พระพุทธศาสนากำจัดทุกข์ในสังสารวัฏได้จริง


พระพุทธศาสนากำจัดทุกข์ในสังสารวัฏได้จริง



พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นจากการบำเพ็ญเพียรของเจ้าชายสิทธัตถะ จนกระทั่งบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณได้รับการขนานนามว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากนั้นจึงเผยแผ่คำสอนของพระองค์ ต่อมาเรียกกันว่าพระพุทธศาสนา ตลอดระยะเวลากว่าสองพันปี แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปมากเท่าใดก็ตาม แต่พระพุทธศาสนาก็ยังคงมีสาวกที่เชื่อมั่นในหลักคำสอน ยึดถือและปฏิบัติตาม เพื่อทำที่สุดทุกข์ในสังสารวัฏฏ์ให้สิ้นไป พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่สอนเรื่องการสิ้นทุกข์ในวัฏฏะเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนโดยแท้ แต่วิธีการกำจัดทุกข์นั้นมิได้เสนอไว้แบบเดียวแต่ได้แสดงไว้หลายแห่งในพระไตรปิฎก ดังนั้นจึงได้รวบรวมวิธีการดับทุกข์มาให้ศึกษาพอเป็นแนวทางสำหรับผู้ต้องการค้นคว้าต่อไป  ผู้ที่สนใจบทใดก็สามารถเปิดอ่านจากพระไตรปิฎกที่อ้างอิงไว้เช่น (สํ.นิ.16/421/177.) หมายถึงสังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่มที่ 16 ข้อ 421 หน้า 177 เป็นต้น พระไตรปิฎกมีหลายฉบับ เล่มและข้อจะตรงกันเสมอ แต่หน้าอาจจะไม่ตรงกัน



             คำว่า “วัฏฏะหรือไตรวัฏฏ์” หมายถึงวน วงเวียน องค์ประกอบที่หมุนเวียนต่อเนื่องกันของภวจักรหรือสังสารจักรประกอบด้วย



กิเลสวัฏฏ์วงจรคือกิเลส ประกอบด้วยอวิชชา ตัณหา  อุปาทาน



กรรมวัฏฏ์ วงจรกรรมประกอบด้วยสังขารและกรรมภพ



วิปากวัฏฏ์วงจรวิบาก ประกอบด้วยวิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ซึ่งแสดงออกในรูปปรากฏที่เรียกว่าอุปปัตติภพ ชาติ ชรา มรณะ




ทั้งสามอย่างนี้ประกอบเข้าเป็นวงจรใหญ่แห่งปัจจยาการเรียกว่าภวจักรหรือสังสารจักรตามหลักปฏิจจสมุปบาท
 

(พระพรหมคุณาภรณ์,พจนานุกรมพุทธศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 13,กรุงเทพฯ:เอส.อาร.พริ้นติ้ง แมสโปรดักส์,2548,หน้า 104.)  





             สังสารวัฏนั้นไม่มีเบื้องต้นและที่สุดดังที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ในติณกัฏฐสูตรว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้นมีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ท่องเที่ยวไปมาอยู่ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ (สํ.นิ.16/421/177.)



คำว่า “สังสารวัฏ” แปลว่าความท่องเที่ยวไปในอาการที่เป็นวัฏฏะ การหมุนวนอยู่ในสงสาร คือการเวียนว่ายตายเกิด เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัฏสงสาร  ดังหรือสงสารวัฏ หมายถึงการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพภูมิต่างๆ ของสัตว์โลกด้วยอำนาจกิเลส กรรม วิบาก หมุนวนอยู่เช่นนั้นตราบเท่าที่ยังตัดกิเลส กรรม วิบากไม่ได้  




กิเลส กรรม วิบากนั้นปรากฎอยู่ในปฏิจจสมุปบาทอันเป็นธรรมที่ลึกซึ้งยากแก่การเข้าใจ แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆได้พิจารณาทั้งอนุโลมและปฏิโลมว่าสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า แรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงไม้โพธิ์พฤกษ์ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในอุรุเวลาประเทศ ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งด้วยบัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้โพธิ์พฤกษ์ตลอด 7 วัน และทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาทเป็นอนุโลมและปฏิโลม ตลอดปฐมยามแห่งราตรีว่า  ปฏิจจสมุปบาท อนุโลม  เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร  เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ  เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ  เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ  เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา  เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา  เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน  เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ  เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ  เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสอุปายาสเป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั่นย่อมเกิดด้วยประการฉะนี้  




             จากนั้นจึงได้พิจารณาปฏิจจสมุปบาทปฏิโลมว่าอนึ่งเพราะอวิชชานั่นแหละดับโดยไม่เหลือด้วยมรรคคือวิราคะ สังขาร จึงดับ  เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ  เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ  เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ  เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ  เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ  เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ  เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ  เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสจึงดับเป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั่นย่อมดับด้วยประการฉะนี้(วิ.มหา 4/1/1.)

ในปฏิจจสมุปบาทได้จำแนกเป็นวัฏฏะ 3 ประการคือ  กิเลส   กรรม   วิบาก


ซึ่งหมายความว่ากิเลสก็เป็นเหตุให้ทำกรรม กิเลสจึงเป็นเหตุ กรรมจึงเป็นผลของกิเลส และกรรมนั้นเอง ก็เป็นตัวเหตุ ให้เกิดวิบากคือผล กรรมจึงเป็นเหตุ วิบากจึงเป็นผล และวิบากนั้นเอง ก็เป็นตัวเหตุ ก่อกิเลสขึ้นอีก



เมื่อเป็นดังนี้ วิบากนั้นก็เป็นเหตุ กิเลสก็เป็นผลของวิบาก เพราะฉะนั้นกิเลส กรรม วิบาก จึงวนอยู่ดังนี้ ก็โดยที่บุคคลนี้เอง หรือจิตนี้เองที่วนอยู่ในกิเลส กรรม วิบาก แล้วก็กลับเป็นเหตุก่อกิเลส กรรม วิบากขึ้นอีกสัตว์และบุคคลจึงวนเวียนอยู่ในกิเลส กรรม วิบาก ทั้งสามนี้ เป็น วัฏฏะ กิเลส(แปลว่าสิ่งเกาะติด) และตัณหา(หมายถึงความติดใจอยาก) เป็นสิ่งที่แฝงติดอยู่ในใจ แล้วทำให้ใจเศร้าหมองขุ่นมัว ตัณหาเป็นต้นเหตุทำให้เกิดทุกข์ เมื่อดับตัณหาเสียได้ ก็เป็นอันว่าหักวัฏฏะดังกล่าวได้ ดับกิเลส ดับทุกข์ทางจิตใจในปัจจุบัน และเมื่อดับขันธ์ในที่สุด ไม่เกิดอีก ดับรอบสิ้นทุกข์ด้วยประการทั้งปวง

--->>  กิเลส




            กิเลสในวงจรแห่งปฏิจสมุปบาทคือ อวิชชา  ตัณหา อุปาทาน


ในส่วนของอวิชชาท่านแสดงไว้ในวิภังคสูตร สังยุตตนิกาย  นิทานวรรคว่า


ความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ในเหตุเกิดแห่งทุกข์ ความไม่รู้ในความดับทุกข์ ความไม่รู้ในปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับทุกข์นี้เรียกว่าอวิชชา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ... ดังพรรณนามาฉะนี้ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ก็เพราะอวิชชานั่นแหละดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึง ดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ... ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ (สํ. นิ.16/17/4.)

ความหมายของอวิชาท่านแสดงไว้ในอวิชชาสูตร สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรคว่า


“ดูกรภิกษุ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ ไม่รู้ชัดซึ่งรูป ไม่รู้ชัด ซึ่งเหตุเกิดแห่งรูป ไม่รู้ชัดซึ่งความดับแห่งรูป ไม่รู้ชัดซึ่งปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป ไม่รู้ชัดซึ่งเวทนา ฯลฯ ไม่รู้ชัดซึ่งสัญญา ฯลฯ ไม่รู้ชัดซึ่งสังขาร ฯลฯ ไม่รู้ชัดซึ่งวิญญาณ ไม่รู้ชัดซึ่งเหตุเกิดวิญญาณ ไม่รู้ชัดซึ่งความดับวิญญาณ ไม่รู้ชัดซึ่งปฏิปทาอันให้ถึงความดับวิญญาณ  ดูกรภิกษุนี้เรียกว่าอวิชชา และบุคคลเป็นผู้ประกอบด้วยอวิชชาด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล (สํ. ข.17/300/156.)  





เมื่อวิชชาเกิดขึ้นอวิชชาก็หมดไปดังที่พระสารีบุตรตอบพระมหาโกฏฐิตะว่า


ดูกรท่านผู้มีอายุ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งคุณ โทษและอุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งคุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา ... แห่งสัญญา ... แห่งสังขาร ... แห่งวิญญาณ. ดูกรท่านผู้มีอายุ นี้เรียกว่า วิชชา และบุคคลเป็นผู้ประกอบด้วยวิชชา ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล (สํ. ข.17/325/167.)

เมื่อวงจรกิเลสแรกคืออวิชชาดับไปทุกข์ก็สิ้นไป วงจรอื่นก็หมดไปด้วยดังที่ปรากฏในธัมมจักกัปวัตตนสูตรว่าปัญญาอันรู้เห็นได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า


ความพ้นวิเศษของเราไม่กลับกำเริบ ชาตินี้เป็นที่สุดภพใหม่ไม่มีต่อไป (ที.มหา. 4/16/18.)  



*************************************



สิ่งที่จัดเป็นกิเลสที่ต้องละอีกอย่างหนึ่งในปฏิจจสุมปบาทคือตัณหาและอุปาทานท่านแสดงไว้ว่า


ตัณหาคือรูปตัณหา สัททตัณหา  คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหานี้เรียกว่าตัณหา (สํ. นิ.16/10/3.)


อุปาทานก็อุปาทานเป็นไฉน อุปาทาน 4  หล่านี้คือ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน   สีลพัตตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน นี้เรียกว่า อุปาทาน (สํ. นิ.16/9/3.)



*************************************



อีกอย่างหนึ่งในอุปาทานสูตรท่านได้แสดงธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทานไว้ว่า


ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทานและอุปาทาน เธอทั้งหลายจงฟัง  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทานเป็นไฉน อุปาทานเป็นไฉน  ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ชื่อว่า ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้นชื่อว่า อุปาทาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน นี้เรียกว่า อุปาทาน (สํ. ข.17/309/160.)



*************************************



-->>  โดยสรุปกิเลสคือสภาพที่ทำให้จิตเศร้าหมอง  ในทสกนิเทศ  อภิธัม วิภังค์ปกรณ์ แสดงไว้ 10 ประการดังนี้คือ  


โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา ถีนะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะเหล่านี้เรียกว่ากิเลสวัตถุ (อภิ.วิ.35/1026/481.)



*************************************



วิธีกำจัดกิเลสทั้งสิบประการนั้นทำตามลำดับขั้นแห่งมรรคและผลทั้งสี่ประการดังนี้  


ปัญญาในโสดาปัตติมรรค ปัญญาในโสดาปัตติผล ปัญญาในสกทาคามิมรรค ปัญญาในสกทาคามิผล ปัญญาในอนาคามิมรรค ปัญญาในอนาคามิผลปัญญาในอรหัตตมรรค ปัญญาในอรหัตตผล  (อภิ.วิ.35/837/408.)

หมายเลขบันทึก: 215808เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 15:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 16:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)

-->> กิเลสนี้หากจำแนกตามอาการแล้วจะมีสามลำดับคือ

(1) กิเลสอย่างหยาบเรียกว่าวีติกมกิเลส เป็นกิเลสที่แสดงออกทางกายและวาจา

(2) กิเลสอย่างกลาง เรียกว่าปริยุฏฐานกิเลสเป็นกิเลสอย่างกลางที่คุกรุ่นอยู่ภายในใจ

(3) กิเลสอย่างละเอียด เรียกว่าอนุสัยกิเลสเป็นกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานไม่ฟูขึ้นในใจ

อนุสัยกิเลสเป็นธรรมชาติที่ละเอียดซ่อนเร้นอยู่เป็นประจำในขันธสันดานของบุคคล ไม่แสดงออกมาให้ปรากฏทางทวารใดเลย ต่อเมื่อมีอารมณ์มากระทบทวารใดทวารหนึ่ง อนุสัยกิเลสที่นอนนิ่งอยู่นั้นก็จะแปรสภาพเป็น ปริยุฏฐานกิเลส เกิดขึ้นทางใจ เกิดความยินดี ยินร้ายต่ออารมณ์ที่ประสบนั้น และถ้าปริยุฏฐานกิเลสนั้นมีกำลังมากขึ้น ก็จะแปรสภาพเป็น วีติกกมกิเลส เกิดเป็นกิเลสอย่างหยาบ ปรากฏขึ้นเป็นกรรมที่แสดงออกทางกาย และวาจากลายเป็นวงจรที่สองคือกรรม

--->> กรรม

กรรมหมายถึงเจตนาตามที่แสดงไว้ในนิพเพธิกสูตร ว่า

ข้อที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงทราบกรรม ฯลฯ ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งกรรมดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าว ดูกรภิกษุทั้งหลายเรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม บุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจาด้วยใจ

ก็เหตุเกิดแห่งกรรมเป็นไฉน คือผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งกรรม

ก็ความต่างแห่งกรรมเป็นไฉน คือ กรรมที่ให้วิบากในนรกก็มี ที่ให้วิบากในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานก็มี ที่ให้วิบากในเปรตวิสัยก็มี ที่ให้วิบากในมนุษย์โลกก็มี ที่ให้วิบากในเทวโลกก็มี นี้เรียกว่าความต่างแห่งกรรม

ก็วิบากแห่งกรรมเป็นไฉน คือ เราย่อมกล่าววิบากแห่งกรรมว่ามี 3 ประการ คือ กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน กรรมที่ให้ผลในภพที่เกิด กรรมที่ให้ผลในภพต่อๆ ไป นี้เรียกว่าวิบากแห่งกรรม

ความดับแห่งกรรมเป็นไฉนคือ ความดับแห่งกรรมย่อมเกิดขึ้นเพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 ประการนี้แลคือสัมมาทิฐิ ฯลฯสัมมาสมาธิ เป็นปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งกรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดอริยสาวกย่อมทราบชัดกรรม เหตุเกิดแห่งกรรม ความต่างแห่งกรรม วิบากแห่งกรรม ความดับแห่งกรรม ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งกรรมอย่างนี้ๆ

เมื่อนั้นอริยสาวกนั้นย่อมทราบชัดพรหมจรรย์อันเป็นไปในส่วนแห่งความชำแรกกิเลสเป็นที่ดับกรรมนี้ ข้อที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงทราบกรรม ฯลฯ ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งกรรมเราอาศัยข้อนี้กล่าว (อํ.ฉ.22/334/365.)

กรรมในปฏิจจสมุปบาทหมายถึงสังขารและกรรมภพซึ่งจำแนกไว้ดังนี้คือ

กายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร นี้เรียกว่าสังขาร (สํ. นิ.16/16/4.)

ส่วนภพ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ นี้เรียกว่าภพ (สํ. นิ.16/8/3.)

************************************************

กรรมเป็นเครื่องจำแนกสัตว์จะดีหรือชั่วขึ้นอยู่กับกรรมดังหลักฐานยืนยันว่า

บุคคลจะชื่อว่าเป็นคนชั่ว เพราะชาติก็หาไม่ จะชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะชาติก็หาไม่ ที่แท้ ชื่อว่าเป็นคนชั่วเพราะกรรม ชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะกรรม เป็นชาวนาเพราะกรรม เป็นศิลปินเพราะกรรม เป็นพ่อค้าเพราะกรรม เป็นคนรับใช้เพราะกรรม แม้เป็นโจรก็เพราะกรรม แม้เป็นทหารก็เพราะกรรม เป็นปุโรหิตเพราะกรรม แม้เป็นพระราชาก็เพราะกรรม บัณฑิตทั้งหลายมีปกติ เห็นปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในกรรมและวิบาก ย่อมเห็นกรรม นั้นแจ้งชัดตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า โลกย่อมเป็นไปเพราะกรรม หมู่สัตว์ย่อมเป็นไปเพราะกรรม สัตว์ทั้งหลายถูกผูกไว้ในกรรม เหมือนลิ่มสลักของรถที่กำลังแล่นไปฉะนั้น บุคคล ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ด้วยกรรมอันประเสริฐนี้ คือ ตบะพรหมจรรย์ สัญญมะ และทมะ กรรม 4 อย่างนี้ เป็นกรรมอันสูงสุดของ พรหมทั้งหลาย ทำให้ผู้ประพฤติถึงพร้อมด้วยวิชชา 3 ระงับกิเลสได้ สิ้นภพใหม่แล้ว (ม.ม. 13/707/489.)

การที่สัตว์จะกำเนิดในภพใดจึงขึ้นอยู่กับกรรมของแต่ละบุคคลเป็นเกณฑ์ ดังพุทธวจนะที่เรามักจะได้ยินเสมอว่า

“กมฺมุนา วตฺตตี โลโก” โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ซึ่งก็มาจากมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ดังที่อ้างมาแล้ว

************************************************

เรื่องกรรมมีการอธิบายไว้มากมายหลายแห่งทั้งในพระไตรปิฎก อรรถกถา แต่ในปฏิจจสมุปบาทกรรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งในกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาท ซึ่งแสดงถึงกระบวนการทำกรรมและการให้ผลของกรรม ตั้งแต่กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม จนถึงวิปาก ถ้าเข้าใจปฏิจจสมุปบาทดีแล้วก็จะเข้าใจกฎแห่งกรรมได้ชัดเจนไปด้วย

ในเรื่องกฎแห่งกรรมมีความสลับซับซ้อนเข้าใจยาก และถือเป็นหลักคำสอนสำคัญอีกอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนา จะนำเสนอเป็นเรื่องเฉพาะในโอกาสต่อไป

--->> วิบาก

วิบากในปฏิจจสมุปบาทได้แก่ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ซึ่งแสดงออกในรูปปรากฏที่เรียกว่าอุปปัตติภพ ชาติ ชรา มรณะซึ่งมีปรากฏในวิภังคสูตรว่า

ก็วิญญาณเป็นไฉน วิญญาณ 6 หมวดเหล่านี้คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ นี้เรียกว่า วิญญาณ

ก็นามรูปเป็นไฉน เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ นี้เรียกว่านาม มหาภูตรูป 4 และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป 4 นี้เรียกว่ารูป นามและ รูปดังพรรณนามาฉะนี้ เรียกว่านามรูป

สฬายตนะเป็นไฉน อายตนะคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เรียกว่าสฬายตนะ

ผัสสะเป็นไฉน ผัสสะ 6 หมวดเหล่านี้คือ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส นี้เรียกว่าผัสสะ

เวทนาเป็นไฉน เวทนา 6 หมวดเหล่านี้คือ จักขุสัมผัสสชา เวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนานี้เรียกว่าเวทนา

ข้อที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย พึงทราบเวทนา ฯลฯ ปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งเวทนา ดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าว ดูกรภิกษุทั้งหลายเวทนา 3 ประการนี้ คือสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ก็เหตุเกิดแห่งเวทนาเป็นไฉน คือ ผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งเวทนา

ก็ความต่างกันแห่งเวทนาเป็นไฉน คือ สุขเวทนาที่เจือด้วยอามิสมีอยู่ สุขเวทนาที่ไม่เจือด้วยอามิสมีอยู่ทุกขเวทนาที่เจือด้วยอามิสมีอยู่ ทุกขเวทนาที่ไม่เจือด้วยอามิสมีอยู่ อทุกขมสุขเวทนาที่เจือด้วยอามิสมีอยู่ อทุกขมสุขเวทนาที่ไม่เจือด้วยอามิสมีอยู่ นี้เรียกว่าความต่างแห่งเวทนา

วิบากแห่งเวทนาเป็นไฉน คือ การที่บุคคลผู้เสวยเวทนาอยู่ย่อมยังอัตภาพที่เกิดขึ้นจากเวทนานั้นๆ ให้เกิดขึ้น เป็นส่วนบุญหรือเป็นส่วนมิใช่บุญ นี้เรียกว่าวิบากแห่งเวทนา

ก็ความดับแห่งเวทนาเป็นไฉน คือ ความดับแห่งเวทนาย่อมเกิดขึ้นเพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 ประการนี้แล คือ สัมมาทิฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ เป็นข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับแห่งเวทนา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดอริยสาวกย่อมทราบชัดเวทนา เหตุเกิดแห่งเวทนา ความต่างกันแห่งเวทนา วิบากแห่งเวทนา ความดับแห่งเวทนาปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งเวทนา ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งเวทนาอย่างนี้ๆ

เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นย่อมทราบชัด พรหมจรรย์อันเป็นไปในส่วนแห่งการชำแรกกิเลส เป็นที่ดับเวทนานี้ข้อที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงทราบเวทนา ฯลฯ ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับเวทนา ดังนี้นั้น เราอาศัยข้อนี้กล่าว (อํ.ฉ.22/334/365.)

*************************************

ชาติเป็นไฉน ความเกิด ความบังเกิด ความหยั่งลง เกิด เกิดจำเพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะครบในหมู่สัตว์นั้นๆ ของ เหล่าสัตว์นั้นๆ นี้เรียกว่าชาติ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ชราและมรณะเป็นไฉน ความแก่ ภาวะของความแก่ ฟันหลุด ผมหงอก หนังเหี่ยว ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่ หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ นี้เรียกว่าชรา ก็มรณะ เป็นไฉน ความเคลื่อน ภาวะของความเคลื่อน ความทำลาย ความอันตรธาน มฤตยู ความตาย กาลกิริยา ความแตกแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งซากศพ ความขาด แห่งชีวิตินทรีย์ จากหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ นี้เรียกว่ามรณะ ชราและ มรณะ ดังพรรณนามาฉะนี้ เรียกว่า ชราและมรณะ (สํ. นิ.16/7-14/3.)

--->> เมื่อสิ้นกิเลสจะได้คุณวิเสสตามสมควร เช่น บุพเพนิวาสานุสสติญาณดังที่พระพุทธองค์แสดงไว้ว่า

เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ เรานั้นย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกชาติได้หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้างสี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้างตลอดสังวัฏฏกัลป์เป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัลป์เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัลป์เป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้นเราได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพโน้นนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น (วิ.มหาวิ. 1/3/5.)

--->> ความดับแห่งวงจรปฏิจสมุปบาทนั้น มิใช่แต่ในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคตมะเท่านั้นแม้ในสมัยอื่นก็มีผู้คิดได้ดังคำว่า พระวิปัสสีโพธิสัตว์ได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า

เมื่ออะไรหนอไม่มี ชราและมรณะจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ชรา และมรณะจึงดับ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะ กระทำไว้ในใจโดยแยบคาย จึงได้รู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อชาติไม่มี ชราและมรณะ จึงไม่มี เพราะชาติดับ ชราและมรณะจึงดับ ... เมื่ออะไรหนอไม่มี ชาติจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ชาติจึงดับ เมื่อภพไม่มี ชาติจึงไม่มี เพราะภพดับ ชาติจึงดับ ... เมื่ออะไรหนอไม่มี ภพจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ภพจึงดับ เมื่ออุปาทานไม่มี ภพจึงไม่มี เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ ... เมื่อไรหนอไม่มี อุปาทานจึงไม่มีเพราะอะไรดับ อุปาทานจึงดับ ... เมื่อตัณหาไม่มี อุปาทานจึงไม่มี เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ ... เมื่ออะไรหนอไม่มี ตัณหาจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ตัณหาจึงดับ ... เมื่อเวทนาไม่มี ตัณหาจึงไม่มี เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ ... เมื่ออะไรหนอไม่มี เวทนาจึงไม่มี เพราะอะไรดับ เวทนาจึงดับ ... เมื่อผัสสะไม่มีเวทนาจึงไม่มี เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ ... เมื่ออะไรหนอไม่มี ผัสสะจึง ไม่มี เพราะอะไรดับ ผัสสะจึงดับ ... เมื่อสฬายตนะไม่มี ผัสสะจึงไม่มี เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ ... เมื่ออะไรหนอไม่มี สฬายตนะจึงไม่มี เพราะอะไรดับ สฬายตนะจึงดับ ... เมื่อนามรูปไม่มี สฬายตนะจึงไม่มี เพราะนามรูป ดับ สฬายตนะจึงดับ ... เมื่ออะไรหนอไม่มี นามรูปจึงไม่มี เพราะอะไรดับ นามรูปจึงดับ ... เมื่อวิญญาณไม่มี นามรูปจึงไม่มี เพราะวิญญาณดับ นามรูป จึงดับ ... เมื่ออะไรหนอไม่มี วิญญาณจึงไม่มี เพราะอะไรดับวิญญาณจึงดับ เมื่อสังขารไม่มี วิญญาณจึงไม่มี เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระวิปัสสีโพธิสัตว์ได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า เมื่ออะไรหนอ ไม่มี สังขารจึงไม่มี เพราะอะไรดับ สังขารจึงดับ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย จึงได้รู้ด้วยปัญญาว่า เมื่ออวิชชาไม่มี สังขารจึงไม่มี เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ... ดังพรรณนามาฉะนี้ ความดับ แห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้บังเกิดขึ้นแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ ในธรรมที่ไม่ เคยได้ฟังมาก่อนว่าฝ่ายข้างดับ (สํ. นิ.16/24/6.)

การดับทุกข์ในสังสารวัฏฏ์

การดับทุกข์ในสังสารวัฏฏนั้นในวงจรแห่งปฏิจจสมุปบาทมีวิธีคือ การดับกิเลส กรรม วิบาก ในพระพุทธศาสนาเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง เพราะเป็นเหมือนการตัดทำลายห่วงโซ่ เมื่อห่วงโซ่หนึ่งขาดที่เหลือก็จะค่อยๆขาดไปด้วย และนี่คือการทำลายสังสารจักร ในมหาสีหนาทสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระพุทธเจ้าแสดงว่าสังสารวัฏฏ์นั้นมีอายุยาวนานมาก หากใครหลงเวียนว่ายก็อาจเสียโอกาสได้ดังคำว่า

“ดูกรสารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ความหมดจดย่อมมีได้ด้วยสังสารวัฏ ดูกรสารีบุตร ก็สังสารวัฏที่เราไม่เคยท่องเที่ยวไป โดยกาลยืดยาวช้านานนี้ เว้นแต่เทวโลกชั้นสุทธาวาส เป็นสิ่งที่หาไม่ได้ง่ายนัก ดูกรสารีบุตร ถ้าเราพึงท่องเที่ยวไปในเทวโลกชั้นสุทธาวาส เราก็จะไม่พึงมาสู่โลกนี้อีก (ม.มู.12/187-190/111.)

************************************************

หากจะมีนักบวชเหล่าอื่นถามว่าเหตุแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ก็ควรตอบว่าเพื่อละสังโยชน์ เพื่อกำหนดรู้สังสารวัฏฏ์ดังที่ปรากฏในอัทธานสูตรว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก พึงถามเธอทั้งหลายอย่างนี้ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอยู่ประพฤติ พรหมจรรย์ในพระสมณโคดมเพื่อประโยชน์อะไร เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงชี้แจงแก่พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลายเราทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ในพระผู้มีพระภาคเพื่อละสังโยชน์ เพื่อกำหนดรู้สังสารวัฏอันยืดยาว (สํ. มหา. 19/120/27.)

************************************************

นอกจากนั้นการประพฤติพรหมจรรย์ยังเป็นไปเพื่อสิ้นอาสวะ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งวิชชาและวิมุตติผล และเพื่อญาณทัสสนะ ฯลฯ (สํ. มหา. 19/123-125/27.)

การดับทุกข์ในสังสารวัฏฏ์

การดับทุกข์ในสังสารวัฏฏนั้นในวงจรแห่งปฏิจจสมุปบาทมีวิธีคือ การดับกิเลส กรรม วิบาก ในพระพุทธศาสนาเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง เพราะเป็นเหมือนการตัดทำลายห่วงโซ่ เมื่อห่วงโซ่หนึ่งขาดที่เหลือก็จะค่อยๆขาดไปด้วย และนี่คือการทำลายสังสารจักร ในมหาสีหนาทสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระพุทธเจ้าแสดงว่าสังสารวัฏฏ์นั้นมีอายุยาวนานมาก หากใครหลงเวียนว่ายก็อาจเสียโอกาสได้ดังคำว่า

“ดูกรสารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ความหมดจดย่อมมีได้ด้วยสังสารวัฏ ดูกรสารีบุตร ก็สังสารวัฏที่เราไม่เคยท่องเที่ยวไป โดยกาลยืดยาวช้านานนี้ เว้นแต่เทวโลกชั้นสุทธาวาส เป็นสิ่งที่หาไม่ได้ง่ายนัก ดูกรสารีบุตร ถ้าเราพึงท่องเที่ยวไปในเทวโลกชั้นสุทธาวาส เราก็จะไม่พึงมาสู่โลกนี้อีก (ม.มู.12/187-190/111.)

************************************************

หากจะมีนักบวชเหล่าอื่นถามว่าเหตุแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ก็ควรตอบว่าเพื่อละสังโยชน์ เพื่อกำหนดรู้สังสารวัฏฏ์ดังที่ปรากฏในอัทธานสูตรว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก พึงถามเธอทั้งหลายอย่างนี้ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอยู่ประพฤติ พรหมจรรย์ในพระสมณโคดมเพื่อประโยชน์อะไร เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงชี้แจงแก่พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลายเราทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ในพระผู้มีพระภาคเพื่อละสังโยชน์ เพื่อกำหนดรู้สังสารวัฏอันยืดยาว (สํ. มหา. 19/120/27.)

************************************************

นอกจากนั้นการประพฤติพรหมจรรย์ยังเป็นไปเพื่อสิ้นอาสวะ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งวิชชาและวิมุตติผล และเพื่อญาณทัสสนะ ฯลฯ (สํ. มหา. 19/123-125/27.)

การตรัสรู้และไม่ตรัสรู้จะรู้ได้อย่างไรมีคำตอบในวัชชีสูตรว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โกฏิคามในแคว้นวัชชี ณ ที่นั้นแลพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะไม่ได้ตรัสรู้ ไม่ได้ แทงตลอดอริยสัจ 4 เราด้วย เธอทั้งหลายด้วย จึงแล่นไป ท่องเที่ยวไปยังสังสารวัฏนี้ตลอดกาลนานอย่างนี้ อริยสัจ 4 เป็นไฉน? คือ

เพราะไม่ได้ตรัสรู้ ไม่ได้แทงตลอดทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เราด้วย เธอทั้งหลายด้วย จึงแล่นไป ท่องเที่ยวไปยังสังสารวัฏนี้ตลอดกาลนานอย่างนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุกขอริยสัจ เราด้วย เธอทั้งหลายด้วย ตรัสรู้แล้ว แทงตลอดแล้ว ทุกขสมุทยอริยสัจ ...ทุกขนิโรธอริยสัจ ... ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เราด้วย เธอทั้งหลายด้วย ตรัสรู้แล้วแทงตลอดแล้ว ตัณหาในภพขาดสูญแล้ว ตัณหาที่จะนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มี

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า เพราะไม่เห็นอริยสัจ 4 ตามเป็นจริง เราและเธอทั้งหลายได้ ท่องเที่ยวไปในชาตินั้นๆ ตลอดกาลนาน อริยสัจ 4 เหล่านี้ เราและเธอทั้งหลายเห็นแล้ว ตัณหาที่จะนำไปสู่ภพถอนขึ้นได้แล้ว มูลแห่งทุกข์ตัดขาดแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มี (สํ.มหา 19/1698-99/428.)

วิธีการแห่งการตรัสรู้ท่านแสดงไว้ในเจตนาสูตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอความไม่เดือดร้อนจงเกิดขึ้นแก่เราเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ความไม่เดือดร้อนเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลนี้ เป็นธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ไม่มีความเดือดร้อน ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอความปราโมทย์จงเกิดขึ้นแก่เราเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ความปราโมทย์เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่มีความเดือดร้อนนี้ เป็นธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีความปราโมทย์ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอปีติจงเกิดขึ้นแก่เราเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ปีติเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความปราโมทย์นี้ เป็นธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีใจประกอบด้วยปีติ ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอกายของเราจงสงบเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่กายของบุคคลผู้มีใจประกอบด้วยปีติสงบนี้ เป็นธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีกายสงบแล้ว ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอเราจงเสวยสุขเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีกายสงบแล้วเสวยสุขนี้ เป็นธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีสุข ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอจิตของเราจงตั้งมั่นเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่จิตของบุคคลผู้มีสุขตั้งมั่นนี้ เป็นธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่น ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอเราจงรู้จงเห็นตามเป็นจริงเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่นแล้วรู้เห็นตามเป็นจริงนี้เป็นธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้รู้เห็นตามเป็นจริง ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอเราจงเบื่อหน่ายเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้รู้เห็นตามเป็นจริงเบื่อหน่ายนี้ เป็นธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เบื่อหน่าย ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่าขอเราจงคลายกำหนัดเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้เบื่อหน่ายคลายกำหนัดนี้ เป็นธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีจิตคลายกำหนัดแล้วไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอเราจงทำให้แจ้งซึ่งวิมุตติญาณทัสนะเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลคลายกำหนัดแล้วทำให้แจ้งซึ่งวิมุตติญาณทัสนะนี้ เป็นธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิราคะมีวิมุตติญาณทัสนะเป็นผล มีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ นิพพิทามีวิราคะเป็นผล มีวิราคะเป็นอานิสงส์ ยถาภูตญาณทัสสนะมีนิพพิทาเป็นผล มีนิพพิทาเป็นอานิสงส์ สมาธิมียถาภูตญาณทัสนะเป็นผลมียถาภูตญาณทัสนะเป็นอานิสงส์ สุขมีสมาธิเป็นผล มีสมาธิเป็นอานิสงส์ปัสสัทธิมีสุขเป็นผล มีสุขเป็นอานิสงส์ ปีติมีปัสสัทธิเป็นผล มีปัสสัทธิเป็นอานิสงส์ ความปราโมทย์มีปีติเป็นผล มีปีติเป็นอานิสงส์ ความไม่เดือดร้อนมีความปราโมทย์เป็นผล มีความปราโมทย์เป็นอานิสงส์ ศีลที่เป็นกุศลมีความไม่เดือดร้อนเป็นผล มีความไม่เดือดร้อนเป็นอานิสงส์ ด้วยประการดังนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายย่อมหลั่งไหลไปสู่ธรรมทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายย่อมยังธรรมทั้งหลายให้บริบูรณ์ เพื่อการถึงฝั่ง (คือนิพพาน) จากสถานอันมิใช่ฝั่ง (คือสังสารวัฏ) ด้วยประการฉะนี้แล (สํ.มหา 19/209/ 289.)

ผู้ที่เกียจคร้านมีแต่จะจมลงในสังสารวัฏดังที่พระโสมิตตเถระแสดงไว้ว่า

เต่าตาบอดเกาะขอนไม้เล็กๆ จมลงไปในห้วงน้ำใหญ่ ฉันใด กุลบุตร อาศัยคนเกียจคร้านดำรงชีพ ย่อมจมลงในสังสารวัฏฉันนั้น เพราะฉะนั้นบุคคลพึงเว้นคนเกียจคร้านผู้มีความเพียรเลวทรามเสีย ควรอยู่ร่วมกับบัณฑิตทั้งหลายผู้สงัดเป็นอริยะ มีใจเด็ดเดี่ยว ผู้เพ่งฌาน มีความเพียรอันปรารภแล้วเป็นนิตย์ (ขุ.เถร.26/271/245.)

************************************************

การคบมิตรก็มีส่วนทำให้คนจมอยู่ในสังสารวัฏได้เช่นกันดังภาษิตของพระวิมลเถระความว่า

บุคคลปรารถนาความสุขอันแน่นอน พึงเว้นบาปมิตรแล้ว พึงคบหากัลยาณมิตร และพึงตั้งอยู่ในโอวาทของกัลยาณมิตรนั้น เต่าตาบอดเกาะขอนไม้เล็กๆ จมอยู่ในห้วงน้ำใหญ่ ฉันใด กุลบุตรอาศัยคนเกียจคร้านเป็นอยู่ ย่อมจมลงในสังสารวัฏฉันนั้น เพราะฉะนั้น บุคคลพึงเว้นคนเกียจคร้าน มีความเพียรเลวทราม ควรอยู่ร่วมกับบัณฑิตทั้งหลายผู้สงัดเป็นอริยะ มีใจเด็ดเดี่ยว เพ่งฌาน ปรารภความเพียรเป็นนิตย์ (ขุ.เถร.26/322/264.)

--->> การเกิดเป็นทุกข์ แม้จะเกิดในภพภูมิของมนุษย์ก็ตาม และการเวียนว่ายตายเกิดเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด เพราะไม่มีใครสามารถรับประกันได้ว่าชีวิตในภพชาติต่อๆไป จะไม่พลาดถลำลงต่ำไปเกิดในทุคติภูมิ นอกจากบุคคลผู้นั้นได้ปฏิบัติตนเข้าถึงพระอริยสัจธรรมนำชีวิตเข้าสู่พระอริยบุคคลแล้ว

เพราะว่าบุคคลนับตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปเท่านั้นที่อบายภูมิจะปิดสนิทสำหรับชีวิตของท่าน และการเวียนว่ายตายเกิดที่จะมีต่อไปในสุคติภูมินั้น ย่อมมีได้ไม่เกิน 7 ชาติ จึงนับได้ว่าพระโสดาบัน ท่านเป็นบุคคลกลุ่มแรกที่สร้างหลักประกันภัยในการเวียนว่ายตายเกิดให้กับชีวิตได้แล้ว

แต่สำหรับผู้ที่เป็นปุถุชนทุกคนต้องยอมรับว่าอนาคตชาติในการเวียนว่ายตายเกิดของตนนั้นต้องมีต่อไปเป็นอนันตังไม่มีที่สิ้นสุด เพราะปุถุชนคือบุคคลที่ยังหนาแน่นด้วยกิเลส และ กิเลส นี่เองที่เป็นตัวการ ผลักพาให้เกิดการกระทำกรรม เมื่อมีกรรมย่อมเป็นที่แน่นอนว่า วิบาก คือ รูปขันธ์ และนามขันธ์ ย่อมต้องเกิด ฉะนั้นวัฏฏะทั้งสาม คือ กิเลสวัฏ กัมมวัฏ และวิปากวัฏ ที่หมุนวน ย่อมทำให้สังสารวัฏ คือการเวียนว่ายตายเกิดไม่อาจสิ้นสุดหยุดลงได้ และทุกภพชาติที่เกิด กำเนิดของสัตว์ย่อมวิจิตรเพราะจิตย่อมวิจิตรในการสั่งสมกรรมและกิเลส

ข้อที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงทราบทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความต่างแห่งทุกข์ วิบากแห่งทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งทุกข์ ดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าว แม้ชาติก็เป็นทุกข์ แม้ชราก็เป็นทุกข์ แม้พยาธิก็เป็นทุกข์ แม้มรณะก็เป็นทุกข์ แม้โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัส อุปายาสก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่ออุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์

ก็เหตุเกิดแห่งทุกข์เป็นไฉน คือ ตัณหาเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์

ก็ความต่างแห่งทุกข์เป็นไฉน คือ ทุกข์มากก็มี ทุกข์น้อยก็มี ทุกข์ที่คลายช้าก็มี ทุกข์ที่คลายเร็วก็มี นี้เรียกว่าความต่างแห่งทุกข์

ก็วิบากแห่งทุกข์เป็นไฉน คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ถูกทุกข์อย่างใดครอบงำ มีจิตอันทุกข์อย่างใดกลุ้มรุม ย่อมเศร้าโศก ลำบาก รำพัน ทุบอก คร่ำครวญ ถึงความหลง

ก็หรือบางคนถูกทุกข์ใดครอบงำแล้ว มีจิตอันทุกข์ใดกลุ้มรุมแล้ว ย่อมแสวงหาเหตุปลดเปลื้องทุกข์ในภายนอกว่าใครจะรู้ทางเดียวหรือสองทางเพื่อดับทุกข์นี้ได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวทุกข์ว่ามีความหลงใหลเป็นผล หรือว่ามีการแสวงหาเหตุปลดเปลื้องทุกข์ภายนอกเป็นผล นี้เรียกว่าวิบากแห่งทุกข์

ก็ความดับแห่งทุกข์เป็นไฉนคือความดับแห่งทุกข์ย่อมเกิดขึ้นเพราะความดับแห่งตัณหา อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 ประการนี้แล คือสัมมาทิฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ เป็นปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งทุกข์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใด อริยสาวกย่อมทราบชัดทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความต่างแห่งทุกข์ วิบากแห่งทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งทุกข์ อย่างนี้ๆ เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นย่อมทราบชัดพรหมจรรย์อันเป็นไปในส่วนแห่งการชำแรกกิเลส เป็นที่ดับทุกข์ ข้อที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงทราบทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความต่างแห่งทุกข์ วิบากแห่งทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ ปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งทุกข์ ดังนี้นั้น เราอาศัยข้อนี้กล่าว ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นธรรมปริยายที่เป็นปริยายเป็นไปในส่วนแห่งการชำแรกกิเลส (อํ.ฉ.22/334/365.)

พระพุทธศาสนาในฐานะเป็นเครื่องมือในการกำจัดทุกข์ในสังสารวัฏได้นำเอาวิธีการอธิบายสังสารวัฏตามแนวแห่งปฏิจจสมุปบาทมาอธิบาย ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้พ้นทุกข์ได้ พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่ทำที่สุดทุกข์ในสังสารวัฏได้จริงการจะตัดสังสารวัฏได้พระพุทธเจ้าแสดงสรุปไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า

บุรุษตัดทอนหญ้า ไม้กิ่งไม้ ใบไม้ ในชมพูทวีปนี้ แล้วจึงรวมกันไว้ ครั้นแล้ว พึงกระทำให้เป็นมัดๆ ละ 4 นิ้ว วางไว้ สมมติว่า นี้เป็นมารดาของเรา นี้เป็นมารดาของมารดาของเรา โดยลำดับ มารดาของมารดาแห่งบุรุษนั้นไม่พึงสิ้นสุด ส่วนว่า หญ้าไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ในชมพูทวีปนี้ พึงถึงการหมดสิ้นไป ข้อนั้นเพราะเหตุไรเพราะว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ พวกเธอได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้า ตลอดกาลนาน เหมือนฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวงพอเพื่อจะคลายกำหนัดพอเพื่อจะหลุดพ้นดังนี้ (สํ.นิ.16/422/177.)

--->> ผู้ทำลายวงจรแห่งทุกข์ได้เรียกว่าเป็นพระอรหันต์ ซึ่งได้แสดงผู้ที่จะเป็นพระอรหันต์ไว้ในอรหัตตสูตรว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม 6 ประการไม่ได้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัต ธรรม 6 ประการเป็นไฉน คือ ถีนะ มิทธะ อุทธัจจะ กุกกุจจะ ความไม่มีศรัทธา ความประมาท ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม 6 ประการนี้ไม่ได้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัต ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม 6 ประการได้แล้ว ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัต ธรรม 6 ประการเป็นไฉน คือ ถีนะ มิทธะ อุทธัจจะ กุกกุจจะ ความไม่มีศรัทธา ความประมาท ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม 6 ประการนี้ได้แล้ว ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัต (อํ.ฉ.22/337/374.)

การที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้หากว่าตามกระบวนการก็คือการกำหนดรู้ทุกข์ ละเหตุแห่งทุกข์ กระให้แจ้งซึ่งนิโรธ และดำเนินตามอริยมรรคนั่นเองดังที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเรา ในอริยสัจ 4 นี้ มีรอบ 3 มีอาการ 12 อย่างนี้ หมดจดดีแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้น เราจึงยืนยันได้ว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ (วิ.มหา.4/16/18.)

ปฎิจจสมุปบาทก็เป็นกระบวนการเกิดขึ้นและดับไปแห่งความทุกข์ ในบางแห่งกล่าวถึงการเกิดและการดับแห่งโลกเช่น

เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้นสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อวิญญาณมีนามรูปจึงมี เมื่อนามรูปมี สฬายตนะจึงมี เมื่อสฬายตนะมี ผัสสะจึงมี เมื่อผัสสะมี เวทนาจึงมี เมื่อเวทนามี ตัณหาจึงมีเมื่อตัณหามี อุปาทานจึงมี เมื่ออุปาทานมี ภพจึงมี เมื่อภพมี ชาติจึงมี เมื่อชาติมี ชราและมรณะจึงมี อริยสาวกนั้นย่อมรู้ประจักษ์อย่างนี้ว่า โลกนี้ย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้ (สํ.นิ.16/179/77.)

--->> พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่ทำที่สุดแห่งทุกข์ในสังสารวัฏได้จริง ผู้ที่มุ่งหวังจะพ้นทุกข์หากยึดถือและปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธองค์ได้แสดงไว้ก็สามารถจะทำที่สุดทุกข์ให้หมดไปได้ วิธีการที่จะพ้นทุกข์นั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้หลายวิธี แต่วิธีโดยสรุปและสั้นที่สุดคือดำเนินตามอริมรรคมีองค์แปด หรือจะสรุปอริยมรรคมีองค์แปดให้สั้นที่สุดก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญานั่นเอง แม้สังสารวัฏจะกำหนดเบื้องต้นและเบื้องปลายไม่ได้ แต่ถ้าเราสรุปลงที่ กิเลส กรรม วิบาก และเริ่มต้นที่การทำลายกิเลสให้หมดสิ้นไปแล้ว วงจรแห่งกรรมและวิบากก็จะหมดไปด้วย

ในการอธิบายในบทความเรื่องนี้อธิบายเรื่องกรรมไว้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะเรื่องกฏแห่งกรรมก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในพระพุทธศาสนา ในที่นี้จึงได้แสดงวงจรโดยสรุปเท่านั้น และการอธิบายก็มิได้อธิบายเอง แต่ได้เอาสิ่งที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกมาอธิบาย คนธรรมดาอาจจะอ่านแล้วเข้าใจยาก แต่การค้นหาข้อมูลในพระไตรปิฎกในเรื่องที่เราต้องการนั้นเป็นการเพิ่มพูนความรู้ในเรื่องของพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง

ขอกราบขอบพระคุณ พระมหาบุญไทย ปุญญมโน ผู้เรียบเรียง

หนังสืออ้างอิง

กรมการศาสนา.พระไตรปิฏกภาษาบาลี ฉบับสยามรัฐ.กรุงเทพ ฯ:กรมการศาสนา,2525.

กรมการศาสนา.พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับหลวง.กรุงเทพ ฯ:กรมการศาสนา,2514.

พระพรหมคุณาภรณ์.พจนานุกรมพุทธศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 13,(กรุงเทพฯ:เอส.อาร.พริ้นติ้ง แมสโปรดักส์,2548.

พระไตรปิฏกซีดีรอม ฉบับเรียนพระไตรปิฎก.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท