BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๒๗


เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๒๗

ในทิศเบื้องหลังนั้น แม้พระพุทธเจ้าตรัสว่า คือ บุตรและภรรยา ก็ตาม แต่เมื่อทรงจำแนกหน้าที่จะพึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องหลัง พระองค์ตรัสเฉพาะภรรยา เท่านั้น เหตุเพราะว่าพระองค์ตรัสเกี่ยวกับบุตรไว้ในทิศเบื้องหน้าแล้วนั่นเอง....

ดูกรลูกนายบ้าน ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลังอันสามีพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ

  • ด้วยยกย่องว่าเป็นภรรยา ๑
  • ด้วยไม่ดูหมิ่น ๑
  • ด้วยไม่ประพฤตินอกใจ ๑
  • ด้วยมอบความเป็นใหญ่ ๑
  • ด้วยให้เครื่องแต่งตัว ๑

ขยายความตามนัยอรรถกถาดังนี้ ในข้อแรกว่า ด้วยการยกย่องว่าเป็นภรรยา ก็คือควรพูดจากับภรรยาด้วยคำอันไพเราะ เช่น ถ้าภรรยาชื่อ เทพ หรือ ดิส ก็ควรเรียกว่า แม่เทพ ! หรือ แม่ดิส ! เป็นต้น...

ผู้เขียนคิดว่า ประเด็นนี้จะต้องเป็นเรื่องสำคัญ เพราะพระพุทธเจ้าตรัสไว้สองพันห้าร้อยกว่าปีแล้ว ดังนั้น ผู้ใดเป็นสามี (ที่มาอ่านบันทึกนี้) หากพูดกับภรรยาด้วยคำพูดอันไม่ไพเราะเสนาะโสต พูดกับภรรยาด้วยคำไม่สุภาพนานัปประการ ก็ควรทราบว่า ท่านได้ทำผิดหน้าที่ของสามีตามนัยนี้

อีกอย่างหนึ่ง สามีบางคน ปล่อยให้ภรรยาอยู่แต่ภายในบ้าน ไม่ค่อยจะพาไปไหน หรือค่อนข้างจะวางเฉย ไม่ค่อยจะ่แนะนำให้ใครรู้จัก ก็อาจผิดหน้าที่ตามข้อนี้เช่นเดียวกัน....

(โยมผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งแยกกันอยู่กับสามีเพราะหน้าที่การงาน เธอเคยบ่นให้ฟังว่า เมื่อไปหาสามี เขาจะพาไปเที่ยวและแนะนำให้รู้จักคนโน้นคนนี้ เธอรู้สึกเบื่อไม่ค่อยอยากจะไปหา... ผู้เขียนจึงบอกว่า ให้ภูมิใจในสามีเถิด เพราะเขาได้ทำหน้าที่ในข้อว่า ด้วยการยกย่องว่าเป็นภรรยา ได้อย่างถูกต้อง) 

ด้วยการไม่ดูหมิ่น ท่านว่า ด้วยการไม่ดุด่า เฆี่ยนตี ทำร้าย หรือเบียดเบียนอื่นๆ อย่างที่ทำกับพวกทาสหรือกรรมกร... โดยท่านให้ความเห็นว่า ถ้าเราดูหมิ่นภรรยาของเราเองแล้ว คนอื่นๆ เช่นญาติของเรา หรือคนบ้านใกล้เรือนเคียงก็อาจดูหมิ่นภรรยาของเราได้... ประมาณนี้

สองข้อนี้อาจรวมได้ว่า ถ้าสามียกย่องภรรยาและไม่ดูหมิ่นแล้ว คนอื่นๆ ก็จะเกรงใจไม่กล้าทำร้ายภรรยาของเขา เพราะเกรงว่า เขาผู้เป็นสามีจะไม่พอใจและอาจออกมาปกป้องหรือตอบโต้อย่างใดอย่างหนึ่ง... ทำนองนี้

ด้วยการไม่ประพฤตินอกใจ ท่านขยายความว่า สามีละเลยภรรยาตนเอง ไปบำเรอหญิงอื่น ด้วยการไม่กระทำอย่างนั้น... กล่าวคือ สามีจะต้องไม่่ละเลยหรือทอดทิ้งภรรยาของตนแล้วไปปรนเปรอบำเรอหญิงอื่นนั่นเอง

........... 

ด้วยมอบความเป็นใหญ่ ก็คือ ด้วยสละความเป็นใหญ่ให้แก่ภรรยา ... ประเด็นนี้อรรถกถาขยายความไว้น่าสนใจ โดยท่านบอกว่า ธรรมดาผู้หญิง แม้จะได้เครื่องประดับล้ำค่าดังเช่นมหาลดาภรณ์ แต่เมื่อไม่ได้จัดการเรื่องอาหารให้สามีก็ย่อมโกรธ... เมื่อสามียื่นทัพพีให้แก่ภรรยา พลางพูดว่า แม่จงทำตามใจชอบของแม่เถิด ! แล้วมอบการจัดการเรื่องในครัวให้ภรรยาดังนี้ ชื่อว่า มอบความเป็นใหญ่ให้แก่ภรรยา... ทำนองนี้

ผู้เขียนไม่เคยมีครอบครัว จึงไม่ค่อยเข้าใจเรื่องทำนองนี้นัก แต่เคยตั้งข้อสังเกตตอนอ่านเรื่อง สี่แผ่นดิน (ของ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช) ... กล่าวคือ เมื่อคุณเปรมแต่งงานกับแม่พลอยแล้ว ในวันแรกที่แม่พลอยไปอยู่บ้านของคุณเปรมผู้เป็นสามี เขาก็ได้มอบกุญแจบ้านทั้งหมดให้แก่แม่พลอยผู้เป็นภรรยา... ผู้เขียนอ่านมาถึงตอนนี้ ก็นึำกได้ว่า ทำนองนี้ตรงกับคำว่า มอบความเป็นใหญ่ให้ ตามนัยสิงคาลกสูตร

และข้อสุดท้าย ด้วยให้เครื่องแต่งตัว ในอรรถกถาท่านแก้สั้นๆ ว่า ด้วยมอบเครื่องประดับให้ตามสมควรแก่สมบัติของตน... เท่านั่น

ส่วนในคัมภีร์ระดับฎีกา (เป็นคัมภีร์ขยายความอรรถกถาอีกชั้นหนึ่ง ผู้สนใจดู การตรวจสอบพระธรรมวินัย ๑) ท่านขยายเพิ่มเติมอีกนิดว่า...

การให้เครื่องแต่งตัวนี้ ถือว่าเป็นหน้าที่ของสามีที่ควรให้แก่ภรรยาตามโอกาส เช่น ในโอกาสครบรอบวันแต่งงาน วันเกิด วันขึ้นปีใหม่ หรือตามเทศกาลต่างๆ ตามสมควร... เครื่องประดับเหล่านี้ไม่จำเป็นจะต้องมีราคาแพงนัก เช่น แหวนสักวง ผ้าสักผืน หรือรองเท้าสักคู่ ฯลฯ โดยคำนึงถึงฐานะของครอบครัวเป็นสำคัญ

............ 

เมื่อแรกแปลคัมภีร์ที่เกี่ยวกับคำอธิบายสองข้อสุดท้ายนี้...  ก็นึกยิ้มๆ ว่า พระอรรถกถาจารย์และพระฎีกาจารย์ที่ขยายความเรื่องนี้ ท่านคงจะเคยมีครอบครัวมาแล้วตอนที่ยังไม่ได้บวชอย่างแน่นอน จึงเข้าใจเรื่องทำนองนี้ได้ดี ...ประมาณนั้น

คู่กับหน้าที่ของสามีก็คือ หน้าที่ของภรรยา ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่าในตอนต่อไป... 

หมายเลขบันทึก: 140261เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2007 10:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท