ความรู้และฐานคิดที่ได้จากการศึกษาเรื่องการจัดการการเรียนรู้


   การได้เข้าร่วมอภิปรายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชั้นเรียนเกี่ยวกับเรื่องการจัดการความรู้ในเครือข่ายเกษตรกรจังหวัดพิจิตร  และการจัดการความรู้ในโรงพยาบาลบ้านตาก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชายุทธศาสตร์การจัดการงานวัฒนธรรมและวัฒนธรรมกับการพัฒนา ที่ดำเนินการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยศาสตราจารย์  นายแพทย์วิจารณ์  พานิช  ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)    ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2549 นั้น ทำให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ในเรื่องที่ไม่เคยรู้หลายเรื่อง บางเรื่องที่ไม่รู้จริงหรือยังคลุมเครืออยู่ก็ได้เรียนรู้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น    ความรู้ในเรื่องขบวนการการจัดการความรู้ที่เรียกสั้นๆว่า “KM” หรือKnowledge Management  เดิมทีข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้าไปร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม NGO จากมูลนิธิชุมชนไทและสถาบันพัฒนาองค์กรซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ที่เข้าไปฟื้นฟูชุมชนเกาะลันตาตามโครงการฟื้นฟูวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน และการจัดระบบนิเวศที่ยั่งยืนของเกาะลันตา ภายหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติ สึนามิ  อีกทั้งยังได้คลุกคลีกับทีมงานของสถาบันอาศรมศิลป์ที่เข้าไปทำงานในพื้นที่ดังกล่าวด้วย  แต่งานที่รับผิดชอบโดยตรงนอกจากเป็นอนุกรรมการโครงการแล้ว ก็คือหัวหน้าทีมงานที่รับผิดชอบด้านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งรับผิดชอบด้านการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชาวเกาะลันตาซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนถึงสี่กลุ่มชาติพันธุ์คือ ชาวเล ชาวมลายู ชาวจีนและ ชาวสยาม นอกจากนั้นยังรับผิดชอบเรื่องการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เกาะลันตา หอชาติพันธุ์ชาวเล และบ้านรองแง็งด้วย  ดังนั้นเมื่อได้ศึกษาเรียนรู้จาก VCD และเข้าร่วมอภิปรายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้านการจัดการความรู้ของเครือข่ายเกษตรกรจังหวัดพิจิตร และการจัดการความรู้ในโรงพยาบาลบ้านตาก ทำให้เข้าใจและสามารถมองเห็นภาพรวมของการจัดการความรู้บนเกาะลันตา ซึ่งทีมงานด้านการจัดการชุมชนกำลังดำเนินการอยู่ได้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมขึ้น สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้กับงานที่ต้องรับผิดชอบได้ถูกทิศทางและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น                 นอกจากนั้นความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาขบวนการการจัดการความรู้ดังกล่าวทำให้ข้าพเจ้าสามารถเชื่อมโยงความรู้ใหม่เข้ากับทุนความรู้เดิมที่ข้าพเจ้ามีอยู่แล้วได้อย่างน่าอัศจรรย์           กล่าวคือทำให้ข้าพเจ้ามองเห็นว่าโครงสร้างใหญ่ของขบวนการจัดการความรู้ ในมุมมองด้านการสร้างหรือปฏิรูปกระบวนการจัดการวัฒนธรรมการเรียนรู้และแหล่งเรียนรู้    เพื่อดำรงอัตลักษณ์และปรับปรนพัฒนาอย่างเท่าทัน      และสมสมัยเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์โลกนั้นว่าไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่   แต่เป็นกระบวนการที่สืบเนื่องและปรับปรนพัฒนาโดยนำภูมิปัญญาดั้งเดิมมาผสมผสานกับองค์ความรู้ใหม่เพื่อพัฒนาอย่างเท่าทันและสมสมัย สืบเนื่องต่อกันมาเป็นวัฏจักรตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นข้าพเจ้าจึงได้นำขบวนการการรวมกลุ่มของเกษตรกรจังหวัดพิจิตร และกลุ่มโรงพยาบาลบ้านตากเพื่อดำเนินการจัดการความรู้ ย้อนกลับไปเปรียบเทียบกับภูมิปัญญาในการจัดการความรู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ซาไก ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนของมนุษย์ดึกดำบรรพ์กลุ่มชาติพันธุ์สุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ทางภาคใต้ของไทย จากประสบการณ์ที่ได้พบเห็นขณะที่เข้าไปใช้ชีวิตในชุมชนซาไก อำเภอประเหลียน จังหวัดตรัง ประมาณ 2-3 เดือน  เนื่องจากวิถีดั้งเดิมของซาไกเป็นวิถีที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับวิถีธรรมชาติ และเป็นสังคมรวมที่อยู่กันเป็นกลุ่ม  

ดังจะเห็นได้ว่า นอกจากกลุ่มชาติพันธุ์ซาไกจะรวมตัวกันเพื่อความอยู่รอดและปลอดภัยจากสัตว์ร้ายในป่าแล้ว ยังอยู่ร่วมในลักษณะของสังคมชนเผ่าที่อาศัยวิถีและพลังจากธรรมชาติ จากสภาพแวดล้อมที่เป็นป่าเขาลำเนาไพร และจากเงื่อนไขทางวัฒนธรรม เช่นความเชื่อในเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติมาเป็นตัวกำหนดและควบคุมสังคมบนฐานของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องไปหนึ่งๆ เท่านั้น ไม่มีการสะสมวัตถุหรือกักตุนอาหาร เนื่องจากพวกเขาต้องอพยพเร่ร่อนติดตามฝูงสัตว์และหมุนเวียนไปตามวงจรของแหล่งอาหารตลอดเวลา อีกทั้งในอดีต สภาพแวดล้อมในป่ามีความอุดมสมบูรณ์ ป่าเปรียบเสมือนซุปเปอร์มาเก็ต ที่สามารถเสาะหาปัจจัยพื้นฐานสำหรับดำรงชีพได้อย่างเหลือเฟือ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค วิถีชีวิตที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ยังทำให้ทราบปัญหาของกันและกัน มีความเห็นอกเห็นใจ เอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อกัน เมื่อมีกินก็กินด้วยกัน อดก็อดด้วยกัน  มีขบวนการกลุ่มเพื่อร่วมมือกันทำมาหากิน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการวางแผนเป็นขั้นตอน เช่น ขบวนการ ยิกแลน  (การไล่ล่าสัตว์ชนิดหนึ่งคล้ายตะกวดแต่ตัวโตกว่า)  เมื่อเจอแลนวิ่งหนีขึ้นไปบนต้นไม้ พวกเขาจะวางแผนกันว่าให้อาสาสมัครคนหนึ่งปีนขึ้นไปบนต้นไม้ต้นนั้น เพื่อไล่ให้แลนหนีลงมาจากต้นไม้ แล้วสมาชิกที่เหลือจะยืนล้อมรอบต้นไม้เพื่อไล่ตะคลุบหรือใช้ไม้ทุบตี แลนน้อยตัวนักที่จะหนีพ้นเงื้อมมือพวกเขาไปได้ แต่มีกฎกติกาว่าจะไม่ล่าสัตว์ที่มีท้องหรือสัตว์ที่กินไม่ได้ เช่น มนุษย์แม้จะถูกรังแกก่อนก็ตาม

    หลังจากที่ได้แลนมาแล้วก็จะเป็นขบวนการแบ่งปันกันกิน ในสังคมซาไกไม่ว่าจะได้สัตว์เล็กสัตว์ใหญ่หรือเผือก มัน ผลไม้กลับมายังที่พักก็จะแบ่งปันกันกินทั้งกลุ่มเช่นได้แลนหรือนก หรือกบมาก็จะมีสูตรว่า ขาหน้าข้างซ้ายให้ครอบครัวหนึ่ง ข้างขวาให้ครอบครัวหนึ่ง ขาหลังข้างซ้าย  ขาหลังข้างขวา และเนื้อบริเวณลำตัวแบ่งให้ครอบครัวที่เหลือจนครบ ส่วนคนที่ตะคลุบหรือล่าสัตว์ได้ จะเหลือกระดูกซี่โครงและหัวไว้สำหรับตัวเอง เคยถามพวกเขาว่าทำไมไม่ตัดส่วนเนื้อไว้กินเองบ้าง เขาตอบว่า “.ส่วนที่ดี ที่อร่อยให้คนอื่นไปกิน เวลาเขาหาได้เขาก็จะให้ส่วนที่ดี ที่อร่อยกับเราอีก ด้วยเหตุนี้เมื่อไหร่ก็ตามที่จำนวนสมาชิกในกลุ่มมากเกินไปจนไม่สามารถแบ่งปันอาหารได้ทั่วถึง สมาชิกในกลุ่มจะลงความเห็นกันว่าใครแข็งแรงและมีความพร้อมที่จะเป็นหัวหน้ากลุ่มได้ ก็ให้นำสมาชิกในกลุ่มบางส่วนแยกไปตั้งกลุ่มใหม่ มีการนัดรวมกลุ่มกันในบางโอกาส ทุกครั้งที่มีการเดินทางหากมีคนนอกถามว่าไปไหนก็จะไม่บอกความจริงหรือเปลี่ยนทิศทางเพื่อป้องกันการสะกดรอยตาม จากตัวอย่างดังกล่าวจะเห็นว่าวิถีชีวิตของซาไกมีทั้งขบวนการจัดการความรู้ที่เท่าทันและสมสมัยเข้ากับสภาพแวดล้อมโดยรอบ ที่พวกเขาอาศัยอยู่ในช่วงเวลานั้น มีการสร้างวัฒนธรรมการยอมรับความเห็นของกันและกัน การทำงานเป็นทีม  การสร้างเครือข่ายและชุมชนเข้มแข็ง การระดมสมอง การบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม และมีการประเมินสถานการณ์เรื่องความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลาอีกทั้งยังใช้วิธีคิดเชิงบวกในการบริหารจัดการด้วย แต่รูปแบบและความซับซ้อนของขบวนการจะแตกต่างกัน มีการปรับปรน ตามฐานคิดของแต่ละสังคม  แต่ละสภาพแวดล้อม และยุคสมัย
คำสำคัญ (Tags): #วัฒนธรรมศึกษา
หมายเลขบันทึก: 39520เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2006 18:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท