นรกและสวรรค์ในคัมภีร์พระไตรปิฎก ภาคนรก


นรกและสวรรค์ในคัมภีร์พระไตรปิฎก ภาคนรก

 

1. นรก

ในทรรศนะของพระพุทธเจ้า  นรกมีจริงหรือไม่ พระพุทธเจ้าทรงมีท่าทีต่อนรกอย่างไร  ตามที่พระพุทธองค์ตรัสสอนเรื่องกรรม   การให้ผลของการชั่ว  และมักตรัสสรุปไว้ตอนท้ายว่า  คนทำกรรมชั่ว  หลังจากที่ตายไป  จะเข้าถึงอบายทุคคติ  วนิบาต  นรก  เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า  พระพุทธเจ้าทรงยอมรับนรกเช่นกัน  อีกทฤษฏีหนึ่งที่จะชี้ให้เห็นว่า  พระพุทธเจ้าทรงมีทรรศนะเช่นใดต่อนรก  คือ  ทฤษฎีว่าด้วยเรื่องโลกหน้า  โลกหน้า คือโลกที่มนุษย์จะต้องไปเกิดหลังจากตายลงในชีวิตนี้นั่นเอง   และพระพุทธองค์ทรงแนะนำให้บุคคลมีความเชื่อว่าโลกหน้ามีจริง  ถึงกับตรัสติเตียนว่า  คนที่ไม่มีความเชื่อเรื่องโลกหน้า (ปรโลกศรัทธา)  เป็นพวกมิจฉาทิฏฐิ

“...เมื่อปรโลกมี  เขาเห็นว่าปรโลกไม่มี  ความเห็นของเขาก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ   .....พวกที่มีวาทะมีทิฏฐิว่า  ทานที่ให้แล้ว   ไม่มีผล  การบำเพ็ญทานไม่มีผล  .....สำหรับพวกนี้  เป็นอันหวังสิ่งต่อไปนี้ได้คือ  พวกเขาจะทิ้งกายสุจริต  วจีสุจริต  มโนสุจริตอันเป็นกุศลธรรมทั้ง  3  อย่าง  เสีย

(อปัณณกสูตร , ม.ม.๑๓/๑๐๓-๑๒๔)

วิสัยของมนุษย์ปุถุชนมีคุณภาพต่ำเกินไปที่จะพิสูจน์เรื่องนรกให้ประจักษ์ชัดแก่ประสาทสัมผัสได้  การพูดถกเถียงกันจึงเป็นการอิงอาศัยข้อความในคัมภีร์ชั้นต่าง ๆ  โดยใช้ภูมิปัญญาอย่างปุถุชนเข้าไปตัดสินตีความแล้วแสดงออกมาทางคำพูด  หลักการทางพระพุทธศาสนาดูจะไม่สนใจข้อสงสัยที่ถกเถียงกันอยู่แต่แสดงจุดยืนในเรื่องนรกไปอีกแนวหนึ่ง  โดยแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนรกโดยหลักเหตุผลและแสดงปฏิปทาที่จะให้ถึงนรก  ปฏิปทาที่จะให้พ้นไปจากนรก  มีพุทธฎีกาเป็นหลักฐานยืนยันในเรื่องนี้อย่างเด่นชัด  นรกในฐานะที่เป็นภพหรือภูมิที่บุคลผู้ทำความชั่วจะต้องไปเกิดหลังการตายลงในมนุษย์โลกนี้ปรากฏคัมภีร์พระไตรปิฎกมาก  และมักปรากฏใน  5  ลักษณะคือ...

1.  เป็นข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงกำลังสติปัญญาของพระองค์เอง  และของพระสาวกที่ทรงคุณวุฒิบางรูปในอันที่จะตรวจสอบดูความเป็นไปของโลกในเรื่องใดก็ได้   เมื่อมีบุคคลมากราบทูลถามพระองค์หรือเมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ในโอกาสอันเหมาะ  พระพุทธองค์ก็จะแสดงออกถึงกำลังสติปัญญาของพระอริยบุคคล

“....ตถาคตย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ  อุบัติ  เลว  ประณีต  มีผิวพรรณดี  มีผิวพรรณทราม....ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์เป็นไปตามกรรมว่า  สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต  วจีทุจริต  มโนทุจริตติเตียนพระอริยะ เป็นมิจฉาทิฏฐิ  ยึดถือว่าการกระทำด้วยมิจฉาทิฏฐิ  เบื้องหน้าแต่ตายไป  เขาย่อมเข้าถึงอบาย  ทุคคติ  วินิบาต  นรก....

(มหาสีหนาทสูตร , ม.มู. ๑๒/๑๖๖)

 

2.  เป็นข้อความที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระประสงค์ที่จะปลดเปลื้องหมู่สัตว์ให้พ้นทุกข์ในสังสารวัฏ  จึงตรัสเตือนว่า  กรรมชั่ว  ความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ)พฤติกรรมอันไม่ชอบธรรมอื่น ๆ  นอกจากจะก่อทุกข์เผ็ดร้อนในปัจจุบันชาตินี้แล้ว  ตายไปยิ่งจะได้รับผลเผ็ดร้อนมากกว่านี้หลายเท่านักผู้มีปัญหาเห็นประจักษ์  พึงละกรรมชั่ว  ความเห็นผิดแล้วประกอบกรรมดีและความเห็นที่ถูกต้อง

“...กายทุจริต  วจีทุจริต  มโนทุจริต  ที่เรากล่าวว่า  ไม่ควรทำโดยส่วนเดียวนี้  เมื่อผู้ใดกระทำ  ก็พึงหวังโทษต่อไปนี้ได้  คือ ตนเองก็กล่าวโทษได้  วิญญูชนทั้งหลายใคร่ครวญแล้วย่อมติเตียน  กิตติศัพท์อันชั่วร้ายขจรไป  ย่อมหลงตาย  เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ภายหลังมรณะย่อมเข้าถึงอบาย   ทุคคติ   วินิบาต  นรก.....

(จูฬกัมมวิภังคสูตร , ม.อุ.๑๔/๕๘๒,๕๘๔,๕๘๖,๕๘๘,๕๙๐,๕๙๒)

ข้อความในคัมภีร์พระไตรปิฎกบางตอนที่ว่าด้วยเรื่องนรก  มีจุดประสงค์ที่จะชี้ให้เห็นถึงจุดสุดท้ายของบุคคลผู้กระทำกรรมชั่วโดยเฉพาะ  จึงตั้งชื่อว่าวรรคว่า  นิรยวรรค   และมีพุทธภาษิตเป็นหลักการประกอบอยู่ด้วย

ผู้มักพูดคำไม่จริง  ย่อมเข้าถึงนรก  หรือแม้ผู้ใดทำแล้ว   กล่าวว่า  ข้าพเจ้ามิได้ทำ  ชนแม้ทั้ง  2 นั้น  เป็นมนุษย์มีกรรมเลวทราม  ละไปในโลกอื่นแล้ว  ย่อมเป็นผู้เสมอกัน

(นิรยวรรควรรณนา , ขุ.ธ.๒๕/๓๒)



ข้อความที่ว่าเรื่องนรกซึ่งปรากฏในลักษณะอย่างนี้  ไม่มีจุดประสงค์ที่จะให้ถามตามมาอีกว่า  นรกมีจริงหรือไม่  นรกตั้งอยู่ที่ไหน  แต่เป็นการแสดงข้อเท็จจริงว่า  บุคคลหว่านพืชเช่นใด  ย่อมได้รับผลเช่นนั้น  ทำกรรมดี  ย่อมได้รับผลดี  ทำกรรมชั่ว  ย่อมได้รับผลชั่ว

(สมุททกสูตร , สํ.สฬ.๑๘)

 

3. เป็นข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนอานิสงส์ของความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยอย่างไม่หวั่นไหว  ความเป็นผู้มีปัญญา  มีความเพียรว่า  เป็นผลทำให้พ้นไปจากนรกนั้นได้  การตรัสเช่นนี้  เป็นการชี้ให้เห็นถึงผลที่ผู้บำเพ็ญธรรมจนบรรลุคุณวิเศษถึงขั้นโสดาบันขึ้นไป  ย่อมข้ามพ้นอบาย  ทุคคติวินิบาตนรกได้อย่างสิ้นเชิง  ไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่า  นรกมีจริงหรือไม่  นรกตั้งอยู่ที่ไหน?”

“...บุคคลบางคนในโลกนี้  เลื่อมใสยิ่งแน่วแน่ในพระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์  มีปัญญา  ร่าเริงเฉียบแหลม...บุคคลแม้นี้ก็พ้นจากนรก  กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน  เปรตวิสัย  อบาย  ทุคคติ  วินิบาต...

(ปฐมสรกานิสูตร , สํ.ม.๑๙/๑๕๓๐-๑๕๓๕)

 

4.  เป็นข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงโทษที่บุคคลผู้กระทำกรรมชั่วในโลกมนุษย์จะได้รับหลังจากตายไปแล้วเช่นกัน  แต่ทรงแสดงให้รายละเอียดของนรกมากกว่าที่เคยแสดงไว้ในที่อื่น  น่าจะเป็นเพราะทรงมีพระประสงฆ์ที่จะให้บุคคลซาบซึ้งในเรื่องนรกมากกว่าเป็นอยู่  พระพุทธเจ้าตรัสถึงวิธีการลงโทษสัตว์นรกของพวกนายนิรยบาล(ยมบาล)  ตรัสพรรณาลักษณะนรกและความเป็นอยู่ของสัตว์นรก

“.....เหล่านายนิรบาลจะให้คนพาลนี้ปีนขึ้นลงซึ่งภูเขาถ่านเพลิงลูกใหญ่   ที่มีไฟติดทั่ว  ลุกโพลงโชติช่วง  คนพาลนั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้าเจ็บแสบอยู่ในนรกนั้น   และยังไม่ตายตราบเท่าที่บาปกรรมยังไม่สิ้นไป  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  เหล่านายนิรบาลจะจับคนพาลนั้นเอาเท้าขึ้นข้างบน  เอาหัวลงข้างล่าง  แล้วพุ่งไปในหม้อทองแดงที่ร้อน  มีไฟติดทั่ว  ลุกโพลงโชติช่วง  คนพาลนั้นจะเดือดเป็นฟองอยู่ในหม้อทองแดงนั้น เขาเมื่อเดือดเป็นฟองอยู่  จะพล่านขึ้นข้างบนครั้งหนึ่งบ้าง  พล่านลงข้างล่างครั้งหนึ่งบ้าง  พล่านไปด้านขวางครั้งหนึ่งบ้าง...

(พาลบัณฑตสูตร , ม.อุ.๑๔/๔๗๕.)
“...พวกนายนิรบาลจับบุรุษนั้นไปลงนรก  ก็มหานรกนั้น  มีสี่มุม  แบ่งออกเป็นสัดส่วน  มีกำแพงเหล็กล้อมรอบ  ครอบด้วยเหล็ก  พื้นทำด้วยเหล็ก  ร้อนลุกเป็นไฟลามไปตลอด  100  โยชน์  ลุกอยู่ตลอดเวลา  ...”

(เทวทูตสูตร, ม.อุ.๑๔/๕๐๗-๕๒๓.  พาลบัณฑิตตสูตร,ม.อุ.๑๔/๔๗๒-๔๗๕.ฑูตสูตร,องฺ.ติก.๒๐/๔๗๕)

---> ข้อความเหล่านี้  เป็นการยืนยันว่านรกคือสถานที่  เป็นสถานที่สำหรับเสวยผลบาปของสัตว์ผู้ทำกรรมชั่ว   พระพุทธเจ้าตรัสข้อความเหล่านั้นโดยตรง   และมีข้อความบางตอนที่เป็นคำสนทนากันระหว่างสัตว์นรกกับพวกนายนิรบาล

“....นางเรวดีถามนายนิรบาลว่า  คูถ  มูตร  และของไม่สะอาด  เห็นกันได้เฉพาะหรือหนออุจจาระนี้มีกลิ่นเหม็นหรือ  นายนิรบาลกล่าวว่า  นรกนี้ชื่อสังสวกะ   ลึกชั่วร้อยบุรุษ เป็นนรกที่เจ้าจะต้องหมกไหม้อยู่หลายพันปีนะ  เรวดี.  นางเรวดีถามว่า  ดิฉันทำกรรมชั่วด้วยกาย  วาจา  ใจหรือหนอ  ดิฉันได้นรกสังสวกะ  ลึกชั่วร้อยบุรุษ....

(เรวตีวิมาน, ขุ.วิ.๒๖/๕๒)

 

5. เป็นข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสระบุชื่อของนรก  และบางชื่อ  เหมือนกับเป็นการแสดงพุทธประสงค์ที่จะให้บุคคลหันมาสนใจนรกภายในตัวของแต่ละบุคคลความน่ากลัวของนรกที่เป็นสถานที่คือ ความทุกข์ที่ได้รับจากการถูกนายนิรบาลลงโทษโดยวิธีการต่าง ๆ  ความทุกข์ที่มนุษย์ประสบในโลกนี้เพราะสาเหตุต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งที่น่ากลัวไม่แพ้กัน  พระพุทธองค์ทรงใช้คำว่า  ฉผัสสายตนิกนรก  แปลว่า  นรกอันเป็นไปทางอายตนะภายในกับอายตนะภายนอก  เมื่ออายตนะทั้ง  2  นี้สัมผัสกันแล้วเกิดการรับรู้

ดูก่อนภิกษุ  นรกชื่อว่าผัสสายตนิก  6  เราเห็นแล้ว  ในผัสสายนิกนรกนั้น  สัตว์จะเห็นรูปอะไรด้วยจักษุ  ก็ย่อมเห็นแต่รูปอันไม่น่าปรารถนา  ย่อมไม่เห็นรูปอันน่าปรารถนา  ....จะฟังเสียงอะไรด้วยหู  ก็ย่อมฟังแต่เสียงอันไม่น่าปรารถนา....จะรู้แจ้งธรรมารมณ์อะไรด้วยใจ  ก็ย่อมรู้แจ้งแต่ธรรมารมณ์อันไม่น่าปรารถนา  ย่อมไม่รู้แจ้งธรรมารมณ์อันน่าปรารถนา...

(ขณสูตร, สํ.สฬ.๑๘/๒๑๔.)
พระพุทธดำรัสนี้    เป็นการนำเสนอนรกที่เกิดขึ้นพร้อมกับการได้เห็น  ได้ฟัง  ได้กลิ่น   ได้ลิ้มรส  ได้สัมผัสทางกายและทางใจซึ่งสิ่งที่ไม่น่าพอใจ  นรกชนิดนี้อาจเกิดขึ้นทั้งในขณะที่มีชีวิตเป็นมนุษย์อยู่และหลังจากตายไปเกิดในภพใหม่แล้ว  เป็นการแสดง  ภาวะ  ไม่ใช่แสดงถึง  สถานที่  นอกจากนี้  ยังตรัสเปรียบเทียบความเร่าร้อนในนรกชื่อว่า    ปริฬาหะ  กับความเร่าร้อนของพวกสมณพราหมณ์ผู้ไม่รู้แจ้งทุกข์    เหตุเกิดทุกข์   ความดับทุกข์  และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ในโลกมนุษย์นี้

“....นรกชื่อว่าปริฬาหะมีอยู่  ในนรกนั้นบุคคลยังเห็นรูปอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยนัยน์ตาได้  (แต่)เห็นรูปที่ไม่น่าปรารถนาอย่างเดียว  ไม่เห็นรูปที่น่าปรารถนา...ดูก่อนภิกษุความเร่าร้อนอื่นที่มากกว่าและน่ากลัวความเร่าร้อนนี้  มีอยู่.....สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง  ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงน่า  นี้ทุกข์  ......ย่อมยินดี  ย่อมปรุงแต่งครั้นปรุงแต่งแล้ว   ย่อมเร่าร้อน  ....”

(ปริฬาหสูตร , สํ.ม.๑๙/๑๗๓๑-๑๗๓๓.)

ส่วนชื่อของนรกที่พระพุทธเจ้าตรัสระบุนั้น  เป็นนรกบริวารของนรกใหญ่  8  ขุม  พระพุทธองค์ตรัสระบุสภาพของนรกและสภาพของสัตว์นรกที่ถูกลงโทษในนรกใหญ่เป็นเวลายาวนาน  และมีสัตว์นรกบางตนพยายามหนีออกไปจากนรกใหญ่

“.....โดยล่วงไประยะกาลนาน  ประตูด้านหน้าของมหานรกนั้นเปิดออก  สัตว์นั้นจะรีบวิ่งไปยังประตูนั้น  ย่อมถูกไฟไหม้ผิว  ไหม้หนัง  ไหม้เนื้อ  ไหม้เอ็น  แม้กระดูกทั้งหลายก็เป็นควันตลบแต่อวัยวะที่สัตว์นั้นยกขึ้นแล้ว  จะกลับคงรูปเดิมทันที  สัตว์นั้นจะออกทางประตูนั้นได้  แต่ว่ามหานรกนั้นแล  มีนรกเต็มด้วยคูถ  (คูถนรก)  ใหญ่ประกอบอยู่รอบด้าน...

(เทวทูตสูตร , ม.อุ.๑๔/๕๑๗.)

ต่อจากนั้น  พระพุทธเจ้าได้ตรัสระบุชื่อ  กุกกุลนรก”  ลิมเพลีนรก,อลิปัตตนรก,  ขาโรทกนทีนรก   พร้อมกับตรัสถึงลักษณะของนรก  วิธีการลงโทษของนายนิรบาล  และความเจ็บปวดที่สัตว์นรกได้รับในนรกนั้น

“...สัตว์เหล่านั้นบอกอย่างนี้ว่า  ข้าพเจ้ากระหายน้ำ เจ้าข้า  เหล่านายนิรยบาลจึงเอาขอเหล็กร้อน  มีไฟติดทั่ว  ลุกโพลงโชติช่วง  เปิดปาก  (ของสัตว์นรก)   ออกแล้ว   เอาน้ำทองแดงร้อนมีไฟติดทั่ว  ลุกโพลงโชติช่วง กรอกเข้าไปในปาก   น้ำทองแดงนั้นจะไหม้ริมฝีปากบ้าง  ปากบ้าง...

(เทวทูตสูตร, ม.อุ.๑๔/๕๒๓.)

ลักษณะของนรกตามที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก  ถ้าเป็นข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสโดยตรงโดยมาก  พระพุทธองค์จะตรัสถึงกรรมชั่วในปัจจุบัน  ผลของกรรมชั่วในปัจจุบัน  และตรัสสรุปตอนท้ายว่า เมื่อคนทำชั่วตายไป  ย่อมเข้าถึงอบาย  ทุคคติ  วินิบาต  นรก   ตรัสพรรณนาลักษณะของนรกตรัสระบุชื่อของนรกบ้างเมื่ออยู่ในเหตุการณ์ที่เหมาะสม  ข้อความที่พระพุทธองค์ตรัสพรรณนานรกอย่างพิสดารนั้น  เป็นการตรัสต่อหน้าของเหล่าภิกษุผู้มีญาณแก่กล้าแล้วแทบทั้งสิ้น   และพระพุทธองค์จะไม่ทรงตั้งกฎเกณฑ์หรือจำแนกประเภทนรกและลักษณะของนรกไว้มากนัก

เรื่องนรก  ถ้าเป็นข้อความที่พระสาวกหรือนักปราชญ์ฝ่ายพุทธในยุคพุทธกาลกล่าว  แม้จะมีปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎกเพียงเล็กน้อย  แต่เป็นการตั้งกฎเกณฑ์พรรณนาลักษณะและประเภทของนรกไว้อย่างพิสดาร

“...อาตมภาพจะกล่าวคติคือนรกเหล่านั้น  ขอพระองค์ทรงสดับอาตมภาพเถิด  นรก  8  ขุมเหล่านี้คือ  สัญชีวนรก  กาฬสุตตนรก    สังฆาฏนรก   โรรุวนรก  มหาโรรุวนรก  ตาปนนรก  มหาตาปนนรก  อเวจีนรก   อันบัณฑิตทั้งหลายกล่าวไว้แล้ว  ก้าวล่วงได้ยาก  เกลื่อนกล่นไปด้วยเหล่าสัตว์ผู้มีกรรมหยาบช้า  เฉพาะขุมหนึ่ง ๆ มีอุสสทนรก  16  ขุม  เป็นที่ทำบุคคลผู้กระด้างให้เร่าร้อน....

“…..พวกหญิงรีดลูก  ย่อมก้าวล่วงลำธารนรกอันขรุขระ   ที่ก้าวล่วงได้แสนยาก  ดุจคมมีดโกนแล้วตกไปสู่แม่น้ำเวตรณีที่ไปได้ยาก  ต้นงิ้วทั้งหลายล้วนแต่เป็น  มีหนาม  16  องคุลี  (นิ้ว) ..


(สังกิจจชาดก, ขุ.ชา.๑๘/๙๒.)

ข้อความนี้  เป็นข้อความที่สังกิจจฤาษีกล่าวถวายพระพรแด่พระเจ้าพรหมทัต    เป็นทรรศนะของพุทธสาวก  และยังมีข้อความอีกตอนหนึ่งที่ท่านพระโมคคัลลานะกล่าวกะมารผู้ลามกที่มารบกวนท่านว่า



“...มารผู้ลามก  ก็มหานรกนั้นแลมีชื่อ  8  อย่าง  ชื่อผัสสายตนิกะก็มี  ชื่อสังกุสมาหตะก็มี  ชื่อปัจจัตตเวทนียะก็มี  มารผู้ลามก  ครั้งนั้น  พวกนายนิรยบาลเข้ามาหาเราแล้วบอกว่า  เมื่อใดแลหลาวเหล็กกับหลาว  มารวมกันที่กลางหทัย (อก)ของท่าน  เมื่อนั้นท่านพึงรู้ว่า  เราไหม้อยู่ในนรกหนึ่งพันปีแล้ว...

(มาตัชชนียสูตร, ,มู.๑๒/๕๖๕.)

นรกคือภูมิอันเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์โลกนั้น  จัดอยู่ในพวกกามาวจร  คือภูมิของสัตว์ผู้ยังเสพกามอยู่  พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสถึง  ก็ตรัสไว้ในฐานะที่เป็นผลของกรรมชั่ว   และทุกครั้งที่ตรัสถึงนรก  จะไม่ตรัสในฐานะเป็นคำเทศนา  แต่จะเป็นไปในลักษณะเล่าให้ฟัง  เพื่อแสดงกำลังของพระพุทธญาณหรือเป็นข้อสนทนาส่วนพระองค์กับหมู่ภิกษุ

“....ดูก่อนอานนท์  ในกาลใด  พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระอุทรของพระมารดา  ในกาลนั้น  แสงสว่างอย่างโอฬารหาประมาณมิได้  ล่วงเสียซึ่งเทวานุภาพของเหล่าเทวดา  ย่อมปรากฏในโลก.....แม้ในโลกกันตริกนรก  มีแต่ทุกข์  ซึ่งมิใช่ที่เปิดเผย  มีแต่ความคิด  ซึ่งดวงจันทร์ดวงอาทิตย์มีอิทธานุภาพมากอย่างนี้  ส่องแสงไปไม่ถึง  ก็ยังปรากฏแสงสว่างโอฬารหาประมาณมิได้ล่วงเสียซึ่งเทวานุภาพของเหล่าเทวดา  ด้วยแสงสว่างนั้น  แม้หมู่ผู้อุบัติในนรกนั้น ก็รู้ว่า  แม้สัตว์เหล่าอื่นก็มีเกิดขึ้นในที่นี้.....

(อัจฉริยัพภูตธัมมสูตร, ม.อุ.๑๔/๓๗๘. มหาปทานสูตร, ที.ม.๑๐/๒๗.)

 

 

หมายเลขบันทึก: 215792เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 15:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีมาก ความละเอียดต้องค้นหาต่อไป ควรมีการบันทึกลงยูทูปให้คนไม่รู้ได้รับฟังให้เกิดปัญญา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท