แม่คือมิตรแท้ในเรือนตน


แม่คือมิตรแท้ในเรือนตน


เดือนสิงหาคมมีวันสำคัญอย่างหนึ่งของชาวไทยคือวันแม่
โดยกำหนดเอาวันประสูติของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ ตรงกับวันที่ ๑๒ สิงหาคมของทุกปี ชาวไทยทุกหมู่เหล่าต่างน้อมใจระลึกถึงพระคุณแม่ และพร้อมใจกันจัดกิจกรรมเนื่องในวันแม่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอาชีพหรือหน้าที่การงานของแต่ละคน


          แม่ภาษาบาลีใช้คำว่า “มาตา” มักจะมาคู่กับคำว่า “พ่อ” ซึ่งใช้คำว่า “ปิตา” เมื่อนำมารวมกันจึงมักเรียกรวมกันว่า “มาตาปิตุ” หมายถึงแม่และพ่อ แม่นั้นพระพุทธเจ้าแสดงว่าเป็นมิตรในเรือนดังข้อความใน มิตตสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (๑๕/๑๖๓/๔๓)


ครั้งหนึ่งมีเทวดาตนหนึ่งทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “อะไรหนอเป็นมิตรของคนเดินทาง อะไรหนอเป็นมิตรในเรือนของตน อะไรเป็นมิตรของคนมีธุระเกิดขึ้น อะไรหนอเป็นมิตรติดตามไปถึงภพหน้า"


          พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พวกเกวียน พวกโคต่างเป็นมิตรของคนเดินทาง มารดาเป็นมิตรในเรือนของตน สหายเป็นมิตรของคนผู้มีธุระเกิดขึ้นเนืองๆ บุญที่ตนทำเองเป็นมิตรติดตามไปถึงภพหน้า"
 


          ในอรรถกถามิตตสูตร(๒๔/๑๖๓/๒๗๔)ได้อธิบายไว้ว่าคนเดินทางหมายถึงคนเดินทางร่วมกันหรือเดินทางด้วยลำแข้งหรือว่าคนเดินทางด้วยเกวียน ปัจจุบันอาจจะเดินทางด้วยรถยนต์ รถไฟ เรือหรือแม้แต่เครื่องบินก็จัดเข้าเป็นคนเดินทางเหมือนกัน ในอดีตหมายเอาเกวียนและโคต่าง แต่ปัจจุบันน่าจะพออนุโลมได้กับรถยนต์ รถไฟ เรือหรือแม้แต่เครื่องบิน สาระสำคัญจึงอยู่ที่อุปกรณ์ในการเดินทางต้องมีสภาพที่สมบูรณ์พร้อมจะนำพาเราไปได้ ที่สำคัญหากเราเดินทางโดยเป็นคนขับเองก็ต้องอยู่ในสภาพที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เมาแล้วไม่ขับ ไม่ต้องรอให้ถูกจับเสียก่อน


คำว่ามารดาเป็นมิตรในเรือนนั้นท่านหมายถึงเมื่อโรคภัยอันตรายต่างๆเกิดขึ้น ผู้ที่พร้อมจะให้การช่วยเหลือให้ปลอดภัยผู้นั้นชื่อว่ามิตร 


          เมื่อโรคภัยเกิดขึ้นในบ้านเรือนของตนนั้น คนอื่นๆเช่นบุตรภรรยาเป็นต้นอาจจะแสดงความรังเกียจออกมาให้เห็น  แต่มารดาย่อมสำคัญแม้ซึ่งของไม่สะอาดของบุตรราวกะว่าท่อนจันทน์ ทำการดูแลรักษาเอาใจใส่ให้บุตรของตนอยู่รอดปลอดภัยจากโรคร้ายนั้นๆด้วยความรักความเมตตา มารดาจึงได้ชื่อว่าเป็นทั้งมิตรทั้งสหายในเรือนของตน


          เมื่อมีธุระหรือการงานใดๆเกิดขึ้น ผู้ที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือโดยไม่บิดพลิ้ว คนนั้นท่านเรียกว่ามิตรสหาย ส่วนผู้ที่ชักชวนในอบายมุขต่างๆ ไม่เรียกว่ามิตรสหาย เป็นเพียงคนร่วมดื่ม มิตรสหายช่วยเหลือได้เฉพาะในโลกนี้เท่านั้น เมื่อเราสิ้นชีพไปแล้วไม่อาจจะตามไปช่วยเหลือได้ สิ่งที่จะช่วยเราได้คือบุญเท่านั้น บุญนั้นเป็นเหมือนพาหนะที่นำเราไปสู่โลกที่ดีได้ส่วนสิ่งที่คู่กับบุญคือบาปก็จะนำพาไปสู่ทุคติ

 

ผู้ปฏิบัติเหมาะสมในมารดาได้บุญมาก


          หากลูกปฏิบัติตนให้เหมาะสมและถูกต้องในมารดาย่อมได้บุญมากดังที่ปรากฎในทุติยขตสูตร อังคุตรนิกาย จตุกกนิบาต ( ๒๑/๔/๔) ที่กล่าวถึงคนสี่ประเภทที่คนปฏิบัติดีทำถูกต้องจะได้บุญมากความว่า  


“บุคคลผู้ปฏิบัติชอบในมารดา ในบิดา ในพระตถาคตในสาวกของพระตถาคต เป็นบัณฑิต  ฉลาด เป็นสัตบุรุษ ย่อมบริหารตนไม่ให้เสื่อมเสีย เป็นผู้ไม่มีโทษทั้งนักปราชญ์ก็สรรเสริญ และได้บุญมาก” 


          ในพาลวรรคแสดงถึงการทำตอบแทนคนสองคนที่ทำได้ยากคือมารดาบิดา(๒๐/๒๗๘/๕๘)  


ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการกระทำตอบแทนไม่ได้ง่ายแก่ท่านทั้งสองคือมารดา บิดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุตรพึงประคับประคองมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง พึงประคับประคองบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่งเขามีอายุ มีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปี และเขาพึงปฏิบัติท่านทั้งสองนั้นด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบน้ำ และการดัด และท่านทั้งสอง นั้น พึงถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่าทั้งสองของเขานั่นแหละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนั้นยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย  


ดูกรภิกษุทั้งหลายอนึ่ง บุตรพึงสถาปนามารดาบิดาในราชสมบัติ อันเป็นอิสราธิปัตย์ ในแผ่นดินใหญ่อันมีรตนะเจ็ดประการมากหลายนี้ การกระทำกิจอย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย


ส่วนบุตรคนใดนำพามารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทานตั้งมั่นในศรัทธาสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นในศีลสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่ ให้สมาทานตั้งมั่นในจาคสัมปทา ยังมารดาบิดาทรามปัญญา ให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล การกระทำอย่างนั้นย่อมชื่อว่าอันบุตรนั้นทำแล้วและทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดา

มารดาบิดาเป็นประดุจพรหมและเป็นอาจารย์คนแรกของลูกดังที่ปรากฎในพรหมสูตร อังคุตตรนิกาย (๒๐/๔๗๐/๑๒๖) ว่า


“สกุลใดบุตรบูชามารดาบิดาในเรือนตนสกุลนั้นมีพรหม สกุลใดบุตรบูชามารดาบิดาในเรือนตน สกุลนั้นมีบุรพาจารย์สกุลใดบุตรบูชามารดาบิดาในเรือนตน สกุลนั้นมีอาหุไนยบุคคล ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่าพรหมนี้เป็นชื่อของมารดาและบิดา คำว่าบุรพาจารย์นี้ เป็นชื่อของมารดาและบิดา คำว่าอาหุไนยบุคคลนี้ เป็นชื่อของมารดาและบิดา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตร"


มารดาบิดาผู้อนุเคราะห์บุตรท่านเรียกว่าพรหม บุรพาจารย์และอาหุไนยบุคคล  เพราะฉะนั้นบัณฑิตพึงนมัสการและสักการะมารดาบิดาด้วยข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน การอบกลิ่น การให้อาบน้ำ และการล้างเท้าทั้งสอง เพราะการปรนนิบัติในมารดาบิดาอย่างนั้น บัณฑิตย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้เอง เขาละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในโลกสวรรค์

หมายเลขบันทึก: 216029เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 15:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เหตุผลที่มารดาอยากได้บุตร

มารดาอยากได้ลูกย่อมมีเหตุผล เพราะการตั้งครรภ์คือความทรมานทางกายแต่ใจเปี่ยมสุขของแม่ เหตุผลนั้นมีปรากฎในปุตตสูตร อังคุตรนิกาย ปัญจกนิบาต (๒๒/๓๙/๓๘)

มารดาบิดาผู้ฉลาด เล็งเห็นฐานะห้าประการจึงปรารถนาบุตรด้วยหวังว่า บุตรที่เราเลี้ยงมาแล้ว จักเลี้ยงตอบเรา จักทำกิจแทนเรา วงศ์สกุลจักดำรงอยู่ได้นาน บุตรจักปกครองทรัพย์มรดก และเมื่อเราตายไปแล้ว บุตรจักบำเพ็ญทักษิณาทานให้มารดาบิดาผู้ฉลาดเล็งเห็นฐานะเหล่านี้ จึงปรารถนาบุตร

เมื่อตั้งครรภ์มารดาย่อมไม่ได้เพื่อจะรับประทานอาหารที่ร้อนจัด เย็นจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด เผ็ดจัด ขมจัด เพราะเมื่อมารดากลืนอาหารอันร้อนจัดสัตว์ที่อยู่ในครรภ์ก็จะเป็นเหมือนอยู่ในโลหกุมภีนรก เมื่อกลืนอาหารเย็นจัดก็เป็นเหมือนอยู่ในโลกันตนรก เมื่อบริโภคอาหารที่เปรี้ยวจัด เค็มจัด เผ็ดจัด และขมจัด อวัยวะทั้งหลายของสัตว์ผู้อยู่ในครรภ์ก็มีเวทนากล้าเหมือนถูกศัสตราผ่าแล้วราดด้วยน้ำเปรี้ยวเป็นต้น ดังนั้นแม่จึงต้องเว้นในสิ่งที่อยากรับประทาน และรับประทานในสิ่งที่อยากเว้น เป็นความทุกข์แต่พร้อมที่จะรับ

เมื่อคลอดมาแล้วมารดาต้องเลี้ยงดูอีกเป็นเวลาหลายปี หากบุตรธิดาผู้เป็นสัปบุรุษ ผู้สงบ มีกตัญญูกตเวที เมื่อระลึกถึงบุรพคุณของท่าน จึงเลี้ยงมารดาบิดา ทำกิจแทนท่าน เชื่อฟังโอวาท เลี้ยงสนองพระคุณท่าน สมดังที่ท่านเป็นบุรพการี ดำรงวงศ์สกุล บุตรผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีลย่อมเป็นที่สรรเสริญทั่วไป

มารดาปรารถนาให้บุตรธิดาเลี้ยงดู เชื่อฟัง ช่วยทำกิจการงาน สืบทอดมรดก และทำบุญอุทิศไปให้ อาจจะเรียกได้ว่า “ยามอยู่ให้เลี้ยงกาย ตายเลี้ยงวิญญาณ” จึงจะเรียกได้ว่าเป็นบุตรธิดาที่ดี

ผู้ที่มีความสามารถที่พอจะเลี้ยงดูมารดาได้จึงควรเลี้ยงดู เพราะเมื่อมีความสามารถแต่ไม่เลี้ยงดูจัดเป็นความเสื่อมและจัดเป็นคนเลวประเภทหนึ่งอย่างหนึ่งดังที่ปรากฎในปราภวสูตรและวสลสูตร ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ว่าคนใดสามารถ แต่ไม่เลี้ยงมารดาหรือบิดาผู้แก่เฒ่าผ่านวัยหนุ่มสาวไปแล้ว ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม

ผู้สามารถแต่ไม่เลี้ยงมารดา หรือบิดาผู้แก่เฒ่าผ่านวัยหนุ่มสาวไปแล้ว พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย

คนที่ทำร้ายทุบตีมารดาก็เป็นคนเลวดังข้อความว่า คนผู้ทุบตีด่าว่ามารดาบิดาพี่ชายพี่สาว พ่อตาแม่ยาย แม่ผัวหรือพ่อผัว พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย

ผู้เลี้ยงมารดาตายไปเกิดในสวรรค์

ส่วนผู้ที่เลี้ยงดูมารดามีตัวอย่างว่าเมื่อสิ้นชีพแล้วทำให้ไปเกิดในสวรรค์ดังที่ปรากฏในจิตตลดาวิมาน สุนิกขิตวรรค ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ (๒๖/๗๕/๑๐๓) ว่า

ครั้งหนึ่งพระมหาโมคคัลลานเถระท่องเที่ยวไปในสวรรค์พบเทพบุตรตนหนึ่งมีวิมานที่งดงามจึงได้ถามเทพบุตรตนนั้นว่า สวนจิตลดา เป็นสวนประเสริฐสูงสุดของชาวไตรทศ ย่อมสว่างไสวฉันใด วิมานของท่านนี้ก็มีอุปมาฉันนั้น ย่อมสว่างไสว ลอยอยู่ในอากาศ ท่านถึงความเป็นเทพเจ้าผู้มีฤทธิ์ มีอานุภาพมาก เมื่อครั้งท่านเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้ ท่านมีอานุภาพอันรุ่งเรือง และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้ เพราะบุญอะไร

เทพบุตรนั้น เมื่อถูกพระมหาโมคคัลลานเถระถามแล้ว มีความปลาบปลื้มใจ จึงพยากรณ์ปัญหาแห่งผลกรรมที่ถูกถามนั้นว่า ข้าพเจ้าเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์ เป็นคนขัดสน ไม่มีที่พึ่ง เป็นคนกำพร้า เป็นกรรมกร เลี้ยงดูมารดาบิดาผู้แก่เฒ่า ท่านผู้มีศีลเป็นที่รักของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใสได้ถวายข้าวและน้ำเป็นทานอันไพบูลย์ โดยความเคารพ ข้าพเจ้ามีวรรณะงามเช่นนี้ และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้ เพราะบุญนั้น

หลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่กล่าวสรรเสริญพระคุณของมารดา ผลของการเลี้ยงดูมารดามีมากมารดาบิดาพระพุทธเจ้ายกไว้เทียบเท่ากับพระอรหันต์ ผู้ฆ่ามารดาบิดาจัดเป็นผู้กระทำกรรมหนักที่เรียกว่าอนันตริยกรรมต้องไปสู่นรกดังที่ปกฎในปริกุปปสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต(๒๒/๑๒๙/๑๓๓)ว่า

"บุคคลห้าจำพวกคือ บุคคลผู้ฆ่ามารดา ผู้ฆ่าบิดา ผู้ฆ่าพระอรหันต์ ผู้มีจิตประทุษร้ายทำโลหิตของพระตถาคตให้ห้อ ผู้ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน บุคคลห้าจำพวกนี้แล เป็นผู้ต้องไปอบาย ต้องไปนรก เดือดร้อน แก้ไขไม่ได้"

คติจากดอกมะลิ

ปัจจุบันเมื่อถึงวันแม่มักจะใช้ดอกมะลิเป็นเครื่องบูชา ดอกมะลิจึงกลายเป็นดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของวันแม่ มีนักปราชญ์เสนอคติจากดอกมะลิไว้น่าคิดว่า

ดอกมะลินั้นเขียวสดตลอดเวลา ถ้าลูกดีแม่มีความสดชื่น เบิกบานสุขใจ ถ้าลูกร้ายเหมือนหนอนบ่อนไส้ชอนไชจนแม่ตรอมใจตาย

ดอกมะลิมีสีขาวบริสุทธ์ เหมือนจิตใจแม่ไม่มีราคีสำหรับลูก รักลูกด้วยความบริสุทธิ์ มุ่งถึงความสุขความเจริญก้าวหน้าของลูกเป็นที่ตั้ง

ดอกมะลิมีกลิ่นหอมไม่สร่าง ลูกได้ดีมีชื่อเสียง แม่ชื่นใจมากด้วยมุทิตา ไม่ริษยาลูก เกียรติของลูกคือน้ำทิพย์ชโลมใจแม่

อีกอย่างหนึ่งดอกมะลิส่งกลิ่นหอมไปไกลและอยู่ได้นานและออกดอกทั้งปี เหมือนความรักอันบริสุทธิ์ของแม่ที่มีต่อลูกที่ยั่งยืนนานไม่มีวันเสื่อมคลาย

หากมารดาเป็นคนไม่ดี หน้าที่ของบุตรธิดาคือทำให้ท่านเป็นคนดี ถ้ามารดาเป็นคนดีอยู่แล้ว หน้าที่ของบุตรธิดาคือปฏิบัติตามสิ่งที่ท่านสอน เมื่อท่านจากไปก็ทำบุญอุทิศให้ ถ้าทำได้อย่างนี้ถือว่าได้ทำหน้าที่ของลูกที่สมควรแล้วเรียกว่า

“ยามท่านอยู่ก็อุปัฏฐาก ยากท่านจากก็อุปถัมภ์”

--->> หากเกิดปัญหาหาทางแก้ไขไม่ได้ ให้นึกย้อนกลับไปที่บ้านว่าเรามีมิตรผู้ยอดเยี่ยมอยู่ที่บ้านแล้วนั่นคือแม่เพราะแม่คือมิตรแท้ในเรือนตน

ขอกราบขอบพระคุณ พระมหาบุญไทย ปุญญมโน ผู้เรียบเรียง

เวลาแม่โทรมาขอเงินไปเล่นการพนัน แต่ผมมีความรู้สึกว่าไม่มีประโยชน์

เพราะที่แม่เอาไปเป็นการล้างผลาญ(แต่ก็ให้นะ) จากนั้นผมก็บ่นๆๆๆๆๆ แล้วก็บ่น

อยากถามว่าผมจะบาปไหมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท