย่างง่าย ใช้ทักษะการพูด  การโต้ตอบ การคิดแย้ง คิดไตร่ตรองทบทวน  การคิดอย่างมีวิจารณญาณ  การคิดโดยแยบคาย   การฟัง การอ่าน การเขียน ในชีวิตประจำวัน ผนวกกับการให้อ่าน ฟัง ดู และสร้างสื่อต่างๆ ตามสมควร

 

โดยตั้งความหวังไว้ว่า เมื่อผ่านกระบวนการฝึกเช่นนี้เป็นความถี่ซ้ำๆ(สอดแทรกให้ซึมซับ ควบคู่ไปกับการสอนเนื้อหารายวิชาใดๆก็ตาม) ด้วยจังหวะและเวลาอันเหมาะสมแล้ว เด็กๆที่ผ่านกระบวนการนี้มาอย่างต่อเนื่องเข้มข้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง น่าจะเกิดทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสารในชีวิตประจำวัน อันจะเป็นพื้นฐานต่อยอดไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีวุฒิภาวะ มีจิตสำนึกที่ดี และมีมโนธรรม

 

            .....นำไปสู่เป้าหมายสูงสุดของการฝึกทักษะชุดนี้  คือ การเป็นคนดี โดยเนื้อแท้ .......

                 การฝึกให้คน   รู้เท่าทันการสื่อสาร รู้เท่าทันโลก รู้เท่าทันชีวิต รู้เท่าทันทั้งจิตใจของผู้อื่น และจิตใจของตนเอง

                รวมถึงการฝึกให้เป็นผู้มีคุณธรรม มีจริยธรรม มีมโนธรรมและเป็นคนดีโดยเนื้อแท้นั้น ต้องอาศัยวิธีการที่หลากหลาย ต้องใช้เวลาต่อเนื่องยาวนานตลอดชีวิต และต้องแลกด้วยจิตวิญญาณแท้ๆของความเป็นพ่อ แม่ ครู และกัลยาณมิตร ที่รักและห่วงใยชีวิตเล็กๆทุกชีวิตที่อยู่ในความดูแลของเราด้วยใจจริงเท่านั้น

 

 

 


เรียบเรียงจาก กระทู้ การรู้เท่าทันการสื่อสาร (Communication Literacy)  เว็บไซต์วิชาการด็อตคอม 

หมายเลขบันทึก: 70450เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2007 14:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

*เป้าหมายของการฝึกทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร ก็เพื่อให้ผู้นั้นเป็นผู้มีวุฒิภาวะ เข้าใจโลก และรู้เท่าทันชีวิต

*การฝึกให้คน   รู้เท่าทันการสื่อสาร รู้เท่าทันโลก รู้เท่าทันชีวิต รู้เท่าทันทั้งจิตใจของผู้อื่น และจิตใจของตนเอง

********                    ********                   ********

พี่แอมป์คะ บันทึกนี้ ถ้าไม่ได้อ่านคงเสียใจมาก

พี่แอมป์เขียนไว้นานแล้วแต่น้องได้ใช้เป็นประโยชน์แล้วค่ะ

ได้คิด ไตร่ตรอง ว่าเป็นความคิดรวบยอดที่เรา-น้องน่ะค่ะ คิดว่า แม่,พ่อ,ครูและกัลยาณมิตร หรือใครอีกก็ตามต้อง "มี"  ความคิดที่จะฝึก ความคิดที่จะทำตัวเองให้เป็นแก้วว่างเปล่า หรือยังไม่เต็มเพื่อรองรับ ความรู้ การเรียนรู้ที่มีวิธีการที่หลากหลาย ต้องใช้เวลาต่อเนื่องยาวนานตลอดชีวิต และต้องแลกด้วยจิตวิญญาณแท้ๆ

 

......น้องเอง หลายต่อหลายประเด็นของความคิด ได้มาจากลูก-คนใกล้ตัว ซึ่งตัวเล็ก ๆ

บางครั้งเราตั้งใจเพียงแค่ฟังความคิดเขาดู

หรือเราคงเพียงแค่ จะพยายามเข้าใจและเรียนรู้ให้เท่าทันการสื่อสารแบบเด็ก ๆ ของเขา

...การณ์กลับกลายเป็นว่า เขาให้ความคิด ความรู้แก่เราในอีก..ใช้คำว่า อีกมิติหนึ่งก็แล้วกัน

ตัวอย่างไม่นานมานี้

แม่ไปงานโรงเรียนของเขา เราพูดคุยกันเรื่องจดหมายที่แม่เขียนถึงเขา และเรื่องเล่าเกี่ยวกับตัวเขาที่แม่เอามาลงเวบนี้

ทำนอง ขออนุญาตเขานั่นเอง..(เคารพในสิทธิส่วนบุคคลของเขาค่ะ)

เขาจึงจูงแม่ไปดูหนังสือเล่มหนึ่ง แล้วชวนคุยว่า

"แม่ที่แม่เขียนถึงน้องนั้น มันดีนะ ตรง ๆ ดี"

"แต่นี่ เล่มนี้ น้องสนใจ น้องอ่าน ๆ แล้วอยากแนะนำให้แม่ลองศึกษาดู แนวทางเขียนของคน ๆ นี้ เป็นแนวที่น้องชอบ และถ้าแม่ชอบ หรือลอง..ไม่ใช่ว่าcopyนะแม่  แต่น้องว่า เป็นแนว ๆ จิตวิทยาที่เหมือน ๆ เวลาแม่พูดคุยกับคนไข้ของแม่ คือบางทีบางอย่างน้องเห็นว่าแม่ไม่ได้พูดตรง ๆ แต่ฟังแล้วมันเข้าใจ"

แม่เองยัง งง ๆ

ต่อเมื่อเห็นหนังสือเล่มที่ว่า และหาซื้อกลับมาอ่าน จึงพอเข้าใจความคิดเห็น หรือถือเป็นความรู้อีกหนึ่งเรื่อง..จากลูกเราเอง เด็กวัยสิบขวบ

หนังสือเล่มนี้ และที่แม่ต้องไปหาซื้อมาอ่านเกือบครบ คือ หนังสือเขียนเรื่องและภาพ โดย จิมมี่ เหลียว

นักเขียนดังแล้วค่ะ..ตอนนี้

อืม..คืออย่างน้อย แม่กำลังคิดว่า การที่บางครั้งเราคิดว่า เราเป็นผู้ใหญ่ เป็นครู เป็นแม่  เรามีความหวังดี หวังอยากสอน..ตามที่พี่แอมป์เขียนไว้ว่า

*เป้าหมายของการฝึกทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร ก็เพื่อให้ผู้นั้นเป็นผู้มีวุฒิภาวะ เข้าใจโลก และรู้เท่าทันชีวิต

บางครั้งผลพลอยได้ เราเองแหละค่ะ คือผู้ได้ อานิสงส์นั้น ๆ (หรือได้รับการสอน) จากผู้ที่เรานึกว่าเราเป็นผู้สอนเขา น่ะค่ะ

 

ยาวยืดไปหน่อยนะคะ ;P

                รวมถึงการฝึกให้เป็นผู้มีคุณธรรม มีจริยธรรม มีมโนธรรมและเป็นคนดีโดยเนื้อแท้นั้น ต้องอาศัยวิธีการที่หลากหลาย ต้องใช้เวลาต่อเนื่องยาวนานตลอดชีวิต และต้องแลกด้วยจิตวิญญาณแท้ๆของความเป็นพ่อ แม่ ครู และกัลยาณมิตร ที่รักและห่วงใยชีวิตเล็กๆทุกชีวิตที่อยู่ในความดูแลของเราด้วยใจจริงเท่านั้น

ข้างบนตัดต่อผิดไปหน่อยนะคะ คือส่วนสุดท้ายตรงนี้

**รวมถึงการฝึกให้เป็นผู้มีคุณธรรม มีจริยธรรม มีมโนธรรมและเป็นคนดีโดยเนื้อแท้นั้น ต้องอาศัยวิธีการที่หลากหลาย ต้องใช้เวลาต่อเนื่องยาวนานตลอดชีวิต และต้องแลกด้วยจิตวิญญาณแท้ๆของความเป็นพ่อ แม่ ครู และกัลยาณมิตร ที่รักและห่วงใยชีวิตเล็กๆทุกชีวิตที่อยู่ในความดูแลของเราด้วยใจจริงเท่านั้น**

เป็นส่วนที่พี่แอมป์เขียนไว้และ เขียนดี ตรึงใจค่ะ

ควรอยู่ต่อจากข้อเขียนพี่แอมป์ที่ โค้ดมาน่ะคะ  ;P

สวัสดีค่ะคุณหมอเล็ก

  • โอ้โห..น้องภูคุยกับคุณแม่เหมือนผู้ใหญ่คุยกันเลยค่ะ
  • ที่เขาว่าเด็กคือผู้ใหญ่ตัวเล็กๆ ในมุมมองหนึ่ง..เห็นจะจริง 
  • เพราะบางทีเด็กเขาคิดได้อย่างชัดเจนและเป็นธรรมชาติกว่าผู้ใหญ่อย่างเราด้วยซ้ำ
  • และนี่กระมังคะ คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากคนที่เราเรียกว่า"เด็ก"
  • เพราะ"เด็ก..ไม่ได้เล็ก อย่างที่คิด" : )
  • ขอบพระคุณจริงๆที่คุณหมอเล็กแวะเวียนมาขุดกรุอย่างสนุกสนานนะคะ  พี่แอมป์ก็ตอบอย่างเบิกบานจนออกนอกหน้า 
  • สำหรับถ้อยคำที่โค้ดมา  ก็ทำให้พี่แอมป์อ่านเองซึ้งเองเป็นรอบที่เท่าไหร่ก็ไม่รู้  เพราะชอบท่อนนี้จริงๆ  มันตรงใจดี
  • ขอบพระคุณคุณหมอเล็กมากๆอีกครั้งนะคะ  : )
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท