การให้


**** การให้ **** 

การให้เป็นการดำรงชีวิตในระดับสูงสุด  ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของชนทั้งหลาย


การให้ทานที่ถูกต้อง  หรือการให้ทานด้วยความบริสุทธิ์ใจ  คือการให้ทานโดยไม่หวังผลใดๆ


สิ่งที่เราให้ออกไปคือสิ่งที่เราได้กลับมา  ถ้าคุณให้สิ่งที่ดี  คุณก็จะได้รับสิ่งที่ดีกลับคืนมา  ยิ่งคุณให้มาก  คุณก็ยิ่งได้รับมากหรือได้กลับคืนมาเป็นสิบเท่า


การให้ทานแก่ผู้อื่นควรทำแบบปิดทองหลังพระ  เมื่อเราให้โดยไม่หวังผลใดๆ เลย  เราจะรู้สึกปลอดโปร่งและมีความสบายใจ  


จงให้ทานหรือสื่งที่มีค่าแก่ผู้ที่รู้จักคุณค่าหรือผู้ที่สมควรได้รับ



การให้ทานแบ่งออกเป็นสามอย่างได้แก่  

1. ให้ทานเป็นเครื่องอุปโภคบริโภค  ทรัพย์และสิ่งของต่างๆ

2. ให้ความรู้เป็นทาน

3. ให้อภัยในความผิดของผู้อื่นที่กระทำต่อเราหรือ "อภัยทาน"


การให้อย่างแรก คือการให้สิ่งของเป็นทาน  เป็นการให้ที่ง่ายที่สุด  แลสะดวกที่สุดเพราะเราเพียงแค่มีสิ่งของและมีผู้รับทาน  เราก็สำเร็จประโยชน์ได้ด้วยความเอื้อเฟื้อ  เสียสละ  แบ่งปัน  ช่วยเหลือ  สงเคราะห์ด้วยตัวเราเอง  


การให้อย่างที่สอง  คือการให้ความรู้หรือวิทยาทานหรือให้ศิลปะวิทยาการแก่ผู้ขาดความรู้  การให้ในข้อนี้ถือการให้ ธรรมทาน  เป็นการให้ที่เหนือกว่าการให้ทานทั้งปวงและเป็นการให้ที่ได้บุญกุศลสูงสุด


การให้อย่างที่สาม  คือ อภัยทาน  มีบุคคลอยู่สามประเภทที่คุณต้องให้อภัยได้แก่  บิดามารดา  คนอื่นๆ ทั้งหมด  และตัวคุณเอง


***  บิดามารดาของคุณเป็นบุคคลประเภทแรกที่คุณต้องให้อภัย  ไม่ว่าบิดามารดาหรือคนใดคนหนึ่งจะเคยทำร้ายคุณขนาดไหน  ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางจิตใจหรือทั้งสองอย่าง  คุณก็ต้องให้อภัยแก่ท่านโดยยอมรับว่าท่านทำดีที่สุดแล้วจากสิ่งที่ท่านเป็น  ในหลายๆ กรณี ท่านไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าได้ทำอะไรลงไปจึงทำให้คุณไม่ชอบใจอยู่จนทุกวันนี้


***  บุคคลประเภทที่สองที่คุณต้องให้อภัยคือคนอื่นๆ ทั้งหมด  คุณต้องให้อภัยได้อย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆ แก่คนทุกคนที่ล่วงเกินคุณโดยไม่มีข้อยกเว้น  นี่ไม่ได้หมายความว่าให้คุณชอบคนๆ นั้น  สิ่งที่ต้องทำคือเพียงแค่ให้อภัย  การให้อภัยเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัวเป็นที่สุดเพราะว่ามันไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคนๆ นั้นเลย  แต่ทว่ามันเกี่ยวข้องกับความสงบสุขทางใจและความสุขของตัวคุณเอง


***  บุคคลที่สามที่คุณต้องให้อภัยก็คือตัวคุณเอง  คุณต้องให้อภัยตัวเองสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณผิดพลาด  ซึ่งคุณเคยพูดเคยทำ  ชายและหญิงที่มีปัญญาและเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวล้วนแต่เคยทำผิดด้วยกันทั้งนั้น  เพราะด้วยความผิดพลาดนั้นเองที่ทำให้พวกเขาได้กลายเป็นคนที่ฉลาดและเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวมากขึ้น  ดังนั้นคุณต้องให้อภัยตังเองสำหรับทุกสิ่งที่คุณได้กระทำลงไป


>>>  จงให้อภัยไม่ว่าคนที่คุณเกลียดชัง  คนที่คุณอาฆาตพยาบาทจะเป็นใคร  คนที่แบกภาระแห่งอารมณ์ลบไว้ในใจจะพูดเหมือนกันว่า  พวกเขาไม่อาจลืมความเจ็บช้ำน้ำใจ  ความขมขื่น  ความชอกช้ำระกำใจที่คนอื่นทำไว้กับพวกเขาได้  พวกเขาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า  การที่พวกเขายังไม่ให้อภัยคู่กรณีเพราะบุคคลนั้นไม่มีความสำนึกเสียใจต่อสิ่งที่ได้กระทำลงไป  ไม่แม้แต่จะยอมรับหรือทำความเข้าใจว่าได้ทำสิ่งที่แสนเลวร้าย  หลายคนพูดถึงคนที่เขาไม่ให้อภัยว่า  "ผมให้อภัยเขาไม่ได้เพราะเขาไม่ได้สำนึกหรือเสียใจแม้แต่น้อย  คนพวกนี้จึงไม่สมควรจะได้รับการให้อภัยจากผม"  ถ้านั่นคือหลักการของการให้อภัยแล้วล่ะก็  แน่นอนว่ามีหลายคนในโลกนี้ไม่มีสิทธิ์ได้รับการให้อภัย  


มีหลายคนที่ทำให้ชีวิตผู้อื่นเสียหายแบบถาวรโดยขาดความสำนึกผิด  มีหลายคนที่ไม่สนแม้แต่นิดเดียวว่าได้ทำร้ายจิตใจใครบ้าง  อย่าว่าแต่ทำให้ชีวิตและจิตใจผู้อื่นพังทลายเลย


ขอให้คุณเข้าใจดังนี้  ถ้าคุณยอมให้ผู้ใดทำให้คุณเกลียดชัง  เคียดแค้น  ชิงชัง  อาฆาตพยาบาทเขาได้  เขาคนนั้นคือผู้ชนะ  ส่วนคุณคือผู้แพ้  จงอย่ายอมให้คุณเป็นผู้แพ้อีกแม้แต่วันเดียว


คุณมีความสามารถที่ให้อภัยได้  ไม่ใช่เพื่อเป็นของขวัญสำหรับพวกเขาแต่เพื่อเป็นของขวัญสำหรับตัวคุณเอง  


หากการให้อภัยของคุณจะทำให้เกิดผลพลอยได้ใดๆ แก่บุคคลนั้น  ก็ช่างมันเถอะ  คนที่คุณช่วยไว้คือตัวคุณเอง  คุณคือผู้ได้รับการปลดปล่อยจากพันธนาการทางอารมณ์นั้น


ตามที่กล่าวมานี้  ถ้าคุณยังให้อภัยแก่ใครไม่ได้  คุณลองสดับคำสอนของพระพุทธเจ้าต่อไปนี้ดู  เผื่อว่าอาจจะช่วยดับความอาฆาตพยบาทลงได้  พระธรรมนี้ว่าด้วยธรรมะดับความอาฆาตห้าประการ  คือ


ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด    พึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น

ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด    พึงเจริญกรุณาในบุคคลนั้น

ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด    พึงเจริญอุเบกขาในบุคคลนั้น

ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด    พึงนึกถึงการไม่นึกไม่ใฝ่ใจในบุคคลนั้น

ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด    พึงนึกถึงความเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตนให้มั่นในบุคคลนั้นว่า  ท่านผู้นี้เป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตน  เป็นทายาทแห่งกรรม  มีกรรมเป็นกำเนิด  มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์  มีกรรมเป็นที่พึ่ง  จักทำกรรมใดดีชั่วก็ตาม  จักเป็นทายาท(ผู้รับผล)ของกรรมนั้น

พึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นด้วยประการฉะนี้



จงจำไว้ว่า  การให้ทานอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างหรือทั้งสามอย่างที่ประกอบด้วยเมตตา  เป็นการจรรโลงความรักให้เกิดขึ้น


จงจำไว้อีกว่า  ไม่มีใครได้รับเกียรติจากการเป็นผู้รับ
เกียรตินั้นเป็นรางวัลสำหรับผู้ให้  และมือที่ให้ย่อมจะได้รับด้วย  ความจริงอย่างหนึ่งที่สำคัญเพื่อให้มีชีวิตอย่างมีความสุข คือ  คุณต้องให้เพื่อจะได้รับสิ่งดีๆ ในชีวิตนี้


จงจำให้ขึ้นใจว่า  จงให้ก่อนที่จะรับ  ถ้าคุณให้อยู่เรื่อยๆ คุณก็จะมีเรื่อยๆ ไป  ยิ่งให้ก็ยิ่งได้รับ  และหนึ่งในกฎของการมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จก็คือ  การที่คุณให้โดยปราศจากความเห็นแก่ตัวแล้วคุณก็จะได้รับผลตอบแทนที่แท้จริง  จงคิดถึงเรื่องการให้แทนที่จะคิดแต่เรื่องการรับ  จงให้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งคุณไม่อาจทนที่จะไม่แบ่งปันได้เลย


จงจำไว้เสมอว่า  ทานที่ให้อย่างเปิดเผยจะให้การตอบแทนอย่างเร้นลับ  การทำทานไม่เคยเป็นสิ่งที่พอเพียง  ถ้าคุณคิดว่า  คุณให้มากพอแล้ว  จงคิดอีกครั้ง  คุณสามารถให้ได้มากกว่านั้นและมีคนที่คุณสามารถให้ได้เสมอ  


************************************
ปล. ข้อมูลที่นำมาเขียนนี้  ส่งมาจากบุคคลที่รู้จัก  และมีประสบการณ์ปวดร้าวทางจิตใจที่มีผู้หยิบยื่นให้  เขาอดทนต่อการกระทำนั้นๆ มาเป็นเวลานาน  เขาเจ็บปวด  พยายามหาเหตุผลและหาวิธีแก้แค้นมาตลอด  แต่เมื่อเขาได้เข้ามาศึกษาหลักธรรมในพระพุทธศาสนา  เขาก็ได้รับคำตอบและวิธีการแก้ไข  ปัจจุบันบุคคลผู้นี้ได้ชื่อว่า  ชนะตนเองแล้ว...

หมายเลขบันทึก: 215961เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 10:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท