BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

คุณค่าการบวชปัจจุบัน ๕


คุณค่าการบวชปัจจุบัน

๖. การบวชของพุทธสาวก

ในสมัยพุทธกาลนั้น ลูกนายบ้านสองคนถูกจับให้เป็นเพื่อนเกลอกันตั้งแต่เล็กๆ ชื่อว่าอุปติสสะและโกลิตะ เมื่อเติบโตเป็นหนุ่ม ในวันหนึ่งทั้งคู่และเพื่อนๆ ชวนกันไปเที่ยวงานสวนสนุกประจำปีที่ภูเขา ขณะที่คนอื่นๆ กำลังสนุกสนานชมการแสดงอยู่นั้น โกลิตะสังเกตว่าอุปติสสะเพื่อนเกลอนั่งเหงาหงอยไม่ร่าเริงจึงเข้าไปถามว่า "เป็นอย่างไร ไม่สนุกหรือ ! " อุปติสสะคงจะบอกในทำนองว่า "เซ็ง ! ไม่เห็นจะสนุกตรงไหนเลย พวกนี้อยู่กันไปไม่เกินร้อยปีก็ตายแล้ว เราคิดว่าไปบวชน่าจะดีกว่า" โลกิตะจึงบอกว่าตนเองก็คิดแบบนี้มานานแล้วเหมือนกัน

ทั้งคู่ก็เลยชวนเพื่อนๆ ไปบวชอยู่ที่สำนักสัญชัย (นักบวชนอกพระพุทธศาสนา) ศึกษาอยู่ไม่นานก็สิ้นความรู้อาจารย์ ภายหลังโกลิตะได้พบพระอัสสชิและเกิดความเลื่อมใส จึงกลับมาเล่าให้อุปติสสะและเพื่อนทั้งหลายฟัง จึงได้ตกลงกันออกจากสำนักสัญชัยไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ภายหลังอุปติสสะก็ได้เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวามีนามว่าพระสารีบุตร ส่วนโกลิตะก็ได้เป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้ายมีนามว่าพระมหาโมคคัลลานะ

 

มีลูกเศรษฐีคนหนึ่งเบื่อชีวิตการครองเรือนเพราะต้องคอยทำงานจัดการเรื่องราวต่างๆ มากมาย เห็นว่าไม่มีแก่นสารอะไร อยาจะบวช แต่ไม่กล้าขัดพ่อแม่ เมื่อมีวัยสมควรแต่งงานได้ พ่อแม่ก็ไปขอลูกสาวเศรษฐีระดับเดียวกันมาให้เป็นภรรยา ฝ่ายลูกสาวเศรษฐีก็เบื่อชีวิตการครองเรือนเหมือนกัน ทั้งคู่ตกลงกันลับๆ ว่าจะอยู่ร่วมกันธรรมดาแบบเพื่อน เมื่อพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายตายหมดแล้ว ทั้งสองก็ยกทรัพย์สมบัติให้แก่บรรดาบ่าวไพร่ทั้งหมดแล้วชวนกันออกบวชเจาะจงพระอรหันต์

หลังจากแยกทางกันแล้ว วันหนึ่งนักบวชลูกเศรษฐีก็ได้เจอกับพระพุทธเจ้า เมื่อได้สนทนากันแล้วก็รู้สึกเลื่อมใสจึงได้สมัครเป็นศิษย์ พระพุทธเจ้าทรงประทานโอวาท ๓ ข้อเป็นหลักปฏิบัติแล้วแยกทางกันไป ลูกเศรษฐีคนนี้มีชื่อปรากฎต่อมาว่าพระมหากัสสปะ ได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสนาว่าเป็นเลิศทางธุดงค์ ส่วนอดีตภรรยาภายหลังก็ได้เข้ามาบวชเป็นภิกษุณีในพระพุทธศาสนามีชื่อว่าภัททกาปิลานีเถรี

 

นายรัฐบาลเป็นลูกเศรษฐี ได้ฟังธรรมก็ต้องการจะบวช จึงไปขออนุญาตพ่อแม่ตามวินัย แต่พ่อแม่ไม่ยินยอม จึงอดอาหารและไม่พูดไม่จากับใคร โดยตั้งใจว่า ถ้าไม่ได้บวชก็ยอมตาย พ่อแม่ของขาจึงได้บอกให้เพื่อนๆ ไปช่วยพูด ภายหลังอนุญาตให้บวชโดยสั่งว่ากลับมาเยี่ยมบ้านบ้าง นายรัฐบาลภายหลังบวชแล้วก็ได้ศึกษาปฏิบัติธรรมและท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ

อยู่มาวันหนึ่งก็กลับมาเยี่ยมบ้านเกิด โดยเดินเข้ามาบิณฑบาตในหมู่บ้านเดิมเวลาเช้า แต่ไม่มีใครใส่บาตร จนกระทั้งถึงท้ายหมู่บ้านก็เห็นสาวใช้ในบ้านของตนกำลังจะเทขนมบูด พระรัฐบาลก็บอกว่าให้เอามาเทในบาตรก็ได้ สาวใช้เมื่อกำลังเอาขนมบูดใส่บาตรอยู่ก็จำได้ จึงรีบกลับเรือนไปบอกว่านายน้อยกลับมาแล้ว พ่อแม่ของท่านจึงตามไปเห็นกำลังนั่งฉันขนมบูดอยู่ จึงนิมนต์ให้กลับไปฉันที่บ้าน หลังจากเสร็จพิธีฉันภัตตาหารแล้วก็นำสมบัติมากองไว้ ขอร้องให้สึก พระรัฐบาลก็บอกว่าให้เอาสมบัตินี้ไปเททิ้งน้ำทิ้งเหวเสียก็ได้เนื่องจากคนเราเกิดมาลำบากลำบนเพราะสมบัติเหล่านี้เอง

หลังจากกล่าวสอนธรรมเล็กน้อยแล้ว พระรัฐบาลก็เจริญพรลาโยมพ่อโยมแม่เดินทางกลับออกจากหมู่บ้าน ฝ่ายพระเจ้าโกรัพยะเสด็จผ่านมา พระองค์ทรงรู้จักและจำท่านได้ หลังจากทรงมีปฏิสันฐารกับพระรัฐบาลแล้วก็ทรงปรารภว่า โดยมากคนออกบวชเพราะสาเหตุความเสื่อม ๔ อย่าง คือ แก่ชรา ๑ เจ็บป่วย๑ สิ้นทรัพย์สมบัติ๑ และสิ้นญาติ๑ แต่ความเสื่อมเหล่านี้ไม่มีแก่พระคุณเจ้า เหตุไฉนพระคุณเจ้าจึงได้บวช พระรัฐบาลก็ได้แสดงหัวข้อธรรม ๔ ประการที่ได้ฟังจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นสาเหตุการออกบวช คือ

  • โลกคือหมู่สัตว์ อันชราเป็นผู้นำเข้าไปใกล้ ไม่ยั่งยืน
  • โลกคือหมู่สัตว์ ไม่มีผู้ป้องกัน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน
  • โลกคือหมู่สัตว์ ไม่มีอะไรเป็นของๆ ตน จำต้องละทิ้งของทั้งปวงไป
  • โลกคือหมู่สัตว์ พร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสของความทะยานอยาก (ตัณหา)

ด้วยสาเหตุที่พระรัฐบาลมีศรัทธาแรงกล้าแต่เดิมในการออกบวช คือถ้าไม่ได้บวชก็ยอมอดอาหารตาย พระพุทธเจ้าจึงทรงยกย่องว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในการบวชด้วยศรัทธา

 

มีชายคนหนึ่งแต่งงานแล้วประกอบอาชีพทำนาทำไร่อยู่ไม่ไกลจากอาราม วันหนึ่งวัวหายจึงออกตาม เวลาเที่ยงรู้สึกหิวจึงเข้าไปในวัดด้วยตั้งใจว่าจักได้อาหารสักเล็กน้อย พระสงฆ์เสร็จภัตรกิจพอดีจึงได้กินข้าว หลังจากกินข้าวเสร็จก็เรียนถามพระว่า "วันนี้พระคุณเจ้าไปกิจนิมนต์มาหรือจึงมีอาหารดีๆ มากมาย" เมื่อฟังว่าเป็นอาหารบิณฑบาตปรกติและได้อาหารอย่างนี้ทุกวัน ก็มาคิดว่า "เราทำงานเหน็ดเหนื่อยตัวเป็นเกลียวก็ยังไม่ค่อยพอกินเลย บวชดีกว่าจะได้กินอยู่สบาย"

ก็เลยขอบวช แต่บวชอยู่ได้ไม่นาน ร่างกายมีกำลังวังชาแข็งแรงสมบูรณ์ก็คิดว่า "บวชไปทำไมกัน ! สึกกลับไปอยู่กับสีกาทำนาทำไร่ดีกว่า" จึงสึกไปอยู่บ้าน แต่พอตรากตรำทำงานระยะหนึ่งก็ขี้เกียจอีก อาศัยว่าเป็นผู้ชอบช่วยเหลือเพื่อนภิกษุด้วยกัน จึงมาขอบวชและได้บวชอีก เป็นอย่างนี้หลายรอบ ครั้งที่เจ็ดก็เบื่อหน่ายบวชไม่สึก ท่านผู้นี้ปรากฎชื่อว่า จิตตหัตถ์ภิกษุ

 

นายวักกลิเห็นพระพุทธเจ้ามีพระสิริโฉมสง่างามก็ชอบอกชอบใจ คิดว่าถ้าเราบวชก็จะได้ชมพระสิริโฉมของพระพุทธเจ้าเรื่อยไป จึงทูลขอบช แต่บวชแล้วไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนหรือบำเพ็ญเพียรภาวนาเลย เฝ้าแต่ชมพระสิริโฉม แม้พระพุทธองค์จะตรัสว่า "ดูกรวักกลิ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา เธออย่าเฝ้าแต่มองร่างกายอันเน่าเปื่อยนี้เลย" ท่านก็ยังคงเฝ้าชมอยู่อย่างนั้น

วันหนึ่งพระบรมศาสดาทรงขับไล่่ให้ออกไปจากที่ประทับ รู้สึกน้อยใจจึงไปกระโดดหน้าผาเพื่อจะฆ่าตัวตัว พระพุทธเจ้าก็ตรัสเรียก... ขณะที่กำลังหล่นลงเหวนั้น ได้ยินพระสุรเสียงก็ปลื้มใจ เกิดปิติ ข่มปิติได้ขณะนั้นก็ได้บรรลุความเป็นพระอรหันต์ เหาะกลับขึ้นมาถวายบังคมพระบรมศาสดา

 

อนึ่ง ยังมีประยูรญาติและข้าราชบริพารของพระพุทธเจ้าอีกจำนวนมากที่ออกบวชตามพระองค์ในภายหลัง ประยูรญาติเหล่านั้นก็มีสาเหตุที่มาบวชแตกต่างออกไปเช่นกัน เช่น ในวันมงคลสมรสของนันทราชกุมารซึ่งเป็นอนุชาต่างพระมารดาของพระพุทธเจ้า วันหนึ่งพระพุทธองค์เสด็จไปเสวยที่ตำหนักของนันทราชกุมาร เมื่อเสวยเสร็จก็ทรงมอบบาตรให้นันทราชกุมารก่อนเสด็จกลับออกมา ส่วนนันทราชกุมารถือบาตรตามเสด็จโดยตั้งใจว่า ถ้าเสด็จพี่รับบาตรแล้วก็จะรีบกลับ ฝ่ายพระนางเทวีก็ออกมาร้องสั่งว่าให้รีบเสด็จกลับมา

เมื่อมาถึววิหารแล้วพระพุทธองค์จึงตรัสถามว่า "นันทะเธอต้องการบวชหรือ ?" นันทราชกุมารแม้ไม่มีใจใคร่จะบวช แต่ไม่เคยขัดเสด็จพี่จึงทูลว่าต้องการจะบวช ครั้นบวชแล้วก็เฝ้าแต่นึกถึงนางเทวีของตน เมื่อท่องเที่ยวไปยังท้องถิ่นอื่นๆ เห็นสาวงามกว่านางเทวีก็นึกรักนึกชอบขึ้นมา ไปอีกเมืองพบสาวงามกว่าคนเดิมก็เปลี่ยนใจมานึกชอบคนใหม่อีก เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ตอนหลังคิดว่าความรักไม่สิ้นสุดก็เลิกคิดเรื่องนี้กลับมาตั้งใจบำเพ็ญเพียรภาวนา...

 

พุทธสาวกทั้งหมดที่เล่ามาพอเป็นตัวอย่าง จะเห็นได้ว่า พระสารีบุตรและพระมหากัสสปะได้เป็นนักบวชอยู่ก่อนแล้ว พระรัฐบาลได้ฟังธรรมก็มีใจน้อมไปทางการบวช พระจิตรหัตถ์ออกบวชเพราะเห็นแก่ปากแก่ท้อง พระวักกลิออกบวชเพราะชอบพระสิริโฉมของพระบรมศาสดา ส่วนพระนันนทะด้วยความเคารพเกรงใจเสด็จพี่จึงได้ออกบวช แต่ท่านเหล่านี้สุดท้ายก็ได้บำเพ็ญเพียรภาวนาและได้บรรลุความเป็นพระอรหันต์ นอกนั้นก็ยังมีสาเหตุอื่นอีกมากมายจึงเป็นเรื่องยากที่จะนำมาเล่าทั้งหมด...

ในลำดับต่อไปจึงขอยกเรื่องราวหลังสมัยพุทธกาลจนกระทั้งพระพุทธศาสนามาตั้งมั่นอยู่ในประเทศไทย

(มีต่อ)

หมายเลขบันทึก: 194897เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2008 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กราบนมัสการพระคุณเจ้าค่ะ
อ่านแล้วเกิดปัญญาขึ้นมาว่า
คนเรา เมื่อพบคนที่ปฏิบัติดี หรือปฏิบัติแล้วเกิดสิ่งดี (เช่น มีชื่อเสียง ฯลฯ) แล้วก็อยากจะทำตาม แต่หากทำตามเพียงเพราะอยากจะเป็นอย่างเขา อยากได้รับในสิ่งดี (ทำดี เพราะอยากจะเป็นอย่างคนนั้นๆ) หรือเพียงอยากได้แค่ลาภยศ ชื่อเสียง คงเป็นความเข้าใจเพียงผิวเผิน ทำดี แต่จะดีสำหรับเราจริงหรือ สู้ทำความเข้าใจ ว่าทำดี เพราะสิ่งนั้นได้ให้ประโยชน์ต่อผู้คน ทำให้ชีวิตมีคุณค่า น่าจะมีความสุขกว่า ลาภยศ ชื่อเสียง เป็นเพียงผลพลอยได้ ไม่ "ติด" และไม่ "หวัง" น่าจะทำให้ชีวิตเป็นสุขได้
กราบขอบพระคุณพระคุณเจ้า สำหรับบทความดีๆ ที่ก่อให้เกิด "ปัญญา" ค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท