วิชา...ฝึกที่ใจ..!


“มองเห็นความจริงอย่างที่มันเป็น และเข้าใจเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดความจริงเหล่านั้น รวมถึงการวางท่าทีความสัมพันธ์ได้อย่างถูกต้อง” และตั้งเป้าแน่วแน่ไปเลยว่าฝึกที่ใจ

(43)

 

 

 

 

แนวคิดเรื่องการรู้เท่าทันการสื่อสาร 

Communication Literacy Concept

มุมมอง : การ  "ฝึก" ทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร เป็นวิธีการพื้นฐานวิธีหนึ่ง ของการ "ฝึก" คนในรั้วโรงเรียน ให้เรียนรู้ธรรมะด้วยวิธี "ฝึก" อย่างง่าย เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจและรู้เท่าทัน
 

เน้นที่ :  “การฝึก  วิธีคิด และคุณภาพของจิตใจ

ถ้ามองว่า การรู้เท่าทันการสื่อสาร เป็นการ “มองเห็นความจริงอย่างที่มันเป็น และเข้าใจเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดความจริงเหล่านั้น รวมถึงการวางท่าทีความสัมพันธ์ได้อย่างถูกต้อง”

คือเน้นที่การรู้เท่าทันธรรมดา ฝึกที่จิตใจโดยตรง ตั้งเป้าแน่วแน่ไปเลยว่าฝึกที่ใจ โดยมีบันไดขั้นต้นว่าต้องฝึกคนให้เป็นคนดี

ก็เห็นจะต้องจัด “การรู้เท่าทันการสื่อสาร” เข้าไปอยู่ในหมวด วัฒนธรรม ศีลธรรมและศาสนา ซึ่งดิฉันยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าที่ทำอยู่นี้ใช่หรือไม่ ได้แต่คิดจินตนาการไปแบบคนไม่รู้

แล้วก็ทำให้เพื่อนฝูงที่ปรารถนาดีต้องมาเป็นห่วงใย ...ว่าดิฉันออกจะเพี้ยนๆไปหน่อยๆเสียแล้ว

หากถามว่า ที่ผ่านมา ทำไมไม่สอนแนวพุทธ.... ด้วยคำพระ ก็เรียนว่าผู้สอน (คือตัวดิฉัน) ไม่ได้รู้เรื่องธรรมะอย่างลึกซึ้ง แต่รู้จักและเชื่อว่าดี

แล้วก็รู้อย่างดีว่าถ้ายืนพูดอะไรมะๆโมๆ ในห้องเรียน ไม่เกิน 15 นาที เด็กๆที่เคารพจะหลับกันยกห้องจนไม่รู้จะหักคะแนนใคร จึงต้องหาวิธีสอนแบบบ้านๆ ให้เธอหลับบ้างตื่นบ้างก็ยังดี

โดยส่วนตัว ดิฉันอยากจัดเรื่องการรู้เท่าทันการสื่อสาร ให้อยู่ในหมวดวิชาพื้นฐานของนักศึกษาอุดมศึกษา ระดับปริญญาตรี      เป็นคอร์สที่ คืออันที่จริงควรพูดว่า เป็นคุณสมบัติที่เด็กปริญญาตรี ต้องผ่านทุกคน  ผ่านแบบแรกแปลว่า ได้ผ่านการฝึกมาแล้ว  ผ่านแบบที่สองแปลว่า  ได้ผ่านการ "ทดสอบ" อย่างเป็นธรรมชาติ มาแล้ว ว่า เกิดทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสารจริงๆ

สุดท้ายก็จะออกมาเป็น คุณลักษณะบัณฑิต ที่พึงประสงค์  หรืออาจเรียกว่า สมรรถนะ หรือ competency หรืออะไรก็ตามที่ 

ขอเพียงแค่เด็กเกิดทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร  ก็จะเป็นคุณมหาศาลแก่ชีวิตพวกเขาแล้ว

เพื่อนถอนใจเฮือกๆแล้วก็บอกว่าอยากจัดเข้าสายใดก็ขอเชิญตามสบาย ขอแต่ให้โพสต์เรื่องนี้ให้จบ แล้วก็ไปทำผลงานวิชาการในวิชาที่สอนตามหลักสูตรได้แล้ว ชีวิตพวกเธอจะได้พบกับความสุขสงบเสียที

ดิฉันก็รับปากเธอว่าจะโพสต์ให้จบโดยเร็ว

 

........................................................................

 

ปรับเพิ่มเติมจาก เว็บไซต์วิชาการด็อตคอม กระทู้ การรู้เท่าทันการสื่อสาร (Communication Literacy)  ความเห็นเพิ่มเติมที่ 77  17 ก.พ. 2550

 

 

หมายเลขบันทึก: 82543เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2007 05:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

การฝึกที่ใจ

สี่คำ สี่พยางค์ แต่ยาก

ฟังคำพระแล้วคิดตาม อ่านของพี่แอมป์แล้วคิดตาม

มันครือ ๆ กันในบางส่วนนะคะ(ไม่ได้ชม พูดจากใจจริง,บ่งบอกถึงวัย..หมายถึงอย่างน้อยผู้เขียน...เอ้า...ผู้มาอ่านด้วย อย่างน้อยผ่านร้อนตับแตก,หนาว,และฝนมาหลายเพ-ลา อิ อิ)

บางท่าน..พระบอกว่า ฝึกเฉพาะเฝ้าดู สังเกตุ ใจ/จิต ดูว่ามันมา-ไป อย่างไร

บางท่าน..ว่า ดูจิต
บางท่าน..ว่าดูแต่จิตข้างใน อย่าส่งจิตออกข้างนอก ดูเฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไรเลย อย่าเพ่งเดี๋ยวติดเพ่ง อย่าเคลิ้มเดี๋ยวติดเคลิ้ม

หมอเล็กว่า (ฟังท่านกี่ท่านนับไม่ได้ อ่านอีกมากด้วย)ทางสายกลางดีที่สุด

และเรา(ตัวเอง)ก็ยังเป็นปุถุชน

จะเหมือนที่พี่แอมป์เขียนว่า..ผ่านแบบที่สองแปลว่า  ได้ผ่านการ "ทดสอบ" อย่างเป็นธรรมชาติ มาแล้ว ว่า เกิดทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสารจริงๆ

หรือเปล่าหนอ

 

คุยให้ฮง ๆ แค่นี้ค่ะ คืนนี้ รตสว ค่ะ

 

P สวัสดีค่ะคุณหมอเล็ก

 

 

 

พี่แอมป์เจอคนอ่านที่ลึกซึ้งกว่าคนเขียนแล้วนะคะเนี่ย 

ที่ท่านว่า"จิตเป็นกาย  นายเป็นบ่าว"  พี่มานึกดูตรองดูหลายทีเข้าก็เห็นจริง  ถ้าเรารู้เท่าทัน ฝึกใจได้  พี่ว่าเราจะมีความสุขขึ้นอีกอักโข  ทั้งที่ถ้อยคำที่เขียนไปนี้

       “มองเห็นความจริงอย่างที่มันเป็น และเข้าใจเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดความจริงเหล่านั้น รวมถึงการวางท่าทีความสัมพันธ์ได้อย่างถูกต้อง” 
        "เน้นที่การรู้เท่าทันธรรมดา ฝึกที่จิตใจโดยตรง ตั้งเป้าแน่วแน่ไปเลยว่าฝึกที่ใจ โดยมีบันไดขั้นต้นว่าต้องฝึกคนให้เป็นคนดี"


 เป็นถ้อยคำที่พี่เองก็ยังไม่เข้าใจกระจ่างนัก แต่พี่ชอบและคิดว่าดี  ว่าแล้วพี่ก็ฝึกลูกศิษย์เอาดื้อๆให้ฮงกันไปทุกรุ่นแบบนี้แหละค่ะ

มีเรื่องหนึ่งที่ทำให้พี่ยิ้มได้ทุกครั้งที่เลี้ยวรถเข้ามหาวิทยาลัย  คือพี่รู้สึกว่าที่นี้แลเหมาะแก่เราแล้วที่จะปฏิบัติธรรม  คือเราได้พูดสอนคนอื่น  ถ้อยคำที่เราพูดก็เข้าหูซ้ายแลทะลุหูขวาทั้งของเราและของเด็ก  ดังนี้พี่เรียก(เพื่อให้ตัวเองเข้าใจง่ายๆ)ว่าเป็นการปฏิบัติธรรมชั้นที่หนึ่ง  คือปฏิบัติด้วยการสื่อสารกัน(พูดและเขียน)เพื่อให้เกิดการกำหนดรู้และเข้าใจความหมายร่วมกันนั่นเอง   อันนี้เป็นการปูพื้นฐานไว้ชั้นหนึ่งก่อน 

หากเราให้ทำงานเลยโดยไม่ปูพื้นฐาน  ไม่สื่อสาร(เพื่อการสื่อความหมายให้เห็นคุณค่าที่ลึกซึ้งกว่าการลงมือทำให้เสร็จๆไป)  เด็กจะ"ทำ"แต่งานโดยขาดการกำหนดรู้ความหมาย  เหมือนการตอบข้อสอบปรนัยโดยไม่รู้เท่าทันว่า สอบไปเพื่ออะไร  การตอบข้อสอบแต่ละข้อโดยไม่เดาส่งเดชนั้น ให้คุณค่าแท้ๆอย่างไร  เป็นต้น  (ทั้งที่เบื้องหลังการออกข้อสอบแต่ละข้อนั้นครูคิดตัวเลือกจนหูตาลาย เพื่อให้ข้อสอบมีคุณภาพสูงสุด  ซึ่งก็ไม่รู้จะสูงสุดได้จริงไหม)  : ) 

การปฏิบัติธรรมชั้นที่สอง จะควบคู่ไปกับชั้นที่สาม  ไม่ควรฝึกแยกส่วนแต่ควรฝึกเป็นกระบวนการ  คือการฝึกให้ลงมือทำจริง  ในขณะที่เด็กทำสิ่งใดๆ  ครูก็ติดตามและถามใจไปเป็นระยะๆ  เพื่อให้ทบทวนไตร่ตรองทั้งในภาวะงานและภาวะธรรม 

ภาวะงานคือการทำความเข้าใจขั้นตอนและกลไกของการทำงานชุดนั้นๆ  ให้เขาถอดบทเรียนของตนและเพื่อน ให้เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงที่เป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน  ตามทฤษฎี"เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว"  อ่า..แบบว่าพูดไปแล้วทั้งครูทั้งเด็กก็ไม่ใคร่เข้าใจเท่าไหร่แต่กะเอาเท่ไว้ก่อน

ภาวะธรรม คือตรวจสอบทบทวนปรับแก้ PDCA อารมณ์ตนเองตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนงานนั้น  แปลว่า ก่อนทำงาน ขณะทำงานและหลังจากทำไปแล้ว ทั้งเด็กทั้งครูต้องตรวจสอบอารมณ์ตนเองเกือบตลอดเวลาที่รู้ตัว (ว่าเรากำลังตามดูอารมณ์ของตัวเองอยู่)  เพราะอารมณ์และท่าทีในการสื่อสารของเราจะส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์ ระหว่างเรากับเพื่อนร่วมงานไปจนเสร็จสิ้นกระบวนการ  ซึ่งอันนี้แหละค่ะที่ฝึกยากที่สุด  เพราะครูเองก็แทบเอาตัวไม่รอด 

หากฝึกจนเข้ามือ เด็กๆจะเห็นว่าทั้งภาวะงานและภาวะธรรมนี้จะขับเคลื่อนเป็นกระบวนการ  ทั้งงานและธรรมจะไปด้วยกัน  ถ้าตามดูและรู้เท่าทันก็จะทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขกายสบายใจดี 

เพราะเรียนรู้วิธีการ"เข้าใจ"กันแล้ว  ได้ฝึก"ใจ"ร่วมกันแล้ว  นี่คือการปฏิบัติธรรมชั้นที่สาม ขั้นนี้หรือชั้นนี้ยากขึ้นมาอีกหน่อย  ครูต้องใจนิ่งและใจเย็น  เห็นอะไรเป็นกลางๆ (เอ่อ..คือพี่ก็อยากทำได้อย่างที่เขียนไปเนี่ยนะคะ  แต่เอาเข้าจริงๆก็ทำไม่ค่อยได้ซักที)

พี่แอมป์จึงขำนัก  เพราะการอ่านหนังสือธรรมะเจ็ดพันหนึ่งร้อยยี่สิบห้าเล่ม โดยไม่ฝึกใจตนเองแม้หนึ่งขณะจิต  ก็ไม่อาจอ้างได้ว่าชีวิตนี้เราพบ"ธรรม"  และพี่ก็เป็นคนแบบนั้น  คืออ่านเยอะแต่ไม่ใคร่จริงจังกับการลงมือทำ  เวลาฝึกเด็กจึงดู"กลวงๆ"อย่างไรก็ไม่รู้  เพราะเรารู้อยู่แก่ใจว่าที่พูดๆไปนั้นเราทำจริงให้เกิดจริงกับตัวไม่ได้สักอย่าง

พี่จึงเริ่มจากการฝึกที่ใจตัวเองก่อน แบบว่าล้มลุกคลุกคลานมากค่ะคุณหมอเล็ก  แค่เริ่มจากการ "เข้าใจและไม่โกรธ" นี่ก็แทบแย่แล้วในแต่ละวัน  แต่วันไหนที่ทำได้ก็รู้สึกดีใจชะมัด  พี่จึงต้องฝึกตัวเองทุกวัน  และยังอยู่ในระยะล้มลุกคลุกคลานสนุกสนานมาจนบัดนี้   ยังข้ามไปขั้นที่สามไม่ได้สักที

ขอบพระคุณคุณหมอเล็กที่แวะมาสารภาพภาพเอ๊ยชมว่าเรื่องนี้สมกับอายุทั้งผู้เขียนและผู้อ่านนะคะ พี่แอมป์คิดว่าไหนๆแก่แล้วก็เขียนให้สมแก่ พอมีคนใจดีแวะมาชมก็เลยรีบรับสมอ้างอย่างดีใจจนออกนอกหน้า  คนเขียนน่ะไม่เท่าไหร่ เพราะเขียนเองงงเองมานานจนชินแล้ว  พอเจอคนอ่านที่ไม่งงแถมยังช่วยขยายความให้กระจ่างได้อย่างนี้  เลยออกจะดีใจว่าคงไม่ห่างกันเท่าไหร่ 

แบบว่าสามารถร่วมรุ่นกันได้อย่างไม่ขัดเขินเลยอะค่ะ  : )  : )   อิอิอิ 

พี่แอมป์จึงขำนัก  เพราะการอ่านหนังสือธรรมะเจ็ดพันหนึ่งร้อยยี่สิบห้าเล่ม โดยไม่ฝึกใจตนเองแม้หนึ่งขณะจิต  ก็ไม่อาจอ้างได้ว่าชีวิตนี้เราพบ"ธรรม"  และพี่ก็เป็นคนแบบนั้น  คืออ่านเยอะแต่ไม่ใคร่จริงจังกับการลงมือทำ  เวลาฝึกเด็กจึงดู"กลวงๆ"อย่างไรก็ไม่รู้  เพราะเรารู้อยู่แก่ใจว่าที่พูดๆไปนั้นเราทำจริงให้เกิดจริงกับตัวไม่ได้สักอย่าง

 

พี่แอมป์คะ น้องเป็นด้วยคนหนึ่ง ที่เรียนธรรม-นักธรรมเราก็เรียน(ตรี,โท,เอก) อ่านเราก็อ่าน

แต่มันมิได้ซึมซับเข้าไปในสายเลือด ดั่งการให้น้ำเกลือ ทางเส้นเลือดดำ แล้วมิได้ถูกดูดซึมไปใช้ได้ในระดับเซลล์...

เพราะอะไร

 

น้องคิดว่า เพราะเรายังไม่มีความ"รู้" ไม่มี insightที่แท้จริง เรายังไม่ผ่านร้อน-หนาว มาเพียงพอกับหรือในบางเรื่อง

เราจึงอ่อนแอ ระโหยโรยแรง เป็นพัก ๆ ได้

เหมือนเซลล์วอลล์(ประตู,เปลือก)ของเซลล์ยังไม่ยอมรับยา,สารน้ำที่มากับน้ำเกลือ หรือกว่าเซลล์นั้น ๆ ที่กำลังป่วยอยู่ ถูกปล่อยจนกระทั่งสูญเสียสภาพไป รับน้ำเกลือเข้าก็มิได้ คายทิ้งก็มิออก

เซลล์นั้น ๆ จึง พังพาบ

.......แฮ่ ๆ เอาคืนพี่แอมป์เล็กน้อย เพราะบางครั้ง หมอเล็กมาอ่านเรื่องพี่แอมป์ หรือที่เห็นพี่นุชคุยกันกับพี่แอมป์ ท่าทางเข้าใจ๊ เข้าใจกัน

วันนี้เพิ่งอ่านเซลล์วิทยา (ทำงานน่ะค่ะ) เลยเปรียบเทียบแบบสไตล์เราอีกแล้ว

ตั้งใจจะคุยให้ฮง ๆ สั้น ๆ ว่า

 

เรา(ใคร ๆ หรือส่วนใหญ่)น่าจะต้อง "รู้" ก่อน(เช่นเข้าใจใน เจ็บ สุข ทุกข์ เหงา เศร้า..วัฎฎะสงสารน่ะค่ะ)  จึงจะเห็นว่า  ควรฝึกที่ใจ นั้น ควรฝึกทันทีไม่รีรอ ตามบันทึกพี่แอมป์ ให้ได้

 

เหมือนฉีดวัคซีนให้ตัวเอง(นิยมใช้ประโยคนี้กัน)ก่อนที่ร่างกายจะแย่หรือติดเชื้อจนแอ้ก น่ะค่ะ พี่แอมป์

:p ฮง ๆ หลังพักเที่ยงนะคะ

ที่นี่ หรอกนะคะ

ลิ้งค์ข้างบนกดเร็วไป ยังไม่บันทึกส่วนบันทึก น่ะค่ะ

รบกวนพี่แอมป์ ลบออก คคห หนึ่ง(ข้างบนน่ะค่ะ)

P สวัสดีแบบมีความสุขในวันที่ยุ่งสุดยอดเลยค่ะคุณหมอเล็ก

 

พี่แอมป์ตั้งใจว่าสามวันนี้จะภูมิใจเสนอตอบคอมเม้นต์ให้จบ  เยี่ยมเยียนพี่ๆน้องๆที่คิดถึงให้ครบ  แล้วก็จำต้องหายไปทั้งหัวและตัวเป็นเดือนครึ่งเดือนอีกเช่นเคย  เพราะงานชุดใหม่นี้  แบบว่าหนักสุดยอด !!  ....แต่พี่ก็สู้จนหงอกเส้นสุดท้ายเลยจ๊ะ  อิอิ 

พี่แอมป์งานหนักอึ้งก็จริง แต่ก็มีความสุขที่ได้สื่อสารกับคนจิตใจดี การสื่อสารด้วยใจที่คิดดีต่อกันนี้ถือเป็นกุศลอย่างยิ่งยวดทีเดียวค่ะคุณหมอเล็ก   ในโลกนี้พี่แอมป์ไม่ต้องการอะไรมากมายเลย แค่การได้พบได้รับรู้ว่ามีจิตใจที่ดีงามอยู่ก็เป็นบุญเหลือเกินแล้ว โดยเฉพาะกัลยาณมิตรที่ใฝ่ในธรรมและปฏิบัติธรรมเช่นนี้  พี่ว่าช่างเป็นโชคดีมหาศาลจริงๆ 

อันที่จริงความรู้นี้เป็นสิ่งดีนักนะคะคุณหมอเล็ก  พี่แอมป์ชอบมากเวลาที่ได้เรียนรู้แบบเปรียบเทียบเชื่อมโยง อย่างเรื่องเซลล์วอลล์กับสารเคมีและจิตมนุษย์กับการมีภูมิรู้และภูมิธรรมเป็นภูมิคุ้มกันดังที่คุณหมอเล็กยกตัวอย่างให้ฟัง   คืออันที่จริงพี่แอมป์ยังมิใช่ผู้ปฏิบัติแบบถึงแก่นนะคะดังนั้นจึงไม่อาจตีความและแปลความทั้งหมดได้  แต่สามารถคุยกับคุณหมอเล็กแบบงงๆไปด้วยกันได้  โดยคุณหมอเล็กนำหน้าพี่แอมป์อยู่สามร้อยลี้นับจากจุดสตาร์ท : )

ขอบคุณคุณหมอเล็กมากๆนะคะ ที่นำคำสนทนาไปเปิดเป็นอีกบันทึก พี่แอมป์รู้สึกเป็นเกียรติยิ่งที่นานๆจะมีผู้ร่วมสนทนาที่มีภูมิรู้มากกว่าพี่เข้ามาชี้แนะตัวอย่างดีๆและนำไปร่วม "สนทนาวิสาสะ"กันต่ออย่างกัลยาณมิตร พี่เคยคิดว่าเรื่องที่พี่ชวนคุยนี้ชวนให้ง่วงเสียจริงๆ  แต่พอคุยเข้าจริงๆก็ได้รู้ว่ามีเรื่องชวนคิดชวนคุยต่ออีกมากมาย ถ้ามีมิตรที่เราสามารถร่วมสนทนาด้วยได้(โดยที่ไม่หลับไปเสียก่อน)นี้  ถือเป็นโชคดีอย่างยิ่งนะคะ  : )

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท