พาเยาวชนร่วมงานพิธีวิวาห์ปาเกอะญอ


แม้จะเคยเป็นครูดอยสอนในหมู่บ้านกะเหรี่ยงชายแดนที่เชียงใหม่มาเมื่อหลายปีก่อน แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานแต่งงานของชาวกะเหรี่ยง ก็เลยนำมาบันทึกไว้

24 ตุลาคม 2549 ผ่านมาแล้วเกือบสองเดือน ผมได้รับเชิญให้ไปร่วมพิธีมงคลสมรสของหนุ่มสาวชาวกะเหรี่ยงคู่หนึ่ง ทั้งสองเป็นชาวหมู่บ้านเมืองแพม ตัวสาวเจ้าไปเรียนจบปริญญาตรีที่กรุงเทพ ส่วนชายหนุ่มพอจบมอหก ก็ทำนาทำไร่ รับจ้างทำมาหากินอยู่ที่หมู่บ้าน

 

จะว่าไปก็หาตัวอย่างที่หญิงสาวชาวเขาที่มีสถานะการศึกษาสูงแล้วกลับมาแต่งงานกับชายหนุ่มในหมู่บ้านเกิดของตัวเองอย่างนี้ไม่ใคร่จะบ่อยนัก โดยมากจะมีแต่ไปพบรักกับคนในเมือง หรือแต่งงานกันตามแบบอย่างคนในเมืองมากกว่า ที่ร้ายกว่านั้น คือไปเสียผู้เสียคนก็เยอะ

 

แม้จะเคยเป็นครูดอยสอนในหมู่บ้านกะเหรี่ยงชายแดนที่เชียงใหม่มาเมื่อหลายปีก่อน แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานแต่งงานของชาวกะเหรี่ยง ก็เลยนำมาบันทึกไว้

 

ผมชวนเยาวชนไทยพื้นราบ ไทใหญ่และลีซูในทีมวิจัยอีกกลุ่มชาติพันธุ์ละ 1 คนไปด้วย เพื่อให้พวกเขามีความเข้าใจและใกล้ชิดชุมชนต่างเผ่าต่างกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้น แล้วกลับมาถ่ายทอดแก่เพื่อนๆในวันข้างหน้า

 

งานจัดขึ้น อย่างเรียบง่าย ตามธรรมเนียมของชาวกะเหรี่ยง โดยจัดพิธีที่บ้านเจ้าสาว ช่วงเช้า ก็จะเป็นการหุงหาอาหารเตรียมไว้ต้อนรับแขก รวมถึงเตรียมเหล้ายาปลาปิ้ง

กลุ่มผู้หญิงช่วยเตรียมกับข้าวใต้ถุนบ้านเจ้าสาวชาวกะเหรี่ยง  

บรรยากาศการเตรียมอาหารใต้ถุนบ้านเจ้าสาว

  
                                  
        ชาวกะเหรี่ยงอาวุโสกำลังสวดมนต์เพื่อเป็นมงคลที่บ้านเจ้าสาว

ใกล้เที่ยง ผู้เฒ่าผู้แก่จะเดินทางมาที่บ้านเจ้าสาว มาสวดมนต์อวยพรเพื่อเป็นศิริมงคลบนเรือนเจ้าสาว จากนั้นก็รับประทานอาหารร่วมกัน ตอนเที่ยงก็นำข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงดูแขกที่ทยอยกันมา

ในส่วนอาหารที่ผมประทับใจไม่ใช่เหล้าขาวที่ชาวบ้านต้มเองหรอกครับ อันที่จริงรสชาติสุราก็ไม่เลว แต่ชอบใจที่ใช้ข้าวไร่หุงใส่ใบตองแล้วมัดด้วยตอก ประหยัด เรียบง่ายมากกว่า

                                    อาหารสำหรับแขกเหรื่อ

งานเลี้ยงจัดขึ้นทั้งสองบ้านครับ คือทั้งที่บ้านเจ้าบ่าวและบ้านเจ้าสาว พอบ่ายกว่าๆ เจ้าบ่าวพร้อมขบวนญาติๆก็เดินทางมาถึงบ้านเจ้าสาว ในขบวนก็จะมีการร้องรำทำเพลงครึกครื้นครับ พอเจ้าบ่าวมาถึง เจ้าสาวก็จะลงจากเรือนมาต้อนรับ และตักน้ำมาล้างเท้าให้เจ้าบ่าว แล้วเชิญขึ้นเรือน

           เจ้าสาวกำลังบรรจงตักน้ำล้างเท้าเจ้าบ่าวก่อนขึ้นเรือนหอ

จากนั้นก็จะเริ่มพิธีผูกข้อมือ (มัดมือ) โดยเรียงลำดับตามความอาวุโส การผูกข้อมือในงานแต่งงานของกะเหรี่ยงที่นี่ต่างจากไทใหญ่ครับ คือคือจะมัดเจ้าบ่าวหนึ่งครั้ง และเจ้าสาวอีกหนึ่งครั้ง แต่ละครั้งจะเหลือด้ายขาว (แบบเดียวที่ใช้ทำสายสิญจน์) จากการมัดมือ เอาไปพาดบนบ่าของเจ้าบ่าว/เจ้าสาว แต่ของไทใหญ่นี่ เอาข้อมือเจ้าบ่าวเจ้าสาวมัดติดกัน ไม่เหลือด้ายขาวไว้

 

พิธีเสร็จประมาณบ่ายสี่โมง ผมก็พาเด็กๆที่มาเยี่ยมชมงานด้วยกันกลับ ผมไมได้คาดหวังอะไรกับเด็กๆมาก ให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างธรรมชาติและเสรี เพียงแค่เด็กๆได้มาซึมซับคุณค่าวัฒนธรรมต่างกลุ่มที่อยู่พื้นที่ ที่ยังเป็นสิ่งดีงามอันหลงเหลืออยู่ก็เพียงพอแล้ว

 

 

 

              แขกเหรื่อกำลังผูกข้อมือให้คู่บ่าวสาวชาวกะเหรี่ยง

ก่อนกลับผมบอกพวกเขาว่า นี่เป็นความรู้นอกห้องเรียน เป็นการเรียนจากเหตุการณ์จริงซึ่งเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ซึ่งอีกหน่อยเมื่อพวกเขาและเธอเติบโตขึ้น การศึกษาในระบบมัธยมปลายก็อาจจะนำพวกเขาและเธอห่างจากวัฒนธรรมพื้นถิ่นออกไปเรื่อยๆ ผมอยากให้ช่วยกันจดจำไว้

 

รายละเอียดปลีกย่อยของงานก็มีมากกว่านี้ครับ แต่ผมไม่ชัดเจนเอง คือไม่ได้ไต่ถามให้แน่ชัด นำมาลงเดี๋ยวจะบิดเบือน ก็เลยละไว้ดีกว่า

 

เห็นหนุ่มสาวกะเหรี่ยงเขาแต่งงานก็ชื่นใจ ทำให้นึกถึงงานแต่งงานแบบไทใหญ่ของตัวเอง คิดว่าวันหน้ามีโอกาส จะนำมาบันทึกเหมือนกัน ใครจะเอาส่วนดีของพิธีแต่งงานแบบนี้ไปประยุกต์ใช้บ้าง ก็ไม่ว่า

 

                  โดยเฉพาะความเรียบง่ายและอบอุ่นครับ

 

หมายเลขบันทึก: 67712เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2006 23:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (36)

เพิ่งไปนอนที่หมูบ้าน ปาเกอะญอ ตรงดอยตุง กม. 26 ไม่ทราบเผ่าเดียวกันหรือเปล่าครับ? ชอบวัฒนธรรมชาวเขามากครับ เค้ารักษาวัฒนธรรมได้ดี (ผิดกับคนเมือง)

หมู่บ้านนี้ชื่อหมู่บ้านเมืองแพม อยู่ในเขตอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอนครับ เป็นกลุ่มปาเกอะญอเหมือนกันครับ ส่วนใหญ่ปาเกอะญอที่อยู่ในเขตป่าจะรักษาวัฒนธรรมประเพณีได้เป็นอย่างดีครับ แต่ก็มีชาวเขาอีกหลายกลุ่มที่ประเพณีกำลังผุกร่อนอย่างรวดเร็วและขาดผู้สนใจ สืบทอด โดยเฉพาะกลุ่มชาวเขาที่ถูกการพัฒนาแบบทุนนิยมเข้าครอบนะครับ
  • น่าจะเป็น“ปกากะญอ”.
  • นะครับ ไม่น่าใช่ พาเยาวชนร่วมงานพิธีวิวาห์ ปาเกอะญอ
  • ผมเป็นพี่น้องปกากะญอครับ  ชอบเรื่องเขียนของคุณครับมาก รออ่านอีกครับผม

ขอบคุณครับคุณขจิตที่ติดตามอ่านและให้ความเห็นเกี่ยวกับการใช้คำว่า "ปาเกอะญอ" และ "ปกาเกอะญอ"

อันนี้ผมสะกดตามคำเรียกตัวเองของพวกเขาครับ นักวิชาการชอบเขียนว่า "ปกาเกอะญอ" หรือ "ปกากะญอ" บ้าง ซึ่งคนไทยพื้นราบมักจะอ่านกันว่า "ปะ-กา-เกอะ(กะ)-ญอ" แต่จากที่ผมสัมผัสมา ชาวกะเหรี่ยงเขาจะพูดว่า "ป๊าก-กะ-ญอ" (ยอ นี่ออกเสียงเหมือน ย.ยักษ์แต่มีเสียงขึ้นจมูกเป็น ญอ)

เมื่อพวกเขา (หมายถึงกะเหรี่ยงที่แม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่) เรียกตัวเองว่า ป๊าก-เกอะ(กะ)-ญอ ผมก็เลยคิดว่า การสะกดว่า "ปาเกอะญอ" อันนี้น่าจะใกล้เคียงมากกว่า "ปกาเกอะญอ" ครับ

แต่ไม่แน่ว่ากะเหรี่ยงที่อื่นๆก็อาจจะเรียกตัวเองด้วยสำเนียงที่ต่างกันออกไปบ้าง และมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย อันนี้เป็นธรรมดาของภาษาครับ หาจุดลงตัวยาก ว่าอันไหนของแท้ ก็เลยมาลงเอยว่าให้ดูบริบทเชิงพื้นที่เป็นสำคัญ ชาวบ้านเรียกอย่างไรก็ถือตามนั้น แต่ให้วงเล็บไว้ด้วยว่าโดยทั่วไปเขาใช้ว่าอย่างไร

เหมือนคำว่า "ลีซอ" เป็นคำที่นักวิชาการกระแสหลักก็ดี ราชการก็ดี คนไทยพื้นราบก็ดีใช้เรียกชาวเขาอีกกลุ่มหนึ่ง แต่จริงๆเจ้าของอัตลักษณ์เขาเรียกตัวเองว่า "ลีซู"

เวลาเขียนงานวิจัย ก็จะมีวงเล็บต่อท้ายเช่น "การวิจัยเพื่อศึกษาการปรับตัวของวัยรุ่นหญิงลีซู (ลีซอ) ต่อวัฒนธรรมบริโภคนิยม" เป็นต้น

ในทางสาขามานุษยวิทยา จะนิยมใช้ชื่อเรียกที่สะกดใกล้เคียงกับเจ้าของภาษาเป็นหลักครับ

ก็เลยเป็นที่มาของการที่ผมนิยมใช้คำว่า "ปาเกอะญอ" แทน "ปกาเกอะญอ" และ "ลีซู" แทน "ลีซอ" ฉะนี้ 

 

 

  • เยี่ยมเลยครับ
  • บางทีผมติดกระแสวิชาการมากเิกินไปก็ได้
  • ขอบคุณมากครับ สำหรับความรู้เพิ่มเติม
คุณวิสุทธิ์ครับ
ติดตามอ่านงานคุณวิสุทธิ์มาสักระยะแล้ว เข้าถึงชุมชนดีครับ ผมเองเคยติดตามพิธีกรรมของปาเกอะญอเหมือนกันครับ
ส่วนตัวผมชอบที่เขาใช้สัญลักษณ์ต่างๆ เชื่อมโยงชุมชนกับธรรมชาติได้อย่างแนบเนียน
เช่นการเอารกเด็กไปฝากไว้ตามต้นไม้ หรือการบอกว่ามีผีเสื้อคุ้มครองตาน้ำของหมู่บ้านอยู่ อย่าเข้าไปดู (ไม่แน่ใจว่าข้อมูลถูกต้องหรือเปล่านะครับ)
เลยอยากถามผู้รู้ต่อสักนิดครับ ว่างานแต่งงานที่คุณวิสุทธิ์เพิ่งเข้าร่วม เขาสอดแทรกความหมายอะไรไว้บ้างครับ
ผมไม่แน่ใจว่าตัววัยรุ่นในชุมชนจะยังเข้าใจความหมายเหล่านี้หรือไม่ แล้วนักเรียนที่ไปกับคุณวิสุทธิ์เองมีความคิดเห็นอย่างไรกับพิธีกรรมนี้ครับ

เป็นคำถามที่ดีมากครับคุณแว้บ

อากาศที่ปางมะผ้าที่ หนาวเข้ากระดูกจริงๆ ตอนนี้ตีหนึ่ง ผมยังต้องใส่ถุงมือผ้าพิมพ์ตอบคุณเลย หนาวมากครับ พิมพ์ตอบคุณแล้วผมคงขอตัวไปนอนละครับ

ปาเกอะญอที่นี่ยังคงรักษา "ป่าเดปอ" หรือป่าสะดือ ที่เอารกเด็กไปใส่กระบอกไม้ไผ่ผูกกับต้นไม้อยู่ครับ แต่ปัจจุบัน รกเด็กไม่มีให้ผูกต่อแล้ว เพราะไปทำคลอดที่โรงพยาบาลกันหมด

จะบอกหมอขอเอารกกลับบ้านไปทำพิธีก็คงลำบาก

จะเอารกไปผูกที่โรงพยาบาลก็ไช่ที่

ส่วนงานแต่งงานที่ผมเข้าร่วมเค้าสอดแทรกความหมายอะไรบ้างนั้น ส่วนตัวผมสะท้อนมุมมองของ outsider คือคนนอก ย้ำนะครับว่าผมเป็นคนนอกวัฒนธรรมของเขา มีข้อจำกัดเยอะแยะ ต่อให้จบปริญญาเอกมาสักโหลแต่จะอธิบายให้เข้าถึงจริงๆมันเป็นไปไม่ได้เลย อาจทำได้แค่ "ถอดรหัสวัฒนธรรมหรือวิธีคิด" บางแง่มุมเท่านั้น

 ผมมองว่า การแต่งงานครั้งนี้เป็นการผลิตซ้ำหรือตอกย้ำหลายสิ่งหลายอย่าง อาทิ สำนึกร่วมของความเป็นชาติพันธุ์ปาเกอะญอ , ความเป็นเครือญาติ, บทบาททางเพศสภาวะ (gender) ของหญิงและชาย ดูได้จากการแต่งกายก็ดี , ขั้นตอนต่างๆของพิธีการก็ดี

ในขณะเดียวกัน พิธีแต่งงานก็เป็นการสร้างความหมายในเชิงตอบโต้หรือเชิงรุกได้ด้วย เช่น มีการเชิญผู้นำทางการเมืองระดับท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยเข้ามาผนวกเป็นส่วนหนึ่งของงาน

การที่เจ้าสาวซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากในเมืองแต่กลับมาแต่งงานกับคนจนในหมู่บ้านที่หาเช้ากินค่ำก็สะท้อนความหมายบางอย่างที่ตอบโต้กับวิธีคิดแบบทุนนิยม

ผมไม่คิดว่าเด็กวัยรุ่นทั้งในชุมชนปาเกอะญอก็ดี และเด็กๆที่มากับผมในวันงานก็ดีจะเห็นความหมายที่แฝงเร้นเหล่านี้ และผมคิดว่าไม่จำเป็นด้วยซ้ำ เพราะเขาไม่ใช่นักวิชาการ

เด็กและเยาวชนอย่างพวกเขาไม่จำเป็นต้องคิดแบบนักวิชาการครับ และพวกเขาไม่จำเป็นต้องคิดแบบ "นัก" อะไรต่อมิอะไร หรือคิดตามที่ผู้ใหญ่ชี้นำหรือยัดเยียดกันอย่างทุกวันนี้

สิ่งสำคัญมากกว่าคือเหตุการณ์เหล่านี้เป็นเสมือนเครื่องมือที่พวกเขาสามารถคิดหาความหมายเองได้ เป็นเจ้าของความคิดของตัวเอง อย่างภาคภูมิใจ ในความคิดที่เป็นตัวของตัวเอง และแตกต่างไปตามประสบการณ์ของตน

แล้ววันข้างหน้า พวกเขาก็จะกล้าที่จะคิดและรับผิดชอบความคิดตลอดจนการกระทำของตน

ขอบคุณคุณแว้บ ที่ "แว้บ" เข้ามา แล้วมา "แว้บ" อีกนะครับ

คุณวิสุทธิ์ครับ
ขอบคุณมากครับ กระจ่างแจ้งเลย

ที่คุณบอกว่า เด็กและเยาวชนไม่จำเป็นต้องคิดแบบนักวิชาการ หรือ "นัก" อะไรต่อมิอะไร นี่ ผมชอบมากครับ เห็นด้วยครับว่าในวัยเด็ก จะต้องมีประสบการณ์หลากหลาย ความขัดแย้งของวัฒนธรรมจะทำให้เกิดการเรียนรู้ ตั้งคำถามอย่างน้อยก็กับตัวเขาเอง

ถ้าไม่รู้ตอนนี้ก็ยังสามารถเก็บไปคิด แล้วเข้าใจหรือสร้างความหมายให้เหตุการณ์นั้นๆ ได้ในอนาคต ขอเพียงแต่เขาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีเท่านั้นล่ะครับ

แล้วจะแวะเข้ามาเรื่อยๆ ครับ

สาวน้อยบ้านเมืองแพม

ก่อนอื่นก็ขอสวัสดีนะคะ

หนูก็เป็นเป็นคนบ้านเมืองแพมนะคะแต่ก็ไม่ค่อยรู้เรื่องพิธีกรรมอะไรมากมายนัก

คือไม่ค่อยได้อยู่บ้านค่ะตอนนี้ก็เรียนหนังสืออยู่ นานๆทีถึงจะได้กลับบ้าน

ทุกวันนี้หนูคิดถึงบ้านมาก หนูเพิ่งรู้นะคะว่ามีคนที่สนใจเรื่องราวของหมู่บ้านเมืองแพม

และชนเผ่าปาเก่อญอ ทำให้หนูมีกำลังขึ้นมากที่รู้ว่ายังมีคนที่สนใจเราอยู่ต้องขอขอบคุณ

นะคะนึกว่าจะมีแต่คนดูถูกพวกเราซะอีก ช่วงนี้ก็สอบแล้วปิดเทอมนี้หนูจะได้กลับบ้าน

แล้วค่ะ แล้วจะมาเล่าฟังใหม่นะคะว่าที่บ้านเมืองแพมมีอะไรเปลี่ยนไปหรือเปล่า

ขอบคุณนะคะที่ยังมองเห็นพวกเรา

สวัสดีครับ สาวน้อยบ้านเมืองแพม

ไม่เสียชื่อคนเมืองแพมนะครับที่ยังมีใจรักบ้านเกิดอยู่ ปิดเทอมนี้ ดีใจด้วยที่หนูจะได้กลับบ้านไปหาพ่อแม่ญาติพี่น้อง ตอนนี้ทางสโมสรเยาวชนที่ปางมะผ้าก็กำลังฟื้นฟูการละเล่นและนิทานพื้นบ้านเผ่าต่างๆอยู่ ถ้าปิดเทอมหนูว่างก็แวะมาเยี่ยมกันได้ที่สโมสรผู้นำเยาวชน (สยชช.) บ้านสบป่องนะครับ โทร. 086-9169486, 053-617128 ครับ

สาวน้อยบ้านเมืองแพม

สวัสดีค่ะ แล้วหนูจะไปเยี่ยมนะคะใกล้ๆแค่นี้เอง

แล้วถ้าจะขอเป็นสมาชิกสโมสรอีกสักคนจะได้ไหมคะ

ขอบคุณล่วงหน้านะคะ

สวัสดีครับ น้องสาวน้อยบ้านเมืองแพม

  • แวะมาเยี่ยมเยือน กันได้เสมอ แต่โทรมาก่อนก็ดีครับ เพราะบางทีก็ต้องออกต่างจังหวัด หรือเยาวชนลงพื้นที่ เดี๋ยวจะมาแล้วไม่เจอใคร จะเสียเวลาครับ
  • สยชช. เรายินดีต้อนรับ เยาวชนทุกคนที่มีจิตอาสา ร่วมพัฒนาบ้านเกิดครับ

ผมเคยไปงานแต่งงานลูกศิษย์ปกากะญออยู่ครั้งนึงครับ ได้ไปอ่อเม-อ่อซิ (กินข้าว-กินเหล้า) ในงานครับ ส่วนพิธีได้ดูแป๊บเดียวเพราะหมู่คณะที่เดินทางไปด้วยกันต้องเดินทางกลับครับ

ชาวปาเกอะญอ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พะตี่ที่นั่น น่าทึ่งมาก พวกท่านต่างมีความรู้กว้างขวาง เทียบได้ว่าสามารถเป็นอาจารย์สอนในมหาลัยได้เลย

หวัดดีครับ อ.จีรัง -ถ้าจะให้ดี ไปเยี่ยมหมู่บ้านทั้งทีต้องไปนอนสักคืนสองคืน จะได้บรรยากาศการเรียนรู้อีกเยอะทีเดียวครับ

คุณบอกกล่าวครับ - ผมก็เห็นด้วยนะครับ คนจนๆเหล่านี้ล้วนมีสิ่งดีๆมากมายให้เราได้ศึกษาครับ

สวัสดี

คิดถึงผู้คนบนดอยค่ะ

 

คือ จริงๆ แล้วคิดว่าคำว่า กะเหรี่ยง น่าจะเขียนคำว่า ปกา เก่อ ญอ มากกว่า

ปาเกอะญอ หรือปกาเกอะญอ ถ้าแปลเป็นภาษากะเหรี่ยง แปลว่า คนขี้เกียจง่าย

เกอะ แปลว่า ขี้เกียจ

หญอ /ญอ แล้วแต่จะเขียน แปลว่า ง่าย

แต่ก็อย่างที่บอกนั่นแหละ แล้วแต่ว่าแต่ละพื้นที่เขาจะเรียกยังไง

แต่ถ้าเป็นภาษาเขียนก็น่าจะไม่มีปัญหา ลองศึกษาดูนะ

อย่าง เก่อ ญอ หมื่อ / เก่อ ญอ ควา มันก็เอามาจาก ปกาเก่อญอ นั่นแหละ

- คนปกาเก่อญอ -

  • ขอบคุณคุณหน่่อหมื่อมากครับ นี่ถ้าไม่บอกผมก็คงโง่ไปอีกนาน
  •  บางทีคนนอกก็ทำไปด้วยความไม่รู้นะครับ
  • อย่างนี้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ต้องช่วยกันสร้างให้คนนอกมีความเข้าใจมากขึ้น
  • ในขณะเดียวกัน ในฐานะคนนอกวัฒนธรรมเขา ก็ต้องน้อมรับว่าเราเองต่างก็มีอคติ มีความไม่เข้าใจในวัฒนธรรมของเขาอยู่มาก
  • การนำเรื่องของคนอื่นมาเล่า ก็ควรเล่าด้วยความถ่อมตน เพราะเราเองยังไม่รู้อะไรอีกเยอะ ยังต้องการคำวิจารณ์อีกมาก
  •  อย่างที่คุณหน่อหมื่อกรุณาแนะนำมานี้ เป็นประโยชน์มากครับ

ชอบจังเลยค่ะ ดูเรียบง่ายดี....ขอบคุณนะคะ

มีโอกาสไปจัดงานวันเด็กให้น้องชาวปกาเก่อญอบ้านนากลางในอำเภอแม่แจ่ม ชาวบ้านน่ารักมากมีน้ำใจ ชวนไปกินข้าวบ้านตนเองกัน บางมื้อต้องแวะไป 3 บ้านเพราะเกรงใจพี่ๆเค้าอุตส่าห์ชวน เพื่อนหลายคนคิดว่าไปลำบากแล้วน้ำหนักน่าจะลดลง แต่ไหงกลับกันมีน้ำมีนวลขึ้นทุกเที่ยวที่ไป ครั้งหลังสุดได้พบปะพูดคุยกับปกาเก่อญอรุ่นใหม่กลุ่มนึง เค้าก็มีความรักบ้านเกิดถิ่นฐานของตนอยากกลับมาพัฒนาและสืบสานวัฒนธรรมต่อหลังจากเรียนจบ ดิฉันคนต่างถิ่นได้รับทราบความตั้งใจก็รู้สึกยินดีค่ะ

"ต่อให้จบปริญญาเอกมาสักโหลแต่จะอธิบายให้เข้าถึงจริงๆมันเป็นไปไม่ได้เลย "ผมชอบคำนี้มากอยากบอกให้ลูกหลานปาเกอะญอว่า เราไม่มีแผ่นดินแห่งทอแมป่าเราจะต้องมาสิ้นวัฒนธรรมอีกหรือ

วอเล่อเกค่ะคุณยอดดอย

อัตลักษณ์ของแต่ละชาติพันธุ์ เป็นความงดงามและควรค่าเพื่อศึกษา คนรุ่นใหม่ได้สืบสานอนุรักษ์ไว้ค่ะ 

ยังประทับใจน้ำจิตน้ำใจ คนดงดอย พี่น้องปะกากะญอ ค่ะ ต้าบรือๆ   

 

คุณบอโซ่ทูป่าครับ ผมคิดว่า เราไม่ปฏิเสธทรัพยากรดิน นำ ป่า ว่ามีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของอัตลักษณ์ชาติพันธุ์นะครับ แต่ทรัพยากรมันไม่เที่ยง

  • บางทีคำถามสำคัญที่ท้าทายคนรุ่นต่อไปคือ ทำอย่างไร "ความเป็นปกกาเกอะญอ" จึงจะสามารถดำรงอยู่ได้ โดยไม่ขึ้นอยู่กับผืนป่า
  • แต่ความเป็นปกกาเกอะญอสามารถดำรงอยู่ในทุกที่ แม้ในเมืองคอนกรีต.

น้ำใจ เป็นน้ำทิพย์อมตะที่ยิ่งให้ยิ่งเพิ่ม

  • ผมคิดว่า "ความเป็นปกกาเกอะญอ" ไม่ได้ขึ้นอยู่กับภาษา เครื่องแต่งกาย นะครับ เพราะคนไทย หรือชาติไหนๆ ก็ทำได้
  • แล้ว "ความเป็นปกกาเกอะญอ" คืออะไรก็คงต้องนิยามกันต่อไป
  • แต่หนึ่งใน"ความเป็นปกกาเกอะญอ"นั้น คือ ความมีน้ำใจอย่างที่คุณ poo ได้กรุณาโพสต์มา

ขอบคุณทั้งสองท่านที่แวะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หากมีโอกาสแวะเข้ามาเสนอความเห็นกันอีกนะครับ

เป็นการแสดงตัวตนที่ดีมากครับ คำถามคือว่า ป่าคอนกรีตเริ่มเข้ามาใกล้หมู่บ้าน คนรุ่นใหม่จะเดินไปในเส้นทางใด?

ทิ้งท้าย กาลเวลาเปลี่ยน แต่ใจคนไม่เคยเปลี่ยน

ความสุขของคนใช่ว่าจะอยู่ที่วัตถุ แต่มันอยู่ที่..ใจ...มากกว่า ผมเป็นคนปาเกอญอผมอยู่กับป่า กับเขาผมภูมิใจและมองว่าดีด้วยซำมันมีความสุขชีวิตเรียบง่ายไม่ต้องตามกระแสอย่างคนเมือง มีภาษาและวัฒนธรรมของตัวเอง ผมว่าเรามารักษากันไว้นะครับถึงแม้ตอนนี้ผมจะเรียนในกรุง แต่สัญญาว่าเมื่อจบผมจะกลับไปใช้ชีวิตในป่าเขาผมว่ามันมีความสุข พี่คนที่แต่งงานผมว่าน่าจะคิดอย่างผม..

หนูเคยมาบ้านเมืองแพมสองครั้ง รู้สึกรักบ้านเมืองแพมมากๆค่ะ ทุกคนเป็นกันเอง อบอุ่น เหมือนที่บ้านเกิดหนูที่อีสานค่ะ

ถึงน้องชาน ชาติ และลี

  • ดีใจที่ยังมีปัญญาชน คนมีอุดมการณ์จะกลับมาพัฒนาบ้านถิ่นเกิดนะครับ ถ้าคนรุ่นใหม่เข้าเมืองไปกันหมด ใครจะอยู่พัฒนาบ้านของเรา จริงไหม
  • ผมเป็นคนหนึ่งที่หนีเมืองมาอยู่บ้านนอก เพราะรักในความอบอุ่นแบบท้องถิ่น รักธรรมชาติ ชีวิตที่เรียบง่าย ได้ขัดเกลาตัวเองนี่แหละเป็นงานอันประเสริฐ รวยจน วัดใจคนไม่ได้ คนปกาเกอะญอเป็นคนที่มีศักดิ์ศรีเท่าๆกับคนทุกคน และมากกว่าคนไทยที่รวยเป็นหมื่นล้านแต่โกงบ้านโกงเมือง
  • การที่เรากลับมาสร้างงานที่บ้าน โดยไม่งอมืองอเท้ารอให้ใครมาจ้าง อันนี้ถึงจะเรียกว่า “คนจริง”
  • อย่ากลัวที่จะสวนกระแสสังคมเลยครับ เพราะปลาเป็นเท่านั้นที่แข็งแรงพอจะว่ายทวนน้ำ
  • เป็นกำลังใจให้นะครับ

ดีใจอะไรกันนักกันหนาต้องบอกคนอื่นๆทำไม ปานคนอื่นเค้าไม่รู้

  • ขอบคุณคำติของคุณนกนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการชมหรือการติ ล้วนมีคุณค่าต่อการพัฒนาบันทึกการเรียนรู้นี้ 
  • แต่ถ้าคุณอ่านบันทึกนี้แล้วรู้สึกไม่ดีก็ไม่ต้องโพสต์จะดีกว่านะครับ เพราะคนดีๆที่เขารักบ้านเกิดจริงๆ อยากทำงานช่วยสังคมนั้นยังมีอยู่จริง มาโพสต์อย่างนี้ นอกจากไม่สร้างสรรค์แล้ว จิตใจคุณจะพลอยขุ่นมัวไปเปล่าๆ
  • ถ้ายังไม่เข้าใจก็โทรหรือเมล์มาคุยกันเป็นการส่วนตัวก็ได้นะครับ ตามที่อยู่ในข้อมูลส่วนตัวผม ยินดีให้ข้อมูลและตอบทุกคำถามครับ

เป็นคนกรุงเทพค่ะ แต่กำลังจะแต่งงานกับแฟนที่เป็นคนปกาเก่อญอ เขาเป็นคนดีมากค่ะ และมีความสุขมาก ขอบคุณทุกสิ่ง ทุกอย่าง ที่ทำให้ฉันได้พบเจอกับคนที่รักฉัน ยังตื่นเต้นอยู่เลยเพราะไม่รู้เกี่ยวกับงานประเพณีแต่งงานของเขาเลย แต่พอมาอ่านเว็บนี้ได้ความรู้มากเลยค่ะ ขอบคุณนะค่ะ

( หน่อหมื่อครับ ปาเกอญอ แปลว่าคนครับ ไม่ใช่คนขี้เกียจ ขอจงเข้าใจใหม่นะครับ (เราเป็นคนไม่โลภต่างหาก) เรียกคุณยอดดอยนะครับ ขอบคุณมากครับ ผมเห็นด้วยกับเด็กเมืองแพมที่รักบ้านเกิด และไม่ลืมชาติของตัวเอง เป็นพระคุณอย่างยี่งนะครับที่กรุณาทำเวบนี้ขึ้นมา ไม่งั้นผมคงไม่มีพื้นที่ในการสื่อกับใครในโลกที่ไร้พรมแดนอย่างนี้ และขอให้กำลังใจคุณด้วยครับ(ไม่ว่าการกระทุ้ของบางคนเป็นการหยาบคายมาก ฟังชื่อแล้วน่าจะเป็นเพศหญิงด้วย ไม่น่าเลยครับ แต่คนพวกนี้น่าเห็นใจเขานะ) ขอพบกันในกระทู้หน้าอีกนะครับ ขอบคุณครับ พะตี่โซ ปาเกอญอห้วยปูลิง

ผมเพียงเก็บภาพความประทับใจ และต้องการแชร์ส่งดีๆให้สังคมรับรู้ผ่านมุมมองของตนเอง ที่อาจจะผิดบ้าง ถูกบ้างในสายตาคนอื่น แต่อย่างน้อยสังคมก็ได้รู้จักเรื่องราวในพื้นที่จังหวัดเล็กๆ เรื่องราวคนตัวเล็กๆ ธรรมดาๆมากขึ้น แม้พวกเขาจะไม่หรู ไม่รวย ไม่มีอำนาจวาสนา ยศฐาบรรดาศักดิ์ยิ่งใหญ่ แต่เขาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยมีความงดงาม และเป็นความประทับใจแก่คนที่ได้ไปรู้จักพวกเขาจริงๆ ขอบคุณที่ให้กำลังใจครับ

หนูเป็น ปกาเก่อญอ ต.แม่อูคอค่ะ หนูมาเรียนในเมืองเชียงใหม่ ช่วงนี้ใกล้สอบแล้วดีใจมาก เพราะสอบเสร็จแล้วหนูจะได้กลับบ้านไปหาพ่อแม่ ไปใช้ชีวิตแบบเรียบๆ บนดอยที่ๆหลายคนอยากกลับไป หนูคิดเช่นนั้น  ช่วงที่ผ่านมาประมาณ 7 กว่าปีแล้วที่ได้ไปเล่าเรียนที่อื่น ได้กลับบ้านแค่ช่วงปิดเทอม รู้สึกว่าอยู่ที่อื่นมากว่าอยู่บ้านตนเอง ถ้าพูดถึงเรื่องแต่งาน เป็นที่น่าเสียดายมาก เพราะปีที่ผ่านมาที่หมู่บ้านมีญาติที่แต่งงานกัน 5 คู่ แต่ไม่ได้กลับไปร่วมสักคู่ ได้ร่วมงานแต่งแบบปกาเก่อญอครั้งสุดท้ายรู้สึกผ่านไป  11 ปีมาแล้ว ตอนนั้นยังเด็กอยู่รู้สึกตื่นเต้นมาก นานๆจะมีสักที ตอนนี้ใครแต่งได้แต่โทรถามแม่ให้เล่าเรื่องให้ฟัง และก็เป็นเรื่องที่น่าเสียใจมากที่แม่บอกว่า สมัยนี้งานแต่งค่อนข้างเงียบ เพราะมีแต่คนชราและเด็กเล็กๆ ส่วนวัยรุ่นไปเรียนและไปทำงานที่อื่นกันหมด ทำให้ขาดสีสันไปตั้งเยอะ และงานแต่งนั้นก็ต้องมีตัวแทนวัยรุ่น 2 คน ชายคนหญิงคนจากฝ่ายเจ้าบ่าวเป็นคนแบกข้าวของเครื่องใช้หรือสินสอดนำไปให้เจ้าสาว แต่ที่หมู่บ้านเหลือแต่เด็กๆเลยต้องให้เด็กๆแบก  ส่วนเรื่องการเรียกชื่อที่หน่อหมื่อบอกนั้นหนูคิดว่าพี่เค้าเรียกถูกแล้ว (ปกาเก่อญอ) ความหมายนั้นหนูก็ไม่แน่ใจ ส่วนพะตี่โซ พี่หน่อหมื่อเขาหมายถึง (เกอะ = ขี้เกียจ) นั่นถูกแล้วเพราะพี่เค้าแย้งให้ฟังว่าเค้าเรียกว่า (ปกาเก่อญอ)เฉยๆ ไม่ใช่ (ปกาเกอะญอ)   เกอะ กับ เก่อ  เขียนต่างกันนิดเดียว แต่ความหมายต่างกันมาก ส่วน ปกา กับ ปา มีความหมายเดียวกันคือ (คน) 

ปกาเก่อญอ หมายถึง คนไม่โลภมาก     (ตามความหมายของพะตี่โซ)

ปกาเกอะญอ หมายถึง  คนขี้เกียจง่าย    (ตามความหมายตรงตัว ซึ่งไม่ใช่ชื่อเรียกขันของชาวกะเรี่ยงขาวที่ถูกต้อง)

สุดท้ายต้องขอขอบคุณครูยอดดอยที่ตั้งกระทู้นี้ขึ้นมาให้หนูได้ระบายความรู้สึกเกี่ยวกับประเพณีงานแต่งของเผ่าเราชาวกะเหรี่ยงขาว ขอขอบคุณค่ะ



ต้องปรบมือให้น้องหน่อดาแห่งดอยแม่อูคอที่ยังไม่ลืมคุณค่า ความทรงจำดีๆที่บ้านเกิด ไม่เป็นไรหรอกครับกับการจากบ้าน ทุกคนต่างมีเหตุจำเป็นที่ต้องย้ายถิ่นฐาน เหมือนคนอีสานไปรับจ้างอยู่กรุงเทพก็เยอะ สำคัญที่เราไม่ลืมว่าเราเป็นใครและอย่างน้อยก็มีฝันไว้ว่าจะกลับไปทำอะไรดีงามที่บ้านบ้างก็น่าจะเพียงพอแล้ว

และต้องขอบคุณด้วยครับ ที่ให้ความรู้เรื่องสถานการณ์ชาว “ปกาเก่อญอ” ในหมู่บ้าน (หลงเขียนผิดอยู่นาน) ถ้าเจ้าของวัฒนธรรมไม่ออกมาอธิบาย คนข้างนอกก็จะกลายเป็นทำบาปบริสุทธิ์ไปเรื่อยๆ  สิ่งนี้จำเป็นมาก

อีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ในเรื่องความรักของชาวปกาเก่อญอสูงขึ้นได้ยินข่าววัยรุ่นท้องในวัยเรียน ข่าวฆ่าตัวตายที่มากขึ้นในกลุ่มปกาเก่อญอแล้วไม่สบายใจ

ล่าสุดที่นักเรียน ม.5 ศึกษาสงเคราะห์ผูกคอตายในโรงเรียน ข่าวว่าน้อยใจแฟน ตั้งคำถามในใจว่าทำไมเดี๋ยวนี้ เรื่องเหล่านี้มีมากขึ้นในกลุ่มปกาเก่อญอ ไม่รู้คิดอย่างไรกันบ้าง

อนึ่ง น้องๆหรือใครที่สนใจอยากทราบความเคลื่อนไหว ข่าวคราวแม่ฮ่องสอน ในเรื่องลักษณะนี้ น่าจะได้เข้าไปสมัครเป็นเพื่อนกันในเฟสบุ๊คนะครับ ที่ www.facebook.com/wisutl 

จากนั้น สมัครขอเข้ากลุ่ม “เครือข่ายสื่อสร้างสรรค์ภาคประชาสังคมจังหวัดแม่ฮ่องสอน” จะเป็นอีกช่องทางในการสื่อสารกันได้มากขึ้นครับ


พี่ครับ ผมกำลังทำวิจัยเกี่ยวกับพิธีแต่งงานของปวาเก่อญอครับ ผมสามารถหาวิจัยที่เกี่ยวของกับพิธีแต่งงานของปวาเก่อญอได้ที่ไหนบ้างครับ ช่วยแนะนำหน่อยครับ

ปกาเกอะญอ ครับ ไม่ใช่ ปวาเก่อญอ

คุณสุทธชัย เรียนหรือทำงานอยู่ที่ไหนล่ะครับ

วิจัยนี่หัวข้ออะไร ส่ง Proposal มาให้อ่านทางอีเมล์ [email protected]

จะได้แนะนำถูกครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท