BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๒๓


เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๒๓

รายละเอียดในการปฏิบัติต่อบุคลรอบข้างนั้น พระพุทธเจ้าเริ่มต้นด้วยทิศเบื้องหน้า และให้ความสำคัญของความเป็นบุตรที่ควรปฏิบัติต่อมารดาบิดาเป็นอันดับแรกว่า....

ดูกรลูกนายบ้าน มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า อันบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ

  • ด้วยตั้งใจไว้ว่าท่านเลี้ยงเรามา เราจักเลี้ยงท่านตอบ ๑
  • จักรับทำกิจของท่าน ๑
  • จักดำรงวงศ์สกุล ๑
  • จักปฏิบัติตนให้เป็นผู้สมควรรับทรัพย์มรดก ๑
  • ก็หรือเมื่อท่านละไปแล้ว ทำกาลกิริยาไปแล้ว จักตามเพิ่มให้ซึ่งทักษิณา

ผู้เขียนคิดว่า หน้าที่ ๕ ประการเหล่านี้ น่าจะชัดเจนแล้ว เพียงแต่บรรดาลูกทั้งหลาย จะทำได้สมบูรณ์หรือไม่ ? อย่างไร ? เท่านั้น

ดังเช่นในข้อแรก ลูกทั้งหลายที่ไม่มีโอกาสเลี้ยงดูพ่อแม่ ด้วยเหตุว่าอยู่ไกลกันบ้าง มีลูกหลานคนอื่นคอยดูแลแล้ว และหรือว่า ท่านยังสุขภาพแข็งแรงดีอยู่ เป็นต้น... ทำนองนี้

แต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาในข้อแรกอีกครั้ง มีคำว่า ด้วยตั้งใจว่า ปรากฎอยู่ นั่นก็คือ สำหรับ ผู้เป็นลูกจะต้องมี ความตั้งใจว่า จะเลี้ยงดูพ่อแม่เสมอ ...ข้อความตอนนี้ เป็นการย้ำเตือนให้เห็นถึง ความสำนึกในใจของลูกว่าจะต้องมีข้อนี้อยู่เสมอ แม้โอกาสในการกระทำอาจมีน้อยบ้างมากบ้างแตกต่างกันไปก็ตาม........

ประเด็นการเลี้ยงดูพ่อแม่นี้สำคัญสำหรับพระภิกษุเช่นเดียวกัน เพราะในพระวินัยลดหย่อนวินัยไว้หลายข้อเพื่อพ่อแม่ เช่น อาหารหรือสิ่งของต่างๆ ถ้ายังไม่ได้ฉันหรือใช้ แต่นำไปให้ชาวบ้านอื่นๆ ถือว่าเป็นการทำศรัทธาไทยให้ตกไป (คือทำให้ญาติโยมเสื่อมศรัทธา) แต่สำหรับพ่อแม่ของพระภิกษุรูปนั้นเอง ไม่ถือว่าผิด ในข้อนี้... เป็นต้น

................

ส่วนในอรรถกถาก็เช่นเดียวกัน ท่่านก็ขยายความต่อไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่น่าสนใจก็คือที่สาม จักดำรงวงศ์สกุล ท่านขยายความไว้ ๒ นัย ทำนองว่า...

นัยแรก หมายความว่า จะรักษาทรัพย์สมบัติของวงศ์ตระกูล เช่น เงินทอง ไร่นา ฯลฯ ให้สูญหายไป.... ซึ่งประเด็นนี้ อาจเทียบได้กับคนทั่วไป ที่ไม่ค่อยจะยอมขายสมบัติตกทอดมาจากปู่ย่าตายาย แม้จะขัดสนเดือดร้อนในบางคราวก็ตาม... การไม่ยอมขายทำนองนี้ บางคนก็เกรงชาวบ้านหรือพี่น้องจะครหานินทา บางคนก็เกรงความรู้สึกผิดต่อบรรพบุรุษ บางคนก็ต้องการความภูมิใจส่วนตัว....อย่างไรก็ตาม ข้ออ้างเหล่านี้ สงเคราะห์ได้กับนัยนี้

อีกนัยหนึ่ง ท่านแก้ว่า วงศ์ตระกูลที่สืบต่อมานั้น อาจประกอบด้วย ธรรมบ้าง อธรรม บ้าง (คืออาจประพฤติกันมาผิดบ้าง ถูกบ้าง) ในส่วนที่เป็นอธรรมคือผิด ถ้าเรามาปรับปรุงแก้ไขให้เป็นธรรมคือถูก ไม่จัดว่าเป็นการทำลายวงศ์ตระกูล... แต่จัดว่าเป็นการพัฒนาวงศ์ตระกูลให้เจริญขึ้นทีเดียว... ส่วนที่เป็นธรรมคือถูกต้องเหมาะสมอยู่แล้ว เมื่อยังคงรักษาไว้ ไม่ทำลายระเบียบปฏิบัติเดิมๆ ก็ถือว่า ดำรงวงศ์ตระกูลไว้ ... ประมาณนี้

ผู้เขียนคิดว่า นัยหลังนี้ ครอบคลุมนัยแรกไว้ด้วย กล่าวคือ ทรัพย์สมบัติประจำตระกูล ไม่สมควรขาย แต่ถ้าประกอบด้วยธรรม มิใช่เป็นการทำให้วงศ์ตระกูลเสื่อมเสีย แต่กลับทำให้วงศ์ตระกูลเจริญขึ้น ก็อาจขายได้... ทำนองนี้ 

............

ในข้อว่า ปฏิบัติตนให้สมควรแก่ความเป็นผู้รับทรัพย์มรดก นี้ อรรถกถาขยายความว่า พ่อแม่สามารถไปยังศาลแล้วแจ้งความเพื่อปลดลูกคนหนึ่งคนใดที่ไม่เชื่อฟังคำของตนออกจากกองมรดก แล้วยกมรดกทั้งหมดให้ลูกเพียงบางคน ซึ่งเชื่อฟังตนเพียงเท่านั้น...

ดังนั้น หน้าที่ของลูกก็คือต้องปฏิบัติใ้ห้เหมาะสมในการนี้ กล่าวคือ มิใช่ว่าจะต้องเชื่อฟังพ่อแม่ แต่ต้องปฏิบัติให้เหมาะสมในการรับทรัพย์มรดก เพราะถ้าปฏิบัติไม่เหมาะสมแล้ว พ่อแม่ก็อาจตัดออกไปจากกองมรดกได้... ทำนองนี้ (จะขยายความอีกครั้งในตอนต่อไป)

ส่วนประเด็นสุดท้ายคือ การทำบุญอุทิศไปให้หลังจากพ่อแม่ถึงแก่กรรมแล้วนั้นชัดเจนแล้ว... 

คำสำคัญ (Tags): #สิงคาลกสูตร
หมายเลขบันทึก: 137960เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2007 23:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท