วิธีชนะแบบชาวพุทธ


วิธีชนะแบบชาวพุทธ



มีสำนวนไทยอยู่ ๒ ประโยค เกี่ยวกับความแพ้และความชนะ เป็นคำที่ชินหูคนไทย โดยเฉพาะในกลุ่มพุทธศาสนิกชน สำนวน ๒ ประโยคนั้น ก็คือ "แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร" อ่านเพียงเผิน ๆ ก็น่าจะให้เข้าใจว่า ความแพ้เป็นของดี คำสำนวนนี้สอนให้คนยอมแพ้ผู้อื่นไว้แหละดี เพราะการยอมแพ้ทำให้เรื่องสงบ การไม่ยอมแพ้ทำให้เรื่องยืดยาว ได้พยายามค้นหาที่มาแห่งสำนวน ๒ ประโยคนี้ว่า มีพระบาลีรับรองไว้หรือไม่ แต่ก็ไม่พบ และถามท่านผู้รู้หลายท่านก็กล่าวเป็นทำนองเดียวกันว่า ไม่เคยพบเช่นกัน พบแต่พระบาลีบทหนึ่งว่า


"โยเชถ มารํ ปญฺญาวุเธน" "เธอทั้งหลายจงรบมารให้ชนะด้วยอาวุธคือปัญญา" แสดงว่า พระพุทธศาสนา มิได้สอนให้บุคคลเป็นฝ่ายแพ้ เพื่อคงความเป็นพระไว้ และมิได้สอนว่า ถ้าเอาชนะไว้ได้จะได้เป็นฝ่ายมาร ทรงสอนตรงข้ามว่า จงรบมารให้ชนะด้วยอาวุธคือปัญญา แต่ขอติงไว้ก่อนว่า ความชนะในที่นี้ มิได้หมายการเอาชนะในการกีฬา เพราะเรื่องของกีฬาเป็นการแข่งขันในด้านสมรรถนะ ทั้งทางกายและทางจิตว่าใครยิ่งหย่อนกว่ากัน ต้องมุ่งความชนะเป็นสำคัญ ผู้ชนะในการกีฬาย่อมได้ทั้งเกียรติและชื่อเสียงเป็นที่พอใจ ฉลองชัยชนะกันทั่วบ้านทั่วเมือง แต่ความชนะในที่นี้หมายถึงการเอาชนะในการสู้รบกันด้วยกำลัง

"การเอาชนะคนต้องยอมแพ้กิเลส การเอาชนะ กิเลสต้องยอมแพ้คน แล้วจะชนะตนได้ในที่สุด"


คนที่มุ่งเอาชนะคนอื่นชนิด ตาต่อตา ฟันต่อฟัน คือถ้าฝ่ายหนึ่งแรงมาก็ต้องตอบโต้ให้แรงกว่า จึงจะเอาชนะได้ วิธีการเช่นนี้เป็นวิธีการของเราท่านผู้ยังมีกิเลส และตัวกิเลสนั้นแหละบงการให้เอาชนะเช่นนั้น กิเลสที่เป็นนายใหญ่มีอยู่ ๓ ตัว คือ โลภะ ความโลภ โทสะ ความโกรธ และโมหะ ความหลง ผู้ต่อสู้เพื่อต้องการความชนะดังกล่าว มักถูกกิเลสตัวใดตัวหนึ่งบีบบังคับ อาจเป็นโลภะ ความอยากเป็นผู้ยิ่งใหญ่ โทสะ ความโกรธแค้น หรือโมหะ ความหลงใหลเข้าใจว่าความชนะเหนือผู้อื่นเป็นเกียรติและสง่างามเป็นต้น ผู้ที่จะเอาชนะ ตามแบบดังกล่าว ต้องมีกิเลสเกิดในใจก่อนจึงคิดต่อสู้เอาชนะ และยิ่งกิเลสเกิดรุนแรงเพียงไร ก็ต่อสู้อย่างรุนแรงเพียงนั้น แสดงว่าเราแพ้กิเลสจึงมุ่งเอาชนะคน การชนะแบบธรรมวิธี แม้จะมีกิเลสมาบังคับให้สู้รบเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้ แต่เราฝืนกิเลสโดยไม่ทำตามบงการ และไม่สู้รบตบมือด้วย ซึ่งดูเหมือนเราเป็นฝ่ายแพ้ แต่ที่จริงเราเอาชนะกิเลสที่มาบังคับได้มากกว่า ลักษณะการเอาชนะกิเลสดังกล่าวมานี้ คือ ลักษณะของคนที่สามารถเอาชนะตัวเองได้ โดยไม่ยอมให้โลภ โกรธ หลงมาบงการชีวิต



-->>  ในหลักทฤษฎีการเอาชนะตามพุทธวิธี ในราโชวาทชาดก (๒๗/๑๕๑/๕๐) ได้แสดงโดยสังเขป


เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าพรหมทัต ครองกรุงพาราณสี ทรงครองราชย์โดยธรรม วินิจฉัยอรรถคดีโดยไม่ล่วงอคติ ทำให้มหาอำมาตย์ฝ่ายวินิจฉัยคดีวินิจฉัยอรรถคดีโดยธรรม ดำเนินตามจริยาวัตรของพระเจ้าแผ่นดินอย่างเคร่งครัด จนกระทั่งโรงศาลอันเป็นที่วินิจฉัยคดีว่างเปล่า เพราะไม่มีคดีขึ้นศาล พระโพธิสัตว์จึงทรงดำริว่า เมื่อไม่ต้องวินิจฉัยคดีของประชาชน ก็ควรหันมาพิจารณาโทษของตนเองว่า มีอะไรบกพร่องบ้างจะได้แก้ไขเสีย จึงทรงสืบเสาะหาความผิดของพระองค์เองโดยทางลับ เริ่มแต่คนใกล้ชิดในพระราชวังจนกระทั่งชาวพระนครโดยทั่วไป ก็ไม่เห็นใครตำหนิติโทษพระองค์ มีแต่คนสรรเสริญ จึงคิดจะสืบต่อไปในชนบทด้วย

เมื่อคิดดังนั้นจึงปลอมพระองค์เสด็จโดยรถไปกับนายสารถี เพื่อสืบเสาะความผิดของพระองค์ในทางลับ เมื่อเสด็จสืบเสาะไปจนทั่วเขตพระราชอาณาจักรก็ไม่ทรงเห็นผู้ใดกล่าวโทษของพระองค์ มีแต่คนกล่าวสรรเสริญ จึงเสด็จจากชายแดนเพื่อกลับพระนคร


ในเวลาเดียวกัน พระเจ้าพัลลิกะราชาแห่งแคว้นโกศล ก็กำลังเสด็จ ตรวจชายแดน ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับพาราณสี บังเอิญขับรถมาสวนกันในทางแคบ รถไม่สามารถหลีกกันได้ นายสารถีทั้ง ๒ ฝ่าย จึงหยุดรถเพื่อเจรจาขอให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถอยรถ เพื่อหลีกให้อีกฝ่ายหนึ่งผ่านไปก่อน ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมซึ่งกันและกัน จึงตกลงสอบคุณสมบัติของพระราชาทั้ง ๒ ว่า พระราชาองค์ใดมีคุณสมบัติหรือคุณธรรมสูงกว่า ก็จะได้ให้ฝ่ายมีคุณธรรมต่ำกว่าหลีกทางให้


นายสารถีทั้ง ๒ จึงสอบถามถึงคุณสมบัติ เริ่มแต่ปริมาณราชสมบัติ กำลังพล ทรัพย์ ชาติ โคตร ตลอดจนพื้นภูมิประเทศ ผลการตรวจสอบทางคุณสมบัติปรากฏว่า ไม่มีของพระราชาองค์ใดเหลื่อมล้ำต่ำสูงกว่ากัน จึงหันมาถามถึงเรื่องคุณธรรมและศีลาจารวัตรต่อไป นายสารถีฝ่ายพระเจ้าพรหมทัตถามขึ้นว่า "ท่านผู้เจริญ ศีลและมารยาทแห่งพระราชาของท่านเป็นอย่างไร ?"


นายสารถีฝ่ายพระเจ้าพัลลิกะตอบด้วยความภูมิใจว่า
ทฬฺหํ ทฬฺหสฺส ขิปติ พลฺลิโก มุทุนา มุทุ
สาธุมฺปิ สาธุนา เชติ อสาธุมฺปิ อสาธุนา
เอตาทิโส อยํ ราชา มคฺคา อุยฺยาหิ สารถีติ.


"พระเจ้าพัลลิกราชทรงใช้ความกระด้างต่อผู้กระด้าง ทรงชนะคนอ่อนโยนด้วยความอ่อนโยน ทรงชนะคนไม่ดีด้วยความไม่ดี พระราชาของเราเป็นเช่นนี้ แน่ะนายสารถี ! ท่านจงหลีกทางให้พระราชาของเราเถิด."
นายสารถีฝ่ายพระเจ้าพรหมทัตกล่าวย้ำว่า "นี่คือคุณธรรมของพระราชาของท่านหรือ ?" เมื่อนายสารถีฝ่ายพระเจ้าโกศลยืนยันว่า "ใช่" นายสารถีฝ่ายพระเจ้าพรหมทัตจึงตอบว่า "ถ้าสิ่งนี้ท่านกล่าวว่าเป็นคุณ แล้วสิ่งที่ไม่เป็นคุณเล่าจะหนักหนาขนาดไหน"


นายสารถีของพระเจ้าพัลลิกะจึงตอบว่า "แม้การกระทำเช่นนี้จะมีโทษก็ช่างเถอะ แล้วพระราชาของท่านล่ะ มีคุณสมบัติเช่นไร"

นายสารถีฝ่ายพระเจ้าพรหมทัตจึงกล่าวตอบว่า
อกฺโกเธน ชิเน โกธํ อสาธํ สาธุนา ชิเน
ชิเน กทริยํ ทาเนน สจฺเจนาลิกวาทินํ
เอตาทิโส อยํ ราชา มคฺคา อุยฺยาหิ สารถีติ


"พระเจ้าพาราณสีทรงชนะความโกรธด้วยความไม่ โกรธ ทรงชนะคนไม่ดีด้วยความดี ทรงชนะคนตระหนี่ ด้วยการใหั ทรงชนะคนพูดเหลาะแหละด้วยคำสัตย์ พระราชาพระองค์นี้เป็นเช่นนี้ แน่ะนายสารถี ! ท่านจงหลีกทางถวายพระราชาของเราเถิด


เมื่อนายสารถีของพระเจ้าพาราณสีกล่าวจบ พระเจ้าพัลลิกะและนายสารถีก็ลงจากรถ ปลดม้า ถอยรถ ถวายทางแด่พระเจ้าพาราณสี พระเจ้าพาราณสีให้โอวาทแก่พระเจ้าพัลลิกะว่า "ธรรมดาพระราชาควรทรง ธรรมอย่างนี้" แล้วเสด็จไปกรุงพาราณสี ทรงบำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น ทำทางสวรรค์ให้บริบูรณ์ จนถึงวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ


แม้พระเจ้าพัลลิกะทรงรับโอวาทจากพระเจ้าพาราณสี เสด็จไปสอบสวนชาวชนบททั่วพระนคร ไม่เห็นมีผู้กล่าวโทษพระองค์ จึงทำบุญ มีทานเป็นต้น และทำทางสวรรค์ไว้รับวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพเช่นกัน
นี่คือทฤษฎีในการเอาชนะของพระพุทธองค์ ซึ่งสอนแฝงไว้ในรูปของชาดก อันเป็นวิธีการสอนอย่างหนึ่งในวิธีการสอน ๙ อย่าง ที่เรียกว่า "นวังคสัตถุศาสน์"

หมายเลขบันทึก: 216037เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 15:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พุทธวิธีแห่งชัยชนะทางปฏิบัติ

๑. วิธีชนะด้วยธรรมวิธี

สำหรับทางปฏิบัติเพื่อเอาชนะตามทฤษฎีดังกล่าว พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติเป็นแบบอย่างด้วยพระองค์เองมาตลอดพระชนม์ชีพ มีอยู่เป็นเอนกประการ ในข้อแรกจะนำมากล่าวเฉพาะพุทธวิธีที่ปรากฏในบทพุทธชัยมงคลคาถา ข้อที่ ๑ คือธรรมวิธี จะถอดเฉพาะประเด็นที่เป็นพุทธวิธีในการเอาชนะ โดยเล่าเรื่องประกอบพอเป็นแนวคิด

บทพุทธชัยมงคลข้อแรกที่รู้จักกันในนามว่า "บทพาหุ" เป็นวิธีที่ทรงใช้เพื่อเอาชนะพญามารพร้อมเสนา โดยมีบทพระบาลีว่า

พาหุ สหสฺสมภินิมฺมิตสาวุธนฺตํ,

คฺรีเมขลํ อุทิตโฆรสเสนมารํ,

ทานาทิธมฺมวิธินา ชิตวา มินินฺโท,

ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ.

"มารพร้อมทั้งเสนาเนรมิตแขนตั้งพันแขนพร้อมทั้งอาวุธ ขี่ช้างครีเมขละ ส่งเสียงกึกก้องนั้น พระจอมมุนีพุทธเจ้าทรงชนะแล้วด้วย "ธรรมวิธีมีทานเป็นต้น" ด้วยเดชแห่งพระจอมมุนีพุทธองค์ผู้ทรงชนะมารนั้น ชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน"

เพื่อเชื่อมโยงความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีเอาชนะแบบ "ธรรมวิธี" นี้ จึงขอเล่าเรื่องพอเป็นสังเขป

พระพุทธเจ้าทรงผจญพญามาร

วิธีที่ทรงเอาชนะมารทั้งโดยบุคคลาธิษฐานและธรรมาธิษฐาน ทรงใช้ "ทานาทิธรรมวิธี" คือวิธีรำลึกถึงธรรมมีทานเป็นต้นที่เคยประพฤติปฏิบัติมาแต่อดีต

พุทธวิธีชนะมารแนวประยุกต์

การเอาชนะศัตรูโดย "ธรรมวิธี" นี้ แม้จะเป็นพุทธวิธีที่ทรงปฏิบัติด้วยพระองค์เอง แต่ท่านพุทธศาสนิกชนเช่นเราท่านอาจนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดีตามพระบาลีที่ว่า พระธรรมเป็น "โอปนยิโก" สามารถน้อมนำปฏิบัติในตนได้ทุกเมื่อ ให้ดูตนเป็นเรื่องใหญ่ดังที่ พระศาสดาจึงตรัสสรรเสริญรุกขเทวดาที่สามารถยับยั้งใจ ห้ามตนจากความโกรธได้โดยกะทันหัน จึงตรัสพระคาถาเป็นใจความว่า

โย เว อุปติตํ โกธํ รถํ ภนฺตํ ว ธารเย๑

ตมหํ สารถึ พฺรูมิ รสฺมิคฺคาโห อิตโร ชโน

ผู้ใดข่มอารมณ์โกรธที่เกิดขึ้นให้หยุดได้ (โดยฉับพลัน) เหมือนนายสารถีที่ห้ามรถที่กำลังแล่นเร็วให้หยุด (อยู่กับที่) ได้โดยฉับพลัน เราเรียกผู้นั้นว่า "สารถีแท้" ส่วนผู้อื่นนอกนี้มิใช่สารถี เป็นเพียงผู้ถือเชือกเท่านั้น

ชี้ให้เห็นพุทธวิธีในการเอาชนะศัตรูวิธีหนึ่งที่เรียกว่า "ธรรมวิธี" คือใช้ธรรมะเป็นอาวุธในการยับยั้งชั่งใจ ไม่ใช้อารมณ์เหนือเหตุผล ปลุกหิริความละอายแก่ใจ และโอตตัปปะความเกรงกลัวต่อบาปมาเป็นเครื่องหักห้าม นั่นคือการเอาชนะตนได้

เชิงอรรถ พระพรหมมุนี (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท