คำว่า ธมมฺกายสมฺปตฺติ


พิจารณาคำว่าธรรมกายในคัมภีร์ศาสนา

หลักฐาน “ธรรมกาย” ในคัมภีร์ ตอนที่ 3 

สำหรับผู้แต่งคัมภีร์ท่านแรกที่ในแวดวงของนักเรียนบาลีรู้จักกันดีในฐานะพระอรรถกถาจารย์ผู้มีชื่อเสียงเป็นอมตะ นั่นคือ พระพุทธโฆสาจารย์ ท่านเกิดใกล้กับพุทธคยา ประเทศอินเดีย (ในราว พ.ศ.๙๐๐) ภายหลังได้เดินทางไปลังกาเพื่อแปลอรรถกถาจากภาษาสิงหลเป็นภาษามคธ (บาลี) ให้เราได้ศึกษาภาษาบาลีกันได้ง่ายขึ้น และคำว่า "ธรรมกาย" ก็ได้ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาที่ท่านรจนา(แต่ง)ขึ้นหลายแห่ง ซึ่งผู้เขียนจะได้นำเสนอไว้ดังนี้
อาห เจตฺถ
ภคฺคราโค ภคฺคโทโส                                ภคฺคโมโห อนาสโว
ภคฺคสฺส ปาปกา ธมฺมา                              ภควา เตน วุจฺจตีติ.
ภาคฺยวตาย จสฺส สตปุญฺญลกฺขณธรสฺส    รูปกายสมฺปตฺติ ทีปิตา โหติ ภคฺคโทสตาย ธมฺมกายสมฺปตฺติ ฯ



คำแปล : อนึ่ง ในตอนนี้ท่านกล่าวไว้ว่า


พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงหักราคะได้แล้ว ทรงหักโทสะได้แล้ว

ทรงหักโมหะได้แล้ว หาอาสวะมิได้ ธรรมอันเป็นบาปทั้งหลาย

พระองค์ก็ทรงหักเสียแล้ว เพราะเหตุนั้น จึงเฉลิมพระนามว่า "ภควา"


ก็ความถึงพร้อมด้วยรูปกายของพระผู้มีพระภาคเจ้า

พระองค์นั้นผู้ทรงบุญลักษณะนับร้อย

ย่อมเป็นอันท่านแสดงแล้ว ด้วยความที่พระองค์ทรงมีพระกายสมส่วน ความถึงพร้อมแห่ง

พระธรรมกาย
ย่อมเป็นอันท่านแสดงแล้ว ด้วยความที่พระองค์ทรงหักโทสะได้แล้ว .

 


ขยายความ
: คำว่า ธมฺมกายสมฺปตฺติ แปลว่า ความถึงพร้อม หรือความสำเร็จแห่งพระธรรมกาย หมายถึง เข้าถึงกายอันเป็นโลกุตตระ คือ ธรรมกายพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหัตอย่างพร้อมบริบูรณ์ เพราะอาศัยอริยมรรคญาณหัก คือทำลายธรรมที่มีโทษทั้งหมดได้เป็นลำดับและสำเร็จอย่างเด็ดขาด



พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวว่า "ภคฺคโทส"
คือหักโทษทั้งปวงได้แล้ว มิได้หมายเพียงหักโทสะได้อย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายรวมอกุศลมูลทั้งหมด คือ ทั้งราคะ โทสะ และโมหะ ซึ่งเป็นรากเหง้าของธรรมที่มีโทษทั้งมวล พระองค์ก็ทรงหักทำลายได้อย่างเด็ดขาดแล้ว




อีกนัยหนึ่ง
ที่ท่านยกโทสะเป็นประธาน เพราะโทสะเป็นกิเลสที่มีอาการปรากฏชัดรู้ได้ง่าย เช่น คนที่โกรธแล้วย่อมแสดงอาการทางกายบ้าง ทางวาจาบ้างให้ปรากฏ ทางกาย เช่น มีสีหน้าบึ้งตึง หน้าแดงตาแดงกร่ำ ทำร้ายตนหรือผู้อื่นด้วยกายบ้าง ทางวาจา เช่น ด่า บริภาษผู้อื่นบ้าง ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในอังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาตว่า


"คนโกรธมีผิวพรรณทราม ย่อมนอนเป็นทุกข์ ถือเอาสิ่งที่
เป็นประโยชน์แล้ว แต่กลับปฏิบัติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์
ทำปาณาติบาตด้วยกายและวาจา...
คนโกรธฆ่าบิดาก็ได้ ฆ่ามารดาของตนก็ได้ ฆ่าพระขีณาสพก็ได้
ฆ่าปุถุชนก็ได้... เป็นต้น "




อนึ่ง
ท่านยกโทสะเป็นประธานก็จริง ถึงกระนั้นก็ยังคงหมายเอาถึงกิเลสทั้ง ๓ ตระกูล คือ ทั้งราคะ โทสะและโมหะ อยู่นั่นเอง คนจึงแสดงความโกรธ ให้ปรากฏเห็นได้ชัดดังที่ตรัสไว้ในจัณฑสูตร ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ว่า



"คนที่ยังละราคะ...ละโทสะ...ละโมหะไม่ได้ เมื่อถูกคน
อื่นยั่วให้โกรธ ย่อมแสดงความโกรธให้ปรากฏ ผู้นั้นจึงนับ
ได้ว่าเป็นคนดุ "




ก็กิริยาเหล่านี้ที่แสดงถึงความเป็นผู้ยังละธรรมอันมีโทษ คือ ราคะโทสะและโมหะ หาได้มีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พร้อมมูลด้วยธรรมกายดังกล่าวไม่ ฉะนั้น พระองค์จึงทรงได้เนมิตตกนามว่า ภควา
อันเป็นพระนามในอรหัตผลในลำดับแห่งอรหัตมรรคเพราะทรงหักธรรมที่มีโทษทั้งหลายได้ด้วยอรหัตมรรคญาณของธรรมกายด้วยประการฉะนี้


(จบ ธมมฺกายสมฺปตฺติ )



**************************************************************************
ขยายความหลักฐานธรรมกาย โดย พระมหาสมเกียรติ วรยโส (ป.ธ.๙)





 

หมายเลขบันทึก: 215223เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2008 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท