ประตูห้องน้ำกับการปรับปรุงภูมิทัศน์


หลังจากที่งานในส่วนตัวของเมรุเสร็จสิ้นไปแล้วกว่า 99% งานต่อไปที่เสริมสร้างคอนเซป "เห็นแล้วค่อยน่าตาย" ก็คือ การปรับปรุงภูมิทัศน์

การปรับปรุงภูมิทัศน์นี้เริ่มตั้งแต่การปรับเปลี่ยนสีประตูห้องน้ำที่จากเดิมเป็นสีขาวให้กลายเป็นสีที่ดูกลมกลืนกับสิ่งรอบข้าง

งานชิ้นแรกนี้ดูเหมือนว่าจะง่าย ๆ สบาย ๆ แต่กลับกลายให้เราต้องทำงานกว่า 5 รอบ

นับตั้งแต่รอบแรกที่ฝากคนไปซื้อ "สีเปรย์" แบบกระป๋อง โดยเราฝากตัวอย่างกระเบื้องที่มีชื่อว่า "ไพโลเกรซ" ไปให้เทียด้วย ปรากฎว่าไม่มีสีใกล้เคียงเลย เขาจึงกลับมามือเปล่า นั่นก็เพราะเราไม่ได้ให้อำนาจการตัดสินใจของเขาไป (Non-Empowerment)

ต่อมาครั้งที่สอง เราต้องเดินทางไปที่ร้านด้วยตนเอง แล้วเมื่อไปถึงก็ไม่มีสีอะไรที่ใกล้เคียงเลย ซึ่งสีสเปรย์กระป๋องนั้นมีแต่สีที่เป็นพื้นฐานได้แก่สีน้ำตาลเข้มและสีส้ม (แป๊ด) เราจึงเลือกสีน้ำตาลเข้มมาจำนวน 5 กระป๋อง เพราะเราเคยเห็นว่าประตูห้องน้ำที่เขาขายนั้นเคยมีสีน้ำตาลเข้ม

แต่ทว่า... สีที่ได้ออกมานั้นไม่เป็นไปตามอย่างที่คาดคิด คือ ตอนที่เราเลือกสีนั้น เราหลงดูแต่ฝากระป๋อง ซึ่งสีฝากระป๋องนั้นออกน้ำตาลเข้ม (อ่อนกว่าในรูปประตูด้านซ้ายมือ) แต่แล้วเมื่อฉีดลงไปจริง ๆ กลับกลายเป็นสีดำปึ๊ดปื๋ออย่างที่เห็น

 

เท่านั้นยังไม่พอ เรากะว่าจะพ่นให้เสร็จสักบานหนึ่ง แล้วค่อยมาดูในภาพรวม แต่เมื่อพ่นกระป๋องแรกเสร็จ เหลือพื้นที่อีกนิดหน่อย เมื่อเราเปิดสีกระป๋องสีสองใช้กลับกลายเป็น "สีม่วง" ไวโอเวท

อ้าว... สียี่ห้อเดียวกัน เบอร์เดียวกัน แล้วทำไมฉีดออกมาแล้วไม่เหมือนกัน แย่เลย แย่เลย...!

ดูท่าจะไม่ได้การแล้วสำหรับเจ้าสีกระป๋อง เพราะสีที่ได้ก็ไม่ใกล้เคียง สีน้ำตาลเข้มถ้าแบบฝากระป๋องก็พอรับได้ แต่พ่นออกมาแล้วก็ดำสนิท แถมกระป๋องที่สองยังเป็นสีอื่นอีก สงสัยต้องเปลี่ยนแผน

ดังนั้นเราจึงเปลี่ยนไปใช้สีน้ำมันที่ผสมด้วยคอมพิวเตอร์ เราเลือกเองแบบไม่ต้องปรึกษาใคร เพราะเห็นเครื่องหมาย "ถูก" ติ๊กอยู่บนแถบตัวอย่างสี

และแล้วงานครั้งที่สามนี้ก็กลับกลายเป็นสีส้มแป๊ด ไม่ได้เรื่องได้ราว

ตอนเย็นวันนั้นเองก็ได้แต่ครุ่นคิดว่าจะทำอย่างไรดีกับเจ้าสีประตูนี้ ถ้าจะไปซื้อสีใหม่อีก ตอนนั้นรู้เบอร์ที่ถูกต้องแล้ว โดยการยอมถามคนที่มีเคยทำเพื่อเขาความรู้ (ครั้งแรกอวดเก่ง) แต่ทว่า การที่จะไปซื้อสีที่ผสมด้วยคอมพิวเตอร์นั้นจะต้องซื้อกระป๋องใหญ่พอควร (กระป๋องละเจ็ดร้อยกว่าบาท) แต่หน้างานของเรามีแค่ประตูสี่บาน ซึ่งนั่นก็รวมถึงสีกระป๋องแรกที่ซื้อมาแล้วใช้ไปนิดหน่อยแล้วก็ยังคาราคาซัง แล้วเราจะต้องไปซื้อสีกระป๋องใหม่ กระป๋องใหญ่มาใช้ให้เหลือแห้งทิ้งเปล่า ๆ

ตอนนั้นเอง ผู้เชี่ยวชาญที่เราไม่ยอมปรึกษาเขาตอนแรกก็ให้คำแนะนำที่ดีว่า "ให้ไปซื้อสีดำมาผสม"

ไปซื้อสีดำกระป๋องเล็ก ๆ มา ขนาดประมาณ 2 ออนซ์ แล้วผสมกับสีเดิมที่ส้มแป๊ด ก็จะได้สีที่เข้ากับกระเบื้องพอดี

งานครั้งที่สี่นี้ดูท่าจะดี แล้วก็ดีจริง ๆ

ประตูที่ได้ออกมาสีสันกลมกลืนกับกระเบื้องอย่างที่ใคร ๆ เห็นแล้วอดชื่นชมในความพิถีพิถันในการผสมสีที่ซ่อนไว้ด้วยความกระท่อนกระแท่นมิได้

แต่ทว่า มีประตูบานหนึ่ง (บานแรก และบานเดิม) เกิดมีสีเยิ้มไหลย้อยลงมา เพราะตอนนั้นเราพ่นตอนที่เกือบมืด

ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงจำเป็นต้องลอกสีที่เยิ้มออก เพื่อกำจัดสีที่ไหลออกมาเป็นคราบนูนนั้น

แต่ทว่า... เมื่อเราขูดสีที่เยิ้มออก รอยสีที่นูนออกมานั้นหายไปจริง ๆ และหายไปเป็นแถบ ๆ เลย

จจากเดิมที่มีสีนูนขึ้นเป็นคราบน้ำ แต่ตอนนี้กลายเป็นสีที่บุ๋มลงเป็นแอ่งเพราะรอยขูด

อื่ม... ทำไมงานนี้จึงไม่ได้ง่ายเป็นเหมือนปลอกกล้วยเข้าปากเลยนะ

กระดาษที่เราแกะออกไปแล้ว ต้องนำกลับเข้ามาติดอีกหนึ่งรอบ

กระดาษของประตูสามบานทางขวา แกะได้แล้ว แต่กระดาษสำหรับประตูต้องติดต่อไปอีกเป็นสัปดาห์

เราคอยเดินไปพ่นแล้ว พ่นอีก รอให้แห้งแล้วก็ขูด ขูดแล้วก็พ่น พ่นแล้วก็ขูดอยู่อย่างนั้น จนจิตใจเราว้าวุ่นละล้าละลัง

แต่สุดท้ายก็ได้คำตอบที่ทำให้เราสว่างไสว ก็คือ ดูในภาพรวมดีแล้วก็ "พอ..." 

คำสำคัญ (Tags): #วิริยะบารมี
หมายเลขบันทึก: 239034เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2009 00:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท