สิ่งที่ไกลกว่าเปลือกลูกอม


“...ทำไมไม่บอกไปตรงๆเลยว่าให้เก็บเปลือกลูกอมซะก็สิ้นเรื่อง...”

(35)

 

 

 ตัวอย่าง “การรู้เท่าทันการสื่อสาร : เปลือกลูกอม กับ จิตสำนึกสาธารณะ”

ตัวอย่างเล็กๆของความจำเป็นในการฝึกเรื่องวิธีคิดจิตสำนึกสาธารณะ ที่พอจะยกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ เช่น ครั้งหนึ่งในชั่วโมงเรียน ก่อนเวลาที่ดิฉันจะเข้าห้องสอน นักศึกษาที่นั่งรอเรียนอยู่แถวหน้า เห็นเปลือกลูกอมหล่นอยู่หน้าชั้นเรียนชิ้นหนึ่ง.......ตรงกับโต๊ะครูพอดี

.....แต่ไม่ได้มีใครลุกขึ้นมาเก็บเลย.....

ดิฉันไม่ทราบจริงๆว่าแท้ๆแล้วในใจในคอของเด็กๆคิดอะไรอยู่ แต่สิ่งที่ดิฉันกลัวก็คือการที่เด็กๆไม่ได้คิดอะไรเลย เพราะเห็นว่าไม่ใช่ความทุกข์ความเดือดร้อนที่กระทบตน

ทั้งที่การมีน้ำใจ ช่วยเก็บขยะเล็กๆน้อยๆในห้องเรียน ควรเป็นสามัญสำนึกของคนระดับอุดมศึกษา ที่จะนำไปสู่”จิตสำนึก”เรื่อง”จิตสาธารณะ”เบื้องต้น

วันนั้น ดิฉันกะว่าสอนเนื้อหาให้พอหมดตอน เหลือเวลาเรียนอีกราวยี่สิบนาที ดิฉันจึงถามนักศึกษาที่นั่งเก้าอี้แถวหน้าใกล้กระดานดำว่า เห็นอะไรไหมจ๊ะ?


เธอก็ตอบว่าเห็นครูบ้าง เห็นโต๊ะเก้าอี้ของครูบ้าง เห็นกระดานดำบ้าง เห็นเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะบ้าง ฯลฯ

ดิฉันก็ถามต่อว่า หลังจากที่มองเห็นอะไรต่อมิอะไรในระดับสายตาแล้ว ลองมองขึ้นบน มองลงล่าง มองทางซ้าย มองทางขวา มองข้างหน้า มองข้างหลังซิ...เห็นอะไรบ้าง?

เธอก็ตอบว่าเห็นนั่น เห็นโน่น เห็นนี่ ฯลฯ

ดิฉันตอบว่าดีมาก..... ถ้าเรามองให้รอบ เราก็จะมองเห็นอะไรๆได้มากขึ้น ในมุมมองที่กว้างขึ้น หลากหลายขึ้น ความหลากหลาย คือความแตกต่าง การเห็นว่ามีความหลากหลาย รู้ว่ามีความแตกต่าง แปลว่าเรารู้จักคิดเปรียบเทียบ

.......ซึ่งทำให้เด็กๆรู้ว่า อะไรเป็นอะไร และอะไรไม่ใช่อะไร ในระดับรูปธรรม

-------------------------------------------------------
หมายเหตุ : ประโยคที่ว่า อะไรเป็นอะไร และอะไรไม่ใช่อะไร ในระดับรูปธรรม
คำอธิบายท่อนนี้อาจเข้าใจยากสำหรับเด็กบางคน
ดิฉันก็จะชี้ไปที่ โต๊ะ พร้อมกับพูดว่า “อะไร”
และจับที่โต๊ะตัวเดิมนั้นอีกครั้ง เป็นการย้ำพร้อมกับพูดว่า “เป็นอะไร”
คือย้ำแบบตัวเป็นๆอีกครั้งว่า โต๊ะคือโต๊ะ

จากนั้นก็ชี้ที่เก้าอี้ พร้อมกับพูดต่อว่า “และ...อะไร”
แล้วกลับมาจับที่โต๊ะอีกครั้ง แล้วทำมือแบบท่าปฏิเสธว่าไม่ใช่ พร้อมกับพูดต่อว่า “ ไม่ใช่อะไร”
คือย้ำแบบเป็นตัวๆ ว่า เก้าอี้ ...ไม่ใช่โต๊ะ !...

แล้วก็คิดเอาเองว่าพูดแบบนี้เด็กน่าจะเข้าใจชัดขึ้น ขณะที่พูด ดิฉันก็ต้องสังเกตสีหน้าและอ่านสายตาเด็กๆ ว่าเธอเข้าใจที่ดิฉันพูดหรือไม่ (ดิฉันแอบหวังลึกๆว่าเด็กๆจะเข้าใจมากกว่าที่ตาเห็น)
---------------------------------------------------------


ดิฉันชวนคุยต่อว่า
การบอกได้ว่าอะไรเป็นอะไร ในระดับรูปธรรมนั้นง่าย เพราะเมื่อ “ตาเห็น”ก็บอกได้ว่าอะไรเป็นอะไร

เอ้า.....ทีนี้ลองฝึกคิดในระดับนามธรรมบ้าง

การคิดในระดับนามธรรม คือเห็นแล้วแปลความหมายของสิ่งนั้นได้ ให้คุณค่าแก่สิ่งนั้นได้ ประเมินค่าได้ สามารถมองเห็นคุณและโทษอันอาจจะเกิดจากสิ่งนั้น หรือเกิดจากการกระทำของเรา เมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้น และนำไปสู่วิธีทำได้ด้วยว่า เราควรทำอย่างไรกับสิ่งนั้น .....

เอาละ.....ทีนี้ลองช่วยกันคิดหน่อยซิคะว่า
1. อะไร? ควรมีอยู่ ควรปรากฏอยู่ ในห้องเรียน
2. อะไร? ไม่ควรมีอยู่ ไม่ควรปรากฏอยู่ ในห้องเรียน...

พูดถึงตรงนี้เด็กๆหลายคนก็เริ่มรู้เท่าทันแล้วว่าดิฉันจะบ่นเอ๊ยจะสอนเรื่องอะไร

....ส่วนผลข้างเคียงของการสอนลากยาวแบบนี้ คือเด็กบางคนซึ่งรู้อยู่แล้วว่าดิฉันต้องบอกให้เก็บเปลือกลูกอมแหงๆ.... ก็อาจรู้สึกรำคาญมาก ที่ดิฉันทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่อีกแล้ว กะแค่เก็บเปลือกลูกอมชิ้นเดียว...ทำไมต้องพูดให้เขาเสียเวลาเป็นสิบยี่สิบนาที


“...ทำไมไม่บอกไปตรงๆเลยว่าให้เก็บเปลือกลูกอมซะก็สิ้นเรื่อง...”

ดิฉันก็จะบอกต่อว่าหน้าที่ของครู ต้องฝึกวิธีคิดด้วย เพราะ “ ชีวิตไม่ใช่สิ่งสำเร็จรูป ”

หากว่าบางครั้งเด็กๆเห็นอะไรบางอย่างอยู่ตรงหน้า แล้วยังนึกเองไม่ออกว่าจะต้องทำอย่างไร แปลว่าน่าจะยังขาดวิธีคิด สมมุติว่าขาดวิธีคิด หรือวิธีคิด “พร่อง” เสียแล้ว ครูก็เกรงว่าจะจะส่งผลให้วิธีทำนั้น”พร่อง”ไปด้วย

หน้าที่และความรับผิดชอบของครูคือมาช่วยฝึกเสริม ช่วยฝึกให้เติมเต็มวิธีคิดและวิธีทำ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่ครูจะช่วยได้

การที่ครูเป็นผู้ฝึก ไม่ได้แปลว่าครูเก่งกว่าหรือเหนือกว่า ครูเป็นเพียงคนธรรมดา ที่ตั้งใจทำหน้าที่ แต่หากเป็นเพราะขาดฝีมือในการเลือกวิธีการสอน....บางครั้งจึงทำให้เด็กๆเสียเวลาไปบ้าง ครูก็ต้องขออภัยด้วย
จะว่าไปแล้ว ครูนั้นเปรียบเหมือนอู่ซ่อมรถ หน้าที่ของอู่ คือดูแลรถให้อยู่ในสภาพพร้อมสมบูรณ์ ไม่ว่ารถแบบไหนมาเข้าอู่ อู่ก็ต้องปรับให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด ตามศักยภาพของรถประเภทนั้นๆ

......แต่จะให้อู่ซ่อมรถไปวิ่งบรื๋นๆๆๆแข่งกับรถคงไม่ได้ อู่ก็ทำหน้าที่ดูแลซ่อมบำรุงไปให้ดีที่สุด....ดังนี้เป็นต้น

... แล้วพวกเธอก็นั่งยิ้มขำดิฉัน...

(สงสัยว่าเธอกำลังนึกเทียบครูที่ดูหน้าตาละม้ายไปทางอู่ซ่อมรถ...ดิฉันนึกแล้วก็ขำกิ๊กเหมือนกัน)

 

 ...............................................................

 ปรับเพิ่มเติมจาก เว็บไซต์วิชาการด็อตคอม กระทู้ การรู้เท่าทันการสื่อสาร (Communication Literacy)  ความเห็นที่ 68 (29 ม.ค. 2550)

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 82291เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2007 20:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • สวัสดีค่ะคุณดอกไม้ทะเล
  • ชื่นชมกับความคิด
  • ชื่นชมกับความเพียรพยายาม
  • ชื่นชมกับความอดทน
  • ชื่นชมกับการ"ให้"แก่ศิษย์ทุกเวลาค่ะ

 

 

อาจารย์แขไขคะ

ขอบพระคุณมากสำหรับกำลังใจค่ะ  .....ดิฉันอยากเขียนเล่า เรื่อง "การรู้เท่าทันการสื่อสาร"   ตามที่ได้ทำไป   ให้ครบความในเร็วๆนี้   และดีใจเสมอที่มีท่านผู้อ่านที่มองเห็นหัวใจดวงเดียวกัน

ดิฉันสัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่พรรณนามาทั้งหมดในบล็อกนี้ 

......ที่ข้อเขียนต่างๆ   ในบล็อกของอาจารย์ด้วยเช่นกันค่ะ..... :-)

 

พี่แอมป์ คะ เรื่องนี้อ่านหลายรอบแล้วค่ะ คิดว่าต้องคุยต่อยอดแตกแขนงไม่สั้น แน่ ๆ

จึงผัดผ่อนเอาไว้....

 

พี่แอมป์ใจเย็น และสมกับที่เป็นครู ค่ะเห็นด้วยมาก ๆ ตรงที่

*หน้าที่ของครู ต้องฝึกวิธีคิดด้วย เพราะ “ ชีวิตไม่ใช่สิ่งสำเร็จรูป ” *หน้าที่และความรับผิดชอบของครูคือมาช่วยฝึกเสริม ช่วยฝึกให้เติมเต็มวิธีคิดและวิธีทำ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่ครูจะช่วยได้

สิ่งนี้ ณ ปัจจุบันนี้ เราสองคนพ่อแม่ พยายามอย่างยิ่งที่จะฝึก ลูกศิษย์คนพิเศษ คนโปรดของเราคือ ลูก ให้ได้ก่อน

เช่น เมื่อเราเปิดร้านกาแฟ เราก็พาเขามานั่งร้านกาแฟ ให้เขาช่วยขาย ให้ลองคำนวณค่ากาแฟ ต้นทุน กำไรที่ควรได้ 

แอบถามเขาว่า วันนี้ขายดีหรือไม่ดี(เขาตอบตรงเกินไปด้วยซ้ำว่า..ขายไม่ดีเลยแม่)  แอบถามเขาว่า พี่คนช่วยขายแอบนอนหลับหรือเปล่า เขาก็ตอบด้วยมุมมองบริสุทธิ์ของเขาว่า แหม ไม่มีลูกค้ามา นอนบ้างมันผิดตรงไหน..นั่นสิเน้อ

กาลเวลาผ่านมาอีกยุค เราแม่, พี่ผู้ช่วย ต้องช่วยเพิ่มยอดให้ร้านด้วยการ ทำอาหาร..ขนมจีบ ซาลาเปา มาขาย

ลูกชายไม่ช่วยทำ แม่จึงให้เขาช่วยยืนเฝ้าโต๊ะที่วางขาย พร้อมบอกว่า เรียก เชิญชวนคนให้ซื้อหน่อยสิลูก ทำหน้าตาน่าสงสารหน่อย อย่าอาย..(อย่าอายทำกิน อย่าหมิ่นเงินน้อย...พูด ๆ จนเขาบอกว่า จำได้แล้วค้าบ)

มารู้สึกว่าสัมฤทธิ์ผลนิดหน่อยในวันหนึ่ง ที่เราขายหน้าร้านไม่หมด ลูกเสนอตัวเอาใส่กล่องไปขายเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน

ตอนเย็นแม่ไปรับ แบ่งให้เขาไปสิบกล่อง เขาส่งเงินให้แม่เก้าสิบบาท ขายกล่องละสิบบาท

หายไปสิบบาท

ยังไม่ไต่ถาม ลูกถามเราก่อนว่า

"แม่ เหลือสองกล่องสุดท้าย ครูมัท, ครูประจำภาษาไทย ขอต่อราคาว่า ซื้อหนึ่งแถมหนึ่งได้ไหม"

"น้องนั่งคิด ๆ แล้วว่า มันจะหมดเวลาว่างที่จะขายได้แล้ว เลยตัดสินใจลดราคาเอง แต่น้องบอกนะแม่ ว่า เฉพาะคุณครูมัท..คนพิเศษ"

แฮ่ม เกี่ยวกันมั้ยเนี่ย

เราลากให้เกี่ยวได้ทุก..บันทึกเลย

ฮา

 

 

คุณหมอเล็กคะดีจังค่ะ  การค้าขายไม่ใช่สิ่งที่น่าอายเลย ...

เรื่องเปลือกลูกอม ทำให้เด็กรู้ว่า อะไรเป็นอะไร และอะไรไม่ใช่อะไร ในระดับรูปธรรม จริงๆค่ะ อาจารย์คะ

P  แหมขอปลอมตัวเป็นเจ้าของบ้าน ใช้ห้องรับแขกก่อน อีกหน่อยตามไปใช้ห้องนอน..อิ อิ

 

ขอบคุณค่ะพี่ศศิ น้องเอง เมื่อเด็ก ๆ เคยได้รับการฝึกเรื่องค้เรื่องขายมาบ้าง

ที่จำได้ขึ้นใจคือ เราทอนเงิน บวกลบเงิน,คิดเปอร์เซ็นต์กำไร,คิดเปอร์เซ็นต์ ที่แม่มอบให้ต่อหนึ่งแพ็คของขนมที่แม่ทำขาย ได้เร็ว

ดีดลูกคิดเป็นจริง ๆ เพราะแม่สอน

และ..จนถึงเดี๋ยวนี้ ใคร ๆ แถวนี้เขาพอรู้ว่า ขนมจีบแม่อิ่ม..กินอร่อยและ..อิ่ม

 

(อาศัยรับแขกและอาศัยเป็นช่องทางโฆษณา..เอ๊ยสื่อสารข้อความหรอกนะคะ..พี่แอมป์)

สวัสดีค่ะคุณหมอเล็ก

พี่แอมป์ต้องขอโทษคุณหมอเล็กอย่างสูงนะคะ ที่เข้ามาตอบช้ามากเช่นเคย ดังที่ได้ออกตัวไว้อุตลุดในช่วงหลังนี้ว่างานยุ่งเป็นยุงตีแมงวัน แบบว่าพอถึงบ้านก็เน้นนอนไม่เน้นกิน  เปิดทีวีปั๊บก็หลับไปเลย  ปล่อยให้ทีวีดูไปอย่างมีความสุข  อิอิ

พี่แอมป์ชื่นชมคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเป็นของตนเอง : )  และเพียรฝึกลูกอย่างดีที่สุดทุกท่านเลยนะคะ  การฝึกคนตัวเล็กๆนี้มิใช่ของง่ายๆเลย ลูกสามารถเรียนรู้และซึมซับจากทุกคนและทุกสิ่งรอบตัวได้เสมอ  หากคุณพ่อคุณแม่มิได้ปลูกฝังแนวคิดและค่านิยมที่พึงประสงค์อย่างลึกซึ้งและหนักแน่น  โอกาสที่ลูกจะแกว่งไปตามสิ่งเร้ารอบข้างก็ง่ายดาย  

หลักสูตรร้านกาแฟของคุณหมอเล็กนี่เข้าท่าดีจัง  ลูกภูได้เรียนรู้จากของจริงอย่างนี้ถือเป็นโชคดีนัก ความละเอียดอ่อนและความใส่ใจของคุณหมอเล็กกับคุณพ่อของลูกภูนี้คงส่งผลต่อจิตใจของลูกภูอย่างลึกซึ้งนะคะ  หลายๆครั้งที่ลูกภูสื่อสาร พี่รู้สึกว่าหลาน"รู้คิด"เกินเด็กวัยเดียวกันไปเยอะ พี่คิดว่าลูกภูโตขึ้นเป็นหนุ่มน้อยช่างคิด ที่ละเอียดอ่อน ลึกซึ้ง  และมีจินตนาการกว้างไกลกว่าธรรมดา ดูจากภาษาที่ลูกภูคุยกับคุณแม่  ปลอบแม่(หรือเย้าคุณแม่) และแสดงความรู้สึกเป็นบทกวีหรือคำคม เห็นชัดว่ามีความสามารถพิเศษทางภาษา  ซึ่งหลานก็คงได้ลักษณะพิเศษนี้มาจากคุณพ่อคุณแม่ด้วย

พี่จึงเชื่อว่าลูกภูจะเป็นเด็กที่มองเห็นอะไรบางอย่างที่"...ไกลกว่าเปลือกลูกอม..."เป็นแน่แท้

: )

ขอบคุณมากๆอีกครั้งที่คุณหมอเล็กแวะมา และลากมาให้เกี่ยวกันจนได้ : ) ซึ่งพี่แอมป์ก็เห็นด้วยทุกประการเทอญ  เพราะมันเกี่ยวกันจริงๆ  การที่คุณพ่อคุณแม่ช่วยกันเสริม ช่วยกันเติมเต็มทั้งวิธีคิดและวิธีทำให้แก่ลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอเช่นนี้  ย่อมส่งผลให้ลูกเป็นคนฉลาดรู้คิดได้เป็นอย่างดี  

โดยเฉพาะกลยุทธ์การตลาดแบบมีส่วนลดที่ลูกภูบอกอย่างน่ารักว่า "..เฉพาะคุณครูมัท..คนพิเศษ.."  นี้...  ถูกใจป้าแอมป์จริงๆจ๊ะ  : )

P 

สวัสดีด้วยความระลึกถึงอย่างสูงค่ะคุณศศินันท์

แอมแปร์กราบขออภัยจริงๆค่ะที่ตอบช้าเพราะเพิ่งกลับมาและกลับมาแล้วก็เจออีกหลายงาน  ชีวิตนี้ไม่เคยได้ว่างจริงๆสักที  : ) 

ต้องขอบคุณคุณหมอเล็กด้วยค่ะที่ปลอมตัวมาตอบได้อย่างน่ารักยิ่ง 

แอมแปร์อ่านแนวคิดของคุณศศินันท์เรื่องงานแล้วชอบจังค่ะ การอ่านสถานการณ์ออกและตัดสินใจอย่างถูกต้องเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม เป็นทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสารของผู้มีประสบการณ์และมีวุฒิภาวะในการทำงาน  ซึ่งเป็นความปรารถนาสูงสุดของแอมแปร์  แต่ทำไม่ใคร่ได้สักที  โดยมากมักจะอ่านสถานการณ์ไม่ออกและตัดสินใจพลาด แต่ก็ได้ปลอบตัวเองว่าผิดเป็นครูเป็นคราวๆไป  : )  

คือบางทีแอมแปร์ก็มองไม่เห็น"เปลือกลูกอม"เสียเองบ้างเหมือนกันค่ะ

ขอบพระคุณมากและดีใจจังค่ะที่คุณศศินันท์แวะมาเยี่ยม  ขอคุณพระอำนวยพรให้คุณศศินันท์มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงทั้งกายและใจตลอดไปนะคะ

แอมแปร์ค่ะ : ) 

ใจเย็นจริงพี่ เป็นน้องก็จะบอกว่าวันนี้หักคะแนนจิตพิสัยคนละสิบคะแนน ส่วนที่ว่าโดนเพราะอะไรไปคิดเอาเองว่าเกิดอะไรผิดปกติในห้องนี้ ถ้าคิดไม่ได้จนถึงท้ายชั่วโมงก็ให้รายงานไปเขียนเรื่องจิตสำนึกสาธารณะคนละสิบหน้ากระดาษมาส่ง แล้วก็เดินไปเก็บเปลือกลูกอมทิ้งขยะเอง อิ อิ โหดไปมะพี่ โหดแบบนี้ถึงไม่ได้ไปสอนใครเขาไง ยิ่งเดี๋ยวนี้มหาวิทยาลัยใช้นักศึกษาประเมินอาจารย์ อาจารย์ก็มักจะต้องเกรงใจลูกศิษย์หมู่มาก กลัวเกิดม็อบปิดสี่แยกหน้ามหาวิทยาลัยจะทำให้อาสน์ร้อนก่อนเกษียณ ; P

หวัดดีจ๊ะซาน

น้องพูดเข้าเป้าเลย เรื่องประเมินอาจารย์นี่น่าสนใจจริงๆ  ว่าควรตั้งเป้าหมายว่าอย่างไร  ควรประเมินอะไร และควรมีวิธีการประเมินอย่างไร  เพราะถ้าประเมินแต่"ความพึงพอใจ"อย่างเดียว  ก็จบตั้งแต่ประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว  ใครบ้างจะชอบให้คนอื่นบังคับให้ทำในสิ่งที่ตัวไม่อยากทำ และน้อยคนเหลือเกินที่จะมีฉันทะวิริยะ ใฝ่รู้  สู้สิ่งยาก  ว่าแล้วก็ถอนใจซะอีกที  แต่พี่ก็ยังมีความหวังอยู่เสมอว่าเด็กจะเข้าใจครูที่เข้มงวดและเอาจริงกับการฝึกเพื่อให้เขาได้ดี  โดยหวังอีกทีว่าเขาจะสายตายาวจนเห็นสิ่งที่ไกลกว่าเปลือกลูกอม  คือถึงเขาจะเห็นตอนแก่ก็ยังดีกว่าไม่เห็นอะไรเลย

ว่าแล้วก็นึกชอบใจรายงาน"จิตสำนึกสาธารณะ" 10 หน้าของน้องขึ้นมาเฉยเลยแฮะ  ขออนุญาตอนุมัติในหลักการเปิดเทอมนี้ลูกศิษย์พี่เจอแน่  แบบว่าภูมิใจเสนอทั้งทฤษฎี(เขียนรายงาน)ทั้งปฏิบัติ (เก็บเปลือกลูกอมเอง) ไม่จำก็ให้รู้ไปเนอะซานเนอะ  อิอิ  : )  : )  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท