การตายของสัตว์โลก วิญญาณมิได้ท่องเที่ยวไป


การตายของสัตว์โลก วิญญาณมิได้ท่องเที่ยวไป 

คนส่วนใหญ่ที่เชื่อว่ามีการเวียนว่ายตายเกิดจริงตามหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามักจะเชื่อว่า  เมื่อมนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลายตายไปแล้ว  วิญญาณของคนหรือสัตว์เหล่านั้นล่องลอยออกจากร่างของผู้ตายไปเกิดในภพใหม่ตามกรรมดีกรรมชั่วที่ได้กระทำไว้ทุกชาติทุกภพ วิญญาณนั้นนั่นแหละล่องลอยท่องเที่ยวไปเป็นโน่นเป็นนี่  เกิด ๆ ตาย ๆ ตาย ๆ เกิด ๆ  ในวัฏสงสารไม่รู้จบ  วิญญาณเป็นตัวยืนโรง  เป็นตัวตน  ทิ้งร่างนี้ไปร่างโน้นเรื่อยๆ รูปกายเปลี่ยนแต่วิญญาณไม่เปลี่ยน  วิญญาณเดิมไปสู่รูปใหม่  อาจเป็นรูปสัตว์นรก  รูปเปรต  รูปอสุรกาย  รูปสัตว์เดรัจฉาน  รูปมนุษย์  รูปเทวดา  รูปพรหม  แม้กระทั่งอรูปพรหม (ซึ่งเป็นพรหมไม่มีรูป)



ความเข้าใจเช่นนี้จะทำให้เห็นว่า  “วิญญาณ”  เป็นตัวไม่ตาย  เป็นตัวตน  เป็นของเที่ยง  เป็นอัตตา  อันเป็นความเห็นความเชื่อที่ผิด  ตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา  เพราะพระพุทธเจ้าตรัสโดยอเนกปริยายไว้ชัดแจ้งว่า  “วิญญาณเป็นอนัตตา”  ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน  “วิญญาณเป็นอนิจจัง”  เป็นของไม่เที่ยง  “เป็นทุกขัง”  เป็นทุกข์  เพราะที่มันไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนยืนยงดังที่เข้าใจจึงเป็นทุกข์



พระพุทธเจ้าตรัสถึง  “มรณะ”  ความตายคือความแตกแห่งขันธ์  ขันธ์ก็คือขันธ์ ๕  หรือเบญจขันธ์นั่นเอง  ได้แก่  รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  ขันธ์ทุกตัวแตก  วิญญาณก็แตก  มิใช่ออกจากร่างแล้วท่องเที่ยวไปเหมือนในหนังในภาพยนตร์  ในละครทีวีที่สร้างขึ้นโดยความเชื่อที่ผิดตลอดมา  แม้ท่านผู้รู้ระดับสูงในทางธรรมบางท่านยังสอนว่า  ร่างกายคนเราตายแต่จิตวิญญาณไม่ตาย  จิตวิญญาณเป็นผู้ไปเกิดในภพใหม่ เป็นต้น  เป็นคำสอนที่ไม่ตรง  ไม่ถูก  เป็นการตู่พระพุทธเจ้าด้วย


แม้กระทั่งในครั้งพุทธกาลก็เคยมีมาแล้ว  ภิกษุในพระสมณโคดมพุทธเจ้านั่นเอง  ชื่อว่าสาติภิกษุมีความเห็นผิดว่า


“เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า  วิญญาณนี้นี่แหละย่อมท่องเที่ยวแล่นไปไม่ใช่อื่น”


มีความเห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนเช่นนั้น  ยืนยันในความเชื่อเช่นนั้นและปักใจในความเชื่อของตนว่าถูกต้อง  แม้พระภิกษุอื่นๆ จำนวนมากจะช่วยกันพยายามปลดเปลื้องความเห็นผิดของสาติภิกษุ  สาติภิกษุก็ไม่ฟัง  ไม่เชื่อ  ยังคงยืนยันดื้อรั้นไม่เปลี่ยนแปลง  และได้แสดงความเห็นของตนซ้ำๆ ซากๆ ว่าถูกแล้ว  ภิกษุทั้งหลายจึงได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าขณะประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน  อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีใกล้พระนครสาวัตถี  และทูลเรื่องสาติภิกษุมีความเห็นผิดดังกล่าว



พระพุทธองค์ตรัสให้ไปเรียกสาติภิกษุมาแล้วตรัสถามว่า

“ดูก่อนสาติ  ได้ยินว่าเธอมีทิฏฐิอันลามกเห็นปานนี้เกิดขึ้นว่า  เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มรพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า  วิญญาณนี้นั่นแหละย่อมท่องเที่ยวไป  แล่นไปไม่ใช่อื่น  ดังนี้จริงหรือ”


สาติภิกษุทูลว่า  “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ข้าพระองค์ย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า  วิญญาณนี้นั่นแหละย่อมท่องเที่ยว  แล่นไป  ไม่ใช่อื่นดังนี้จริง”


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า

“ดูก่อนสาติ  วิญญาณนั้นเป็นอย่างไร”


สาติภิกษุทูลว่า  “สภาพที่พูดได้  รับรู้ได้  ย่อมเสวยวิบากของกรรมทั้งหลายทั้งส่วนดีทั้งส่วนชั่วในที่นั้นๆ นั่นเป็นวิญญาณ”


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

“ดูก่อนโมฆบุรุษ  เรารู้ธรรมอย่างนี้ที่เราแสดงแก่ใครเล่า  ดูก่อนโมฆบุรุษ  วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น  เรากล่าวแล้วโดยปริยายเป็นอเนกมิใช่หรือ  ความเกิดแห่งวิญญาณเว้นจากปัจจัยมิได้มี  ดูก่อนโมฆบุรุษ  ก็เมื่อเป็นดังนั้นเธอกล่าวตู่เราด้วยขุดตนเสียด้วยจะประสบบาปมิใช่บุญมากด้วย  เพราะทิฏฐิที่  ตนถือชั่วแล้ว  ดูก่อนโมฆบุรุษ  ก็ความเห็นนั้นของเธอจักเป็นไปเพื่อโทษไม่เป็นประโยชน์เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน”


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  พวกเธอจะสำคัญความนั้นเป็นไฉน  สาติภิกษุผู้เกวัฏฏบุตรจะเป็นผู้ทำความเจริญในพระธรรมวินัยนี้บ้างหรือไม่”


ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า

“ข้อนี้มีได้อย่างไร  ข้อนี้มีไม่ได้เลยพระพุทธเจ้าข้า”


เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลอย่างนี้แล้ว  สาติภิกษุผู้เกวัฏฏบุตรนั่งนิ่งกระดาก  คอตก  ก้มหน้า  ซบเซาหมดปฏิภาณ


ลำดับนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าถามภิกษุทั้งหลายว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  พวกเธอย่อมรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วเหมือนสาติภิกษุกล่าวตู่เราด้วยขุดตนเสียด้วยจะประสบบาปมิใช่บุญมากด้วยเพราะทิฏฐิที่ตนถือชั่วแล้วดังนี้หรือ”


พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  วิญญาณอาศัยปัจจัยใดๆ เกิดขึ้นก็ถึงความนับด้วยปัจจัยนั้นๆ
วิญญาณอาศัยจักษุและรูปทั้งหลายเกิดขึ้น  ก็ถึงความนับว่าจักษุวิญญาณ  
วิญญาณอาศัยโสตและเสียงทั้งหลายเกิดขึ้นก็ถึงความนับว่าโสตวิญญาณ  
วิญญาณอาศัยฆานะและกลิ่นทั้งหลายเกิดขึ้นก็ถึงความนับว่าฆานะวิญญาณ  
วิญญาณอาศัยชิวหาและรสทั้งหลายเกิดขึ้นก็ถึงความนับว่าชิวหาวิญญาณ  
วิญญาณอาศัยกายและโผฏฐัพพะทั้งหลายเกิดขึ้นก็ถึงความนับว่ากายวิญญาณ  
วิญญาณอาศัยมนะและธรรมารมณ์ทั้งหลายเกิดขึ้นก็ถึงความนับว่ามโนวิญญาณ


เปรียบเหมือนไฟอาศัยเชื้อใดๆ ติดขึ้นก็ถึงความนับด้วยเชื้อนั้นๆ
ไฟอาศัยไม้ติดขึ้นก็ถึงความนับว่าไฟฟืน  
ไฟอาศัยสะเก็ดไม้ติดขึ้นก็ถึงความนับว่าไฟสะเก็ดไม้  
ไฟอาศัยหญ้าติดขึ้นก็ถึงความนับว่าอาศัยไฟหญ้า  
ไฟอาศัยโคมัย(ขี้วัว)ติดขึ้นก็ถึงความนับว่าไฟโคมัย  
ไฟอาศัยแกลบติดขึ้นก็ถึงความนับว่าไฟแกลบ  
ไฟอาศัยหยากเยื่อติดขึ้นก็ถึงความนับว่าไฟหยากเยื่อ


ฉันใด  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ฉันนั้นเหมือนกันแล  วิญญาณอาศัยปัจจัยใดๆ เกิดขึ้นก็ถึงความนับด้วยปัจจัยนั้นๆ”

(พระไตรปิฎกอรรถกถาแปล  มหามกุฏราชวิทยาลัยเล่ม ๑๙ หน้า ๑๖๘-๑๗๓)




“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ครั้งนั้นเราได้เป็นเวสสันดร  ได้เป็นมโหสถ  ได้เป็นวิธูรบัณฑิต  ได้เป็นเสนกบัณฑิต  ได้เป็นพระเจ้ามหาชนก  ดังนี้  ทีนั้นเธอได้มีความคิดว่า  รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  เหล่านี้ย่อมดับไป(แตกตาย)  ในที่นั้นๆ นั่นแหละ  แต่วิญญาณย่อมท่องเที่ยวย่อมแล่นไปจากโลกนี้สู่โลกอื่น  จากโลกอื่นสู่โลกนี้ดังนี้  จึงเกิดสัสสตทิฏฐิ (ความเห็นผิด)



--->>>   ก็พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า  เมื่อปัจจัยมีอยู่ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณจึงมี  เว้นจากปัจจัยความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณย่อมไม่มีดังนี้


ฉะนั้น  ภิกษุที่กล่าวว่าวิญญาณนี้นั่นแหละย่อมท่องเที่ยวไป  ย่อมแล่นไปไม่ใช่อย่างอื่น  ย่อมกล่าวคำที่พระพุทธเจ้ามิได้ตรัสไว้  ย่อมให้การประหารชินจักร (ทำลายพุทธศาสนา)  ย่อมคัดค้านเวสารัชชญาณ (พระปรีชาญาณแห่งพระพุทธเจ้า)  ย่อมกล่าวกะชนผู้ใคร่เพื่อจะฟังให้ผิดพลาดทั้งกีดขวางทางอริยะ (ไม่เข้าถึงอริยะ) เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์เพื่อความทุกข์แก่มหาชน”

(พระไตรปิฎกอรรถกถาแปลมหามกุฏราชวิทยาลัย  เล่ม ๑๙  หน้า ๑๙๓)




ผู้ซึ่งเกิดสัสสตทิฏฐิคือผู้มีความเห็นว่าเที่ยง  คือความเห็นว่าอัตตาและโลกเป็นสิ่งเที่ยงแท้ยั่งยืนคงอยู่ตลอดไป  เช่นเห็นว่าคนและสัตว์ตายไปแล้วร่างกายเท่านั้นทรุดโทรมไป  ส่วนดวงชีพหรือเจตภูตหรือมนัสเป็นธรรมชาติไม่สูญย่อมถือปฏิสนธิในกำเนิดอื่นสืบไปเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่ง

(พจนานุกรมพุทธศาสน์  ฉบับประมวลศัพท์  ปยุทธ์  ปยุตฺโต)



ฉะนั้น  ผู้พึงแสดงธรรม  ผู้พึงสั่งสอนธรรม  ผู้พึงสนทนาธรรม  ผู้พึงนำธรรมะในพระพุทธเจ้าไปแสดงในรูปลักษณ์ต่างๆ เช่น  ภาพยนตร์  ละคร  ก็ดี  การที่ไปสร้างเสกให้เห็นเป็นว่าคนหรือสัตว์เมื่อตายไปจะมีวิญญาณลอยออกจากร่างไปเช่นนั้นเป็นการแสดงให้ผู้ดูผู้ฟังเข้าใจผิดพลาดธรรมะแห่งพระพุทธเจ้า  เป็นการกระทำที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตนเองและมหาชน  เป็นการกีดขวางทางอริยะ  เป็นบาปอย่างยิ่ง  เป็นสัสสตทิฏฐิ  ความเห็นผิดให้ติดอยู่


--->>>   ตามความเป็นจริงคนและสัตว์โลกเมื่อตาย  รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  จะแตกแยกจากกันหมดไม่เว้นแม้วิญญาณ  ตัววิญญาณเองก็แตกดับในตัวเอง  ปกติคนที่มีชีวิตอยู่ยังไม่ตายจิตหรือวิญญาณก็แตกดับอยู่ทุกขณะจิต  ดับแล้วเกิด  เกิดแล้วดับติดต่อกันจนไม่มีช่องว่างให้เรารู้ว่าวิญญาณนี้ดับเกิดอยู่ทุกขณะ  ขันธ์อื่นๆ อีก ๔ ก็เกิดดับ เกิดดับอยู่ทุกขณะพร้อมกันเช่นกัน เป็นต้น  รูป (ร่างกาย) เซลล์ที่ประกอบเป็นส่วนต่างๆ ของร่างกายแต่ละตัวก็เกิดดับ  เกิดดับอยู่ตลอด  เซลล์ในตัวเด็กเกิดดับเปลี่ยนแปลงไปเจริญขึ้นกลายเป็นเซลล์หนุ่มสาว เป็นผู้ใหญ่  กลางคน  แล้วก็แก่น้อย  แก่มาก  เพราะเซลล์ที่เกิดใหม่เจริญลงเสื่อมไปตามลำดับ  



--->>>   เมื่อตายจิตวิญญาณที่เกิดดับอยู่เป็นดวงสุดท้ายก่อนตายก็ดับลงแต่มีตัวเชื้อซึ่งเรียกว่ากิเลสตัณหาอันเกิดแต่กรรมไม่ยอมดับ  กิเลสตัณหานี้แหละเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณใหม่ (วิญญาณธาตุคือธาตุรู้ซึ่งมีอยู่ทั่วไป) ธาตุรู้จะวิ่งเข้าเกาะเกี่ยวกิเลสตัณหาอันเป็นที่ตั้งทันทีจนไม่มี่ช่องว่างให้รู้สึกว่าวิญญาณได้ขาดตอนลงไปแล้ว  วิญญาณใหม่ซึ่งตั้งอยู่บนกิเลสตัณหาก็จะเจริญงอกงามขึ้นทันที  ปฏิสนธิขึ้นในภพใหม่ทันที  เหมือนกับว่าดวงวิญญาณเก่านั้นลอยมาเกิด  



ตรงนี้นี่เองที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด  เห็นผิด  เชื่อผิดกันมาตลอดเวลาว่าวิญญาณลอยจากร่างคนที่ตายแล้วมาเกิดในร่างใหม่โดยวิญญาณไม่ขาดตอน  เป็นวิญญาณดวงเดียว  คือวิญญาณดวงเดิมจนทำให้เห็นว่าวิญญาณนี้เที่ยงเป็นอัตตา  เป็นสัสสตทิฏฐิในความรู้สึกนึกคิดของผู้ที่มิได้พิจารณาจำแนกธรรมให้ละเอียดชัดแจ้งถึงการเกิดดับ ๆ  จึงไม่เข้าใจว่าวิญญาณเป็นอนัตตา  จึงหาทางหลุดพ้นจากตัวตนไม่ได้  เป็นการกีดขวางทางอริยะของตนแม้เพียงจะเข้าถึงความเป็นโสดาบันก็ยากยิ่งเพราะละสักกายทิฏฐิไม่เป็น

 

สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคประทับอยู่  ณ พระเชตวัน  อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี  เขตพระนครสาวัตถี  ได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า


“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ถ้าความยินดี  ความเพลิดเพลิน
 ความทะยานอยาก (กิเลสตัณหา) มีอยู่ในที่ใดวิญญาณก็ตั้งงอกงามอยู่ในที่นั้น  
ในที่ใดวิญญาณตั้งอยู่งอกงามในที่นั้นย่อมมีการหยั่งลงแห่งนามรูป  
ในที่ใดมีการหยั่งลงแห่งนามรูป  ในที่นั้นย่อมมีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย  
ในที่ใดมีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลายในที่นั้นย่อมมีการเกิดในภพใหม่ต่อไป...”


“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  บุคคลย่อมจงใจย่อมดำริและ
ครุ่นคิดถึงสิ่งใดสิ่งนั้นเป็นอารัมณปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ  
เมื่อมีอารัมณปัจจัย  ความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงมี  
เมื่อวิญญาณนั้นตั้งมั่นแล้วเจริญขึ้นแล้วความบังเกิดคือภพใหม่ต่อไปจึงมี”

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๘  สังยุตตนิกาย นิทานวรรค
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/tipitaka_seek.php


วิญญาณเกิดเพระอาศัยปัจจัย  (เหตุเครื่องหนุนให้เกิด) เว้นจากปัจจัยวิญญาณมิได้มี




--->>  วิญญาณจึงมิใช่ตัวยืนโรงในการเวียนว่ายตายเกิด  กิเลสตัณหาซึ่งดับไม่หมดเพระกรรมนั่นต่างหากเป็นตัวเชื้อเก่านำให้วิญญาณธาตุใหม่เข้าเกาะเกี่ยวเจริญงอกงามไปเกิดใหม่ไม่รู้จบ  ถ้าจะจบก็ต้องละกิเลสตัณหาให้ได้โดยการประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบดังที่พระพุทธองค์ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า



“ดูกรภิกษุทั้งหลาย  กายนี้ของคนพาล (ผู้มืดบอดไม่รู้แจ้ง)  
ผู้ถูกอวิชชาใดห่อหุ้มและประกอบด้วยตัณหาใดเกิดขึ้นแล้ว  
อวิชชานั้นคนพาลยังละไม่ได้  และตัณหานั้นยังไม่สิ้นไป
เพราะคนพาลไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ  
เหตุนั้นเมื่อตายไปคนพาลย่อมเข้าถึงกาย (เกิดอีก)
เมื่อเข้าถึงกายชื่อว่ายังไม่พ้นจาก ชาติ  ชรา  มรณะ  โสก
ปริเทวทุกข์โทมนัส  และอุปายาส  เรากล่าวว่ายังไม่พ้นไปจากทุกข์


กายนั้นของบัณฑิต (ผู้รู้แจ้ง)  
ผู้ถูกอวิชชาใดห่อหุ้มแล้วและประกอบด้วยตัณหาใดเกิดขึ้นแล้ว
อวิชชานั้นบัณฑิตละได้แล้ว  
เพราะบัณฑิตได้ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ  
เหตุนั้นเมื่อตายไปบัณฑิตย่อมไม่เข้าถึงกาย  
ไม่เกิดอีก  ชื่อว่าย่อมพ้นจาก  ชาติ  ชรา  มรณะ  โสก
 ปริเทวะ  ทุกข์โทมนัส  และอุปายาส  เรากล่าวว่าย่อมพ้นจากทุกข์...”

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๘ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=16&A=560&w=กายนี้ของคนพาล_



--->>>   บางคนเมื่อเกิดในภพใหม่  ระลึกชาติได้ในภพเก่าและเข้าใจว่า วิญญาณจากภพเก่ามาเกิดใหม่  เข้าใจว่าตัวเองในภพนี้เป็นคนเดียวกับในภพที่ระลึกได้จึงยึดมั่นถือมั่นในตัวตนแม้ตายมาแล้วจากคนเดิมก็ยังถือมั่นว่าเป็นคนเดิมอยู่  ความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนทำให้เกิดความหลงผิดไม่รู้จบ  นี่แหละเป็นผลบาปอันเกิดจากมิจฉาทิฏฐิ  เห็นผิด  เชื่อผิด  เข้าใจผิดในตัวตน  ติดอยู่ในสักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นตัวของตน)

 

“สัพเพ  ธัมมา  อนัตตา”
ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน


ที่เห็นเป็นตัวตนเพราะเป็นความเข้าใจผิด  เนื่องจากปัจจัยเชื่อมโยงต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาไม่ขาดสายแล้วพากันสมมติบัญญัติเรียกขานกันเป็นตัวโน่นตนนี่  รับรองสมอ้างยึดถือเป็นบรรทัดฐานเชื่อมั่นตามกันมาจนเข้าใจว่าเป็นของจริงจังจริงแท้ติดแน่นในสันดานจิตกันถ้วนทั่ว



การเข้าใจผิดแม้นิดเดียวคือเข้าใจว่าวิญญาณเป็นสิ่งเที่ยงเป็นตัวตนท่องเที่ยวไปแล่นไปสู่ภพใหม่และเป็นตัวยืนโรงในการเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบเช่นที่สาติภิกษุเข้าใจเป็นโทษมหันต์  เป็นภัยใหญ่หลวงเพราะเป็นการขัดขวางทางอริยะดังที่พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า


“ก็ความเห็นของเธอจักเป็นไปเพื่อโทษไม่เป็นประโยชน์เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน”


เพราะจะทำให้ไม่เห็นทางหลุดพ้นเข้าสู่กระแสที่จะไปสู่นิพพานได้เลย  จะต้องจมปรักอยู่ในกองทุกข์แห่งห้วงวัฏสงสารไม่รู้จบอีกตลอดไป



--->>>   ถ้าเราเข้าใจจุดตัด  จุดขาด  จุดดับตรงนี้เสียได้ก็จะเข้าใจความตายของตนได้  เรียกว่ารู้จักความตาย  รู้ว่าเมื่อตายแล้วก็ตายเมื่อรู้จักอาการตายของสัตว์โลกว่าวิญญาณก็แตกดับไปด้วยเช่นนี้ก็จะทำให้เกิดอาวัชนาการ  คือความรำพึง  การรำลึกนึกถึงขึ้นมาเองว่า


“แล้วอะไรมันเป็นตัวไปเกิดอีก”


ความรำพึงเช่นนี้มีประโยชน์มาก  เข้าจุดเข้าประเด็นเข้าเรื่องที่จะไม่ตายไม่เกิดอีก  ลองพิจารณาต่อไป  เมื่อตายแล้ววิญญาณก็แตกดับไปด้วยแล้ว


“อะไรเล่าเป็นตัวให้วิญญาณตั้งขึ้นงอกงามได้ใหม่”



--->>>   พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า

“...ความยินดี  ความเพลิดเพลิน  ความทะยานอยาก (รวมเรียกได้ว่ากิเลสตัณหาหรือมโนสัญญาเจตนาคือกรรม)  มีอยู่ในที่ใดวิญญาณก็ตั้งงอกงามในที่นั้น...”


“กิเลสตัณหาหรือกรรม”  นั่นเองเป็นปัจจัยนำให้ไปเกิดวิญญาณอีกไม่ใช่อื่น


กิเลสตัณหา  เป็นนามธรรมอันเกิดขึ้นกับจิตวิญญาณเป็นสิ่งที่ทำให้จิตวิญญาณมีความยินดีหรือยินร้าย  มีความเพลิดเพลินหรือหดหู่  มีความทะยานอยากหรือไม่อยาก เป็นต้น  กิเลสตัณหาเป็นนามธรรมคือสภาวะที่น้อมไปหาอารมณ์ทำให้อารมณ์ยึดมั่นในสิ่งนั้นสิ่งนี้  เป็นเชื้ออารมณ์ที่อยู่ในจิตวิญญาณ  เมื่อตายจิตวิญญาณแตกดับแต่เชื้ออารมณ์อันเกิดจากกิเลสตัณหาไม่ดับไปด้วย...




**************************************************************************

ข้อมูลในการเรียบเรียง  ธรรมบัญชา  :  บัญช์  บงกช

 

หมายเลขบันทึก: 215753เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 14:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 22:58 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท