ความไม่ประมาท


ความไม่ประมาท

พระพุทธเจ้าได้ประกาศหลักธรรมไว้มากมาย  และหลักธรรมต่าง   ๆ  นั้นล้วนมีประโยชน์ทั้งสิ้น  ถ้าหากบุคคลรู้จักนำหลักธรรมนั้น ๆ  มาปฏิบัติ  มิใช่เพียงการจดจำหรือท่องบ่น   แต่หลักธรรมทั้งหมดนั้นต้องอาศัยหลักธรรมพื้นฐานคือ  ความไม่ประมาท   เพราะความไม่ประมาทนั้นจะทำให้บุคคลมีความเพียรพยายาม   ศึกษาและปฏิบัติธรรมอื่น ๆ  อย่างสม่ำเสมอ  ความไม่ประมาทนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสเปรียบเทียบไว้ในพระไตรปิฎกสังยุตตนิกาย  เล่ม  ๑๕  หน้า ๑๒๒  ว่า



“รอยเท้าสัตว์ทั้งหลายที่สัญจรไปบนแผ่นดิน  ชนิดใด  ชนิดหนึ่ง


รอยเท้าเหล่านั้นทั้งหมด   ย่อมถึงการรวมลงในรอยเท้าช้าง


รอยเท้าช้างย่อมกล่าวกันว่า   เป็นเลิศกว่ารอยเท้าเหล่านั้น


เพราะเป็นของใหญ่  ข้อนี้อุปมาฉันใด.......


ธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้ง  ๒  คือ


ประโยชน์ภพนี้ และประโยชน์ภพหน้าคือ  ความไม่ประมาท

ความไม่ประมาท


ความไม่ประมาท  หมายถึง  การมีสติ  ระลึกได้อยู่ว่า  ปัจจุบันตนเองกระทำอะไรอยู่  ทำแล้วจะเกิดผลอย่างไร  ทำในสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่   รวมทั้งความรอบคอบ  ระมัดระวังในสิ่งที่กระทำอยู่ให้เป็นไปในทางที่ควรอยู่เสมอ
  


ซึ่งตรงกันข้ามกับความประมาท
  คือ  ความชะล่าใจ  การขาดความระมัดระวัง  การไม่ทำความดีติดต่อกัน  จึงมักกล่าวกันว่า  “ความประมาทคือหนทางแห่งความตาย”  


ในอดีตพระพุทธเจ้าทรงเห็นภัยแห่งความประมาทนี้   จึงได้ชี้ทางอันเป็นมงคลชีวิตที่สำคัญ  คือ  ความไม่ประมาทอันทำให้บุคคลรู้และระลึกได้ถึงสิ่งที่ควรกระทำของตน  เพื่อความสุขแห่งตนดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้  ในพระไตรปิฎก  ขุททกนิกาย  เล่ม  ๒๕  หน้า  ๑๖  ว่า…



“ความไม่ประมาทเป็นทางเครื่องถึงอมตนิพพาน

ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย....

ชนเหล่าใดประมาทแล้ว  ย่อมเป็นเหมือนคนตายแล้ว

บัณฑิตทั้งหลาย  ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท  ... หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้

ยศย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีความหมั่น   มีสติมีการงานที่สะอาด

ผู้ใคร่ครวญแล้วจึงทำ  ผู้สร้างระวัง  ผู้สำรวมระวัง   ผู้เป็นอยู่โดยธรรม  และผู้ไม่ประมาท”




-->> นักปราชญ์ได้ยกย่องความไม่ประมาทนี้ว่าเป็นที่รวมแห่งพระพุทธพจน์ทั้งหมด
   ทั้งนี้เพราะความไม่ประมาทเป็นพื้นฐาน  ให้บุคคลมีความเพียรพยายาม   ศึกษาและปฏิบัติธรรมอื่น ๆ  อย่างสม่ำเสมอ  ความไม่ประมาทนี้  แบ่งได้เป็น  ๔ ประการคือ


๑. การระมัดระวังที่จะไม่ประพฤติผิดทางกาย


๒. การระมัดระวังที่จะไม่ประพฤติผิดทางคำพูด


๓. การระมัดระวังที่จะไม่ประพฤติผิดด้วยใจคิด


๔. ไม่ประมาทในความชั่ว   คือ  มองเห็นว่าเป็นสิ่งเล็ก ๆ  น้อย ๆ  ไม่สำคัญแล้ว กระทำลงไป  เพราะสิ่งเล็กน้อยอาจเป็นชนวนให้เกิดเรื่องใหญ่ได้  เช่น การพูดล้อเล่นก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท  เป็นต้น


บุคคลจึงไม่ควรประมาท  เพื่อความสุขของตนเองในอนาคตทั้งที่มีชีวิตอยู่และหลังจากสิ้นชีวิตไปแล้ว  เพราะเราไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าพรุ่งนี้เราจะมีชีวิตอยู่ต่อได้อย่างปกติหรือไม่  อนาคตเราจะเจ็บป่วยหรือไม่


หมายเลขบันทึก: 216004เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 13:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สิ่งที่ไม่ควรประมาท

สิ่งที่ไม่ควรประมาทนี้ มี ๕ ประการคือ

๑. ไม่ประมาทในเวลา

๒. ไม่ระมาทในวัย

๓. ไม่ประมาทในการงาน

๔. ไม่ประมาทในการศึกษา

๕. ไม่ประมาทในการปฏิบัติธรรม

เมื่อบุคคลไม่ประมาท ความทุกข์ย่อมเกิดขึ้นได้ยาก ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ใน

พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๒๕ หน้า ๑๐๓ ว่า

“ความโศกทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่ผู้มีจิตไม่ประมาท”

ลักษณะของความประมาทและความไม่ประมาท

ลักษณะของผู้ที่มีความประมาทและผู้ที่ไม่ประมาทนี้ ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้บันทึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ในหนังสือขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ หน้า ๒๘๑ ว่า

“โอ้หนอเราอาจจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงวันหนึ่งคืนหนึ่ง

ดังนี้ก็ดี, โอ้หนอ เราอาจจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงเวลากลางวัน

ดังนี้ก็ดี, เราอาจจะมีชีวิตอยู่ได้ เพียงชั่วขณะที่ฉัน

บิณฑบาตเสร็จมื้อหนึ่งดังนี้ก็ดี, เราอาจจะมีชีวิตอยู่ได้

เพียงชั่วขณะที่ฉันอาหารเสร็จเพียง ๔-๕ คำ เราพึงใส่

ใจถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด....เราเรียกว่ายัง

เป็นผู้ประมาทอยู่ “.....” โอ้หนอ เราอาจจะมีชีวิตอยู่ได้

เพียงชั่วขณะที่ฉันอาหารเสร็จเพียงคำเดียว ดังนี้ก็ดี เรา

อาจจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วขณะที่หายใจเข้า แล้วหายใจ

ออก หรือชั่วหายใจแล้วเข้า, เราพึงใส่ใจคำสอนของพระผู้

มีพระภาคเจ้าเถิด การปฏิบัติตามคำสอนควรทำให้

มาก .... เราเรียกว่า เป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว”

การฝึกตนเป็นผู้ไม่ประมาท

การฝึกตนเป็นผู้ไม่ประมาทนั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ๔ ประการ คือ

๑. จงละกายทุจริต จงเจริญกายสุจริต และอย่าประมาทในการละกายทุจริต และการเจริญกายสุจริตนั้น

๒. จงละวจีทุจริต จงเจริญวจีสุจริต และอย่าประมาทในการละวจีทุจริต และการเจริญวจีสุจริตนั้น

๓. จงละมโนทุจริต จงเจริญมโนสุจริต และอย่าประมาทในการละมโนทุจริต และการเจริญมโนสุจริตนั้น

๔. จงละมิจฉาทิฏฐิ จงเจริญสัมมาทิฏฐิ และอย่าประมาทในการละมิจฉาทิฏฐิ และการเจริญสัมมาทิฏฐินั้น

ในการฝึกตนให้เป็นผู้ไม่ประมาทนี้ การระวังใจถือว่าสำคัญที่สุด เพราะใจเป็นผู้สั่งกายและ วาจา ซึ่งการทำใจให้เป็นผู้ไม่ประมาทนั้นในพระไตรปิฎกอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต เล่ม ๒๑ หน้า ๑๕๕ กล่าวไว้ว่ามี ๔ ประการ คือ

๑. มีสติเครื่องรักษาใจโดยสมควรแก่ตนว่า จิตของเราอย่ากำหนัดในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด

๒. จิตของเราอย่าขัดเคืองในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง

๓. จิตของเราอย่าหลงในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความหลง

๔. จิตของเราอย่ามัวเมาในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา

เมื่อบุคคลมีสติ จิตย่อมเกิดความมั่นคงไม่หลงไปตามภาวะแวดล้อม ความไม่ประมาทย่อมเกิดขึ้น

ประโยชน์ของความไม่ประมาท

บุคคลผู้ไม่ประมาทนี้ ถือว่าเป็นผู้ที่สามารถเข้าถึงประโยชน์สูงสุดในชีวิตได้ เพราะความมีสติไม่ประมาทสามารถทำให้บุคคลรู้จักเลือกหลักธรรมต่าง ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมพระพุทธเจ้าได้ตรัสในพระไตรปิฎก สังยุตตนิกายเล่ม ๑๕ หน้า ๑๒๒ ว่า

“บุคคลผู้ปรารถนาอยู่ซึ่งอายุ ความไม่มีโรค วรรณะ สวรรค์

ความเกิดในตระกูลสูง และความยินดีอันโอฬารต่อ ๆ ไป

พึงบำเพ็ญความไม่ประมาท

บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญ ความไม่ประมาทในบุญกิริยาทั้งหลาย

บัณฑิตผู้ไม่ประมาท ย่อมยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้ง ๒ คือ

ประโยชน์ภพนี้ และประโยชน์ภพหน้า

เพราะยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ ผู้มีปัญญาจึงได้นามว่า “บัณฑิต”ฯ”

ด้วยความไม่ประมาท เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้บุคคลรู้จักนำหลักธรรมต่าง ๆ มาใช้ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงไม่ประมาท แม้กระทั่งก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระพุทธองค์ก็ได้ตรัสเป็นปัจฉิมวาจา ดังข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๑๐ หน้า ๑๕๔ ว่า

“เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความสิ้นไปเสื่อมไปเป็นธรรมดาพวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”

เรื่องนี้ ดีที่สุดเลยครับ...

ดีมากเลย

หลักธรรมโอวาท 3

หลักธรรมโอวาท 3

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท