BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

คุณค่าการบวชปัจจุบัน ๑


คุณค่าการบวชปัจจุบัน
  • บอกกล่าว

คุณค่าการบวชปัจจุบัน เป็นหนังสือเล่มน้อย ซึ่งผู้เขียนเรียบเรียงขึ้นพิมพ์เผยแพร่ในงานอุปสมบทของญาติผู้น้องเมื่อปี ๒๕๔๖ จากนั้นก็เคยพิมพ์ซ้ำอีก ๑-๒ ครั้ง แต่ต้นขั้วเดิมสลายไปพร้อมฮาร์ดดีสหลายปีแล้ว  บังเอิญไปพบหนังสือหลงเหลืออยู่ในวัดเล่มหนึ่ง จึงถือโอกาสนำมาพิมพ์เผยแพร่ซ้ำใน GoToKnow ในเทศกาลเข้าพรรษาปีนี้ โดยทยอยพิมพ์ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจบ...

..............

๑. บทนำ

"คุณค่าการบวชปัจจุบัน" ประกอบด้วยคำสามคำ คือ คุณค่า. การบวช. และ ปัจจุบัน ผู้เขียนเห็นว่าตามชื่อเรื่องนี้มีคำที่ควรอธิบายก่อนสองคำคือ "คุณค่า" และ "การบวช" ส่วนคำว่า "ปัจจุบัน" นั้นเข้าใจกันไม่ยาก โดยความหมายแคบที่สุดคือ ขณะนี้. เดียวนี้. ตอนนี้ ส่วนความหมายกว้างๆ ได้แก่ ยุคนี้. สมัยนี้ หรือ ยุคสมัยนี้ ซึ่งเป็นการกำหนดช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นานนักไปจนถึงช่วงเวลาที่ยังมาไม่ถึงอีกเล็กน้อย ในที่นี้ประสงค์เอาความหมายกว้างๆ คือการบวชในยุคสมัยที่ผ่านมาสี่ห้าปีหรือเก้าปีสิบปีเท่านั้นเอง และก่อนที่จะนำไปสู่ความเห็นอื่นๆ เรื่องการบวช ผู้เขียนประสงค์นะอธิบายความหมายของคำว่าคุณค่าและการบวชเป็นประเด็นแรก ต่อจากนั้นก็จะชวนท่านผู้อ่านไปเที่ยวดินแดนพุทธภูมิคือชมพูทวีปหรือประเทศอินเดีย โดยการนำเสนอแนวคิดเรื่องอาศรม๔ ในคัมภีร์พระเวท เพราะผู้เขียนสันนิษฐานว่าความหมายเดิมของการบวชตามวัฒนธรรมอินเดียน่าจะมาจากแนวคิดนี้ ต่อด้วยการเสด็จออกบวชของพระพุทธเจ้าและพุทธสาวกบางท่านเพื่อเป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ หลังจากนั้นก็จะเล่าความเป็นไปของเหตุการณ์หลังสมัยพุทธกาล และย้อยกลับมาเมืองไทยด้วยความเห็นของผู้เขียนเกี่ยวกับหลักฐานแห่งความมั่นคงของพระพุทธศาสนา ประเด็นสุดท้ายจะเป็นเรื่องราวของคุณค่าการบวชในอดีตที่บรรพบุรุษของเราสร้างไว้ก่อนจะเข้าสู่การบวชยุคปัจจุบันซึ่งเป็นเรื่องราวที่เราทุกคนประจักษ์อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราจะให้ความหมายสิ่งที่เรารู้เราเห็นอย่างไรเท่านั้น

อนึ่ง บางครั้งผู้เขียนอาจแวะพักข้างทางชมนกชมไม้ หรือเถลไถลออกนอกลู่นอกทางไปบ้าง ข้อนั่น ! เป็นความประสงค์ของผู้เขียนเองที่ไม่ต้องการให้เป็นวิชาการ ต้องการให้เป็นวิชาขาดๆ เกินๆ เท่านั้น

......

๒. คุณค่า

จะกล่าวเรื่องคุณค่าก่อน คำว่า คุณค่า มีความหลายนัย บางครั้งมีความหมายว่า แตกต่างจากข้อเท็จจริง เช่น "นายดำสูง ๑๕๐ ซม." "ตำบลบ่อยางตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครสงขลา" หรือ "สองบวกสามเท่ากับเจ็ด" ฯลฯ ข้อความเหล่านี้เป็น ข้อเท็จจริง เพราะเราสามารถตรวจสอบหรือตัดสินได้ว่าจริงหรือเท็จ

แต่คุณค่าเป็นสิ่งที่เราตัดสินไม่ได้ว่าจริงหรือเท็จ เช่น "นายดำเป็นหนุ่มรูปหล่อ" "ตำบลบ่อยางน่าอยู่อาศัยในบั้นปลายของชีวิต" หรือ "สองคนเพื่อนตายสามคนกลับบ้านได้" ฯลฯ เป็นเพียงความเห็นของผู้พูดเท่านั้นเพราะคนอื่นอาจไม่เห็นด้วยก็ได้ว่านายดำรูปหล่อจริงๆ หรืออาจมีความเห็นว่าตำบลบ่อยางน่าเบื่อจะตายอยู่ไปทำไม ! เซ็งเปล่าๆ ! ... อะไรทำนองนี้ เรื่องราวที่จะกล่าวต่อไปนี้ก็เช่นเดียวกัน เป็นความเห็นของผู้เขียนเท่านั้น ไม่ควรยึดถือว่าถูกหรือผิด

ความหมายที่สองของคำว่า คุณค่า เป็นคำกลางๆ ไม่ดีไม่เลว ไม่ถูกไม่ผิด โดยถ้าดีก็เป็นคุณค่าเชิงบวก หรือถ้าเลวก็เป็นคุณค่าเชิงลบ นิยมใช้ในการให้คุณค่าหรือประเมินค่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น "วัชนตัวนี้ถูกต้องตามตำราหรือไม่ ?" หรือ "สถานที่นี้เหมาะสมที่จะเปิดร้านขายข้าวมันไก่หรือไม่ ?" ซึ่งเราจะพิจารณาข้อดีข้อเสียของวัวชนหรือสถานที่ในเรื่องต่างๆ แล้วสรุปว่า "วัวตัวนี้ใช้ได้ไม่ถึงกับดีเลิศ ถ้าจะซื้อตอนนี้ก็ไม่ควรเกินสองหมื่น" หรือ "ที่ตรงนี้ไม่ควรเปิดขายข้าวมันไก่เพราะขอบถนนหน้าบ้านมีเส้นขาวแดงรถจอดไม่ได้" ... อะไรทำนองนี้ คุณค่าการบวชในปัจจุบันที่จะกล่าวต่อไปนี้ก็เช่นเดียวกัน เป็นการประเมินค่าการบวชในปัจจุบันซึ่งผู้เขียนจะให้ความเห็นทั้งที่เป็นข้อดีและข้อเสียในประเด็นต่างๆ ตามที่จะคิดได้

และคำว่า คุณค่า ประการสุดท้าย บ่งถึงฝ่ายดีหรือเชิงบวกอย่างเดียว เช่น "ไอ้ลัดดวงนั้นไม่มีคุณค่าอะไรเลย" หมายความว่าเป็นคนที่ไม่มีคุณความดีอะไรเลย เป็นคนที่ไม่น่าคบหาสมาคม เป็นคนชั่วคนเลว ... อะไรทำนองนี้ หรือ "เหรียญนี้มีคุณค่าควรแก่การเก็บสะสม" หมายความว่าเป็นของมีน้ีอย หายาก สวยงาม หรือจะมีราคาสูงในอนาคต เป็นต้น

โดยทั่วไปหรือภาษาที่ใช้กันอยู่ประจำวัน เมื่อกล่าวถึงคุณค่าเราจะหมายถึงคุณค่าเชิงบวกที่เป็นคุณความดีตามความหมายสุดท้ายมากกว่า ส่วนความหมายสองนัยแรกจะเป็นภาษาวิชาการ หรือจะต้องตรวจดูคำข้างเคียงที่ประกอบขึ้นมาเป็นวลีหรือประโยคก่อนในเบื้องต้น จึงจะรู้ว่าคำว่าคุณค่ามีความหมายในแง่ไหน ส่วนคุณค่าการบวชในปัจจุบันที่จะกล่าวถึงนี้ก็เช่นเดียวกัน มีความหมายในเชิงบวก โดยผู้เขียนจะให้ความหมายในเบื้องต้นว่าการบวช มีคุณความดีควรแก่การดำเนินรอยตามและธำรงรักษาสืบต่อไว้

อนึ่ง บางคนอาจเถียงว่า ไม่ใช่ ! ไม่ใช่ ! คำว่า "คุณค่า" มาจากคำว่า "คุณ+ค่า" เมื่อเราเรียกคนด้วยความเคารพหรือภาษาสุภาพต่างหาก นั่นคือ "ค่า" เป็นชื่อของคน ส่วน "คุณ" เป็นคำนำหน้าชื่อ ซึ่งอาจเป็น นายค่า. น.ส.ค่า หรือ นางค่า ก็ได้ ถ้าเราเรียกด้วยคำหยาบหรือไม่สุภาพ เราจะเรียกว่า ไอ้ค่า หรือ อีค่า แต่ถ้าเราให้เกียรติผู้ฟัง เราจะเติมคำว่า คุณ นำหน้า จึงหลายเป็น คุณค่า ดังนี้จึงจะถูก ... ถ้ามีใครให้คำอธิบายทำนองนี้ ผู้เขียนก็ไม่เถียง เพราะ นั่น ! เป็นการให้เหตุผลหลอกล่อซึ่งนอกประเด็นความหมายที่ให้ไว้ข้างบน ผู้เจริญทุกท่านคงทราบว่าผู้เขียนไม่ได้ให้ความหมายตามนัยนี้แน่นอน ฉะนั้น จะว่าด้วยความหมายของการบวชต่อไป

(มีต่อ)

 

คำสำคัญ (Tags): #การบวช#คุณค่า
หมายเลขบันทึก: 194830เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2008 08:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการค่ะ
ดิฉันไปปาวารณา บวชพระไว้ด้วยสำหรับเทศกาลเข้าพรรษานี้ค่ะ
บวชเป็นพระแล้ว มีความสุข แต่พระก็มี งาน เหมือนกัน เช่น สวดมนต์ไหว้พระ เจริญภาวนา ศึกษาธรรมะ
ในช่วง 3 เดือน ถ้าตั้งใจจะให้ได้ประโยชน์จริงๆ ก็จะได้ไม่น้อยนะคะ
กราบ 3 หนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท