รู้เท่าทันข้อสอบปรนัย


สิ่งสำคัญต่ออนาคตของเด็ก อยู่ที่คำสอน....มิใช่ตัวคนสอน

 (8)

รู้เท่าทันข้อสอบปรนัย

 

ครั้งหนึ่ง ในวิชาศิลปะการใช้ภาษาเพื่องานนิเทศศาสตร์ ดิฉันบอกเด็กๆว่าวันนี้ครูจะสอบ จงจัดเก้าอี้แบบห้องสอบ อย่างเร็วและเงียบ บัดเดี๋ยวนี้

เธอก็จัดเก้าอี้กันอย่างรวดเร็วเป็นโกลาหล..เสียงดังสนั่นหวั่นไหว
ไปถึงสำนักงานอธิการบดี

(แปลว่าเธอไม่เข้าใจเป็นอันขาดว่า ความเป็นห้องสอบ ...คืออะไร การจัดเก้าอี้ในฐานะที่เธอเรียนสาขาวิทยุโทรทัศน์ ที่ต้องทำงานในสตูดิโอออนแอร์ที่ต้องเร็ว และเงียบ และไม่ปล่อยเสียงแปลกปลอมใดๆให้หลุดรอดแม้แต่หนึ่งหวิว เพื่อภาพเด็ดในเสี้ยววินาทีที่นายทุนลงเงินไปเจ็ดสิบห้าล้าน ....คืออะไร)

เมื่อจัดเก้าอี้เสร็จ(ท่ามกลางความใจหายใจคว่ำของดิฉัน) เด็กๆก็นั่งคุยกันสบายใจเหมือนไม่ใช่ห้องที่พร้อมจะสอบ

ดิฉันเดินแจกกระดาษคำตอบแบบตัวเลือก และประกาศว่าจงกาเครื่องหมายทับตัวเลือกที่ถูก อย่าลอกกัน ให้เวลา 20 นาที
เอ้า...เริ่มได้

อนาคตของชาติทั้งหลายก็หันมองหน้ากันเลิ่กลั่ก เพราะดิฉันไม่ได้แจกข้อสอบ แต่บอกให้กาคำตอบได้ และทำเดี๋ยวนี้ ครูกำลังจับเวลา แล้วก็ยืนหน้านิ่ง จนเธอไม่กล้าถาม ต่างก้มหน้าก้มตากากระดาษคำตอบที่ไม่มีข้อสอบไปจนครบเวลา

ดิฉันบอกเธอว่าดีมาก ตานี้ครูจะเฉลยข้อสอบละนะ จงตรวจอย่างซื่อสัตย์ต่อตนเอง และเขียนคะแนนด้วย
ตอนเฉลยเธอก็เฮกันสนั่น เพราะทำถูกกันตามที่เฉลยตั้งหลายข้อ ทั้งที่ไม่มีข้อสอบสักข้อ

หลายคนทำถูกกว่ายี่สิบห้าเปอร์เซ็นต์ เหมือนที่อาจารย์นิรันดร์ว่า

วันนั้น ดิฉันรู้สึกว่านักศึกษา "เห็น" อะไรบางอย่างโดยที่ดิฉันไม่ต้องสอน ดิฉันเพียงแต่บอกเด็กๆว่า นี่คือเบื้องหลังของข้อสอบปรนัย
เบื้องหลังก็คือ ครูไม่รู้เลยว่าคุณกำลังคิดอะไร และแท้ๆที่คุณคิดน่ะ ครูก็ไม่รู้ว่าคุณรับผิดชอบสื่งที่คุณคิดได้หรือไม่ เพราะคุณแค่จิ้มๆเอา จากคำตอบสำเร็จรูปที่ครูจัดใส่ถาดหลุมมาให้
แล้วคุณก็ผ่านเข้าระบบมาได้

และข่าวดีนะ ครูก็ผ่านเข้าระบบมาได้ด้วยวิธีนี้แหละ สุดยอดเลย ครูนั่งหลับก็ยังตื่นมาจิ้มๆเอา แล้วก็ผ่านเข้าระบบมาได้
นี่คือวิธีที่ประหยัดเวลา ประหยัดทรัพยากร และทำให้เราคัดคนเก่งออกจากคนไม่เก่งได้ดีที่สุดในโลก ครูชอบวิธีนี้แหละ

ว่าแต่ ...เอ ถ้าคุณเป็นเจ้าของบริษัทผลิตสื่อ ที่กำลังตั้งต้นบุกเบิก คุณต้องคัดคนที่พิสูจน์ได้ว่าดีจริง คุณจะใช้วิธีเจ๋งๆ แบบนี้ไหม (เธอตอบสวนมาสิบกว่าคน ว่า "ไม่เอา"..)

ดิฉันเลยบอกว่าเอ้า.. ถ้าไม่เอาวิธีดีๆแบบเนี้ย งั้นช่วยหาวิธีที่แน่ใจว่าดีกว่ามาให้ด้วย เขียนตอบมา ให้เวลาสิบนาที!
ว่าแล้วเด็กๆก็เขียนกันสนุกสนาน หนนี้ถึงจะเลยเวลาพัก เธอก็เขียนกันจนลืมเวลา

ดิฉันจึงต้องเรียนอาจารย์นิรันดร์ว่า ถึงแม้จะไม่ยอมจำนน แต่ดิฉันก็จนใจที่จะตอบคำถามของอาจารย์ที่ว่าทำอย่างไรจะให้เด็กเผยความรู้สึกที่แท้จริง เพราะดิฉันคิดว่า บางที เด็กๆเองก็ยังไม่รู้เลยว่าตัวควรจะรู้สึกอย่างไรกับสิ่งนั้น

ในฐานะที่เป็นครู  ดิฉันคิดว่าครูจำเป็นต้องหาวิธีสื่อสาร ให้เด็กๆเข้าใจถึงคุณค่าแท้ของสิ่งที่เขากำลังทำ  แม้ว่าวันนี้ ครูจะเป็นคนน่าเบื่อในสายตาเด็ก  แต่วันหน้าเมื่อเด็กย้อนคิดทบทวน  เด็กจะหวนระลึกถึงคุณค่าของสิ่งที่ครูสอน  (แม้ว่าเด็กจะลืมไปแล้วว่าใครเป็นผู้สอน)

สิ่งสำคัญต่ออนาคตของเด็ก  อยู่ที่คำสอน....มิใช่ตัวคนสอน

แม้แต่ดิฉันเอง สมัยดิฉันเรียนเอกไทยแต่ใจรักหนังฝรั่งเป็นที่สุด (แต่กลับเอ็นท์ติดเอกไทย ก็เลยตามเลย) ถ้าอาจารย์ถามว่า ทำไมหนูมาเรียนเอกไทย ดิฉันคงงงอยู่พักนึง แล้วเอาเข้าจริงๆ ก็คงไม่กล้าตอบความจริงว่าหนูอยากเรียนเอกอังกฤษค่ะอาจารย์ แต่กลัวเอ็นท์ไม่ติด พี่สาวเลยเลือกเอกไทย ...แบบว่าเผื่อไว้

อาจารย์ภาษาไทยท่านหนึ่งบอกพวกเราเสมอว่า ชีวิตไม่ใช่สิ่งสำเร็จรูป ดิฉันเองก็เพิ่งเข้าใจตอนแก่

หากมองเป็นเส้นตรง ดิฉันก็คงเป็นหนึ่งในกลุ่มตัวอย่างของความล้มเหลวของการศึกษาในระบบด้วย...... ทุกวันนี้ยังระลึกถึงพระคุณครูและอาจารย์ทุกท่าน ที่เมตตาแจวเรือส่งดิฉันจนถึงฝั่ง

เมื่อต้องเปลี่ยนบทบาทจากคนนั่ง เป็นคนแจวเสียเอง ดิฉันจึงได้สำนึกว่ากรรมมีจริง เคยทำอะไรไว้กับครู ดิฉันก็ได้คืนมาจนครบ แต่ของแถมที่ได้ ก็ทำให้ดิฉันประทับใจและไม่คิดจะไปทำอาชีพอื่นใดในโลกนี้อีกแล้ว นอกจากอาชีพคนแจวเรือจ้างพายจ๋อมแจ๋มอย่างมีความสุขตลอดไป

 .......................................................................................................

 

หมายเหตุ   วิธีข้างต้นสอนนี้ พี่ชายดิฉันที่เป็นครูเหมือนกัน เล่าว่าเคยได้ยินมาว่าครูท่านหนึ่ง(แต่ไม่ทราบว่าเป็นท่านใด)ท่านใช้วิธีนี้ ดิฉันจึงขออนุญาตทำตามอย่างท่านค่ะ

ปรับเพิ่มเติมจาก เว็บไซต์วิชาการด็อตคอม กระทู้ ขอคำแนะนำเรื่องวิธีสอนแปลกๆ โดย  ดอกไม้ทะเล 
ตอบคำถามอาจารย์นิรันดร์  เรื่อง ทำอย่างไรให้เด็กเผยความรู้สึกที่แท้จริง
หมายเลขบันทึก: 70554เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2007 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 เมษายน 2012 16:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
คุณดอกไม้ทะเลประชาสัมพันธ์บล็อกให้เพื่อนๆและนักศึกษาเข้ามาอ่านกันไหมคะ น่าจะมีประโยชน์มากเลยนะคะ รวมทั้งน่าจะแนะนำให้พวกเด็กๆรู้จัก Learners.in.th ซึ่งเป็นแหล่งสร้างสรรค์สำหรับเด็กรุ่นใหม่อีกที่ค่ะ

ขอบคุณค่ะ คุณโอ๋

ดิฉันก็กำลังนึกว่าจะหาวิธีสื่อสารอย่างไร ให้ท่านที่สนใจเรื่องเดียวกัน ได้แวะเข้ามาคุยกันบ้าง

ส่วน Learners.in.th ดิฉันได้โพสต์บล็อก สอนนิเทศศาสตร์ PR 2 ไว้บ้างแล้วค่ะ  แต่ก็ยังเป็นโพสติ้งเงียบๆเหมือนเดิม

ดิฉันเคยบอกเด็กๆที่สอนให้ลองเข้าไปอ่านอยู่บ้างค่ะ แต่ก็คงมีน้อยคนที่จะอยากอ่าน  หรืออยากสื่อสารเรื่องแนวๆนี้  แรกๆดิฉันก็จ๋อยๆเหมือนกัน เพราะรู้สึกเหมือนนั่งพูดคนเดียว แต่หลังๆเริ่มชินก็เลยพูดคนเดียวได้เป็นหลายหน้า

สงสัยเพื่อนๆและเด็กๆคงเห็นว่าดิฉันบ่นเอ๊ยพูดย้าว..ยาว....เกินไปด้วยกระมังคะ  ก็เลยไม่ยอมอ่านไปเลย  :-)

 

สิ่งสำคัญต่ออนาคตของเด็ก อยู่ที่คำสอน....มิใช่ตัวคนสอน

ขอไม่เห็นด้วยสักครั้งนะคะ

 

หมอเล็กคิดว่า

คำสอน ตัวผู้สอน(ครู, พี่, เพื่อนร่วมอาชีพ หรือแม้กระทั่ง..คนไข้) ในสาขางานของหมอเล็ก ล้วนเป็นสิ่งสำคัญต่อ การเรียน การสอน อนาคตของ นักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล บุคลากรในสายงานอีกเยอะ...ค่ะ

ครูผู้สอน รุ่นพี่ เป็นผู้นำเรา เป็นคนต้นแบบต่อเรา เป็นคนสอนงานเรา

ดิฉันจำอาจารย์ท่านหนึ่งได้ขึ้นใจ ท่านไม่ดุเราในวันที่เราและเพื่อนเฮี้ยว ๆ สองสามคน คิดเอาเองว่า วันหยุดยาวสามวัน..โดดการเรียนข้างเตียงสักครึ่งคาบ ไม่ใช่ครึ่งวัน ไม่ใช่หนึ่งวันด้วย

ท่านสอนของท่านไปเรื่อย ๆ เราสามคนหนาว ๆ ร้อน ๆ

จนจบการสอนในวันนั้น ท่านถามเราด้วยเสียงและคำสอนเจือเมตตาว่า "ครูเข้าใจว่า คนไข้เขาป่วยกันนี่ เขาไม่มีวันหยุด จนกว่าเขาอาการดีขึ้น" "พวกคุณคงเข้าใจเหมือนผม"

โอ อยากแทรกแผ่นดินหนีกันทั้งสามคน

และจำขึ้นใจ

ท่านอื่น ๆ สอนเราอะไรบ้าง ได้เรื่องเขียนเป็นบันทึกแล้ว เอิงเงย..

สวัสดีค่ะคุณหมอเล็ก

อ่า..ทำไงดีอะคะ  เพราะพี่แอมป์ก็เห็นด้วยกับคุณหมอเล็กไปเฉยเลย : )   : )   : )  

เรื่องนี้น่าสนใจนะคะ  พี่แอมป์คิดว่า ความหมายอยู่ที่การตีความถ้อยคำภาษาของเราสองคน : ) 
"สิ่งสำคัญต่ออนาคตของเด็ก อยู่ที่คำสอน....มิใช่ตัวคนสอน"

ตามความเข้าใจของพี่  พี่เข้าใจว่าคุณหมอเล็กแปลความว่า " คนสอน (ไม่ว่าคนผู้นั้นจะเป็นใครก็ตาม) และความเป็น"ตัวแบบ"ของคนสอน ก็สำคัญเช่นกัน"
(ถ้าเข้าใจพลาดไปพี่แอมป์ขออภัยมณีด้วยนะคะ)

ส่วนพี่แอมป์ ตั้งใจจะหมายความว่า "ในฐานะผู้สอน เราต้องออกแบบคำสอนให้ดี เพื่อให้คำสอนของเราส่งผลต่อคุณค่าของอนาคตเด็ก  คือเด็กจะได้นำคำสอนที่ดีไปใช้  ส่วนตัวเราผู้สอนนั้นไม่สำคัญ  เขาจะลืมเราไปแล้วก็ไม่เป็นไร"    : )    

การตีความเช่นนี้สนุกนักเทียวค่ะคุณหมอเล็ก  การเขียนบล็อกเอื้อให้ผู้เขียนกับผู้อ่านสื่อสารวิธีคิดของตนได้อย่างเต็มที่  พี่แอมป์ชอบใจความน่ารักขอคุณหมอเล็กจริงๆที่บอกอย่างจริงใจว่า  "ขอไม่เห็นด้วยสักครั้งนะคะ"  พี่แอมป์ก็จะตอบว่า "ด้วยความยินดีเลยค่ะ"  : )  การได้คุยกับกัลยาณมิตรที่เป็นตัวของตัวเองและเป็นคน"คอเดียวกัน"นี้มีความสุขดีชะมัดเลยค่ะคุณหมอเล็ก  : )  

เห็นคอมเม้นต์ข้างบนของพี่โอ๋ก็ให้นึกถึงขึ้นมาทันทีด้วยเลยค่ะ ^_^  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท