ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

ประชุมคณะกรรมการสถาบันสมทบสิงค์โปร์ (จบ)


ผู้เขียนถ่ายรูปก่อนการประชุมกับท่านซิก กวาง เชง (Sik Kwang Sheng) อธิการบดีวิทยาลัยพระพุทธศาสนาสิงค์โปร์ และเจ้าอาวาสวัดก๊ก เมง ซาน

     วันนี้ (๑๙ กรกฏาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๙.๐๐ น.) ผู้เขียนร่วมกับคณะกรรมการสถาบันสมทบวิทยาลัยพระพุทธศาสนาสิงค์โปร์ (Buddhist College of Singapore) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของมหาจุฬาฯ คือ พระศรีคัมภีรญาณ,รศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ, พระศรีธวัชเมธี, พระครูปลัดเถรานุวัตร, พระครูพิพิธสุตาทร, ศ.ดร.จำนงค์ อดิวัฒนสิทธิ์ กรรมการ และพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,ผศ.ดร. ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ กรรมการและเลขานุการ

จากซ้ายไปขวา: พระศรีธวัชเมธี, พระศรีคัมภีรญาณ, พระครูปลัดเถรานุวัตร, พระซิก ซาง ซิง, พระครูพิพิธสุตาทร, พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, และศ.ดร.จำนงค์ อดิวัฒนสิทธิ์

     ส่วนคณะกรรมการสถาบันสมทบในส่วนของวิทยาลัยพระพุทธศาสนาสิงค์โปร์ประกอบด้วย ท่านซิก กวาง เชง (Sik Kwang Sheng) อธิการบดี, ดร.ซิก ชาง ชิง (Sik Chang Qing) รองอธิการบดี และคณบดีฝ่ายวิชาการ, ท่านซิก ชวน ฮัว (Sik Chuan Hou) รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร, ท่าน ผศ. ซิก หยวน หลัว (Sik Yuan Liu) นายโก๊ะ ยี ชิน เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส และ นายโจเซน โลว เจ้าหน้าที่ธุรการ

      การประชุมร่วมครั้งนี้ เป็นการประชุมประจำปีซึ่งสถาบันสมทบแห่งนี้ได้นิมนต์ และเชิญคณะกรรมการในส่วนของมหาจุฬาฯ มาปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารจัดการสถาบันสมทบให้เป็นสอดคล้องกับแนวทางของการจัดการจัดศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดหลักสูตรปริญญาตรีสาขาพระพุทธศาสนาภาษาจีน ซึ่งได้ดำเนินการมาเป็นปีที่ ๓

      ก่อนเข้าสู่การประชุมอย่างเป็นทางการ ท่านซิก กวาง เชง (Sik Kwang Sheng) อธิการบดีวิทยาลัยพระพุทธศาสนาสิงค์โปร์ ได้กล่าวว่า "ขอขอบคุณคณะผู้บริหารจากมหาจุฬาฯ ซึ่งนำโดยพระศรีคัมภีรญาณ,รศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ที่ได้ให้เกียรติเดินทางมาร่วมประชุมสถาบันสมทบประจำปี ๒๕๕๓ และขอบคุณพระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ ที่ได้เมตตาให้การสนับสนุนมาด้วยดี ทั้งในแง่ของการอนุมัติหลักสูตร และการสนับสนุนองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารการจัดการสถาบันสมทบ"  

       ท่านกล่าวเพิ่มเติมว่า "ในการคณะทำงานของสถาบันสมทบมีปัญหาและอุปสรรคบ้าง เพราะเพิ่งเปิดดำเนินการมาได้ประมาณ ๓ ปี ฉะนั้น หวังว่าผู้บริหารของมหาจุฬาฯ ซึ่งมีประสบการณ์ด้านนี้จะสามารถให้คำแนะนำ และช่วยพัฒนาสถาบันสมทบให้เดินไปสู่จุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของพระสงฆ์อันจะส่งผลต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในโอกาสต่อไป"

        พระศรีคัมภีรญาณ,รศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการได้กล่าวตอบว่า "ในนามของพระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดี  รู้สึกดีใจที่ได้เห็นความก้าวหน้าในการบริหารจัดการศึกษาของสถาบันสมทบ และกำลังจะมีนิสิตรุ่นแรกที่กำลังจะจบการศึกษา และนับเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่จะทำให้หลักสูตรพระพุทธศาสนาจีนนั้น ได้ขยายตัวและเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและส่งเสริมองค์ความรู้และความเข้าใจในเชิงปัจเจก และจะส่งผลต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจีนให้แก่ประชาชนที่กำลังเผชิญกับวิกฤติการณ์ต่างๆ ให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขในสถานการณ์ปัจจุบัน"

ภายหลังการประชุม พระศรีคัมภีรญาณ, รศ.ดร. และพระครูปลัดเถรานุวัตรได้ร่วมกันมอบหนังสือ และพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาซึ่งเป็นปางประจำมหาจุฬาฯ ให้แก่ท่านอธิการบดี

ผลที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้

     ๑. การวางแผนเพื่อจัดสัมมนาทางวิชาการร่วมกันระหว่างมหาจุฬาฯ กับสถาบันสมทบในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ "ความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนาเถรวาทกับมหายานในประเทศสิงค์โปร์:จากอดีตถึงปัจจุบัน" เหตุผลเพื่อต้องการให้นิสิตได้มองเห็นว่า แม้จะมีนิกายแตกต่างกัน แต่สาระ และหัวใจของพระพุทธศาสนานั้นมีหนึ่งเดียว คือการช่วยเหลือมนุษย์ สังคม และพัฒนาตนไปสู่การพ้นทุกข์ในวัฏฏสงสาร

     ๒. แลกเปลี่ยนคณาจารย์และนิสิตทั้งสองแห่ง เพื่อให้นิสิตในสิงค์โปร์ได้มีโอกาสไปศึกษา และเรียนรู้วัฒนธรรมไทยในมหาจุฬาฯ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัฒนธรรมแบบเถรวาทในประเทศไทย

     ๓. การวางแผนเพื่อรองรับนิสิตซึ่งกำลังจะจบปริญญาตรีรุ่นแรก จำนวน ๙ ท่านในปีหน้าว่า จะดำเนินการทั้งในส่วนของใบปริญญาบัตร การประกอบพิธีรับปริญญาตรีทั้งในประเทศไทยและสิงค์โปร์

     ๔. การประกันคุณภาพซึ่งจะดำเนินการอย่างเป็นทางการในปีหน้า ทั้งในด้านการจัดการศึกษา การบริหาร การวิจัย การบริการสังคม เป็นต้น ซึ่งจะดำเนินการตามกรอบตัวบ่งชี้ของ สมศ.และสกอ.

     ๕. ความร่วมมือทั้งด้านการวิจัย การพัฒนา และการสร้างความสัมพันธ์ในระดับผู้บริหารและฝ่ายปฏิบัติ ซึ่งควรจะเป็นไปในเชิงรุกมากกว่าที่ควรจะเป็น โดยสถาบันสมทบควรจัดส่งเจ้าหน้าที่และผู้บริหารบางท่านไปเรียนรู้ระบบให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลต่อการบริหารสถาบันสมทบร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล

       อนึ่ง ปัจจุบันนี้ วิทยาสงฆ์พระพุทธศาสนาสิงค์โปร์มีนิสิตจำนวนทั้งสิ้น ๑๒๕ รูป ส่วนใหญ่จะเป็นนิสิตนานาชาติ เช่น จีน เวียดนาม กัมพูชา และไต้หวัน  วิทยาลัยแห่งนี้เข้าเป็นสถาบันสมทบเมื่อปี ๒๕๕๑ ได้เปิดหลักสูตรพระพุทธศาสนาจีน และกำลังจะมีนิสิตจบการศึกษารุ่นแรกในปีหน้าจำนวน ๙ รูป  การจัดการศึกษาจะอยู่ในรูปแบบ "ให้เปล่า" โดยการสนับสนุนทุน และงบประมาณจากท่านซิก กวาง เชง (Sik Kwang Seng)  อธิการบดี และเจ้าอาวาสวัดก๊ก เมง ซัน  วัดแห่งนี้เป็นวัดมหายานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศสิงค์โปร์ซึ่งมีชาวพุทธเลื่อมใสเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกัน เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันเป็นประธานสมาคมพระพุทธศาสนาในประเทศสิงค์โปร์ด้วย

บรรยากาศของวัดและวิทยาพระพุทธศาสนาสิงค์โปร์

เจดีย์ทรงระฆังแบบมหายานซึ่งตั้งตระหง่านใจกลางกรุงสิงค์โปร์ ด้านล่างจะเป็นห้องเรียนของนิสิต และห้องปฏิบัติกรรมฐาน

บรรยากาศตึกภายนอกของวัดและวิทยาลัยพระพุทธศาสนาสิงค์โปร์ ซึ่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมตามแนวพระพุทธศาสนามหายาน

อาคารหอสมุดของวิทยาลัยซึ่งอยู่ชั้นบนมีหนังสือประมาณ ๕๐,๐๐๐ เล่ม และอาคารหอประชุมซึ่งมีความจุประมาณ ๗๐๐ รูป/คน

นิสิตซึ่งเป็นพระสงฆ์ฝ่ายมหายานกำลังฉันภัตตาหารเพล  โดยมีเจ้าอาวาสเป็นผู้ให้การอุปถัมภ์ทั้งอาหารและทุนในการจัดการศึกษาทั้งหมด

หมายเลขบันทึก: 376939เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2010 22:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

Engaged Buddhism !!!

สาธุ

และคาดว่า สิงคโปร์คงบริหารได้รุดหน้า เพราะไม่อุ้ยอ้าย

คุณวันชัย

การบริหารการศึกษาของสิงค์โปร์มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ระบบต่างๆ ให้สอดรับกับความเป็นมจร. เช่น ระบบการลงทะเบียน การจัดตารางการเรียนการสอน และการดูแลนิสิต  ที่ผ่านมาทำได้ค่อนข้างดี แต่เมื่อประชุมกันแล้ว จำเป็นต้องให้ส่งเจ้าหน้าที่มาเรียนรู้เพิ่มเติมที่มหาจุฬาฯของเรา  และต้องส่งคนของเราไปดูเป็นระยะๆๆ   ถึงกระนั้น วัฒนธรรมการทำงานของสิงค์โปร์ย่อมส่งผลเชิงบวกแน่นอน

  • กราบนมัสการครับ
  • ผมลูกศิษย์ ดร.ขจิต ครับ
  • มาศึกษาหาความรู้จากหลวงพ่อน่ะครับ
  • ดีจังเลยนะครับที่ช่วยกันธำรงรักษาพระพุทธศาสนาของเราทุกคนอย่างสากล

ผมนำรูปจัดกิจกรรมค่ายภาษาอังกฤษมาฝากครับ

  • นมัสการท่านรองฯครับ
  • ดูแลสุขภาพบ้างนะครับ
  • เห็นสถานที่ศึกษาแล้วชอบมากเลยครับโดยเฉพาะหอสมุด
  • รออ่านอีกครับท่าน

ท่าน ดร.ขจิต และศิษย์วศิน

อนุโมทนาขอบคุณทั้งอาจารย์และลูกศิษย์ได้กรุณามาเยี่ยมเยียน  ได้แรงบันดาลใจการทำงานบางส่วนจาก ดร.ขจิตนี่หล่ะ จึงต้องทำงานหนักมากยิ่งขึ้น  พวกเราต้องช่วยกันสร้าง "ธรรมเจดีย์" เพื่อเป็นเครื่องประดับใจของเรา ให้รู้ ตื่น และเบิกบานบนสายธารแห่งธรรมต่อไป

โยมสานุศิษย์รัก

Engaged Buddhism คือ การทำพระพุทธศาสนาให้มี "Dynamic" มากยิ่งขึ้น หรือการทำให้พระพุทธศาสนาเป็นส่วนของหนึ่งวิถีชีวิตและสังคม ถึงกระนั้น อาตมาขอเพิ่มเติมในประเด็นนี้

  1. เรียนรู้อย่างมีสติ กล่าวคือ การเรียนรู้พระพุทธศาสนาให้เข้าใจ ท่องแท้ ด้วยปัญญาที่แจ่มชัด และมีสติ เพื่อจะได้ใช้หลักการ หรือแก่นของพระพุทธศาสนาเป็นหลักการ หรือแผนที่ในการดำเนินชีวิตของตัวเอง และช่วยเหลือผู้อื่นในสังคม โดยการตอบคำถาม หรือให้แนวทางที่สำคัญ  หาก
  2. ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่างมีเมตตาและกรุณา  กล่าวคือ ตริตรองด้วยใจที่ไร้อคติว่า เพื่อนมนุษย์ต้องการสิ่งใด ทุกข์และเจ็บปวดด้วยเรื่องใด วัตถุ หรือจิตใจ  ในความทุกข์และเจ็บปวดทั้งกายและใจนั้น เราสามารถเข้าไปช่วยหรือหยิบยื่นสิ่งใดแก่เพื่อนเราได้บ้างตามสถานะและโอกาสที่เรามีอยู่ และพร้อมที่จะช่วย  หลังจากนั้น จึงเข้าไปช่วยด้วยความกรุณาที่เปี่ยมล้นด้วยปัญญา ขอให้การช่วยเหลือผู้อื่นเป็นงานที่รู้ ตื่น และเบิกบานในทุกๆ วินาทีของลมหายใจ ขอให้การช่วยเหลือเป็นการทำหน้าที่ที่เต็มไปด้วยความสุข และไม่รู้สึกบีบคั้นทางอารมณ์ 
  3. ดำเนินชีวิตอย่างมีปัญญา  กล่าวคือ การใช้ปัญญาเป็นประดุจ "เรดาห์" ที่คอยกลั่นกรอง และตรวจสอบสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามากระทบจิตของเรา  รู้เท่าทันสรรพสิ่ง หรือสภาวการณ์ต่างๆ ตามความเป็นจริง ไม่ปรุงแต่งจิตไปตามอารมณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสุข หรือทุกข์  การใช้ปัญญาพิจารณาตัวเองอย่างสม่ำเสมอจะทำให้เราไม่ประมาทในการใช้ชีวิต และมีสติในการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น

ด้วยสาราณียธรรม

พระอาจารย์หรรษา

พ.ม.อิสรกานต์ ฐิตปุญฺโญ (ไชยพร)

Engaged Buddhism คือ การทำพระพุทธศาสนาให้มี "Dynamic" มากยิ่งขึ้น หรือการทำให้พระพุทธศาสนาเป็นส่วนของหนึ่งวิถีชีวิตและสังคม (ชอบประโยคนี้ครับ) แวะมาเยี่ยมอ่านข้อคิดและองค์ความรู้ดีๆครับพระอาจารย์ ผศ.ดร.พ.ม.หรรษา ธมฺมหาโส ... ที่หายไปไม่ได้ไปไหน เพียงแต่ลงพื้นที่ไปประเมินโรงเรียนคุณธรรมชั้นนำ เพิ่งเสร็จครับ...

ท่านอิสรกานต์

ดีใจและอนุโมทนาสำหรับงานที่พยายามทำเพื่อสังคมภาคใต้นะครับ ควรมีพระแบบท่านเยอะๆ เพื่อจะได้ช่วยเหลือสังคมที่นั่นครับ พระรุ่นใหม่ควรจะรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมนะครับ เพื่อจะได้เชื่อมสองโลกให้สนิทและนำเสนอประเด็นต่างๆ เพื่อเป็นทางออกให้แก่สังคมและประเทศชาติ

 

สาธุครับ พระอาจารย์ ที่มจร.ได้มีส่วนร่วมในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังสิงคโปร์ การสานสัมพันธ์น่าจะได้ประโยชน์จากการเรียนรู้ร่วมกันเ้พื่อพัฒนาการบริหารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นนะครับ เห็นภาพแล้วชื่นใจครับ หวังว่าพระพุทธศาสนาคงจะได้มีโอกาสกระชับพื้นที่ไปยังที่ที่พระพุทธศาสนายังไปไม่ถึงนะครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท