อายุของคัมภีร์ต่างๆ ในพระไตรปิฎก


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

เรื่องอายุของคัมภีร์ต่างๆ ในพระไตรปิฎก  


ไม่มีคัมภีร์พุทธศาสนาฉบับใดที่เชื่อได้ว่า  เขียนขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรในครั้งพุทธกาล  แต่ข้อความในคัมภีร์ที่ตกมาถึงเราก็ถือว่าเป็นพุทธวจนะ  ซึ่งบรรดาพระสาวกรุ่นแรกๆ หลายองค์ที่มีความสามารถนำเอาพุทธวจนะมาจำแนกหมวดหมู่  และประพันธ์เป็นคาถาเพื่อให้ง่ายในการทรงจำ


ในการสังคายนาพระไตรปิฎกแต่ละครั้งจะปรากฏว่า  พระพุทธศาสนาแตกแยกเป็นหลายนิกายเพิ่มขึ้น  การสังคายนาครั้งที่ ๔  ในศรีลังกา  จึงมีการบันทึกข้อธรรมะเป็นลายลักษณ์อักษร  เป็นภาษาบาลี  ซึ่งใช้ในพุทธศาสนาเถรวาทเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน


พระไตรปิฎกจำแนกออกเป็น  ๓  ปิฎก  คือ


-->>  พระวินัยปิฎก  ประกอบด้วย


ก. สุตตวิภังค์ (มหาวิภังค์, ภิกขุนีวิภังค์,) ถือเป็นรุ่นเก่าที่สุด
ข. ขันธกะ (มหาวรรค, จุลวรรค)
ค. ปริวาร  หรือปริวารปาฐะ  เชื่อกันว่ารวบรวมขึ้นในลังกา


ส่วนสำคัญที่สุดและเก่าที่สุด  คือ  พระปาติโมกข์  ในมหาวิภังค์  ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติสำหรับภิกษุสงฆ์



-->>  พระสุตตันตปิฎก  ประกอบด้วย

ก. ทีฆนิกาย
ข. มัชฌิมนิกาย
ค. สังยุตตนิกาย
ง. อังคุตตรนิกาย
จ. ขุททกนิกาย


พระสุตตันตปิฎกสี่นิกายแรก  ประกอบด้วยพระสูตรต่างๆ เป็นพระธรรมเทศนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้าง  พระสาวกบ้าง  


ส่วนต้นของแต่ละพระสูตรมักจะเล่าถึงสาเหตุของการแสดงพระธรรมเทศนา  บางทีก็เป็นบทสนทนา  พระสูตรมักจะเป็นร้อยแก้ว  มีบางพระสูตรเท่านั้นที่เป็นร้อยกรอง  บางสูตรก็ปนร้อยกรองในระหว่างกลางด้วย


ทีฆนิกาย  ประกอบด้วยพระสูตรขนาดยาว  มักจะเป็นเรื่องโต้แย้งกับความคิดที่มีมาก่อนพุทธศาสนาจะอุบัติ  แสดงให้เห็นว่าน่าจะเป็นพระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนในระยะต้นของการประดิษฐานพระพุทธศาสนา  และเป็นพระสูตรที่เก่าแก่มาก (เว้นพระสูตรที่มีคำว่า  “มหา” นำหน้า  ซึ่งอยู่ในเล่มที่ ๒  คือ มหาวรรค  บางสูตรเข้าใจว่าเติมเข้ามา)


มัชฌิมนิกาย  ประกอบด้วยพระสูตรซึ่งมีความยาวปานกลาง  ถือเป็นพระสูตรที่เก่าแก่มากเช่นเดียวกับทีฆนิกาย  พระสูตรในมัชฌิมนิกายนี้มีทั้งพระธรรมเทศนาและบทสนทนาธรรม  เนื้อหาจะเกี่ยวกับหลักพุทธปรัชญาที่สำคัญ ๆ เช่นเรื่องอริยสัจ  เรื่องกรรม  นิพพาน  และยังมีการแก้ทิฏฐิที่มีมาก่อน  หรือที่เกิดขึ้นในครั้งพุทธกาลด้วย


สังยุตตนิกาย  ประกอบด้วยพระสูตรที่เรียงตามหมวดบุคคลหรือข้อธรรม  มีเรื่องประกอบ  น่าจะได้รวบรวมขึ้นในสมัยที่พระพุทธและพระธรรมตั้งมั่นแล้ว


อังคุตตรนิกาย  ประกอบด้วยพระสูตรที่เรียงตามจำนวนข้อธรรม  แต่ละพระสูตรเขียนอย่างสั้นๆ เข้าใจว่าอยู่ในสมัยใกล้เคียงกับสังยุตตนิกาย  หรืออาจจะอยู่ในยุคหลังกว่าเล็กน้อย  คือในช่วงที่มีการเริ่มนับถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นพระสัพพัญญู  ลักษณะการรวบรวมอังคุตตรนิกายคล้ายคลึงกับวิธีการรวบรวมพระอภิธรรม  


ขุททกนิกาย  เป็นนิกายสุดท้าย  มีลักษณะที่ต่างออกไป  คือ  ประกอบด้วยคัมภีร์ต่างๆ ที่มีเนื้อหาต่างกัน  ๑๕  คัมภีร์  ได้แก่  ขุททกปาฐะ, ธรรมบท, อุทาน, อิติวุตตกะ, สุตตนิบาต, วิมานวัตถุ, เปตวัตถุ, เถรคาถา, เถรีคาถา, ชาดก, นิทเทส, ปฏิสัมภิทามรรค, อปทาน, พุทธวงศ์  และจริยาปิฎก  คัมภีร์เหล่านี้รจนาขึ้นในช่วงเวลาที่ต่างกัน  กล่าวคือ  สุตตนิบาตและธรรมบทเก่าที่สุดในขุททกนิกาย  ในสุตตนิบาตถือว่าปารายนวรรค  และอัฏฐกวรรคเป็นพระสูตรที่เก่าแก่ที่สุด  อาจจะเขียนก่อนพระสูตรอื่นทั้งหมด(๑)  


ทั้งนี้พิจารณาจากภาษาที่ใช้  รองลงมาได้แก่  อิติวุตตกะ  อุทาน  นิทเทส  ขุททกปาฐะ  เถร-เถรีคาถา  ส่วน อปทาน  พุทธวงศ์  และจริยาปิฎก นั้น  เข้าใจว่าแต่งขึ้นหลังคัมภีร์อื่นๆ (๒) โดยทั่วไปเชื่อกันว่า  แต่งในช่วงระยะเวลาระหว่างการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๒  และ ๓  ในสมัยพระเจ้าอโศก


-->>  พระอภิธรรมปิฎก  มีเนื้อหากล่าวถึงหลักธรรมคล้ายคลึงกับพระสุตตันตปิฎก  แต่อธิบายละเอียดกว่า  ไม่ได้ยกตัวอย่างประกอบธรรมะ  มีลักษณะเป็นตำรา  คือมีการอธิบายและจำแนกศัพท์คล้ายๆ พจนานุกรม  ประกอบด้วยคัมภีร์ ๗ คัมภีร์  คือ  ธรรมสังคณี  วิภังค์  ธาตุกถา  บุคคลบัญญัติ  กถาวัตถุ  ยมก  ปัฏฐานปกรณ์  หรือมหาปกรณ์  เชื่อกันว่าพระอภิธรรมเกิดขึ้นภายหลังพระสูตร  และพระวินัย  เพราะเมื่อมีการสังคายนาครั้งแรกมีกล่าวถึงพระวินัยและพระสูตร  แต่ไม่มีการกล่าวถึงพระอภิธรรม  ในบรรดาพระอภิธรรมทั้งหมด  ถือว่าบุคคลบัญญัติเก่าแก่ที่สุด

ส่วนคัมภีร์อื่นๆ นอกจากพระไตรปิฎกอาจแบ่งได้เป็น  ๓  สมัย  คือ


สมัยแรก  ตั้งแต่ภายหลังการรวบรวมพระไตรปิฎก  ถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑  ก่อนมีอรรถกถาบาลี  มีคัมภีร์ต่างๆ เช่น  เนตติปกรณ์  เปฏโกปเทส  มิลินทปัญหา  และอรรถกถาภาษาสิงหล


สมัยกลาง  ระหว่างพุทธศตวรรษที่  ๑๑  ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๗  เป็นสมัยแห่งการรจนาภาษาบาลีในประเทศศรีลังกา  ซึ่งมีอนุราธปุระเป็นเมืองหลวง  คัมภีร์ที่รจนาในยุคนั้น  มีอรรถกถา  ซึ่งไขความในพระไตรปิฎกพอจะแสดงได้ตามตารางดังนี้(๓)


พระไตรปิฎก                            อรรถกถา                                          พระอรรถกถาจารย์

                                           วิสุทธิมรรค(๔)
ก.   พระวินัยปิฎก                     สมันตปาสาทิกา                                  พระพุทธโฆษะ
     พระปาติโมกข์                    กังขาวิตรณี                                        พระพุทธโฆษะ

ข.   พระสุตตันตปิฎก                                  
     ทีฆนิกาย                          สุมังคลวิลาสินี                                    พระพุทธโฆษะ
     มัชฌิมนิกาย                      ปปัญจสูทนี                                        พระพุทธโฆษะ
     สังยุตตนิกาย                     สารัตถปกาสิยี                                     พระพุทธโฆษะ
     อังคุตตรนิกาย                    มโนรถปูรณี                                       พระพุทธโฆษะ
     ขุททกนิกาย
๑.   ขุททกปาฐะ                       ปรมัตถโชติกา                                    พระพุทธโฆษะ
๒.   ธรรมบท                           ธัทมปทัฏฐกถา                                   พระพุทธโฆษะ(๕)
๓.   อุทาน                              ปรมัตถทีปนี                                       พระธรรมปาละ
๔.   อิติวุตตกะ                         ปรมัตถทีปนี                                       พระธรรมปาละ
๕.   สุตตนิบาต                        ปรมัตถโชติกา                                    พระพุทธโฆษะ
๖.   วิมานวัตถุ                          ปรมัตถทีปนี                                      พระธรรมปาละ
๗.   เปตวัตถุ                            ปรมัตถทีปนี                                      พระธรรมปาละ
๘.   เถรคาถา                           ปรมัตถทีปนี                                      พระธรรมปาละ
๙.   เถรีคาถา                           ปรมัตถทีปนี                                       พระธรรมปาละ
๑๐.ชาดก                                ชาตกัฏฐกถา                                      พระพุทธโฆษะ(๖)
๑๑.นิทเทส                              สัทธัมมปัชโชติกา                               พระอุปเสนะ
๑๒.ปฏิสัมภิทามรรค                   สัทธัทมปกาสินี                                  พระมหานามะ
๑๓.อปทาน                              วิสุทธชนวิลาสินี                                ไม่ทราบนามผู้รจนา
๑๔.พุทธวงศ์                            มธุรัตถวิลาสินี                                   พระพุทธทัตตะ
๑๕.จริยาปิฎก                           ปรมัตถทีปนี                                      พระธรรมปาละ


พระอภิธรรมปิฎก
    ธรรมสังคณี                          อัตถสาลินี                                       พระพุทธโฆษะ
    วิภังค์                                  สัมโมหวิโนทนี                                 พระพุทธโฆษะ
    กถาวัตถุ                              ปัญจัปปกรณัฏฐกถา                            พระพุทธโฆษะ
    ปุคคลบัญญัติ                       ปัญจัปปกรณัฏฐกถา                            พระพุทธโฆษะ
    ธาตุกถา                              ปัญจัปปกรณัฏฐกถา                            พระพุทธโฆษะ
    ยมก                                   ปัญจัปปกรณัฏฐกถา                            พระพุทธโฆษะ
    ปัฏฐาน                               ปัญจัปปกรณัฏฐกถา                            พระพุทธโฆษะ

อรรถกถาของพระสูตร  ๔  นิกายแรกถือว่าเก่าที่สุด  คืออยู่ในพุทธศตวรรษที่  ๑๐-๑๑ (ในช่วงชีวิตของพระพุทธโฆษะ)



สมัยปลาย  พุทธศตวรรษที่ ๑๘  เป็นต้นมา  มีการรจนาฎีกาต่างๆ



//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

(๑) ดูรายละเอียดเรื่องการเทียบอายุของสุตตนิบาตได้จาก Introduction ของ  V.Fausboll  ในชุด S.B.E. Volume X  Part II  ซึ่งสรุปได้ว่า Fausboll  มีความเห็นว่า  สุตตนิบาต  เก่ากว่าพระสูตรในนิกายต่างๆ ทั้งหมด


(๒) นักปราชญ์บางท่าน  เช่น เอ็ม วินเตอร์นิทซ์  และ วิลเฮลม์  ไกเกอร์  เชื่อว่าแต่งในลังกา


(๓) จากหนังสือ  E.W. Adikaram, Early Hisly of Buddhism in Ceylon (Columbo : M.D. Gunasena Co., Ltd., 1953), p. l.


(๔) ท่านจัดวิสุทธิมรรคอยู่ในบรรดาอรรถกถาด้วย  แต่ไม่ได้เป็นอรรถกถาของคัมภีร์ใดโดยเฉพาะ


(๕) – (๖) กล่าวกันต่อๆ มาว่า  คัมภีร์ทั้งสองเป็นของพระพุทธโฆษะ  แต่ดูจากสำนวนภาษานั้น  ไม่น่าเชื่อว่าเป็นของท่าน  เพราะต่างจากสำนวนในคัมภีร์อื่นของพระพุทธโฆษะ

ข้อมูลที่ใช้ในการเรียบเรียง  คัดมาจาก


หัวข้อวิทยานิพนธ์    ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท

ชื่อนิสิต                  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

อาจารย์ที่ปรึกษา     ศาสตราจารย์  หม่อมหลวงจิรายุ  นพวงศ์

ภาควิชา                 ภาษาตะวันออก

ปีการศึกษา             ๒๕๒๓


****

หมายเลขบันทึก: 215849เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 19:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ

ดีเยี่ยมมากครับ สำหรับสรุปโครงสร้างความเป็นมา

แต่อยากจะขอทราบรายละเอียดลึกๆ ของแต่ละส่วนๆ เพื่อประโยชน์

เกิดความรู้ รู้ในสิ่งที่เคยได้ยิน ก็ได้อ่านได้ยิน และเข้าใจกระจ่างขึ้นครับ

ขอบพระคุณมากครับ

(ษลหกร)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท