“ชายขอบ” ตัวตนและความหมาย


จากกลุ่มคนชายขอบที่ยังง่ายต่อการค้นพบความพอดีและพอเพียงของตนเอง

     หลายต่อหลายครั้งที่ใคร ๆ ก็มักจะถามว่า ทำไมต้อง “ชายขอบ” สมดั่งคำที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี เคยกล่าวไว้ว่า หากเราจะดำเนินการอะไร สิ่งแรกที่เราต้องทำให้ชัดเจนเสียก่อนคือให้ความหมายให้ชัด และกำหนดขอบเขตให้ชัดเจน ครั้งล่าสุดที่ มรภ.ยะลา (5 ก.ค.49) เมื่อผมเสร็จสิ้นภารกิจบนเวที และกำลังจะลงเพื่อพูดคุยกับทีมนำ KM ของ มรภ.ยะลา หญิงวัยไล่เลี่ยกับผมได้ตรงเข้ามาขอไฟล์ที่ใช้บรรยาย พร้อม ๆ กับสอบถามว่า “ทำไมถึงเป็นชายขอบ” อันนี้ต้องขอโทษที่ผมไม่ได้สอบถามชื่อกลับไป เพราะกำลังสาระวนกับการเอาไฟล์ให้ และตอบคำถามไปด้วย

     “ชายขอบ” ของโอกาสอันพึงมีพึงได้ ความที่เป็น “ชายขอบ” (marginality) มักขาดเวทีหรือพื้นที่ยืนบนสังคม เพราะถูกกระบวนการผลักให้เป็นชายขอบ (marginalisation) ที่เกิดขึ้น ด้วยเพราะถูกให้ค่าบนความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียม ไม่เท่าเทียมกันแม้แต่โอกาส ที่จะให้ได้พูดออกมาด้วยน้ำเสียงที่ดังชัดด้วยตัวเอง คนชายขอบใช่จะอยู่เฉพาะแต่ในชนบท ในเมืองก็มีให้เห็นอย่างดาษดื่น หรือจะอยู่แต่บนดอย ชาวพื้นราบก็มีมากมายถมเถไป หรือใช่จะเป็นคนยากคนจน คนรวยก็เป็นคนชายขอบได้ แต่ยุคนี้อาจจะน้อยกว่า คนชายขอบมักจะเป็นกลุ่มคนที่อยู่นอกเส้นขีดที่เรียกว่า “เส้นระเบียบทางสังคม” หรือนอกเหนือจากสิ่งที่สังคมเรียกว่า “ปกติ” (Out of Formal Sector) ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วเส้นที่ว่านี้ไม่น่าจะมีและขีดขึ้นมาเพื่ออะไร นอกเสียจากเพื่อกั้นพื้นที่และขับผลักคนอีกส่วนหนึ่งออก จนนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมกันในที่สุด คนชายขอบในตัวตนของคนแต่ละคนจึงอาจจะมีลักษณะเดียว หรือหลายลักษณะ หรือมากเสียจนซ้ำซ้อน “ชายขอบ” จึงเป็นเพียงนามที่ย้ำตัวตนว่าพึงรักษาและแสวงหาพื้นที่แห่งโอกาส อันนำมาสู่ความเท่าเทียมกันให้ได้ แม้จะยากยิ่งสักเพียงใด

     พื้นที่แห่ง “โอกาส” (Opportunity) ใด ๆ ในแต่ละกรณี ควรจะเป็นไปในลักษณะการแบ่งปัน (Share) ไม่ใช่การฉกฉวย (Opporttunism) คนชายขอบมักจะยังไม่มีแม้โอกาสใด ๆ ที่ว่านั้น จึงไม่มีสิทธิเลือกใช้ หากเมื่อทุกคนมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน การได้ตัดสินใจใช้ ค่อยใช้ หรือไม่ใช้ จึงเป็นไปในลักษณะการแบ่งปัน หากไม่เพียงพอกัน หรือขาดแคลน (Scarcity) จริง ๆ และการแบ่งปันอยู่ในเงื่อนไขแห่งความเท่าเทียมที่ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน (ซึ่งเป็นไปไม่ได้จริง) คนชายขอบก็จะค่อยหายไปเป็นไม่มีในสังคม

     “ความไม่รู้ไม่เข้าใจอย่างแท้จริงว่ามีโอกาสอันพึงมีพึงได้” จึงเป็นประเด็นหลักที่ทำให้เกิดคนชายขอบ และ “การแบ่งปันที่ไม่ใช่การฉกฉวยโอกาส” จึงเป็นความเท่าเทียมกันอันจะนำไปสู่การหมดไปของคนชายขอบ “พื้นที่แห่งโอกาส” เป็นสิ่งที่คนชายขอบต้องเข้ามายึดกุมให้ได้บ้าง หนทางเดียวที่จะบังเกิดได้ก็ต้องเกิดจากคนชายขอบที่เล็ดลอดเข้ามาได้บ้างแล้วช่วยกันเปิดประตูโอกาสให้เพื่อน ๆ คนชายขอบด้วยกัน และแบ่งปันจากคนที่ครอบครองโอกาสนั้น ๆ อยู่อย่างเกินความจำเป็น ซึ่งบางทีก็อาจจะต้องลงมือปฏิวัติแต่ด้วยปัญญาหาใช่พละกำลังไม่

     โครงสร้างทางสังคมที่เป็นไปตามกลไกอำนาจและเงินตรา โดยเฉพาะในระบบทุนนิยมเสรีที่ไร้คุณธรรมและจริยธรรม เป็นตัวเร่งสำคัญในการผลักขับให้เกิดการเพิ่มจำนวนของสมาชิกชุมชน “คนชายขอบ” อย่างทวี หากแต่มัวมัวเมาจนเกิน กลายเป็นความต้องการ (Wants) ที่เกินจากความจำเป็น (Needs) ตามความพอดีอย่างพอเพียง ย่อมก่อให้เกิดกระแสความไม่สงบที่ค่อย ๆ กระเพื่อม ๆ ขึ้น และนำไปสู่การใช้ความรุนแรง เพราะเกิดการแย่งชิงทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด (Limited) และด้วยโครงสร้างทางสังคมที่เป็นไปตามกลไกอำนาจและเงินตรานี้ จะทำให้คนที่แย่งชิงได้ก่อนและมาก นำไปสะสมแล้วใช้ต่อทุนในการแย่งชิงโอกาสสะสมไว้อีก และสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อทุกคนตกอยู่ในกระแสหลักนี้ ทุกคนก็จะมองเห็นไปที่ “อำนาจและเงินตรา” ว่าจะบันดาลทุกอย่างได้ แม้แต่ความสุข ความสงบจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะคนชายขอบก็เริ่มมองเห็นและตกอยู่ในวังวนนั้นเช่นกัน แต่นั่นก็เป็นความสุขเทียม ความสุขที่แท้จริงต้องเกิดจากความพอดีอย่างพอเพียง

     “ความสุขที่แท้จริง และศานติ” ในเชิงการจัดการเพื่อไปให้ถึงให้ได้ น่าจะเริ่มจากกลุ่มคนชายขอบที่ยังง่ายต่อการค้นพบความพอดีและพอเพียงของตนเอง ในขณะเดียวกันก็แสวงหาพื้นที่แห่งโอกาสอันพึงมีพึงได้ มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อการได้เลือกและแบ่งปันกันอย่างเท่าเทียม ช่วยกันสกัดกั้นการสะสมโอกาสของคนบางกลุ่มคนที่ไร้คุณธรรมจริยธรรม ค่อย ๆ นำสังคมไปสู่สมดุลอย่างพอดีและพอเพียง เปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมอำนาจและเงินตรา มาเป็นโครงสร้างทางสังคมอุดมปัญญา แม้จะเป็นเพียงภาพคิด แต่ก็มุ่งปฏิบัติและชักชวนให้เป็นภาพฝันร่วม และหมายมั่นว่าจะกลายเป็นภาพจริง แม้จะค่อยเป็นค่อยไป ก็ไม่เป็นไร สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องจัดการและกำลังจัดการตามความคิดความเชื่อตนเองก็คือ การสร้างการยอมรับว่าคนชายขอบก็มีปัญญา ต้องเคารพกันอย่างมีศักดิ์ศรี ให้เกียรติกันและกันในปัญญา เพราะปัญญาเป็นสิ่งเดียวที่ถือเป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่า มีไม่สิ้นสุด และมีอยู่แล้วในตัวคน

หมายเลขบันทึก: 39344เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2006 09:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (27)

เป็นข้อคิดและวิธีการที่ดีมาก ๆ เลยครับ

สิ่งที่คุณชายขอบเสนอ ถ้าทุกคนนำไปปฏิบัติได้ สังคมนี้คงจะน่าอยู่มากกว่าในปัจจุบัน

อ่านแล้วจึงรู้ว่าผมก็เป็นคนหนึ่งในชุมชนคนชายขอบและเป็นมานานแล้วด้วย เพียงแต่เพิ่งได้ยินคำนี้ ขอบคุณมากครับ 

คุณปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

    ขอบคุณมากนะครับที่เข้ามา ลปรร.ไว้ ขอบคุณจริง ๆ ครับ และเห็นด้วยกับที่คุณปภังกร ได้กล่าวไว้

ผอ.บวร

     ผมเชื่อครับว่า ผอ.เป็นเช่นนั้นด้วยแน่ ๆ เราจึงเป็น "คนคอเดียวกัน" น่าจะใช่นะครับ

วันนี้มาประชุมที่กรุงเทพฯกับเพื่อนพอมีเวลาได้เข้าบล๊อกเพื่อนได้อ่าน.ชายขอบ...ขอร่วมลปรร.Bermได้อ่านแล้วรู้สึกว่าได้สาระสำหรับตัวเอง นี่เป็นโอกาสหนึ่งที่ได้จากความเป็นเพื่อนกับMS.SUNEE พราะชวนให้รู้จักคุณชายขอบ ตอนเป็นเด็ก Berm ไม่เข้าใจคำว่าโอกาส เป็นเด็กบ้านนอก ห้องเรียนกับโรงลิเกของวัดกับใต้ถุนศาลาเป็นสิ่งเดียวกัน ตอนนี้มาทบทวนอดีต พบว่าโอกาสของBerm มาเรื่อยๆจนถึงวัย40 ปี เป็นโอกาส ''รับ'' มาตลอด 40-45ปี เป็นช่วงสับสน จาก45- บัดนี้( ไม่บอกว่าอายุเท่าไร) มั่นใจว่าเป็นโอกาส'' ให้''    แต่ไม่รู้ว่าตัวเองมีขอบหรือไม่ อยู่ใกล้ขอบหรือเปล่า  ยังอยู่บ้านนอกเหมือนเดิมและยินดีที่รู้จักคุณชายขอบ

มีคำถามผุดขึ้นมาว่า "ถ้าคนหนึ่งคนไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนชายขอบ เขาจะยังเป็นคนชายขอบอยู่ไหมคะ"

 

เข้ามาอ่านบันทึกนี้ของ คุณ "ชายขอบ" หลายรอบแล้วค่ะ ครั้นจะลงความเห็นต้องมีอันเป็นไปทุกที วันนี้ได้ทีจึงขอ ลปรร. ด้วยคนค่ะ (เขียนยาวหน่อย...เพราะตัวเองก็เป็นคนชายขอบเหมือนกัน)

มีคำพูดหนึ่งที่ประทับใจไม่รู้ลืม "คนชายขอบไม่ต้องการทรัพย์สินเงินทองใด ๆ แต่คนชายขอบต้องการเพียงแค่โอกาส"  โอกาสในการให้เขาได้ยืนอยู่ด้วยภูมิปัญญาของตนเอง

ก่อนที่จะได้มาซึ่งโอกาส จำเป็นอย่างยิ่งที่คนชายขอบทุกคนจะต้องเกิดความรักความสามัคคีในหมู่คณะ การร่วมมือร่วมใจกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน จนกลายเป็นเกลียวเดียวกัน ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนชายขอบเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการพัฒนาทุกอย่างต้องเกิดมาจากความร่วมมือร่วมใจกัน จนกลายเป็นพลังความสามัคคีซึ่งพลังอื่นใดไม่สามารถจะทำลายได้ และเมื่อนั้นการพัฒนาทุก ๆ อย่าง ทุก ๆ ด้านจะบังเกิดขึ้นอย่างสัมฤทธิ์ผล

หากเมื่อใดที่ได้มาซึ่งโอกาสหากคนชายขอบไม่รู้จักคำว่ารู้รักสามัคคีโอกาสที่ได้รับการหยิบยื่นให้ก็สูญเปล่า และลำพังคนชายขอบเพียงคนเดียวคงผลักดันให้คนชายขอบถ้วนทุกคนได้ยืนอย่างสง่าในสังคมได้ไม่ง่ายนัก แต่คนชายขอบทุกคนต้องตระหนักและช่วยกันผลักดันวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสทางปัญญาที่ยั่งยืนและถาวร

ดังนั้น ก่อนที่คนชายขอบจะได้มาซึ่งโอกาส จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คนชายขอบทุกคนจะต้องร่วมกันสร้างพลังให้เกิดขึ้นเป็น"ชุมชนคนชายขอบ"  ที่ยั้งยืนด้วยภูมิปัญญา ช่วยกันคนละไม้คนละมือจนกลายเป็นมือเดียวกัน ใจเดียวกัน จนกลายเป็นคนชายขอบก้อนกลุ่มเดียวกัน จึงจะทำให้การพัฒนาเป็นไปได้ง่ายขึ้น

 

 

คุณ Berm ในนาม Ms.Sunee, คุณจันทรรัตน์ และ อ.Vij

     ขอบคุณครับ สำหรับ คห. ผมเกรงว่าแต่ละท่านผมคงต้องใช้เวลาในการตอบ เพราะเป็นประเด็นที่ ลปรร.อย่างยอดเยี่ยมทีเดียว ณ การตอบ คห.นี้ ผมขอขอบคุณคำสรรเสริญที่มีให้ นะครับ มอบต่อแต่คน "ชาบขอบ" ทุกท่านนะครับ

คุณ Berm ในนาม Ms.Sunee

     อยากท้า(ชวน)ให้เขียนบันทึกเพื่อถ่าย Tacit K. ออกมานะครับ คน 45++ ต้องมีอะไรดี ๆ (ไม่งั้นอายุไม่ยืนมาถึงปัจจุบัน...ฮา)
     คนชายขอบขอขอบคุณล่วงหน้า หากจะได้ร่วมกันเอื้ออำนวย/แจกจ่าย/แบ่งปัน โอกาส แก่กันและกันครับ การ ลปรร.กันก็เป็นการเอื้ออำนวยให้กันอย่างหนึ่งแล้วครับ
     หากบันทึกนี้ให้สาระแก่คุณได้จริง ท้าว่ามาเขียนแลกกันอ่านบ้างสิครับ (ยิ้ม ๆ)

  • ใช่แล้ว ชายคนนี้ชื่อชายขอบ แดนพัทลุง

คุณ จันทรรัตน์

     อยากตอบ คห.นี้ใจจะขาดเลยครับ ขอบตอบอย่างเสียงดัง ๆ เลยว่า "ไม่เป็นครับ" ฉะนั้นตามฐานคิดในบันทึกนี้นั่นคือ เขาพอดีอย่างพอเพียงแล้วนะครับ

อ.Vij

     ผมขออัญเชิญแนวทางตามพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน ในหลวงของเรามาต่อยอด คห.อาจารย์นะ อาจารย์จะหมายถึง "รู้ รัก สามัคคี" ใช่ไหมครับ คนชายขอบต้องร่วมด้วยช่วยกัน ผมเข้าใจได้อย่างนี้ เพราะหากไม่ช่วยกัน จะไม่มีใครช่วยเรา

เสียงดังของคุณชายขอบทำให้เกิดคำถามใหม่ (อีกแล้ว)

งั้น ในคนหนึ่งคน มีโอกาสเป็นทั้ง "คนชายขอบและไม่ใช่คนชายขอบ" ในเวลาเดียวกันได้ไหมคะ

ตอบคุณ จันทรรัตน์

     ใช่อีกแล้วครับ ในขณะเดียวกัน คน ๆ เดียวกัน เป็นกลับไปกลับก็ได้ครับ แล้วแต่ "โอกาส" ครับ

     ฉะนั้น "ชายขอบ" ที่เป็นปัญหา คือ ซ้ำซ้อน ต่อเนื่องยาวนาน และเป็นโรคติดต่อด้วย
  • ขอบคุณครับ  เคยคิดจะถามเมื่อพบกันที่ มอดินแดง ในเรื่องนี้เหมือนกัน...เลยไม่ต้องถามแล้วนะครับ
  • ผมจะอยู่ ตรงไหน ? ผมไม่ค่อยสนใจ  ไม่อยากบอกตัวเอง  ให้คนอื่นติดป้ายให้ ตามใจเขา
  • ทำอะไรก็ได้ ที่ทำแล้ว สบายใจ สุขใจ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
เอ!! คุณ "ชายขอบ" ช่วยขยายความ คำว่า "รู้ รัก สามัคคี" หน่อยได้ใหมค่ะ โดยปกติแล้วที่เรา ๆ พูด ๆ กัน คือ "รู้รักสามัคคี" แต่สงสัยว่าทำไม คุณ "ชายขอบ" ถึงแยกคำเหล่านี้ออก หรือว่าในแต่ละคำมีความหมายในตัวของมันค่ะ

อ.ขจิต

     ชายขอบ แดนพัทลุงอีกเหรอครับ ผมว่าพัทลุงทั้งจังหวัดก็ชายขอบแล้วนะ จะขอบไปถึงไหนครับ (ยิ้ม)

ถ้าเขา พอใจ ที่จะเป็นคนชายขอบ ตลอดไป

และมีความสุขที่เป็นคนชายขอบล่ะ

     ในที่สุดก็ชื่อทั้งหลายล้วนเป็นสิ่งสมมติที่เรียกกันไปต่างๆ นานา เพื่อสื่อสาร สาระ เรื่องราว ให้เกิดประโยชน์ กระตุ้นความคิด  ก่อให้เกิดการเรียนรู้ และเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์
       คำ "คนชายขอบ" จะหมดไปจากใจคน เมื่ออวิชชาถูกทำลายอย่างสิ้นซาก  ซึ่งคงอีกนานแสนนาน ชื่อ "ชายขอบ" จึงจะยังทำหน้าที่ของมันต่อไปได้อีกนาน หน้าที่ในการเตือนสติคนให้หันมา สร้างสังคมที่ดีกว่า  สังคมของกัลยาณมิตร ของ เพื่อนร่วม ทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่างแท้จริง

ขอบคุณค่ะ ที่ต้อนรับเพื่อน (Berm) จะบอกเพื่อนให้ ....ไปราชการมาหลายวัน เพิ่งกลับมาวันนี้ ขอ ลปรร ตัวเองไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหนของขอบ เกิดมาในสวนฝั่งธนฯ เป็นเด็กยากจน แต่โชคดีมีโอกาสที่ดีเข้ามาในชีวิตจน ณวันนี้เป็นอาจารย์มหาลัยฯ แต่ที่ผ่านมาตระหนักอยู่ในใจตลอด และทำมาตลอดคือ เมื่อเราได้โอกาสที่ดีมา เรา ต้องคืนโอกาสที่ดีนั้นให้กับผู้อื่น ควรคืนมากกว่าที่เราได้ด้วย ยึดถือและทำมาตลอด ชีวิตไม่มีอะไรต้องกลัว เพราะมั่นใจในสิ่งที่ทำ ณวันนี้งานหนักมาก เหนื่อย....แต่ใจเบาสบายค่ะ

พอได้อ่าน ก็ให้ไดรู้จักกันมากขึ้น

เฝ้าถามอยู่ตั้งนานแล้วว่า ทำไมต้องชายขอบ แล้วชายขอบหมายความว่ายังไง ก็ยังไม่ได้คำตอบซักที จนวันนี้ทราบแล้วค่ะ ขอเป็นส่วนหนึ่งของคนชายขอบด้วยนะคะ

สวัสดีอีกทีนะครับ น้องไก่

     ได้คำตอบแล้ว อย่าเพียงหายสงสัยนะครับ คิดอะไรยังไงต่อนี่สิสำคัญกว่า

วันก่อนไปเป็นลูกศิษย์ ฟังบรรยาย นวัตกรรม ที่ รพ.สงขลา

ณ แห่งนี้ไม่มีที่"ชายขอบ"

ต่างชื่นชอบดุจเช่นเป็นเรื่องเท่า

อิสระเสรีมีแต่เรา

ไม่ใช่เขาเป็นอื่นขมขื่นใจ

เป็นพี่น้องเพื่อนมิตรใกล้ชิดอยู่

พร้อมรับรู้ปัญหาคราสงสัย

แบ่งปันได้ไมตรีมีอภัย

ความยิ่งใหญ่สามัคคีพลีให้กัน....

ดอกสารภี

ทวยประชา อติมารัตน์

เคยอ่าน เกียวกับ พระนางเลือดขาว(แม่เจ้าอยู่หัว) และ นางเลือดขาว บุตรบุญธรรมตาสามโม อยากรู้ว่ายุคเดียว เป็นบุคคลท่านเดียวกันหรือไม่ ท่านชายขอบมีความรู้ และ มีข้อมูล อย่า ให้ช่วยอธิบาย และเปรียเทียบ หรือ ทำความให้กระจ่าง ผมขอความกรุณา ทวยประชา 0840 0840 36

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท