องค์ความรู้ VS จิตสำนึกตระหนัก


(33)

 

การรู้เท่าทันการสื่อสาร : การเขียนให้เป็น องค์ความรู้ (Body of Knowledge) VS การสร้างให้เกิดจิตสำนึกตระหนัก

การรู้เท่าทันสื่อ หรือ Media Literacy , Media study ,Media Education ละเรื่อยไปถึง การรู้เท่าทันข่าวสารข้อมูล Information Literacy, IT Literacy, Health Literacy หรือแม้แต่วิธีคิดของ Postmodernism เรื่องวาทกรรม หรือวิธีคิดใดๆในแนววิพากษ์  ก็ยังจัดเป็นวิธีคิดชุดรู้เท่าทันได้ ฯลฯ  (หากมุมมองนี้ไม่ถูกต้องดิฉันต้องขออภัย และขอบพระคุณท่านผู้รู้ที่จะกรุณาช่วยท้วงติงนะคะ)


คำที่เกี่ยวข้องกับทักษะการรู้เท่าทันสิ่งต่างๆ ปรากฏการณ์ต่างๆ ได้ถูกแบ่งซอยย่อย เป็นเรื่องๆ แยกการรู้เท่าทัน แต่ละเรื่องออกจากกัน และมีเส้นแบ่งเขตแดนพอจะเห็นได้ชัด ว่าเป็นการรู้เท่าทัน “เรื่อง” อะไร

แต่ขณะนี้ คำว่า “การรู้เท่าทันการสื่อสาร” ในภาษาไทย นับถึง เดือนมกราคม พศ.2550 เท่าที่ดิฉันพยายามค้นหา online ยังไม่ปรากฏ เป็นคำวิชาการ ยังไม่มีการเขียนเป็นบทความวิชาการ หนังสือ หรือตำรา (ภาษาไทย) และเพราะขณะนี้โดยข้อจำกัดของตัวดิฉัน   ซึ่งอ่านหนังสือรวมถึงศึกษาค้นคว้าน้อยเกินไป จึงยังไม่อาจทราบได้ว่าขณะนี้มีท่านผู้รู้ท่านใดได้กล่าวถึงไว้เป็นวิชาการอย่างไรบ้าง    อาจมีผู้เขียนไว้มากแล้ว เพียงแต่ดิฉันยังค้นไปไม่ถึงเท่านั้น 


และอันที่จริง .....ความเป็นวิชาการนั้นดีตรงที่ว่าจะทำให้คำว่า "การรู้เท่าทันการสื่อสาร" นี้เป็นที่ยอมรับ แต่ก็ต้องทำใจว่าด้วยวิธีคิดให้เป็นวิชา ก็อาจจะต้องขีดเส้นกรอบแบ่งไว้ เพื่อให้บอกได้ว่าเป็นวิชาอะไร ทำให้วัดและประเมินทักษะนั้นได้โดยง่าย

ข้อกังวลเบื้องต้นคือการที่ ความเป็นวิชา มักจะ “สกัด” เอาเฉพาะองค์ความรู้ ( Body of Knowledge ) และประเมินค่าที่ความรู้ ว่าที่เรียนไปนั้น ผู้เรียน “รู้”อะไรบ้าง แต่อาจไม่ได้วัดไปถึงความตระหนักรู้ และจิตสำนึกที่ควรมีต่อความรู้นั้น

ขอประทานโทษเถิดนะคะ... คือบางทีก็ลืมจิตวิญญาณของความรู้นั้น ….ลืมคุณค่าแท้ๆของความรู้นั้น ว่าควรเป็นไปเพื่ออะไร !....

หากเราได้สอนเด็ก เราก็ไม่ควรลืมคุณค่าที่แท้จริงของ ทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร ว่าควรเป็นไปเพื่อฝึกคนให้ฉลาด รู้เท่าทันคน รู้เท่าทันจิตใจตนเอง รู้เท่าทันโลก และรู้เท่าทันชีวิต โดยมีจุดมุ่งหมายสูงสุดในการฝึกคือ เพื่อให้เป็นคนดีโดยจิตใจเนื้อแท้ และมีภูมิคุ้มกันในการทำความดี

......มิใช่ฝึกเพื่อให้เป็นคนฉลาด ลึกซึ้ง และรู้จักเอาเปรียบผู้อื่นได้อย่างแนบเนียนยิ่งขึ้น.... (โดยมิได้นึกละอายใจเลย)

ดังนั้น นอกจากจะฝึกทักษะ การรู้เท่าทันการสื่อสาร แล้วจึงต้องสอนนิสัย และฝึกจิตใจ คือสอนให้เป็นคนดี ควบคู่กันไปด้วยเสมอ จะยกเว้นไม่ได้เลยแม้แต่คนเดียว

แม้ในวันนี้ การรู้เท่าทันการสื่อสาร (Communication Literacy) จะยังไม่มีปรากฏชัดเป็นวิชาในหลักสูตรนิเทศศาสตร์ประเทศไทย หรือในหลักสูตรวิชาพื้นฐานทั่วไปของอุดมศึกษาไทย

ดิฉันก็ยังเชื่อว่า สักวันหนึ่ง เรื่อง การรู้เท่าทันการสื่อสาร (Communication Literacy) นี้ จะมีผู้รู้ทางด้านนิเทศศาสตร์ หรือด้านศึกษาศาสตร์ พัฒนาให้เป็นเนื้อหา เป็นงานวิจัย เป็นองค์ความรู้ และเป็นวิชาบรรจุอยู่ในหลักสูตร เหมือนเรื่อง การรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) ต่อไปได้ในอนาคต เมื่อผู้มีหน้าที่ร่างหลักสูตร เล็งเห็นคุณค่าและความสำคัญของทักษะชุดนี้

เมื่อถึงวันนั้น การรู้เท่าทันการสื่อสาร (Communication Literacy) ก็คงมีโอกาสวิ่งตามหลังหลักสูตรต่างๆหรือกลายเป็นทักษะพื้นฐานของการเรียนทุกระดับชั้นในระบบการศึกษาไทยในสักวันหนึ่ง

 ..................................................................

 

 ปรับเพิ่มเติมจาก เว็บไซต์วิชาการด็อตคอม กระทู้ การรู้เท่าทันการสื่อสาร
 (Communication Literacy) ความเห็นที่ 
64   (12 ม.ค. 2550)

 

หมายเหตุ  สำหรับมุมมองนี้ หากมีข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนใดๆนั้น ถือเป็นข้อบกพร่องในการนำเสนอของดิฉัน  ซึ่งต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ

 

หมายเลขบันทึก: 82118เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2007 23:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท