สอนเขาที่ใจ


...คิดถึงคนข้างหลังเสมอ....

(31)

 

 

จุดมุ่งหมายของการฝึกนิสัย ก็เพื่อสอนเขาที่ใจ

ทุกครั้งที่ครูจะฝึก  ควรย้ำเด็กๆก่อนเสมอว่า ก่อนจะลงมือทำอะไรนั้น ขอให้ถามตัวเองตลอดเวลา ว่าเราเป็นใคร เรากำลังทำอะไร สิ่งที่เราทำไปนี้ สมควรไหม สมควรเพราะอะไร ไม่สมควรเพราะอะไร และจะทำอย่างไรจึงจะเป็นการสมควร


การฝึกนิสัย และฝึกทักษะพื้นฐานในการทำงาน ต้องควบคู่ไปกับการฝึกทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร ให้บูรณาการครบทั้งสามมิติ


ตัวอย่างการฝึกนิสัยและน้ำใจขั้นพื้นฐาน เช่น สอนให้มีน้ำใจช่วยครูถือของ ช่วยเพื่อนเรียงเย็บเอกสาร สอนให้รู้จักสงสารเห็นใจเมื่อครูสอนและไอแค้กๆ สอนให้มีน้ำใจไปหาน้ำมาให้ สอนให้ไม่หนีไปหาอะไรกิน เมื่องานส่วนรวมยังไม่เสร็จและเพื่อนยังทำงานงกๆๆ สอนให้รู้จักแบกหาม จัดโต๊ะจัดเก้าอี้ เช็ดถูเก็บกวาดเมื่องานเลิก สอนให้มาก่อน...และกลับเป็นคนสุดท้าย โดยเก็บขยะไปด้วย สอนไม่ให้อิจฉากัน แต่ให้รู้จักยินดีเมื่อเพื่อนได้ดี สอนไม่ให้มักได้ของผู้ใดทั้งสิ้น อยากได้แค่ไหนก็ต้องไม่หยิบ ไม่แตะเป็นอันขาด (คือหากฝึกอย่างนี้ เธอก็น่าจะรู้จักยับยั้งชั่งใจ รู้ว่าของผู้อื่นหรือคนของผู้อื่นเราก็จะไม่แย่งชิงมา) สอนให้เห็นวัสดุอุปกรณ์สำนักงานหรูๆรวยๆจำนวนมหาศาล ที่น่าจิ๊กเอามาเป็นสมบัติส่วนตัว แต่จะต้องยับยั้งชั่งใจได้ ไม่แตะอะไรเลยแม้แต่คลิปหนีบกระดาษอันเล็กๆ สอนให้รู้จักพูดอย่างฉลาด และระวังคำพูด รู้จักสื่อสารอย่างสุภาพนุ่มนวล คิดถึงใจคนฟังอยู่เสมอ สอนให้มีสมบัติผู้ดี (คือหนังสือเล่มนี้อาจจะดูโบราณไปบ้างแต่มีข้อคิดที่เหมาะแก่โลกปัจจุบันอยู่หลายประการ) สอนให้มีมารยาทนึกถึงผู้อื่นเมื่อนั่งร่วมโต๊ะอาหาร สอนว่าอย่าลืมกระดาษ ปากกา มีข้อมูลมาก็จดๆๆๆๆๆๆ สอนว่าจำดีกว่าจด ถ้าจำไม่หมดจดดีกว่าจำ เพื่อว่าจะได้นำข้อมูลไปสื่อสารได้ไม่ตกไม่หล่น สอนให้มีความรอบคอบ สอนให้อดทน เสียสละ และทำหน้าที่ของตนจนหยดสุดท้าย ฯลฯ เป็นต้น

เหล่านี้เป็นทักษะในการทำงานพื้นฐาน...ที่ครูจำนวนมากท่านก็สอนกันโดยปกติอยู่แล้ว

วิธีที่ยากขึ้นมาอีกขั้น คือให้ลงมือทำงานใหญ่  ฝึกให้คิดงานเป็นระบบ  ให้ถึงขั้นผลิตคู่มือการทำงานนั้นได้ (ฝึกการทำงาน)

 และสอนให้คิดถึงคนที่อยู่ข้างหลังเสมอ เป็นการฝึกน้ำใจ ความเสียสละ การรู้จักคิดถึงใจผู้อื่น ความไม่เห็นแก่ตัว ความมีจิตสำนึกต่อส่วนรวม ฯลฯ เป็นต้น   (ฝึกนิสัย ฝึกจิตใจ)

เป้าหมายในการฝึกให้ทำงาน  คือการฝึกคุณธรรม จากขั้นหยาบไปสู่ขั้นที่ละเอียดขึ้น จะเป็นงานเล็กงานน้อยแค่ไหนก็ใช้ฝึกได้หมด

โดยมีผู้สอนทุ่มทุนสร้าง ตามไปดูทุกเม็ดงาน วิพากษ์ทุกความเคลื่อนไหว ให้พิจารณาใจตนทุกขณะจิต ...ว่าเข้าไปนั่น

ดิฉันจะตั้งคำถามง่ายๆ ทีละเม็ดงาน ว่า เด็กๆกำลังทำอะไร ที่ทำไปนั้นกระทบใครบ้าง กระทบอย่างไร วิธีคิดของเธอ รอบคอบพอหรือยัง คิดรอบด้านหรือยัง คิดถึงคนอื่นหรือยัง หรือคิดถึงเฉพาะความต้องการของตัวคนเดียว

ดิฉันใช้วิธี   การตามงาน (คำฝรั่งเรียก follow up กระมังคะ) และ    การถามให้คิด ณ ขณะนั้น ได้ผลดีในระดับหนึ่ง คือได้ผลหน้างาน เธอก็ตอบฉอดๆๆๆตามที่เธอคิด ครูก็เสนอแนะไปตามที่ครูคิด คือบางทีก็คงต้องถกเถียงกันอยู่บ้างกว่าจะลงตัว บทเธอจะสู้ขึ้นมา เธอก็สู้ไม่ถอยเหมือนกัน แถมทำการบ้านมาอย่างดีจนดิฉันเถียงไม่ค่อยออกอีกต่างหาก

เด็กเก่งที่มีความมั่นใจในตัวเองสูง บางครั้งก็อาจมองข้ามรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่อาจส่งผลกระทบถึงขั้นวิกฤตในวันหน้า
เด็กไม่เก่ง ที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง แม้จะมีน้ำใจ ทำงานอย่างตั้งใจ ก็อาจมองไม่ออกว่าควรทำอะไรแค่ไหน ในขอบเขตใด
หรือเด็กที่ยังหาความถนัดจำเพาะของตัวเองไม่เจอ ก็อาจเฉื่อยเฉยชาเย็นไป เพราะคิดว่าตัวทำไม่ได้ ก็เลยไม่อยากทำ แล้วก็กลายเป็นคนไม่ทำอะไรไปเสียเลย

ส่วนครูไม่เก่งอย่างดิฉัน ก็เพียรพยายามบ่นๆดุๆ และฝึกให้เธอทำงานเล็กงานน้อยไปในแต่ละวัน สอนกันจากพื้นฐาน ไล่ตั้งแต่วินาทีแรกที่สบตาจนถึงวินาทีสุดท้ายที่ลับสายตา.......

โชคดีมากที่ดิฉันอยู่ไกลปืนเที่ยง เป็นคนบ้านนอก เด็กๆจำนวนหนึ่งก็มีฐานชีวิตมาแบบเดียวกับดิฉัน เธอจึงไม่หือไม่อือ เอาไงเอากัน อย่างมากก็แค่ส่งสายตารำคาญปนเบื่อหน่อยๆ(จนถึงเบื่อชะมัด) คล้ายๆจะบอกว่า ป้าแกจะฝึกอะไรกันนักกันหนา เรื่องเล็กๆแค่เนี้ย ชอบทำให้เป็นเรื่องใหญ่

แต่เธอหลายๆคนก็ยังเมตตาป้าขี้บ่นอย่างดิฉัน ด้วยการทำงานทะลุ่มทะลุยแบบถึงไหนถึงกัน ด้วยสปิริตของเด็กนิเทศศาสตร์ ซึ่งทำให้เอกไทยตัวเป็นๆอย่างดิฉันรู้สึกทึ่งในพลังของพวกเธอตั้งแต่รุ่นแรกที่ได้สอนมาจนถึงรุ่นปัจจุบัน

เวลาฝึกเด็กให้ทำงาน ดิฉันจำเป็นต้องฝึกให้เธอกล้าคิด กล้าตั้งคำถาม กล้าแย้ง และรู้จักประนีประนอมอย่างฉลาด และจะไม่ฝึกให้ยอมจำนนแล้วพูดว่า ครับ หรือ ค่ะ อย่างเดียว เป็นอันขาด เพราะนั่นอันตรายมาก...

ดิฉันจะยินดีมากกว่า ถ้าเธอโต้แย้ง...เพราะแสดงว่าเธอมีความคิด

...ดีกว่าให้เธอรับคำส่งๆไปพอให้พ้นตัว...เพราะไม่อยากปวดหัว ไม่อยากคิด

และ หากเธอพร้อมที่จะทำอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องคิดอย่างนี้...ดิฉันจะเสียใจมาก

แต่ขณะเดียวกัน ดิฉันจะเน้นเรื่อง “การคิดถึงคนที่อยู่ข้างหลัง” เสมอ คือดิฉันคิดอย่างง่ายว่า คนเรา ถ้ารู้จักรักคนอื่น รู้จักคิดถึงคนอื่น และมีน้ำใจ ก็จะน่าจะเห็นแก่ตัวน้อยลง ต่อไปการฝึกพัฒนาจิตใจให้เป็นมนุษย์ที่ดีก็ง่ายขึ้น วันข้างหน้าเขาจะไปฝึกอย่างไรก็สุดแล้วแต่ชะตาชีวิตของเขา

แต่ขณะที่เขาอยู่กับเรา เราก็ฝึกและสร้างพื้นฐานให้อย่างดีที่สุด เต็มความสามารถของเรา.......

 .....................................................

 ปรับเพิ่มเติมจาก เว็บไซต์วิชาการด็อตคอม กระทู้ การรู้เท่าทันการสื่อสาร (Communication Literacy ) ความเห็นเพิ่มเติมที่ 49  (14 ธ.ค. 2549)

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 81980เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2007 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2012 18:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • ตามมาอ่านครับ
  • เป็นเรื่องที่ดีมาก
  • ขอบคุณครับ

ขอบพระคุณค่ะอาจารย์ขจิต

ถ้าอ่านแล้วรู้สึกตาลาย  ต้องขออภัยด้วยนะคะ  ดิฉันจะพยายามปรับให้อ่านง่ายขึ้นค่ะ

ตัวเองเคยสงสัยว่า..เมืองไทยเราจะเป็นอย่างไรหนอ หากครู....ขาดความศรัทธาในวิชาชีพครู ...ขาดความละเอียดอ่อนในจิตวิญญาณความเป็นครู...ที่ควรจะต้องมี   ...บางทีครูเราก็มัวแต่เรียกร้องค่าตอบแทนที่สูงขึ้น โดยลืมคิดไปว่าเราได้ให้...กับลูกศิษย์ สมกับคำว่าครูแล้วหรือยัง

ขอบคุณแทนเด็กๆและขอบคุณแทนคุณครูท่านอื่นๆที่ทำให้รู้ว่า..ครูที่มีจิตวิญาณความเป็นครู ยังมีอยู่มากมายในแผ่นดินไทย และเราจะเป็นกำลังใจให้กันและกันตลอดไป

ดิฉันแวะไปเยี่ยมบล็อกครูแอ๊วมาแล้วค่ะ ....ดีใจจัง เรามีความทรงจำน้ำตาท่วมสนามเหมือนกันเลย

......คิดถึงโรงเรียนบ้านนอก (ชานเมือง) ที่มีน้องน้อยน่ารักสองร้อยกว่าคน  ตึกยังเป็นปูนเปลือย และมีครูใจดี 7 คน.......

ตอนรู้ว่าสอบบรรจุได้ดิฉันก็ร้องแงๆๆๆๆๆ  จนแม่ถามว่าสอบบรรจุได้นี่ไม่ดีใจหรอกหรือ 

ดิฉันตอบแม่ (ในใจ)ว่า "...เอาบ้านนอกของหนูคืนม้า..."    แล้วก็ร้องแง้ๆๆๆๆ...ต่อไปอีกยาวเลยอ่ะค่ะ

เข้ามาให้กำลังใจคนทำงานด้วยใจค่ะ เป็นเรื่องที่อ่านแล้วทำได้คิดเลยค่ะ

ขอบพระคุณค่ะอาจารย์ราณี...

ดิฉันได้มีโอกาสเห็นครูจำนวนมากท่านทำงานด้วยใจอย่างนี้  (โดยเฉพาะคุณครูประถมและคุณครูมัธยม)  จึงทำให้มีกำลังใจที่จะแจวเรือรับส่งท่านผู้โดยสารต่อไป   ....สนุกสนานไปอีกแบบค่ะ.... 

*...คิดถึงคนข้างหลังเสมอ....*

 

มาขอเติมนิดเดียวว่า คนข้างหลังที่ดิฉันเคยคิดถึง แม้เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ปัจจุบันเขาเป็นคนโต ดร.นายแพทย์, ผศ.นายแพทย์...ก็มี

 

และเขาเหล่านี้ มาช่วยหรือแนะให้เราคิด ทำงานจนลุล่วงก็มีมากมายก่ายกองค่ะ

สวัสดีค่ะคุณหมอเล็ก

พี่แอมป์ชอบจังเวลาที่คุณหมอเล็กเข้ามาเติมเต็มพร้อมเรื่องราวและประสบการณ์จริงในชีวิตทั้งเรื่องครอบครัวอบอุ่นและบุคคลแวดล้อม ทำให้มุมมองเรียบๆของพี่มีชีวิตชีวาขึ้นเป็นกอง
 
"...คิดถึงคนข้างหลังเสมอ...." เป็นแก่นของการฝึกเด็กๆของพี่แอมป์เลยค่ะ  พี่ชอบคนแบบนี้  พี่ก็อยากฝึกเด็กๆให้เป็นคนแบบนี้  พี่คิดว่าอยู่ใกล้ๆแล้วคงสุขใจดี 

พออ่านที่คุณหมอเล็กเล่า  พี่เลยมั่นใจขึ้นเป็นกองที่จะฝึกเด็กด้วยประโยคเรียบๆประโยคนี้

ขอบคุณคุณหมอเล็กมากๆเลยค่ะ : )

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท