คำให้การจากลูกผู้ชาย


ผมยอมรับว่าการออกหน่วยขาเทียมพระราชทานนั้นหนักมาก แต่เมื่อผมเห็นรอยยิ้มของผู้รับบริการขาเทียมแล้วทำให้ผมลืมคำว่า“เหนื่อย” ไปหมดเลยครับ....

คำให้การจาก..ลูกผู้ชาย 

ในวงสนทนาของฝ่ายเล็กๆ เราทั้ง 6 คน นั่งบนเสื่อผืนเดียวกัน ใครเมื่อยก็จะไถลตัวลงบนหมอน  บ่ายวันนั้นน่าจะเหมือนวันประชุมฝ่ายงานตามปกติ แต่เมื่อเราเริ่มวงสนทนาด้วยการขอให้น้องชายคนหนึ่งของเราช่วยเล่าความภาคภูมิใจและประทับใจในงานของเขาให้เราฟัง น้องชายที่ปฏิเสธมาตลอดว่าเขาเป็นคนพูดไม่เก่ง เขียนก็ไม่เก่ง ควักกระดาษแผ่นหนึ่งที่เรียบเรียงความรู้สึกเขาไว้ออกมาบอกเล่าให้เราฟัง
..
เมื่อสองปีก่อนจากเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยงานนักกายภาพบำบัด เขาได้ถูกคัดเลือกให้เข้าไปร่ำเรียนเอาวิชาความรู้เรื่องการทำขาเทียมกับระดับปรมาจารย์เจ้าของรางวัลแมกไซไซ  ไกลถึงเชียงใหม่  ด้วยหลักสูตรตลอด 3 เดือน ด้วยความที่เป็นคน“ขาดี”ท่ามกลางเพื่อนคนขาขาดพิการ ที่มาร่วมเรียนในชั้นเรียนเดียวกัน ความรู้สึกในครั้งนั้นเป็นดังคำบอกเล่าดังนี้...

.

ถ้าเขา... มีขาที่ยืนเดินได้ ชีวิตเขาคงจะดีกว่านี้
ตั้งแต่ผมไปอบรมที่เชียงใหม่เป็นเวลา 3 เดือน ชีวิตผมได้เรียนรู้เรื่องราวหลายอย่าง  ไม่ว่าจะเป็นการเรียนเกี่ยวกับการทำขาเทียม ซึ่งผมไม่มีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อนเลยว่าต้องทำอะไรบ้าง และใช้อะไรทำ จากการที่ผมเรียนจบไฟฟ้ากำลังซึ่งไม่เกี่ยวอะไรเลยกับคนไข้ มารู้บ้างตอนเป็นผู้ช่วยงานกายภาบำบัด

.

แต่เวลาก็ทำให้ผมได้รู้จักคำว่า“ขาเทียม”ผมใช้ชีวิตศึกษาการทำขาเทียมร่วมกับเพื่อนๆที่สูญเสียขามีผมกับพี่อีกคนเท่านั้นที่เป็นคนขาดี แม้กระทั่งอาจารย์ก็ยังเป็นคนพิการใส่ขาเทียม  
.
เป็นเพราะอะไร ทำไมเขาถึงขาขาด และเขาสามารถดำรงชีวิตอย่างไร?เป็นคำถามในใจผมมาตลอด
และในช่วงเวลาที่เรียนอยู่ผมได้พบกับคนพิการที่มารับบริการทำขาเทียมเป็นจำนวนมาก และทำให้ผมคิดว่า “คนพิการแขนขาขาด ต้องถือว่าเป็นคนโชคร้ายที่ไม่มีอวัยวะช่วยเหลือในการดำรงชีวิตให้ราบรื่นทั่วไปเหมือนคนปกตินอกจากเขาจะมีความทุกข์ที่ร่างกายตนเองไม่ครบเหมือนคนอื่นและทำอะไรไม่ได้เหมือนคนอื่นแล้ว สังคมและประเทศชาติยังสูญเสียโอกาสที่จะได้แรงงานหรือผลงานดีดี จากคนเหล่านี้ด้วย ”และผมคิดว่า ถ้าเขามีขาเทียมที่ใช้งานได้ตามปกติเหมือนคนทั่วไป ความสามารถของเขาจะต้องดีไม่ได้น้อยกว่าคนอื่นแน่นอน สังคมเราก็จะได้ประโยชน์จากส่วนนั้นเพิ่มขึ้น  แทนที่จะปล่อยให้เขาเป็นปัญหาของสังคม

.

เมื่อผมได้เรียนผ่านไปทางมูลนิธิได้จัดให้ออกหน่วยขาเทียมพระราชทานในชนบทห่างไกลปีละประมาณ 5 ครั้ง ในโอกาสสำคัญของชาติ  ทั้งนี้เพื่อถวายเป็นพระราชกุสล และที่ผมได้มีโอกาสออกหน่วยและสร้างความประทับใจ คือที่จังหวัดตรัง เพราะเป็นการออกหน่วยครั้งแรก ที่ทำให้ผมรู้ว่ายังมีผู้พิการขาขาดอีกเป็นจำนวนมากที่มารอทำขาเทียม และผมสังเกตคนพิการในวันนั้น ว่าคนที่ฐานะดีหน่อยจะมีขาเทียมใส่เดินมารับบริการได้สะดวก แต่สำหรับคนที่ยากจน ต้องช่วยตัวเอง ทำขาเทียมใช้เอง บางคนใช้ไม้ไผ่ บางคนใช้ไม้อื่นๆสุดแต่จะหาได้มาต่อตอขาตัวเองให้พอเดินได้ รายที่ไม่มีขาเทียมใช้ก็จะใช้ไม้ยาวๆ ช่วยค้ำยันแทน ทำใช้กันไปแบบตามมีตามเกิด ซึ่งเป็นภาพที่น่าหดหู่ใจสำหรับผม

.

ในการออกหน่วยทุกคนต้องตื่นมาตั้งแต่ตีห้า หกโมงเช้าจะต้องเดินทางไปไซค์งานที่โรงพยาบาลตรัง แล้วเริ่มปฏิบัติงาน ตั้งแต่เช้าจนถึงสี่ห้าทุ่ม เป็นอย่างนี้ทุกวันของการออกหน่วย ผมยอมรับว่าการออกหน่วยขาเทียมพระราชทานนั้นหนักมาก แต่เมื่อผมเห็นรอยยิ้มของผู้รับบริการขาเทียมแล้วทำให้ผมลืมคำว่า“เหนื่อย” ไปหมดเลยครับ....จากคำให้การบนกระดาษแผ่นนั้นของ คุณสุริยา เชื้อบุญมี
พอเล่าถึงความประทับใจแรกของเขาเมื่อคราวไปทดสอบความรู้ที่ร่ำเรียน กับการออกหน่วยขาเทียมพระ ราชทานครั้งแรกหลังเรียนจบ ที่จังหวัดตรัง

.

เสียงพ่อลูกสอง คุณอัษฏางค์ อรรคสูรย์ พี่อีกคนหนึ่งที่ไปเป็นเพื่อร่วมรุ่นเดียวกัน อดีตเจ้าหน้าที่ห้องบัตร ที่การันตีว่ามีฝีมือด้านศิลปะบำบัด เขาได้ถูกคัดเลือกให้เข้าไปร่ำเรียนเอาวิชาความรู้เรื่องการทำขาเทียมกับระดับยอดเยี่ยม  คนขาดีอีกคน ที่ไปเป็น “แกะดำ”ในหมู่เพื่อนพิการ 
เมื่อเสียงที่สั่นเครือของเขาดังเสริมขึ้นมา....ในประสบการณ์ครั้งเดียวกันนี้ พร้อมกับน้ำตาลูกผู้ชายคนหนึ่ง ทำให้เพื่อนร่วมเสื่อผืนเดียวกันต้องหยุดฟัง
จากคำสารภาพของเขา  ด้วยความไม่ใช่คนโสด มีห่วงถึง 3 ห่วง คือทั้งภรรยา และลูกชายอีก 2 คน ทำให้การตัดสินใจไปเรียนไกลบ้านถึง 3 เดือนนั้นเป็นเรื่องลำบากใจสำหรับเขา เป็นเขา...ที่ลากลับบ้านบ่อยครั้งที่สุดตลอดการเรียน  เพื่อที่จะกลับมาเยี่ยมห่วง ให้คลายห่วง
ก่อนไปก็รู้สึกว่าเดิมเคยทำงานที่ห้องบัตร เป็นลูกจ้างประจำ เงินเดือนก็ตันจะทำอะไรอีกนักหนาแต่เพื่อเป็นการตอบแทนผอก.รพ. ที่เคยให้โอกาสเขาได้เข้าทำงานเมื่อครั้งแรกที่ก้าวเข้ามาในรพ.แห่งนี้ เขาจึงตัดสินใจไปก็ไป...ตามคำร้องขอนั้น
3 เดือนที่เขาได้เรียนรู้ท่ามกลางเพื่อนๆ ทำให้เขาและน้องอีกคน กลายเป็นที่รักของเพื่อนพ้องได้ไม่ยาก เพราะความที่เป็น “คนขาดี ”ต้องช่วยคนอื่นๆในงานหนักๆที่เพื่อนพิการเหล่านั้นทำได้ไม่เต็มที่ การเป็นศิษย์ที่ได้รับความไว้ใจและเมตตา ทำให้ทั้งสองคนรู้สึกภูมิใจในสิ่งที่ก้าวผ่านมา  จนพูดได้เต็มปากว่าเขาทั้งสองเป็นศิษย์รักของอาจารย์ และเพื่อนเลิฟในหมู่เหล่าเพื่อนพิการช่างขาเทียม
.
แต่เมื่อหลักสูตร 3 เดือนจบลง สนามฝีมือแรกของพวกเขาอยู่ที่ จังหวัดตรัง พื้นที่ติดทะเลที่หลายคนแอบมองว่าน่าจะมีความสวยงามของทะเลฝั่งอันดามันรออยู่
การออกหน่วยแต่ละครั้งกินเวลาประมาณ 10 วัน ช่างขาเทียมแต่ละคนต้องเดินทางมาจากหลายที่ หลายจังหวัด ต่างกรรมต่างวาระ แต่สิ่งที่หล่อหลอมรวมพวกเขาคือการเป็นจิตอาสาในฐานะลูกศิษย์ ในแต่ละครั้งเมื่อถึงจุดหมายจะมีภารกิจรออยู่ ตั้งแต่ลงของเครื่องมือ ตกลงกำหนดจุดบริการ แจกจ่ายกันรับคนไข้ขาขาด ถึงจะได้พักในโรงแรมเรียกว่าหรูทุกครั้ง แต่เป็นเฉพาะเวลานอน และอาบน้ำอาบท่า เพราะช่างทุกคนจะต้องตื่นมาทำงานในหน่วยตั้งแต่ หกโมงเช้า ถึง สี่ห้าทุ่มทุกวัน สิ่งที่เขารู้สึกในครั้งนั้นคือ สนามฝีมือในครั้งแรกนี้ไม่มีครูคอยประกบเหมือนที่ผ่านมาตลอดเวลาเรียน และต้องทำกับขาที่พิการจริงๆ ที่เขาจะต้องดูแลรับผิดชอบตั้งแต่ต้นจนจบ

.

การรับคนไข้แต่ละครั้ง มักจะมีปัญหาที่ช่างจะต้องคอยแก้ไขอยู่เสมอและเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไขด้วยตัวเอง เพราะแต่ละคนก็มีขาที่ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว ประสบการณ์นั้นทำให้เขาเรียนรู้ที่จะต้องมั่นใจ กล้าคิด กล้าตัดสินใจแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับขาเทียมนั้น ด้วยความรู้ตัวว่าตัวเองเป็นคนดื้อแพ่งพอสมควร แต่สิ่งนี้กลับผลักดันให้เขาพยายามคิดเพื่อทำให้ขาเทียมที่รับผิดชอบนั้นเหมาะกับคนไข้ อย่างถูกต้องที่สุด คำพูดที่บอกว่า  “ถ้าคนไข้รู้สึกเจ็บที่ตอขา หรือจุดใดจุดหนึ่งเมื่อพยายามลองขาเทียมในครั้งนั้น นั่นหมายถึงช่างคนนั้นจะต้องรับผิดชอบแก้ไขจนถึงที่สุด เพื่อไม่ให้คนไข้เจ็บเลย ” การออกหน่วยที่หนักที่สุดในครั้งแรกของการเรียนนั้นทำให้เขาได้แต่ก้มมองมือตัวเองทั้งสองข้างที่แตกยับเยิน ทั้งเจ็บและคิดถึงบ้าน คิดถึงห่วงทั้งสามตลอดเวลา
แต่เมื่อการออกหน่วยครั้งนั้นจบลง ความคิดแรกของเขาก็คือเขาจะต้องเป็น “ช่างขาเทียมที่ทำขาเทียมได้ดีที่สุด”อย่างน้อยก็เทียบเท่ากับอาจารย์ที่สอนมา และการออกหน่วยในหลายครั้งตลอดปีที่ผ่านมาหลังจากครั้งแรกนั้น ทำให้เขารู้สึกว่าไม่มีอะไรที่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับการเป็นช่างขาเทียมของเขาอีกแล้ว

.

ถึงแม้เขาจะวางแผนหยุดชีวิตการทำงานในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เขาก็คิดว่าในช่วงเวลาที่เหลือจะทำให้ได้ตามที่ตั้งใจไว้  และยังต้องหาตัวแทนความฝันนี้รับช่วงต่อ
ทะเลอันดามันในวันสุดท้ายของการทำงานออกหน่วย เป็นของแถมเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสิ่งที่เขาได้ค้นพบหลังจากล่ำลาจังหวัดตรังกลับสู่บ้านของเขา
.
คำสารภาพที่2...จากหัวหน้า
 .

ตอนแรกที่เรารู้ว่าจะได้เจ้าหน้าที่เพิ่มมา   เราทั้งหมดดีใจมากที่จะมีคนมาช่วยแบ่งเบาภาระงานที่เพิ่มขึ้น
จาก5 คนมาเป็น 6 คน แต่เมื่อได้มาจริงกลับพบว่า จาก  6 คนเราจะเหลือเพียง 4 เพราะงานขาเทียมทุกครั้งจะดึงคนของเราไป 2 คนเสมอซึ่งหมายถึงเด็กเก่าของเราที่เคยเป็นผู้ช่วยมือหนึ่ง  การหายไปอาจตลอด2–3 วันในสัปดาห์ หรือบางทีเป็นอาทิตย์หนักสุดกว่า 10 วัน เลยเถิดถึงครึ่งเดือนเลยก็มี...ความหงุดหงิดก็บังเกิด  ความหมั่นไส้ก็ตามมา
เพราะบางครั้งตามตารางออกหน่วยเราจะเห็นรายการแถม ด้วยการพาเที่ยว1วันในที่ที่หลายๆคนในชีวิตก็ไม่เคยไป  กับเฉพาะงานฝ่ายที่บางครั้งอาจจะต้องเหลือแค่ 2 คนที่คอยให้บริการเพราะที่เหลือต้องออกพื้นที่ตามภาระกิจงาน หรือประชุมเป็นหลัก(โดยเฉพาะหัวหน้าเอง)  ทำให้เพื่อนๆพี่น้องในฝ่ายเรารู้สึกถึงภาระที่เพิ่มขึ้น ทั้งที่ความหวังเราคือสองคนขาเทียมจะมาช่วยปลดแอกภาระในห้องใหญ่ได้บ้าง
โดยเฉพาะเมื่อกลับมา การที่มั่นใจในตัวเองมากเกินไป เช่น หลุดไปทำขาเทียมเสร็จไม่บอกกล่าว ไม่ให้ตรวจทาน อย่างน้อยเราก็เป็นทีมงานวิชาชีพน่าจะได้ดูคนไข้ร่วมกัน พี่กลับบอกว่าพี่ดูเองได้อาจารย์ยังไม่ดูเลย มันอาจจะจี๊ด!!!ในช่วงแรกๆ บ่อยครั้งที่เรานึกคิดอกุศลเป็นช่วงๆ   จนอาจถึงจิกกัดด้วยวาจาให้คันเล่นๆ
จริงๆ แล้วเราทั้งหลายต่างมีความคิดที่ตรงกัน ที่จะช่วยให้คนไข้ คนพิการ หรือคนอื่นๆที่ไว้ใจให้เราดูแลเขา...ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด เพียงแต่เราลืมที่จะอุดชองว่างด้วยว่าเราเลือกทำกันคนละวิธี และต่างวิถีคิดต่างหาก  คำสารภาพจากพี่ในวงนั้นนั่นเองทำให้หัวหน้าเข้าใจ และยอมรับในด้านหนึ่งของพี่ กับคำขอโทษของพี่เขาที่ทำบางอย่างข้ามหน้าเราไปว่า...
เพราะรู้ดีว่าขาเทียมที่เขาทำเหมาะแล้ว ดีแล้ว และเป็นขาที่ดีที่สุดในทุกๆครั้ง ขนาดอาจารย์ยังต้องฟังเขา   “อกุศล” ที่เคยมีมันแตกกระจาย  เกิดเป็น  “กุศล”บนเสื่อผืนนั้นนั่นแหละ
เรียบเรียงจากการประชุมฝ่ายเวชกรรมฟื้นฟู
แม่ขุนเขา..เล่าเรื่อง

 

คำสำคัญ (Tags): #sha
หมายเลขบันทึก: 332078เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2010 17:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นั่นเป็นวิถีชีวิตปกติของคนทำงาน...แต่ยังดีนะที่มีการเปิดใจทำให้ได้จูนเข้าหากันได้

สวัสดีค่ะ  SHA รพร.ด่านซ้าย

อยากไปร่วมงานบุญสร้างตึกฯ  ไม่ทราบว่ากำหนดวันหรือยังคะ  ช่วยส่งข่าวด้วยค่ะ

ระลึกถึงเสมอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท