vanillawara
นางสาว วราภรณ์ (บุ๋ม) ด่านศิริ

The Lemming Dilemma สภาวะลำบากของหนูเลมมิงจ์


สวัสดีค่ะสมาชิก G2K ทุกท่าน
               เรื่องราววันนี้ ที่ฉันจะมาแชร์ก็สืบต่อเนื่องจาก 2 บล็อกที่แล้วค่ะ สำหรับชุดนิทานสุด Chic ของสำนักพิมพ์ Pegasus Communications โดยเรื่องที่ฉันจะนำเสนอในวันนี้ คือ เรื่องสภาวะลำบากของหนูเลมมิงจ์ (The Lemming Dilemma) ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่ฉันประทับใจใน Concept หลัก ของเรื่องเป็นอย่างมาก นั่นคือ แนวคิดความเป็นเลิศส่วนบุคคล (Personal Mastery)

 

 
               หนูเลมมิงจ์ หน้าตาเป็นยังไง ฉันก็ยังไม่เคยเห็นตัวจริงซักที เลยไป Search จาก Google มาให้ผู้ที่ไม่เคยเห็นเหมือนกันได้ดูร่วมกันค่ะ

 

 
               พฤติกรรมสุดฮาที่ฉันเพิ่งได้รับรู้จากหนังสือเล่มนี้ก็คือ การที่ หนูเลมมิงจ์ ชอบกระโดดลงจากหน้าผาสูง (ซึ่งในหนังสือบอกว่า เราสามารถไปหาดูลีลาการกระโดดได้จาก Youtube ด้วยค่ะ ^^)

 

            จากพฤติกรรมนี้เอง จึงเป็นที่มาของคำถาม “ทำไมต้องกระโดด” ของหนูเลมมิงจ์อินดี้ ชื่อ เอมมี นำไปสู่เรื่องราวประวัติศาสตร์ ที่สามารถเปลี่ยนประเพณีที่ไร้เหตุผลประกอบของมวลมนุษยชาติหนูเลมมิงจ์ได้ เมื่ออ่านเรื่องราวของเอมมี (และเลนนี หนูเลมมิงจ์หัวสมัยใหม่อีกคน) จบแล้ว ฉันก็เกิดความกระตือรือร้นที่จะนำคำถามในเรื่อง 2 คำถาม ไปนอนคิดต่อ ดังนี้

 

 “ฉันเป็นใคร ฉันต้องการอะไร และทำไมฉันต้องมาอยู่ที่นี่ ?”

“จุดประสงค์ของฉันคืออะไร และสิ่งที่ฉันต้องการสร้างสรรค์คืออะไร ?”


               จริงๆแล้ว คำถามเหล่านี้ เป็นคำถามที่น่าคิดมาก สำหรับมนุษย์อย่างเราๆ เพราะฉันเชื่อว่าคำตอบที่ได้ จะส่งผลกระทบต่ออะไรหลายๆได้มากทีเดียว นับตั้งแต่ระดับ Human ไประดับ Social และยิ่งใหญ่ถึงระดับ Structure (Credit โมเดลนี้แก่ อ.ภิญโญ ค่ะ ^^)

 

               “การรู้จักตัวเอง เข้าใจตัวตน หนักแน่นในเป้าหมาย จุดประสงค์ และสิ่งที่ตนต้องการสร้างสรรค์” ถือเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ ที่เป็น Key success factor ในการดำรงชีวิตของมนุษย์ (นี่คือ สิ่งที่ฉันเชื่อ ภายหลังการอ่านหนังสือเล่มนี้) เพราะสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ “ความชัดเจนในจุดยืนของตัวเอง” ซึ่งความชัดเจนเหล่านี้มักจะมาพร้อมๆกับ “ความเป็นเลิศส่วนบุคคล หรือ Personal Mastery” ความเป็นเลิศนี้ นอกจากจะสามารถสร้างความพึงพอใจในการดำรงชีวิตให้กับตัวเองแล้ว ยังเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ในการผลักดันสังคมด้วย

 

               ธุรกิจในปัจจุบันนี้ หลายๆองค์กรถูกเติมเต็มไปด้วย วัฒนธรรมการยอมรับ คล้อยตาม ตลอดจนก้มหัวให้กับสิ่งที่องค์กรสรุปว่า เป็นสิ่งที่ดี ควรทำ ต้องทำ หรือเป็นสิ่งที่ผู้คนในองค์กรเห็นชอบและปฏิบัติสืบเนื่องกันมานาน จนธรรมชาติของเรา อาจถูกกลืนกิน และตีความว่ามันดีอย่างที่คนอื่นว่าแน่ๆ

 

ฉันมองว่า นั่นเป็นสิ่งที่ “แคบ” เกินไป !


               ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจากคำพูดที่เลนนีกล่าวไว้ในเรื่องว่า “การคล้อยตามคนอื่น มักจะง่ายกว่าการพยายามเข้าใจตนเอง” ฉันเห็นด้วยแบบสุดๆ ยิ่งเฉพาะในสังคมไทย จะเห็นได้ชัดว่า เราเจริญรอยหลายสิ่งหลายอย่างจากการคล้อยตามคนอื่น เช่น การรับวัฒนธรรมจากต่างชาติ ซึ่งก็อาจจะเป็นสิ่งที่ดีในบริบทของต่างชาติ แต่เมื่อมาอยู่ในบริบทที่แตกต่าง ทำให้พบว่า เรากลับไม่ได้เข้าใจตนเองก่อนคล้อยตามคนอื่นเอาซะเลย จนนำมาซึ่งปัญหาสังคมมากมาย

 

              
               สรุปได้ว่า ฉันเห็นด้วยล้านเปอร์เซ็นต์ที่ “เราจำเป็นต้องเข้าใจจุดยืนตัวเองเสียก่อน” ก่อนการลงมือกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง

 

               เมื่อจัดอันดับ “การกระทำ” ที่แสดงออกในกลุ่มคน สังคม และองค์กรต่างๆแล้ว เมื่อจุดยืนของตนกับองค์กรไม่ได้ตรงกันนัก พบว่า ผู้คนจะสบายใจมากที่สุดเมื่อได้ “คล้อยตาม” หรือหากไม่เห็นด้วยก็จะเป็นกลุ่มที่สองที่มากรองลงมา คือ “ต่อต้าน” แต่กลุ่มสุดท้าย ที่ไม่ได้เห็นเยอะเท่าสองกลุ่มแรก คือ “การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ”


               การที่ John Lennon แยกตัวออกจาก The Beatles เป็นอีกตัวอย่างที่ยิ่งใหญ่ สำหรับ “การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ” นำไปสู่ตำนาน Lennon the legend เมื่อแนวเพลง แนวความคิด หรือจุดยืนร่วมของสองฝ่ายไม่ตรงกัน สิ่งที่เราควรกระทำเพื่อความสบายใจกับทุกฝ่าย (ทั้งกับตัวเราและคนอื่น) คือ การออกมาตามหาจุดประสงค์ และสิ่งที่ตนเองต้องการสร้างสรรค์ จนทำมันให้เป็นจริงขึ้นมา แทนที่จะยอมคล้อยตาม หรือไปต่อต้านอีกฝ่าย

 

               “ความเป็นเลิศส่วนบุคคล” ก็มีพื้นฐานมาจากจุดนี้ คือ การรู้จักตนเอง ชัดเจนในเป้าหมายของตนเอง จนนำไปสู่ระหว่างทาง หรือ วิธีการไปถึงเป้าหมาย (สิ่งที่ต้องการสร้างสรรค์) ซึ่งกระบวนการตรงนี้ในหนังสือได้แยกขั้นตอนออกเป็น 2 ขั้น ดังนี้

 

1. ขั้น “จุดประสงค์” เริ่มต้นจากการ “คิดใคร่ครวญไตร่ตรอง” ถึงสิ่งที่เราต้องการจะเป็น ต้องการจะสร้างสรรค์ การวางแผน การค้นหา สิ่งที่”ใช่”สำหรับเรา ถ้าจะเปรียบให้เห็นภาพ เช่น การตัดสินใจเลือกคณะตอนสอบ Entrance ว่าเราต้องการเรียนคณะนั้นๆเพื่ออะไร หรือ การวางแผนหาจุดประสงค์ที่เราต้องการจะทำหลังเรียนจบ

 

2. ขั้น “วิสัยทัศน์” ถือเป็นขั้นที่เป็น “แก่น” ของการกระทำทั้งหมด เนื่องจากขั้นนี้จะมีพื้นฐานมาจากขั้นแรก แต่เพิ่มที่ “การกระทำ และวิธีการระหว่างทาง” เปรียบกับ การตั้งใจอ่านหนังสือสอบ การสอบความถนัด หรือความพยายามใดๆก็ตามให้เราสอบติดในคณะที่เราต้องการ Entrance เข้า หรือ การเดินสมัครงานตามองค์กรที่เราตั้งจุดประสงค์ไว้ ว่าต้องการทำงานร่วมหลังเรียนจบ เป็นต้น

 

               ขั้นวิสัยทัศน์ ถือเป็น อาณาจักรแห่งการกระทำ โดยมุ่งเป้าไปที่ “ผล” ที่ต้องมุ่งหมายไว้ ซึ่งในขั้นนี้อาจเกิดการสับสนระหว่างทาง หรือ “แรงตึงเครียดเชิงสร้างสรรค์” ได้ แต่ถือว่าเป็นเรื่องที่ธรรมดา สิ่งสำคัญคือ “การไม่หลุดจากเป้าหมาย” ซึ่ง ความเป็นเลิศส่วนบุคคล มักจะเกิดขึ้นมาในตัวผู้กระทำในขั้นนี้นั่นเอง

 

               “แรงตึงเครียดเชิงสร้างสรรค์” หมายถึง ช่องว่างระหว่าง ความเป็นจริงในปัจจุบัน กับ สถานะในอนาคตที่ปรารถนา ซึ่งวิธีการลดหย่อนแรงตึงเครียดนี้ คือ การมุ่งเน้น หรือมองที่ไป สถานะในอนาคตที่ปรารถนา ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งในขั้นนี้สามารถใช้แรงกระตุ้นที่เป็นทางการ จนถึงวิธีเล็กๆน้อยๆได้ เช่น การติดรูปหุ่นนางแบบที่เราต้องการไว้หน้ากระจก ขณะทำการลดน้ำหนัก เป็นต้น

 

               องค์กรที่สามารถจับ “ความเป็นเลิศส่วนบุคคล” ของสมาชิกในองค์กร แล้วนำมาร่วมกับวิสัยทัศน์ขององค์กร เพื่อให้เกิด “การคล้อยตามที่สร้างสรรค์ได้” จะเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพในการบริหารบุคคลได้ดีที่สุด เนื่องจากพนักงานก็มีความสุขในจุดยืนของตน ทำงานและสร้างสรรค์ผลงานที่ตนมีความสุข บริษัทก็ได้รับผลการปฏิบัติงานที่ดีเยี่ยม ดังนั้น ประเด็นที่ธุรกิจต่างๆควรให้ความสนใจ หลังจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ คือ การมองหาพนักงานที่มีจุดยืนร่วมกับวิสัยทัศน์ขององค์กร เพื่อมาทำงานที่เป็นตัวของตัวเองในองค์กรอย่างมีความสุข

 

แนวคิดนี้เจ๋งมากๆเลยค่ะ ท่านมีความเห็นยังไง แสดงความเห็นบอกฉันเลยเต็มที่เลยนะคะ ขอบคุณค่ะ ^^
คำสำคัญ (Tags): #personal mastery the lemming dilemma
หมายเลขบันทึก: 362797เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2010 23:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

พี่ชอบเรื่องนี้มากมาย

เนื่้อเรื่องน่าติดตาม จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่การกล้าตั้งคำถามของ เอมมี่

พี่ว่ามันคล้ายๆการคิดแบบ Double Loop ถ้าเปรียบเทียบกันการ์ตูนในเรื่อง

Loop แรกก็คือการที่พวกหนูเลมมิงกระโดดลงหน้าผ่านั้นละครับ เปรียบได้กับการทำตามผู้ชำนาญ หรือวัฒนธรรมเดิมๆ ที่มีความเชื่อว่ามันดีอยู่แล้ว ซึ่งกระบวนการทางความคิดของคนไทยส่วนใหญ่จะเป็นแบบ Single Loop แบบนี้ละครับ จึงได้เกิดสุภาษิตไทยที่ว่า "เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม"

แต่ในหลายๆครั้ง ถ้าเรากล้าที่จะตั้งคำถาม หรือทดลองสิ่งเหมือนๆ มันก็จะเกิดการเรียนรู้แบบ Double Loop ขึ้นครับ เปรียบได้กับ การที่ เอมมี่ สงสัยว่า ทำไมเราต้องกระโดด จนในที่สุดก็ค้นพบแนวทางใหม่ที่เปลี่ยนองค์กรไปในทางที่ดีขึ้น (มีหนูเลมมิงจำนวนมากที่เลิกกระโดดน่าผา) ซึ่งในสังคมไทยเรื่องแบบนี้ในหลายๆองค์กรกลายเป็นเรื่องตลกไปซะงั้น การที่ทำอะไรแปลกแหวกแนว กลายเป็นสิ่งที่ถูกต่อต้าน เพียงแค่เรา "คิดต่าง" จากมุมมองเดิมๆ ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้ในหลายๆองค์กรมันเลยไม่ไปไหนกัน เพราะต้องรอการพิสูจน์ก่อนว่าวิธีนั้นใช้แล้วได้ผลจากองค์กรอื่นๆ แล้วถึงทำตาม (มันก็ไม่ต่างอะไรจากการเลียนแบบละครับ) ซึ่งท้ายที่สุดเราก็จะกลายเป็นผู้ตามตลอดไป

ดังนั้นพี่คิดว่า การมองอะไรแบบ Double Loop บ้าง มันจะทำให้เราสร้างนวัตกรรมใหม่ๆได้+กับความกล้าที่จะลองทำอะไรหลุดกรอบบ้าง ก็จะทำให้เราสามารถสร้างความได้เปรียบทางการตลาดให้กับธุรกิจของเราได้ดีเลยทีเดียว ^^

สุดยอดพี่เอริท !!!

โหย เขียนได้แบบเคลียร์มาก +10 เลยค่ะ ^^

นี่ๆยังมีสำนวนไทยที่แบบ Single loop อีกอัน "เดินตามผู้ใหญ่ หมาไม่กัด" ด้วยค่ะ hehehe

ยังมีหนังสืออื่นอีก 4 เล่ม ในชุดวินัย 5 ประการ สำหรับองค์กรแห่งการเรียนรู้ (ฉบับนิทาน) นะคะ

หนังสือชุดนี้ให้ข้อคิดจากนิทานที่สนุกมากๆ (ยืนยัน) และให้ความรู้ด้วยค่ะ

ที่ลิงค์นี้ค่ะ http://publishing.eisquare.com/index.php?page=shop.product_details&flypage=shop.flypage&product_id=341&category_id=39&option=com_virtuemart&Itemid=37&lang=th

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท