ชีวิตที่พอเพียง : ๑๒๓๘. ไปเรียนรู้อุดมศึกษาของสหรัฐอเมริกา (๔) มหาวิทยาลัยหลายวิทยาเขต ของรัฐแคลิฟอร์เนีย



ที่จริงผมปะติดปะต่อเอาเองจากการไปเยี่ยมชม UCLA กับ California State University Long Beach (CSULB) จากคำเล่าลือที่รู้มานานว่า รัฐแคลิฟอร์เนียมีระบบมหาวิทยาลัยที่เป็นระบบที่ดีที่สุดในโลก ที่เรียกว่า University System คือมี University of California at … (UC) เป็นมหาวิทยาลัยวิจัย (เน้นวิจัยเชิงทฤษฎี หรือวิจัยพื้นฐาน) แยกกันเป็นคนละระบบกับ California State University (CSU) … ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีและโท และวิจัยเชิงประยุกต์ และมีวิทยาลัยชุมชนจัดการเรียนการสอน ๒ ปี สำหรับจบออกไปทำงานหรือเรียนต่อที่ UC หรือ USC

ก่อนไปเยี่ยมชมผมคิดไม่ถึงว่าระบบของเขาจะเชื่อมโยงต่อเนื่องกันดีขนาดนี้ คือเขามีวิทยาลัยชุมชนทั้งประเทศ ๑,๒๐๐ แห่ง ในรัฐแคลิฟอร์เนียมี ๑๑๒ แห่ง นศ. ของ CSULB ร้อยละ ๕๕ มาจาก วชช. และ นศ. ของ UC System ร้อยละ ๒๙ มาจาก วชช. ตัวเลขนี้สะท้อนความนิยม วชช. ในรัฐแคลิฟอร์เนีย

สิ่งที่ไปเห็น สะท้อนวิญญาณการทำหน้าที่อุดมศึกษาตามหน้าที่หรือจุดเน้น ของแต่ละสถาบัน เพื่อทำประโยชน์ให้แก่ นศ. ของตน แก่รัฐแคลิฟอร์เนีย และแก่ประเทศ สรอ. ไม่ใช่แข่งขันกันเพื่อยกระดับตัวสถาบันไปสู่สภาพที่ “ดูยิ่งใหญ่กว่า” คือมหาวิทยาลัยวิจัย (ซึ่งน่าจะหมายถึงเน้นวิจัยเชิงทฤษฎี ซึ่งมหาวิทยาลัยวิจัยไทยยังไปไม่ถึง)

เราเห็นภาพชัดเจนของการจัดโครงสร้างพื้นฐาน (student services) เพื่อให้ นศ. ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยเพื่อบ่มเพาะตนเอง ไม่ใช่แค่เรียนวิชา แต่เรียนสังคม เรียนชีวิตเอาเอง เราจึงเห็น Student Union, หอสมุด, สนามหญ้าสำหรับพักผ่อนและเรียน, โต๊ะกลางแจ้งสำหรับนั่งเรียนหรือคุยกัน, หอพักนักศึกษา, ที่จอดรถจักรยาน, บริการสุขภาพ, บริการให้คำแนะนำปรึกษา, ตำรวจ, โบสถ์, สนามกีฬา, อาคารออกกำลังกาย, ฯลฯ แต่ละมหาวิทยาลัยจัดสิ่งเหล่านี้แตกต่างกันตามเป้าหมายการบ่มเพาะนักศึกษา ตามกำลังทรัพย์ของมหาวิทยาลัย และตามประเพณีของตน

ไปเห็นบรรยากาศและสิ่งอำนวยความสะดวกของ UCLA จาก campus tour แล้ว ผมเข้าใจทันทีว่าทำไมค่าเล่าเรียนจึงแพงมาก เพราะจริงๆ แล้ว ไม่ใช่แค่ “ค่าสอน” ในห้องเรียน แต่เป็นค่าอำนวยความสะดวกสารพัดด้านเพื่อการฝึกฝนตนเองของ นศ. ตอนผมไปเรียนที่ University of Michigan, Ann Arbor ผมไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้เลย ตั้งหน้าแต่เรียนวิชาอย่างเดียว โง่แท้ๆ

อธิการบดีของ USCLB เล่าเรื่องการบริหารมหาวิทยาลัยหลายวิทยาเขต (๒๓) ว่า อธิการบดีของทั้งระบบ ประชุมกันเดือนละครั้ง หมุนเวียนวิทยาเขตไปเรื่อยๆ เพื่อทำความเข้าใจสถานภาพต่างๆ ของบ้านเมือง และอุดมศึกษา สำหรับนำมาพัฒนาภาพรวมของทั้ง “ระบบ” โดยแต่ละมหาวิทยาลัยมีอิสระทางวิชาการของตนเอง เรื่องการพัฒนาทั้งระบบเช่น เขากำลังหารือกันเรื่อง CSU Online University การร่วมกันเจรจากับรัฐแคลิฟอร์เนีย เรื่องการพัฒนาระบบอุดมศึกษาของรัฐ ส่วนการระดมทุน การดึงดูด นศ. กิจการศิษย์เก่า เป็นเรื่องของแต่ละมหาวิทยาลัย ศิษย์เก่าถือเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ของระบบ

สมาชิกในคณะของเราหลายคน ติดใจบุคลิกของอธิการบดีมาก เพราะคล่องแคล่วระดับักการเมือง และเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยมาแล้ว ๔ รัฐ จึงมีชั่วโมงบินสูง รู้จักนักการเมืองมาก ท่านบอกว่า ใช้เวลาประมาณร้อยละ ๒๕ ที่ วอชิงตัน ดีซี เพื่อติดต่อประสานงาน และ ล็อบบี้ ทั้งเพื่อ ล็อบบี้ให้แก่ CSULB, แก่ CSU ทั้งระบบ และแก่ระบบอุดมศึกษาของประเทศ

วิจารณ์ พานิช
๘ เม.ย. ๕๔

บรรยากาศภายใน UCLA

คณะใหม่ของ UCLA ที่จัดระบบวิชาการเป็น multidisciplinary เพื่อพุ่งเป้าสนองความต้องการของสังคม

โต็ะหมู่ให้นั่งเรียนหรือคุย

ห้องสมุดของ UCLA มีหนังสือเป็นล้านเล่ม มากกว่ามหาวิทยาลัยใดๆ

ส่วนเชื่อมต่อระหว่างอาคารเรียนกับหอพักซึ่งอยู่ไกลลิบข้างหน้า โปรดสังเกตว่ารถเข้ามาไม่ได้

นักศึกษานั่งทำงานในบรรยากาศธรรมชาติ

University Store และ Student Union ของ UCLA

USC Long Beach อวดสถานที่แรกคือ อาคารออกกำลังกายของ นศ

สถาบันศาสนา

ภายใน USCLB มีต้นพีชกว่าพันต้น ออกดอกสีชมพูไสว

ต้นพีช

อาคารปิระมิด สำหรับเล่นกีฬา จุ ๖,๐๐๐ คน

หมายเลขบันทึก: 437956เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2011 12:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2016 15:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท