เกิดมาแล้วทำไมต้องตาย...?


เหตุใดมนุษย์ต้องมีสภาพ  เป็นสิ่งที่ต้องตาย   พุทธศาสนามีหลักธรรมที่ให้คำอธิบายต่อประเด็นดังกล่าวได้เป็นอย่างดีอยู่  2  หมวด   คือหลักธรรม ที่เรียกว่า   ไตรลักษณ์และหลักธรรมที่ปรากฏในเรื่องสังสารวัฏ

มีอะไรในไตรลักษณ์

ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่าพุทธศาสนาจำแนกธรรม  หรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่ทรงตัวอยู่  ออกเป็น   ๒  อย่าง   คือ...  

สังขตธรรม   หมายถึง  ธรรมที่ถูกปรุงแต่งได้แก่ธรรมที่มีปัจจัย  สภาวะที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งขึ้น  สภาวะที่ปัจจัยทั้งหลายร่วมกันแต่งสรรค์ขึ้น   สิ่งที่มีปัจจัยประกอบเข้าหรือสิ่งที่ปรากฏและเป็นไปตามเงื่อนไขของปัจจัย  เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  สังขาร  ซึ่งมีรากศัพท์และคำแปลเหมือนกัน    หมายถึง  สภาวะทุกอย่างทั้งทางวัตถุและทางจิตใจ  ทั้งรูปธรรมและนามธรรม  ทั้งที่เป็นโลกียะและโลกุตตระ   ทั้งที่ดี ที่ชั่ว  และที่เป็นกลาง   ๆ  ทั้งหมด  เว้นแต่นิพพาน

อสังขตธรรม   หมายถึงธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่ง  ได้แก่  ธรรมที่ไม่มีปัจจัย  หรือ  สภาวะที่ไม่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง  ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของปัจจัย   เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า   วิสังขาร   ซึ่งแปลว่าสภาวะปลอดสังขาร   หรือสภาวะที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง  หมายถึง  นิพพาน

พุทธศาสนาเห็นว่า   ทุกสิ่งที่มีสภาพเป็นสังขตธรรม   หรือสังขารธรรมย่อมตกอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติที่เรียกว่า   ไตรลักษณ์   หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  สามัญญลักษณะ   แปลว่า   ลักษณะทั่วไปของสิ่งทั้งหลาย   ลักษณะ  ๓  ประการ คือ

อนิจจตา  คือ ความไม่เที่ยง  ความไม่คงที่   ความเปลี่ยนแปลง  ความไม่ยั่งยืน   ภาวะที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมและสลายไป

ทุกขตา  คือ  ความทุกข์  ความคงทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้  ภาวะที่ไม่สมบูรณ์มีความบกพร่องหรือขัดแย้งอยู่ในตัว


อนัตตตา  คือ  ความไม่ใช่ตัวตน   ความไม่มีตัวตนที่แท้จริง

มนุษย์ในฐานะสิ่งที่มีสภาพเป็นสังขตธรรม   หรือ  สารขารธรรม  หรือสิ่งที่เกิดจากปัจจัย ปรุงแต่งย่อมจะต้องมีความเป็นไปตามลักษณะทั้ง  ๓   เหมือนกับสิ่งอื่น ๆ   อย่างไม่มีข้อยกเว้น  เพราะกฎธรรมชาติหรือไตรลักษณ์นี้เป็น  ธรรมธาตุ  คือภาวะที่ทรงตัวอยู่โดยธรรมดาเป็นธรรมฐิติ  คือ  ภาวะที่ตั้งอยู่หรือยืนตัวเป็นหลักแน่นอนอยู่โดยธรรมดาเป็น ธรรมฐิติ   คือภาวะที่ตั้งอยู่หรือยืนตัวเป็นหลักแน่นอนอยู่โดยธรรมดา  ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะเสด็จอุบัติขึ้นหรือไม่เสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม  สังขตธรรม  หรือ สังขารธรรมทั้งหลายก็ย่อมจะมีลักษณะเป็นไปเช่นนั้นเอง   ดังพุทธพจน์ที่ว่า

สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง  สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์  ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

ความตายหากมองจากกรอบของไตรลักษณ์  ก็คือรูปแบบหนึ่งของอนิจจตา  และทุกขตา  หรือความไม่เที่ยง  ความคงทนเป็นสภาพชีวิตอยู่อย่างเดิมไม่ได้หากแต่ต้องแตกสลายหรือตายไปเป็นธรรมดา  ในอีกแง่มุมหนึ่งหากพิจารณาให้ละเอียดลงตามหลักปรมัตถ์   ความเป็นอนิจจตาและทุกขตา  หรือความไม่เที่ยงความเปลี่ยนแปลงตลอดจนความตายย่อมเกิดขึ้นกับมนุษย์หรือนามรูปนี้อยู่ทุกขณะตลอดเวลา  

ตอนนี้จึงสามารถสรุปได้ว่า  สาเหตุพื้นฐานที่ทำให้มนุษย์หรือนามรูปนี้   เป็นสิ่งที่ต้องเสื่อมสลายหรือตายไป  แท้จริงก็คือสภาพความเป็นสิ่งปรุงแต่ง   หรือเป็นสังขตธรรมซึ่งเป็นคุณลักษณะของมนุษย์นั่นเอง

 

สังสารวัฏเป็นอย่างไร...?

ได้กล่าวไปแล้วว่า  สภาพความเป็นสังขตธรรม   หรือสิ่งปรุงแต่งอันเป็นคุณลักษณะประจำของมนุษย์นั่นเอง  คือสาเหตุพื้นฐานที่ทำให้มนุษย์เป็นสิ่งที่ต้องตาย...  

อย่างไรก็ตาม  คำถามเกี่ยวกับสาเหตุของความตายอีกประการหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ก็คือ   ในเมื่อเกิดเป็นมนุษย์แล้วก็ต้องตายในที่สุด   แล้วเหตุใด  หรือเพราะอะไร  จึงทำให้มนุษย์ต้องเกิดขึ้นมาเพื่อที่จะต้องเดินไปสู่ความตาย  อย่างไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงได้เช่นนี้...?  

-->  หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงง่าย  ๆ   ก็จะพบว่า  เพราะเกิดมานั่นเองมนุษย์จึงต้องตาย  ถ้าไม่เกิดก็ไม่ต้องตาย    ในการตอบปัญหาดังกล่าว   พุทธศาสนาชี้ให้เห็นความจริงว่า   แท้จริงแล้วมนุษย์หรือตัวเราเป็นผลของการหมุนเวียน   สัตว์ทั้งหลายทุกรูปทุกนามต่างต้องท่องเที่ยววนเวียน    เกิด  แก่  เจ็บ  ตาย   อยู่ในภพภูมิต่าง ๆ   อย่างไม่มีวันสิ้นสุด  สภาพเช่นนี้เรียกว่า  สังสารวัฏ  เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่าเหตุใดมนุษย์จึงต้องเกิดขึ้นมาเพื่อที่จะต้องประสบกับความตาย  หรือเหตุใดมนุษย์หรือสัตว์ทั้งหลายจึงต้องเวียนเกิดเวียนตายไม่รู้จบสิ้น

 

เรามาดูถึงสาระสำคัญของสังสารวัฏ

สังสารวัฏ  คือ  การเวียนเกิด  เวียนตาย  อยู่ในโลกหรือวงจรแห่งทุกข์  อีก  นัยหนึ่ง  สังสารวัฏ  ก็คือวังวนหรือภาวะที่ต่อเนื่องกัน  เป็นเหตุเป็นปัจจัยของกันและกันเป็นวงกลม   ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายต้องท่องเที่ยวหรือเวียนว่ายตายเกิดสังสารวัฏประกอบด้วย   องค์  ๓   คือ  กิเลส   กรรม  และวิบาก  

ตามหลักพุทธศาสนา  ชีวิตไม่ใช่สิ้นสุดเมื่อบุคคลตาย  เพราะตราบเท่าที่บุคคลยังมีกิเลสและกรรมอยู่   ชีวิตใหม่หรือชาติหน้าจะต้องมีอยู่ด้วย  นั่นคือความตายในชีวิตปัจจุบันจะนำไปสู่การเกิดใหม่  ซึ่งก็จะนำไปสู่การตายอีก  วนเวียนไปเช่นนี้เรื่อยไปจนกว่าบุคคล จะรู้แจ้งความจริงอยู่เหนือกฎแห่งกรรมได้  จึงจะหยุดและสิ้นสุดการเกิด แก่  เจ็บ  และตาย

กิเลส    หมายถึง    สภาพที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง  สิ่งที่ทำให้จิตใจขุ่นมัวรับคุณธรรมได้ยาก  เป็นสิ่งสกัดกั้นไม่ให้ถึงความบริสุทธิ์  สะอาด  ทางกาย   วาจา  และใจ  ได้แก่สภาวธรรม   ๑๐  อย่าง  คือ

โลภะ    คือ  สภาวะที่อยากได้   ปรารถนา  และยินดีในอารมณ์ทั้ง ๖  ที่น่าใคร่น่าพอใจ

โทสะ    คือ  สภาวะที่มีความหยาบกระด้าง  ดุร้าย ขุ่นมัวเผาผลาญจิตใจ

โมหะ    คือ  สภาวะที่หลงในอารมณ์  คือไม่รู้ตามความเป็นจริงของสภาวธรรม

มานะ    คือ  สภาวะที่ถือตัว  ไม่ยอมลงให้ใคร  ลำพองในใจ  ทำให้กระด้างอวดหยิ่งยโส

ทิฏฐิ     คือ  สภาวะที่มีความเห็นผิดจากความเป็นจริง  ด้วยความยึดติดกับอารมณ์ที่ตนเห็นเท่านั้น

วิกิจฉา  คือ  สภาวะที่มีความสงสัย  เพราะไม่ปลงใจ  โลเล  เพราะไม่แน่ใจในอารมณ์

อุทธัจจะ  คือ  สภาวะที่ทำให้ฟุ้งซ่านไม่สงบในอารมณ์

อหิริกะ  คือ  สภาวะที่ไม่ละอายและหดหู่  และไม่หลีกเลี่ยงต่อบาป

อโนตตัปปะ  คือ  สภาวะไม่เกรงกลัว   ไม่สยดสยองต่อบาป  และความชั่ว

สภาวธรรมทั้งหลายเหล่านี้  เป็นเหตุให้บุคคลประกอบกรรมต่าง  ๆ  ขึ้น

-->> กรรม    หมายถึง  การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา หรือมีความจงใจในการกระทำ  กล่าวอีกนัยหนึ่ง  เจตนาในกรรมนั่นเองจัดเป็นกรรม   ดังพุทธพจน์

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม  บุคคลจงใจแล้วย่อมกระทำกรรมทางกาย  ทางวาจา  ทางใจ

กรรมที่ประกอบด้วยเจตนา  โดยเฉพาะเจตนาที่มีตัณหาหรือความอยากเป็นแรงผลักดัน   ถือว่าเป็นกรรมที่สามารถทำให้สัตว์ทั้งหลายต้องหมุนเวียน  หรือ  กรรมที่ทำให้วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ  ตัณหาดังกล่าวก็คือ...

ความอยากได้อยากมีในสิ่งใด  เรียกว่า   กามตัณหา  

ความยากเป็นอย่างนั้นอย่างนี้  เรียกว่า  ภวตัณหา  

ความไม่อยากเป็นอย่างนั้นไม่อยากเป็นอย่างนี้    เรียกว่า   วิภวตัณหา  

ตัณหาเกิดจากความไม่รู้สภาวธรรมตามเป็นจริง   แล้วก็เกิดความคิดปรุงแต่งซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจ  แล้วก็เป็นเหตุให้เกิดความอยากขึ้นตามความพอใจ  หรือความไม่พอใจนั้น ๆ   เมื่อมีความอยากซึ่งเรียกว่า  ตัณหา  นี้แล้วจึงมีเจตนาในการกระทำ  เมื่อมีการทำลงไปด้วยเจตนาก็เป็นกรรม  เมื่อกระทำกรรมเช่นนี้แล้ว  ผลของกรรมหรือวิบากย่อมตามสมควรแก่กรรมนั้น  ๆ  ซึ่งจะเป็นพลังส่งให้ผู้กระทำกรรมไปสู่ภพภูมิที่เหมาะสมเมื่อผู้กระทำกรรมตายลง   ดังพุทธพจน์ว่า  

สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน  เป็นทายาทของกรรม   มีกรรมเป็นสิ่งให้กำเนิด  มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์  มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย   กรรมเป็นตัวกำหนดจำพวกสัตว์ให้ทรามหรือประณีตต่างกัน

-->> วิบาก   หมายถึง   ผลกรรมที่บุคคลทำไว้นั่นเอง   สภาพชีวิตคือการที่ต้องประสบกับความสุขความทุกข์   เมื่อมนุษย์ยังมีกิเลสตัณหาอยู่   ก็จะถูกผลักดันให้  ทำกรรม   เมื่อทำกรรมแล้วย่อมจะได้รับผลแห่งกรรม  คือ   วิบาก   เมื่อมีวิบากหรือขันธ์อยู่ที่ยังไม่สิ้นไปซึ่งกิเลส  ก็เป็นเหตุให้การกระทำกรรมอีกวนเวียนเป็นวัฏจักรเช่นนี้เรื่อยไปจนกว่า  เหตุปัจจัยแห่ง  วัฏจักร หรือสังสารวัฎนี้จะสิ้นลง

การที่กิเลสทั้งหลายปรุงแต่งจิตหรือวิญญาณ  นอกจากจะส่งผลให้ชีวิตมีสุขมีทุกข์แล้ว  ยังส่งผลให้ชีวิตมีการสืบต่อไปไม่สิ้นสุด  ฉะนั้น ความตายจึงไม่ใช่การสิ้นสุดของชีวิต   หากเป็นแต่เพียงปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตจากภพหนึ่งไปสู่อีกภพหนึ่งเท่านั้น   การเปลี่ยนแปลงนี้จะมีอยู่เรื่อยไปตราบเท่าที่วงจรของสังสารวัฏยังไม่ถูกตัดขาด  หากวงจรของสังสารวัฏคือ   กิเลส   กรรม   และวิบากนี้  ยังไม่ถูกตัดขาด   มนุษย์หรือสัตว์ก็ยังจะต้องท่องเที่ยววนเวียนอยู่ในภพภูมิต่าง  ๆ  ไม่มีสิ้นสุด

 

หมายเลขบันทึก: 215770เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ตายกันเถิด แม้แต่เกิดก็นำไปสู่ความตาย

แม้ความตายจะเกิดขึ้นกับมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตทุกชนิดไม่ยกเว้น แต่โดยข้อเท็จก็ปรากฏว่า ระยะเวลาและลักษณะความตายของมนุษย์ก็แตกต่างกันพุทธศาสนาจำแนกความตายออกเป็น ๒ ประการ คือ

กาลมรณะ คือ การตายตามกาล

อกาลมรณะ คือ การตายเมื่อยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องตาย

แสดงให้เห็นว่า ความตายนั้นเมื่อถึงเวลาหรือถึงที่แล้วจึงตายก็มี และเมื่อยังไม่ถึงเวลาหรือถึงที่ก็มี

พุทธศาสนาจำแนกสาเหตุของความตาย หรือที่เรียกในภาษาบาลีว่า มรณุป ปัตติ แปลว่า การเกิดขึ้นแห่งความตายไว้ ๔ ประการ คือ

อายุกขยมรณะ หมายถึง ตายเพราะสิ้นอายุ

กัมมักขยมรณะ หมายถึง ตายเพราะสิ้นกรรม

อุภยักขยมรณะ หมายถึง ตายเพราะสิ้นอายุและสิ้นกรรมทั้งสอง

อุปัจเฉทกมรณะ ตายเพราะประสบอุบัติเหตุ ขณะที่อายุและกรรมยังไม่ถึงกำหนด

มาดูรายละเอียดของความตายทั้ง ๔ ประการ ด้วยกัน

อายุกขยมรณะ ตายโดยสิ้นอายุ หมายความว่าสัตว์ทั้งหลายต้องตายโดยสิ้นอายุ เพราะสัตว์ทุกชนิดย่อมจะมีชีวิตอยู่ภายในขอบเขตของอายุขัย สัตว์ทั้งหลายมีอายุมากบ้างน้อยบ้าง เมื่อผ่านพ้นวัยทารก วัยเด็ก วัยหนุ่มสาว วัยกลางคนไปแล้วก็สู่วัยชรา จากแรกเริ่มชราน้อยไปหาชรามากที่สุด ท้ายสุดก็สิ้นอายุเวลาเรียกว่า ตายเพราะสิ้นอายุ

กัมมักขยมรณะ ตายโดยสิ้นกรรม หมายความว่า การที่สัตว์ทั้งหลายเกิดขึ้นมาและเป็นไปต่าง ๆ นานานั้น อาศัยกำลังของกรรมหล่อเลี้ยงหรือสนับสนุนไว้ หากหมดกำลังของกรรมเมื่อใด ผู้นั้นก็จะถึงแก่ความตาย

อุภยักขยมรณะ ตายเพราะสิ้นอายุและสิ้นกรรม ข้อนี้หมายความว่า บุคคลถึงแก่ความตายด้วยเหตุทั้ง ๒ คือ แก่เฒ่า อายุมาก ร่างกายก็หมดกำลัง ที่จะอยู่ต่อไปได้ ทั้งกรรมที่สนับสนุนให้คงชีวิตอยู่ก็หมดลงด้วย

อุปปัจเฉทกมรณะ ตายเพราะอุบัติเหตุ หมายถึงความตายของผู้มีอายุยังไม่ครบกำหนด หรือยังไม่ถึงอายุขัยและยังไม่สิ้นกรรม แต่ผู้นั้นก็มาเสียชีวิตลงก่อนอาจจะด้วยอุบัติเหตุต่าง ๆ แต่กระนั้นการตายในลักษณะนี้ ก็อาศัยกรรมแต่อดีตเป็นแรงส่งให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน

การตายที่มาจากสาเหตุประการแรก จัดเป็นกาลมรณะ ส่วนการตายที่มาจากสาเหตุประการสุดท้าย เป็น อกาลมรณะ

สำหรับการตายทั้ง ๔ ประการนี้ มีการเปรียบเทียบไว้กับดวงประทีปที่ใช้น้ำมัน กล่าวคือ ชีวิตทั้งหลายเปรียบเทียบเหมือนประทีปหรือโคมไฟที่อาศัยน้ำมันธรรมดาโคมไฟที่อาศัยน้ำมันนั้นไฟจะดับได้ก็ด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ

เพราะเหตุที่หมดน้ำมัน

เพราะเหตุที่หมดไส้

เพราะเหตุที่หมดทั้งน้ำมันและหมดไส้

เพราะเหตุที่มีอุบัติเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ลมพัดไฟดับ หรือมีอะไรมาทับทำให้ไฟดับ

มาดูการเปรียบเทียบสาเหตุของการตายทั้ง ๔ อย่างกัน

--> เมื่อโคมไฟหมดน้ำมัน ไฟก็จะดับ ข้อนี้หมายถึงชีวิตทั้งหลายจะถึงแก่ความตายเมื่อสิ้นอายุ

--> เมื่อโคมไฟหมดไส้ ไฟก็จะดับ หมายถึงชีวิตทั้งหลายเมื่อสิ้นกำลังของกรรมที่จะสนับสนุนให้ชีวิตคงอยู่แล้ว ก็จะถึงแก่ความตาย

--> เมื่อโคมไฟหมดทั้งน้ำมันและหมดไส้ หมายความว่า ชีวิตทั้งหลายต้องดับสลายไป เพราะหมดอายุและกำลังของกรรมที่จะให้คงอยู่

--> เมื่อโคมไฟถูกลมพัดดับ ข้อนี้หมายความว่า ในกรณีที่ยังไม่สิ้นอายุและยังไม่สิ้นกรรม แต่ต้องตายด้วยได้รับอุบัติเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง

สำหรับในข้อ ๑, ๒, ๓ นั้นตายเพราะถึงเวลาที่เวลาที่จะต้องตาย สำหรับในข้อ ๔ ข้อเดียวเท่านั้นที่ผู้ตายยังไม่ถึงคราวที่จะต้องตาย แต่ก็ได้ตายลงไปเพราะเหตุในปัจจุบัน

แท้จริงแล้ว “ความตาย” เป็นเพียงคำที่มนุษย์เราสมมติ

บัญญัติขึ้นมาเพื่อใช้เรียกสภาพหรืออาการที่มันเป็นไปตามธรรมดาของสิ่งที่มีสภาพพื้นฐานเป็นสิ่งปรุงแต่ คือ เมื่อมีการเกิดขึ้น ดำรงอยู่ ก็ต้องเสื่อมสลายหรือตายไปในที่สุด อย่างไรก็ตามหากมีปัจจัยคือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ซึ่งเป็นเหตุผลักดันให้มนุษย์จะต้องประกอบกรรม ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม กรรมนั้นก็ย่อมจะต้องมีผลคือวิบากอันได้แก่นามรูปหรือชีวิตใหม่

เหตุนี้จะเห็นว่า ชีวิตก็คือการหมุนเวียนอยู่ในสังสารวัฏสืบต่อไปไม่สิ้นสุด รูปกายเป็นเพียงสิ่งประกอบของช่วงใดช่วงหนึ่งของช่วงวัฏสังสารที่ไม่สิ้นสุด เช่นกันที่ย่อมแตกสลายลงไปเป็นวัตถุ ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ประกอบก่อขึ้นมาเป็นรูปกายในเบื้องต้น ชีวิตจึงเป็นกระแสสายที่เชื่อมโยงหมุนเวียนต่อเนื่องตราบเท่าที่วงจรของสังสารวัฏยังไม่ถูกตัดขาดและที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะตัวมนุษย์เรานั่นเองที่เป็นผู้เลือก...

ดังได้กล่าวมาแล้วว่าความตายเป็นความจริงของชีวิต และได้วิเคราะห์แยกแยะความจริงนี้อย่างพิสดาร นั่นคือเรากำลังพูดถึงอภิปรัชญาของความตายและเมื่อเข้าใจว่าเป็นอย่างไร ก็ต้องนำสู่ภาคปฏิบัติ จะได้ครบถ้วนกับสิ่งที่เราได้ศึกษา การค้นคว้าเพื่อแสวงหาท่าที่และการปฏิบัติที่ถูกต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงของของสิ่งใดสิ่งหนึ่งถือเป็นการศึกษาที่เรียกว่า จริยศาสตร์

จริยศาสตร์ (Ethics) เป็นปรัญชาสาขาหนึ่งว่าด้วยความประพฤติของมนุษย์เป็นสาขาที่ค้นหาคำตอบเกี่ยวกับความประพฤติของมนุษย์ว่าการกระทำในลักษณะใดที่ถือว่ามีคุณค่า หรือเราพึงปฏิบัติตนอย่างไรจึงสอดคล้องกับความเป็นจริง (How to act according to reality)

ท่าทีของมนุษย์ต่อความตาย เมื่อได้ทราบความจริงดังที่กล่าวมาแล้ว

ตามความเข้าใจของคนทั่วไป ความตายถือเป็นปรากฏการณ์ของชีวิตที่มี ความหมายเชิงลบ คือไม่ว่าจะพิจารณาความตายในแง่ไหน สำหรับคนทั่วไปแล้วย่อมเห็นว่าความตายเป็นสิ่งไม่ดี และไม่น่าพึงประสงค์เสียทั้งหมด ความเข้าใจในลักษณะดังกล่าวนี้ได้ก่อให้เกิดท่าทีของ การปฏิเสธความตาย แสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ การหลีกเลี่ยงที่จะพูดเสวนาหรือแม้แต่นึกถึงความตายก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการปฏิเสธความตาย

ท่าทีการปฏิเสธความตายดังกล่าวนี้มีผู้ตั้ง ข้อสังเกตได้ว่า ในสังคมตะวันตกหรือสังคมที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกยุคนี้ กามารมณ์เคยเป็นสิ่งต้องห้ามฉันใดมาถึงยุคนี้ความตายได้กลายเป็นสิ่งที่ไม่ควรพูดถึงฉันนั้น

ความตายเป็นเรื่องที่ไม่น่าพิสมัย ไม่มีใครอยากพูดถึงทั้ง ๆ ที่ทุกคนรู้ว่าสักวันหนึ่งตนเองจะต้องตามแต่เพราะความสับสนทางอภิปรัชญาในสังคมสมัยใหม่ ทำให้คนพยายามลืมความจริงข้อนี้เสีย โอกาสที่จะเรียนรู้หรือสร้างความคุ้นเคยกับความตายซึ่งเป็นความจริงที่แน่นอนของชีวิตก็ย่อมขาดหายไป เมื่อถึงคราวที่จะต้องเผชิญกับความตายซึ่งเป็นความจริงที่แน่นนอนของชีวิตก็ย่อมขาดหายไป

เมื่อถึงคราวที่จะต้องเผชิญกับความตายไม่ว่าจะเป็นของผู้ที่ใกล้ชิดผูกพันโดยเฉพาะอย่างยิ่งความตายของตนเอง ความไม่พร้อม ความไม่เข้าใจ ความโศกเศร้าฟูมฟายก็มักจะเกิดขึ้นเสมอ การที่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นนั่นเป็นเพราะการมีท่าทีที่ไม่ถูกต้องต่อความตายนั่นเอง ไม่ว่าอย่างไรทุกคนจะต้องเผชิญกับความตายนั่นเอง ไม่ว่าอย่างไรทุกคนจะต้องเผชิญกับความตายอย่างแน่นอน ดังนั้นการเรียนรู้เพื่อเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับความตายจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย

พุทธศาสนากลับมีท่าทีที่สะท้อนให้เห็นถึงการตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของความตายอย่างยิ่งยวด หากจะพิจารณาถึงท่าทีของพุทธศาสนาที่สะท้อนให้เห็นถึงการตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของความตายดังกล่าวในแง่นี้เราสามารถพิจารณาความตายออกเป็น ๒ สถานะคือ...

ความตายในฐานะสิ่งที่ควรเรียนรู้ หมายถึง เป็นความตายที่ยังไม่ใช่ความตายจริง เป็นลักษณะการถือเอาประโยชน์จากความตายหรือใช้ความตายเป็นสิ่งจะสร้างประโยชน์ให้กับชีวิตและความตายในฐานะความตายที่แท้จริง

อะไรคือความตาย ในฐานะสิ่งที่ควรเรียนรู้

พุทธศาสนาเห็นว่าความตายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่เราสามารถถือเอาสาระประโยชน์ได้หลายอย่าง ด้วยการพิจารณาความตายในแง่มุมต่าง ๆ ท่าทีของการเห็นคุณค่าหรือการให้ความสำคัญต่อความปรากฏอยู่ในหลักธรรมต่าง ๆ

อภิณหปัจจเวกขณ์ ๕

อภิณหปัจจเวกขณ์เป็นธรรมะที่ทุกคนควรพิจารณาอยู่เนือง ๆ มีดังนี้

ชราธัมมตา ควรพิจารณาเนือง ๆว่าเรามีความแก่เป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้

พยาธิธัมมตา ความพิจารณาเนือง ๆ ว่าเรามีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้

มรณาธัมมตา ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่าเรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้

ปิยวินาภาวนา ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่าเราจักต้องมีความพลัดพรากจากของรักของชอบทั้งสิ้น

กัมมัสสกตา ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตนเราทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักต้องเป็นทายาทของกรรมนั้น

เมื่อกล่าวเฉพาะความตาย มีพุทธพจน์ที่อธิบายเพิ่มเติมความว่า...

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร

สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่าเรามีความ

ตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความมัว

เมาในชีวิตมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลายซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายประพฤติทุจริต

ด้วยกาย วาจา ใจ เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนือง ๆ ย่อมละความมัว

เมาในชีวิตนั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึง

ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตาย

ไปได้ ”

อภิณหปัจจเวกขณ์ ๕ เป็นหลักธรรมสำคัญที่มุ่งให้มนุษย์ได้พิจารณาความจริงของชีวิตว่า ทั้งความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจ และความเป็นเจ้าของแห่งกรรม เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อเกิดสิ่งนี้ขึ้นก็ไม่ควรมี ความประหลาดใจอันใด อย่างไรก็ตามโดยความเป็นจริงแม้ทุกคนอาจจะยอมรับว่าในสภาพความเป็นจริงของชีวิตดังกล่าว

แต่หากเราไม่ใส่ใจพิจารณาอยู่เสมอ ๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์ให้มีอันต้องประสบกับความจริงของชีวิตเช่นนั้นก็อาจจะปรับใจให้ยอมรับไม่ทัน

ดังนั้นเมื่อพัฒนาสภาพการรับรู้ในความเป็นจริงของชีวิตไม่ว่าจะเป็น ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก และความเป็นเจ้าของแห่งกรรม ให้เป็นความรู้ที่แนบแน่นอยู่กับความเข้าใจจนเห็นเป็นเรื่องปรกติธรรมดาจริง ๆ เราจะต้องฝึกฝนพิจารณาถึงอยู่เนือง ๆ หรือสม่ำเสมอ ในชีวิตประจำวัน

อนุสติ ๑๐ เป็นส่วนหนึ่งของกรรมฐาน ๔๐ ซึ่งเป็นกรรมฐานที่ใช้ฝึกสมาธิ อนุสติ ๑๐ ดังนี้

--> พุทธานุสติ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า และพิจารณาคุณของพระพุทธองค์

--> ธัมมานุสติ ระลึกถึงพระธรรม และพิจารณาคุณของพระธรรม

--> สังฆานุสติ ระลึกถึงพระสงฆ์ และพิจารณาคุณของพระสงฆ์

--> ลีลานุสติ ระลึกถึงศีล พิจารณาศีลของตนที่ได้ประพฤติบริสุทธิ์ไม่ด่างพร้อย

--> จาคานุสติ ระลึกถึงจาคะ ทานที่ตนได้บริจาคแล้ว และพิจารณาเห็นคุณธรรม คือความเผื่อแผ่เสียสละที่มีในตน

--> เทวตานุสติ ระลึกถึงเทวดา หมายถึงเทวดาที่ตนเคยได้รู้เคยได้ยินมา และพิจารณาเห็นคุณธรรมซึ่งทำให้คนเป็นเทวดา ตามที่มีอยู่ในตน

--> มรณสติ ระลึกถึงความตายอันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา พิจารณาให้เกิดความไม่ประมาท

--> กายคตาสติ ระลึกถึงเกี่ยวกับร่างกาย ว่าเป็นสิ่งไม่งาม น่าเกลียด เพื่อเป็นทางให้รู้เท่าทันสภาวะของกายนี้ มิให้หลงใหลมัวเมา

--> อานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก

--> อุปฬมานุสติ ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบหรือนิพพาน และพิจารณาคุณของ นิพพาน อันเป็นที่หายร้อน ดับกิเลสและไร้ทุกข์

การที่พระพุทธเจ้ากำหนดให้ความตายเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ควรนำมาพิจารณาหรือระลึกถึงอยู่เนือง ๆ หรือที่เรียกว่า มรณสติ เพราะพุทธศาสนาเห็นว่าการระลึกถึงหรือพิจารณาถึงความตายสามารถช่วยให้มนุษย์เข้าใจธรรมชาติอันเป็นอนิจจังของตนเองเป็นอย่างดี ซึ่งการเห็นและการเข้าใจดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเจริญรุ่งเรืองทางด้านจิตวิญญาณ พระพุทธองค์ก็เคยตรัสยกย่องการระลึกถึงความตายว่า

“ในบรรดารอยเท้าทั้งหลาย รอยเท้าคชสารย่อมเป็นยอดและในบรรดาอนุสติทั้งหลาย มรณสติย่อมเป็นยอด ”

**************************************************************************

ข้อมูลที่ใช้ในการเรียบเรียง : ความตายเอ๋ย...เราเคยรู้จักเจ้ามาก่อน โดย ภาณุวังโส

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท