BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๑๐


เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๑๐

การเที่ยวดูมหรสพเป็นทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ ... นี้เป็นอบายมุขข้อที่สาม  ซึ่งบางทีเราก็เรียกกันสั้นๆว่า การเที่ยวดูการละเล่น ซึ่งพระบรมศาสดาทรงจำแนกโทษไว้ ๖ ประการ กล่าวคือ

  • รำที่ไหนไปที่นั่น
  • ขับร้องที่ไหนไปที่นั่น
  • ประโคมที่ไหนไปที่นั่น
  • เสภาที่ไหนไปที่นั่น
  • เพลงที่ไหนไปที่นั่น
  • เถิดเทิงที่ไหนไปที่นั่น

รวมความว่า รำ ขับร้อง ประโคม เสภา เพลง และเถิดเทิง เหล่านี้เป็นการจัดประเภทการละเล่นรูปแบบหนึ่งในสมัยโบราณ... คล้ายๆ กับที่เพื่อนผู้เขียนเคยจำแนกการเล่นเครื่องดนตรีว่ามี ๖ วิธี คือ ดีด สี ตี เป่า เขย่า จิ้ม ... ประมาณนั้น

ถ้าว่าตามยุคสมัยนี้ ก็อาจสงเคราะห์กับพวกที่ชอบไปดูหนัง คอนเสริต พวกชอบดูแต่รายการโทรทัศน์ หรือแม้ไปดูกีฬายอดนิยม เป็นต้น... แต่การสงเคราะห์เหล่านี้ก็อาจไม่ตรงกับยุคสมัยโบราณนัก เพียงแต่พอเทียบเคียงกันได้เท่านั้น....

...... 

ในสิงคาลกสูตร พระพุทธเจ้าได้ตรัสบอกไว้เพียงแค่นี้... ส่วนในคัมภีร์อรรถกถาท่านขยายความโทษว่าเหมือนๆ กันทำนองว่า ผู้จะไปดูการรำหรือร้องก็ต้องเตรียมตัวก่อนตั้งแต่ยังไม่ถึงวันแสดง เช่น เครื่องแต่งหน้า เครื่องประทินผิว เสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องประดับอื่นๆ... ในใจก็คิดแต่เพียงว่า วันงานฉันจะแต่งกายอย่างโน้นอย่างนี้ จะให้หรูเลิศอย่างนั่นอย่างนู้น... ดังนั้น แม้ก่อนถึงวันงานก็เสียงานเสียการเสียเวลาและเสียเงินไปหลายประการแล้ว

เมื่อถึงวันแสดงก็ชัดเจนว่า ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการไปเที่ยวดูการละเล่นตามใจชอบก็ต้องทิ้งงานการบางอย่างโดยไม่จำเป็นเท่าที่ควร ซึ่งบางครั้งก็ ๒-๓ วัน หรือมากกว่านั้น...ไปดูไปเที่ยวมาก็ต้องเหน็ดเหนื่อย กลับมาก็ต้องพักผ่อนอีก... บางครั้งถึงฤดูกาลหว่านไถ กลับได้น้ำได้ฝนพอดี แต่ก็ต้องปล่อยให้โอกาสนั้นให้ผ่านไป เพราะมัวเที่ยวดูการละเล่น .... ประมาณนี้

อนึ่ง พระอรรถกถาจารย์บอกว่า การกระทำของคนเหล่านี้ ท่านกล่าวไว้แล้วใน พรหมชาลสูตร... ผู้เขียนลองไปตรวจดูก็ไม่เจอ จึงค้นต่อไปยังอรรถกถาพรหมชาลสูตรจึงเจอเรื่องเล่าเกี่ยวกับการตระเตรียม เช่น การเตรียมเครื่องประดับ การเตรียมรถ... และการละเล่นแบบโบราณ เช่น การตีกังสดาล การเคาะไม้ไ่ผ่ มวยปล้ำ การทอยขลุบ และการละเล่นอื่นๆ ซึ่งเป็นประเด็นต่างที่ออกไป ผู้สนใจก็ลองไปหาอ่านดูได้ไม่ยาก....

...... 

ผู้เขียนเคยตั้งข้อสังเกตไว้ที่ เล่าเรื่อง ๗ ว่าอบายมุขทุกข้อจะประกอบด้วยข้อความว่า การประกอบเนืองๆ  ยกเว้นข้อนี้ไม่ม...

เมื่อมาดูการขยายความตามนัยอรรถกถาก็เห็นได้ว่าชัดเจน กล่าวคือ ไปเที่ยวดูการละเล่นทุกครั้ง มีโทษคือเสียทั้งทรัพย์และเวลา หรือปัญหาอื่นๆ ตามมาทุกครั้ง

ซึ่งต่างกับข้ออื่นๆ เช่น การดื่มสุรา แม้ดื่มเป็นครั้งคราว ตั้งสติกำกับไว้ รู้จักประมาณ ก็อาจไม่จัดว่าเป็นทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์... หรือการเที่ยวกลางคืนด้วยความจำเป็นบางอย่าง มิใช่ไปประจำทุกคืน ก็ไม่จัดว่าเป็นโทษในข้อนี้...

ผู้เขียนคาดเดาว่า น่าจะเป็นไปทำนองนี้ ....

 

หมายเลขบันทึก: 134514เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2007 14:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

กราบมนัสการพระคุณเจ้าที่เคารพ

  • อ่านบทวิเคราะห์สิงคาลกสูตรในพระไตรปิฏกแล้ว เห็นด้วยกับท่านมาเกือบทั้งเรื่องแต่มาสสดุดตรง ศีลข้อที่ ๕ ทานดูจะมองแคบแค่สุราที่จริงสุราในภาษาบาลีว่าเป็นอบายมุข ๑ ใน ๖ ชนิด บางครั้งอาจให้โทษช้าเร็วอยู๋ที่การมอง...
  • ผมอยากทราบ อเนสนา จังครับเขาว่ามี ๒๑ ชนิด นำมาเล่าโปรดคนไม่ใกล้วัดด้วย
P

อาจารย์ โกศล คงสมปราชญ์

อ่านเพียงชื่อและสกุลของอาจารย์แล้ว น่าเกรงขาม เพราะ โกศล แปลว่า ฉลาด ... ส่วน คงสมปราชญ์ น่าจะเป็นความคาดหวังของบรรพชนที่ต้องให้ให้ตระกูลรุ่งเรืองด้วยปัญญา... ประมาณนั้น 

มิได้มองแคบหรือกว้าง และมิได้มองการห้ามดื่มสุราในฐานะศีล ๕ ... แต่มองในประเด็นว่า การดื่มสุร มิได้ถูกจัดไว้ใน กรรมกิเลส แต่ถูกจัดไว้ในฐานะ อบายมุข ในสิงคาลกสูตรนี้...

ซึ่งประเด็นนี้ตรงกับในมงคลสูตร ซึ่งมิได้จัดการดื่มสุราเป็นบาปไว้ในมงคลข้อว่า อารตี วิรตี ปาปา... แต่จัดการสำรวมระวังในการดื่มไว้ต่างหากในมงคลข้อว่า มัชชปานา จะ สัญญโม ...

ในคัมภีร์มังคลัตถทีปนี ท่านได้รวบรวมการวิเคราะห์ประเด็นนี้ไว้ค่อนข้างละเอียด ถ้าอาจารย์สนใจก็ลองไปสืบค้นดู....

เรื่อง อเนสนา นั้น ค้นหาไม่ยากในอินเทอร์เน็ต และมีผู้วิจารณ์ไว้เยอะแล้ว....

เจริญพร 

เห็นพระอาจารย์หายไปนาน (หรือผมตามอ่านไม่ทัน) เลยรีบเข้ามาอ่าน และกราบสมัสการครับ

ด้วยความเคารพรัก

P

กิตติพงศ์ พลเสน

ไม่ได้หายไปไหน ปกติก็เฝ้าอยู่หน้าจอทุกวัน (............)

บางครั้งก็อาจเขียนวันละ ๒-๓ บันทึก แต่บางครั้ง ๒-๓ วันก็เขียนเพียงบันทึกเดียว... ประมาณนี้

เจริญพร 

นางสาวสุภาภร ปาณียะ

สิงคาลสูตร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท