พระอริยสาวกผู้เข้าถึงธรรม (ธรรมกาย)


พิจารณาคำว่าธรรมกายในคัมภีร์ศาสนา

หลักฐาน “ธรรมกาย” ในคัมภีร์ ตอนที่ 2

ขยายความหลักฐานธรรมกาย โดย พระมหาสมเกียรติ วรยโส (ป.ธ.๙)


พระบาลีสูตรที่ ๒ เกี่ยวกับธรรมกาย ปรากฎใน พระสูตรขุททกนิกาย อปทาน มหาปชาบดีโคตมีเถริยาปทาน ที่ ๗ ฉบับสยามรัฐ เล่ม ๓๓ ข้อ ๑๕๗ หน้า ๒๘๔ ว่า

อหํ สุคต เต มาตา             ตุวํ ธีรา ปิตา มม
สทฺธมฺมสุขโท นาถ           ตยา ชาตมฺหิ โคตม ฯ
สํวทฺธิโตยํ สุคต                 รูปกาโย มยา ตว
อานนฺทิโย ธมฺมกาโย        มม สํวทฺธิโต ตยา ฯ
มุหุตฺตํ ตณฺหาสมนํ            ขีรํ ตฺวํ ปายิโต มยา
ตยาหํ สนฺตมจฺจนฺตํ            ธมฺมขีรมฺปิ ปายิตา
พนฺธนารกฺขเน มยฺหํ          อนโณ ตฺวํ มหามุเน
ปตฺตกามิตฺถิโย ยาจํ          ลภนฺติ ตาทิสํ สุตํ ฯ

ข้าแต่พระสุคตเจ้า หม่อมฉันเป็นมารดาของพระองค์ ข้าแต่พระธีรเจ้า พระองค์เป็นพระบิดาของหม่อมฉัน ข้าแต่พระโลกนาถ พระองค์เป็นผู้ประทานความสุขอันเกิดจากพระสัทธรรมให้หม่อมฉัน ข้าแต่พระโคดม หม่อมฉันเป็นผู้อันพระองค์ให้เกิด ข้าแต่พระสุคตเจ้า รูปกายของพระองค์นี้ อันหม่อมฉันทำให้เจริญเติบโต ธรรมกาย อันน่าเพลิดเพลินของหม่อมฉัน อันพระองค์ทำให้เจริญเติบโตแล้ว หม่อมฉันให้พระองค์ดูดดื่มน้ำนมอันระงับเสียได้ซึ่งความอยากชั่วครู่ แม้น้ำนม คือพระสัทธรรมอันสงบระงับล่วงส่วน พระองค์ก็ให้หม่อมฉันดูดดื่มแล้ว ข้าแต่พระมุนี ในการผูกมัดและรักษา พระองค์ชื่อว่า มิได้เป็นหนี้หม่อมฉัน หม่อมฉันได้ฟังมาว่า สตรีทั้งหลายผู้ปรารถนาบุตร บวงสรวงอยู่ ก็ย่อมจะได้ บุตรเช่นนั้น (แปลเป็นไทย ฉบับมหามกุฏฯ เล่ม ๗๒ หน้า ๕๔๒)


ในคาถานั้นข้าพเจ้าจะอธิบายความตามนัยแห่งพระสูตรและของครูธรรมกายทั้งหลาย เฉพาะคำที่ควรอธิบายดังต่อไปนี้


คำว่า "เป็นมารดา" ได้แก่ เป็นมารดาในวัฏฏะ อธิบายว่า หม่อมฉันเป็นมารดาเลี้ยงดูพระองค์ให้เจริญเติบโตในวัฏฏสงสารอันประกอบด้วยความทุกข์และความโศกพิไรรำพันอันเหล่าสัตว์พากันเพลิดเพลินอยู่ด้วยอำนาจกิเลสทั้งหลาย


คำว่า "เป็นพระบิดา" ได้แก่ เป็นบิดาในวิวัฏฏะ อธิบายว่า พระองค์เป็นบิดาของหม่อมฉันในวิวัฏฏะคือพระนิพพาน คือให้หม่อมฉันข้ามพ้นวัฏสงสารอันประกอบด้วยทุกข์ไปสู่พระนิพพานอันเป็นภูมิสถานมีความสุขโดยส่วนเดียว


แท้จริง พระอริยสาวกผู้เข้าถึงธรรม (ธรรมกาย) ตั้งแต่โสดาบันเป็นต้นไป ย่อมทูลเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยสนิทสนมว่า "บิดาของเรา" หรือกล่าวว่า "เราเป็นบุตร เป็นโอรสผู้เกิดจากธรรม (ธรรมกาย)" แม้พระผู้มีภาคเจ้าก็ตรัสเรียกพระอริยสาวกผู้เข้าถึงธรรมแล้วว่า "บุตรของเราธิดาของเรา"


คำว่า "เป็นผู้อันพระองค์ให้เกิดแล้ว" อธิบายว่า หม่อมฉันเป็นผู้อันพระองค์ให้อุบัติโดยธรรม คือ ธรรมกาย ในโลกุตรภูมิ


คำว่า "รูปกาย" อธิบายว่า กายอันประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ อันมีใจครอง มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด ของพระองค์นี้ อันหม่อมฉันให้เจริญเติบโตขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสดอย่างดี มีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา


คำว่า "ของพระองค์" คือ เฉพาะของพระองค์อันวิจิตรดีลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ และอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ อันเกิดมีด้วยบุญกรรมที่พระองค์สั่งสมมาดีแล้วตลอด ๔ อสงไขยแสนกัลป์


คำว่า "ธรรมกาย" ได้แก่ กายตรัสรู้ธรรมอันเป็นโลกุตร ประกอบด้วยธรรมขันธ์อันบริสุทธิ์ล้วน มีความเที่ยงแท้ยั่งยืนเป็นธรรมดา เพราะเว้นจากขันธ์ ๕ มีรูปขันธ์เป็นต้น อันไม่บริสุทธิ์


คำว่า "น่าเพลิดเพลิน" อธิบายว่า ธรรมกาย นำความสุขมาให้โดยส่วนเดียวแก่หม่อมฉันผู้เข้าถึงและเห็นอยู่ หรือ ชื่อว่า "น่าเพลิดเพลิน" เพราะเป็นกายที่วิจิตรรุ่งเรืองด้วยบารมีธรรมอันหม่อมฉันสั่งสมไว้ดีแล้วตลอดแสนกัลป์ อนึ่ง ชื่อว่า "น่าเพลินเพลิน" เพราะเป็นกายที่วิจิตรงดงามด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ อนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ อันใสบริสุทธิ์ดุจแก้วมณี ย่อมนำมาซึ่งความเพลิดเพลินยินดีแก่หม่อมฉันผู้เข้าถึงและเห็นอยู่ เหมือนรูปกายของพระสัมพุทธเจ้าทั้งหลายซึ่งวิจิตรงดงามด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการเป็นต้น อันถึงพร้อมด้วยบุญลักษณะนับด้วยร้อยย่อมเป็นที่เพลิดเพลินเจริญนัยน์ตาของชาวโลกผู้แลดูอยู่ไม่รู้จักเบื่อหน่ายฉะนั้นฯ


คำว่า "อันพระองค์ทำให้เจริญเติบโตแล้ว" อธิบายว่า อันพระองค์ทรงประกาศอริยมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ อันเป็นเหตุให้เห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ แก่หม่อมฉันผู้ปฏิบัติตามอยู่ ชื่อว่า ทรงยังธรรมกายของหม่อมฉันให้เติบโตแล้ว ฉะนั้นฯ

หมายเลขบันทึก: 215215เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2008 14:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท