BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๔


เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๔

 พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสว่า อริยสาวกย่อมละกรรมกิเลส ๔ ประการแล้ว จึงได้ตรัสความแตกต่างในการกระทำระหว่างอริยสาวกกับปุถุชนดังต่อไปนี้

อริยสาวกไม่กระทำบาปกรรมโดบฐานะ ๔ เป็นไฉน ? ปุถุชนถึงฉันทาคติ ย่อมทำกรรมอันลามก, ถึงโทสาคติ ย่อมทำกรรมอันลามก, ถึงโมหาคติ ย่อมทำกรรมอันลามก, ถึงภยาคติ ย่อมทำกรรมอันลามก ฯ

ดูกรลูกนายบ้าน ส่วนอริยสาวกย่อมไม่ถึงฉันทาคติ ย่อมไม่ถึงโทสาคติ ย่อมไม่ถึงโมหาคติ ย่อมไม่ถึงภยาคติ ท่านย่อมไม่ทำกรรมอันลามกโดยฐานะ ๔ เหล่านี้ฯ 

ตามพระพุทธพจน์ที่ได้อัญเชิญมาตอนนี้ มีเรื่องราวที่ควรขยายเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นดังต่อไปนี้

ประเด็นแรกก็คือความหมายของคำว่า อริยสาวก และ ปุถุชน ... ซึ่ง อริยสาวก ในที่นี้ หมายถึงผู้บรรลุธรรม อย่างน้อยก็ชั้นโสดาบันขึ้นไป อาจเป็นบรรพชิต (พระ-เณร) หรือคฤหัสถ์ (ชาวบ้าน) ก็ได้ ... ส่วน ปุถุชน ในที่่นี้ หมายถึงคนทั่วไปที่ยังไม่ได้บรรลุธรรมขั้นต้นนั่นเอง

คำว่า บาปกรรม ก็คือ กรรมกิเลส ๔ ประการ ตามที่ได้เล่าไว้แล้วในตอนก่อนๆ นั่นเอง...

ฐานะ ๔ ในที่นี้ ได้แก่ อคติ ๔ นั่นเอง.... อคติ สำนวนไทยนิยมแปลว่า ความลำเอียง กล่าวคือ ความไม่เป็นกลาง การเข้าข้างใดข้างหนึ่ง การเลือกที่รักมักที่ชัง หรือความไม่ยุติธรมนั่นเอง...  ซึ่งจำแนกออกได้ดังนี้

  • ฉันทาคติ   ความลำเอียงเพราะพอใจ
  • โทสาคติ    ความลำเอียงเพราะโกรธ
  • โมหาคติ    ความลำเอียงเพราะหลง
  •  ภยาคติ     ความลำเอียงเพราะกลัว

คำว่า กรรมอันลามก ก็คือ การกระทำอันเป็นบาป (บาปกรรม) การกระทำที่ก่อให้เกิดความเศร้าหมอง (กรรมกิเลส) หรือการกระทำชั่วนั่นเอง... ซึ่งคำเหล่านี้ โดยทั่วไปก็มักจะใช้แทนกันได้  เพื่อความไพเราะทางด้านภาษาเท่านั่น มิได้มีความหมายแตกต่างกันชัดเจนนัก.....

..............

ตามเนื้อหาที่เล่ามา อาจสรุปได้ว่า อริยสาวกย่อมไม่กระทำชั่วเพราะอคติ ๔ ประการเหล่านี้... ส่วนปุถุชนคือคนทั่วไปที่กระทำชั่วก็เพราะอคติ ๔ เหล่านี้....

ตามนัยที่เล่ามา อาจแยกความเป็นคนดีและคนชั่วได้ กล่าวคือ อริยสาวก ได้แก่ คนดี ย่อมละกรรมกิเลส ๔ และย่อมไม่กระทำชั่วเพราะอคติ ๔ ประการเหล่านี้...

ส่วน ปุถุชน ได้แก่ คนชั่ว ย่อมทำกรรมชั่วเพราะอคติ ๔ เหล่านี้... หรืออีกนัยหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า เพราะอคติ ๔ ประการเหล่านี้ ทำให้คนกระทำความชั่ว.....

ประเด็นเหล่านี้ ผู้เขียนจะนำมาขยายความในตอนต่อไป.... 

หมายเลขบันทึก: 132605เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2007 14:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับพระอาจารย์ ผมจะอ่านธรรมะของอาจารย์ทุกบล็อกเลยครับ เมื่อมีเวลา

พระมหาสุพจน์ สิทฺธิญาโณ

สวัสดีครับท่านอาจารย์ 

กรรม และ กิเลส

 กรรม  การกระทำสิ่งที่กระทำแล้วเป็นกิเลส หมอง 

หรือ  กิเลสเกิดแล้วกระทำ  สิ่งที่กระทำ

พูดง่าย ๆ  ว่า กรรมเป็นเหตุ  กิเลสเป็นผล หรือ

กรรมเป็นผลกิเลสเป็นเหตุ  ตามที่สรุป  ก็หมายความเพราะเกิดอคติ  จึงกระทำ  และกระทำแล้วจึงเกิดความหมอง  หมายความว่า  ทั้ง 2 อย่าง เป็นเหตุและเป็นผลกับกันละกันใช่ไหม  ถามเพราะอยากรู้ครับ   เพราะถ้าผมคิดผิด  ทำและพูด (เขียน) จะผิดไปด้วย

 

ไม่มีรูป

พระมหาสุพจน์ สิทฺธิญาโณ

จะตอบเป็นนัยต่างๆ ดังนี้

ประการแรก ถ้าจะพิจารณาตาม วัฎฎะ ๓ กล่าวคือ กิเลส กรรม วิปาก ....ก็อาจตอบได้ว่า กิเลส สิ่งที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองจะเป็นสาเหตุชี้นำให้เรากระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้แก่ กรรม ส่วนผลแห่งการกระทำที่เกิดขึ้นเรียกว่า วิปาก .... เมื่อถือตามนัยนี้ กิเลส จึงเป็นสาเหตุ ส่วนกรรม เป็นผล...

ประการต่อมา พระบาลีบอกว่า

  • จตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม

 

เมื่อถือเอาตามนี้ การกระทำก็คือเจตนา และเป็นเจตนาที่ประกอบด้วยอกุศลเจตสิกอื่นๆ เพราะกิเลสนั้นเป็นชื่อเรียกโดยรวมของอกุศลเจตสิก.... เมื่อถือเอาตามนัยนี้ กรรมกิเลส ก็คือ เจตนาที่ประกอบด้วยอกุศลเจตสิกอื่นๆ (เจตนาก็จัดเป็นเจตสิก แต่ก็เป็นสรรพสาธารณเจตสิก กล่วคือ เกิดขึ้นทั่วไปกับจิตทุกดวง)...

ประการสุดท้าย ( ๓ นัย คงจะพอ) อคติ นั่น ก็จัดเป็นฝ่ายอกุศลเจตสิก.. ดังนั้น กรรมกิเลส ตามที่ว่า จึงประสงค์เอาเฉพาะเจตนาที่เกิดร่วมกับอกุศลเจตสิกจำพวกอคติเท่านั้น (อกุศลเจตสิกอื่นก็อาจเกิดขึ้นด้วย แต่ไม่ได้จัดเป็น อธิบดี ในกรณีนี้)

..... 

ตามที่ยกมาก็อาจสรุปได้ว่า กิเลสเป็นสาเหตุ กรรมเป็นผล นี้กรณีหนึ่ง...

อีกกรณีหนึ่ง กรรมกิเลส มิได้เป็นเหตุเป็นผล แต่เป็นการระบุถึง เจตนาที่เกิดร่วมกับเจตสิกฝ่ายอกุศลอื่นๆ...

เฉพาะกรณีหลังนี้ เมื่อกำจัดวงอกุศลเจตสิกให้แคบลงว่าได้แก่ อคติ เท่านั้น... กรรมกิเลส ก็คือ เจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมกันอคติเจตสิกทั้ง ๔ นั่นเอง

อันที่จริงก็ไม่อยากจะยกอภิธรรมขึ้นมาตอบ แต่พระเดชพระคุณจะเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้นเมื่ออ้างถึงอภิธรรม...

ประเด็นนี้ยังอธิบายตามแนววิถีโลกได้อีกด้วย ซึ่งจะนำมาเล่าในตอนต่อๆ ไป

อามันตา 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท