BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

คุณค่าการบวชปัจจุบัน ๑๒


คุณค่าการบวชปัจจุบัน

๑๑. คุณค่าการบวชในปัจจุบัน (ต่อ)

ปัจจุบัน การบวชตามประเพณีหนึ่งพรรษาได้รับความนิยมน้อยลง เริ่มต้นมาจากลุ่มที่ทำงานประจำ เช่น รับราชการ บริษัท หรือบางคนก็ยังเรียนไม่จบ คนกลุ่มนี้ก็อยากจะบวชสืบทอดประเพณี หรือบางครั้งการอยากจะให้บวชเกิดจากพ่อแม่ ปู่ยา ตายาย ที่อยากเห็น ชายผ้าเหลือง ลูกหลานของตนก่อนตาย เมื่อลูกหลานไม่พร้อมที่จะบวชหนึ่งพรรษาก็เลยมีการต่อรองว่าเพียงเดือนเดียว สิบห้าวัน เจ็ดวัน หรือบางครั้งให้ได้บวชหน้าศพสามวันก็ได้ ต่อมา แม้บางคนมีเวลาว่างก็ไม่อยากจะบวชหนึ่งพรรษา กลายเป็นบวชเจ็ดวันสิบห้าวันตามพวกที่ไม่ค่อยว่างไปด้วย เมื่อมีการทำตามมากขึ้นก็กลายเป็น ค่านิยมใหม่ คุณค่าการบวชหนึ่งพรรษาเพื่อให้มีเวลาทบทวนตัวเองและศึกษาธรรมะเพื่อไปใช้ครองเรือนแบบเดิมตามที่บรรพบุรุษสร้างเอาไว้ก็ค่อยๆ หมดไป อย่างไรก็ตามการบวชตามค่านิยมใหม่ทำนองนี้ก็ยังคงมีคุณค่่าอยู่ เพียงแต่ไม่สมบูรณ์เหมือนเดิมเท่านั้น

สมัยก่อน บ้านเราเป็นสังคมเกษตรกรรมมีอาชีพหลักคือ ทำนา ทำสวน ขึ้นตาล ตัดยาง หรือวางกัด เป็นต้น ฐานะทางครอบครัวก็ไม่ค่อยแตกต่างกันมาก เมื่อแต่งงานเสร็จเป็นผัวหนุ่มเมียสาวก็แยกเรือนออกมาอยู่ต่างหาก เรือนนั้นไม่ค่อยมั่นคงนัก กั้นจาก มุงจาก เรียบฟากไม้ไผ่ ตามแบบโบราณ ซึ่งมีลักษระคล้ายกับขนำหรือหนำตามบ้านเรา เพียงแต่ว่ามีขนาดใหญ่กว่าและมั่นคงแข็งแรงกว่าเท่านั้น บ้านเรือนทำนองนี้ถ้าขยันซ่อมแซมอยู่เสมอก็จะอยู่ได้สิบกว่าปี เมื่อลูกชายลูกสาวอายุสิบหกสิบเจ็ด พ่อแม่ก็เริ่มคิดสร้างบ้านใหม่ โดยมักจะเป็นบ้านเรือนไม้หลังใหญ่ เพื่อไว้อวดฐานะและประกาศความสำเร็จของชีวิตครอบครัวในงานบวชลูกชายหัวปีหรืองานแต่งงานของลูกสาวคนโต ตอนผู้เขียนบวชได้ ๒-๓ พรรษาหรือเมื่อเกือบยี่สิบปีก่อนก็ยังทันเห็นลักษณะนี้ มีญาติโยมบางคนมานั่งปรับทุกข์ว่า "ผมคิดว่าจะสร้างบ้านสักหีด ไว้บวชไอ้บ่าวต่อสองสามปีข้างหน้า" แต่บ้านที่สร้างก็มิได้เป็นบ้านไม้ทรงปั้นหยาแบบแต่ก่อน เป็นเพียงบ้านปูนหรือครึ่งปูนครึ้งไม้ตามสมัยปัจจุบัน

ฉะนั้น คุณค่าอย่างหนึ่งของการบวชลูกชายตามประเพณีก็คือ "การประกาศความสำเร็จของชีวิตคู่ และความสามารถในการเลี้ยงดูลูก" ผู้เขียนคิดว่าคุณค่านี้แม้มีมาแล้วในอดีต แต่ก็ยังมีอยู่ตราบเท่าปัจจุบัน

 

โดยมากแล้ว พ่อแม่ก็ไม่ได้หวังอะไรจากลูกมากนัก พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า พ่อแม่นั้นเป็น บุพพการี หมายถึงผู้กระทำอุปการคุณก่อน ส่วนลูกๆ นั้นถ้ารู้สึกถึงอุปการคุณที่พ่อแม่ได้กระทำแล้วแก่ตนก็เรียกว่า กตัญญู แต่เมื่อยังไม่ได้กระทำอะไรตอบแทนพ่อแม่ก็ยังชื่อว่า กตเวที ไม่ได้

ฉะนั้น คุณค่าการบวชในปัจจุบันอย่างหนึ่งก็คือ "เจ้านาคได้มีโอกาสแสดงความกตเวทีต่อพ่อแม่หรือผู้มีพระคุณ" เพราะคำว่า กตเวที แปลว่า ประกาศสิ่งที่ตนได้กระทำแล้วให้ผู้มีพระคุณได้รับรู้ การที่เจ้านาคยอมบวชตามคำขอของพ่อแม่หรือผู้มีพระคุณ นั่น ! เป็นการประกาศสิ่งที่ตนได้กระทำตอบแทนให้พ่อแม่หรือผู้มีพระคุณได้ทราบนั่นเอง

 

จะแทรกเรื่องคำว่า่ "นาค" อีกเล็กน้อย โดยมากเราเชื่อกันว่าคำว่านาคหมายถึง งู ฟังตามกันมาว่า เหตุที่ได้ชื่อว่าบวชนาคเพราะเคยมีงูตัวหนึ่งมีฤทธิ์ (บางท่านอ้างนิทานธรรมบทว่า งูตัวนี้ชาติก่อนเคยบวชเป็นภิกษุชื่อเอรกปัตต์) ปลอมตัวมาบวช ภายหลังถูกจับได้ ก็เลยสึกไป แต่ได้ขอคำว่าบวชนาคไว้เป็นที่ระลึกอะไรทำนองนี้... เคยอ่านบทความของใครก็จำไม่ได้ ท่านบอกว่า นาคแปลว่าเทวดา ที่ว่า นาคให้น้ำ นั้น เป็นเทวดาให้น้ำ มิใช่งูให้น้ำ แต่โบราณแปลผิดก็เลยเชื่อตามๆ กันมา... และอาจารย์นิ่ม นิ่มหนู่ ป.ธ.๙ เคยยกคาถาให้ฟังว่า

  • นาโค นาคํ อภิรุยฺห       นาครุกขํ อนุคนฺตฺฺวาน
  • นาคปุพผํ นิกฺขิปิตฺวาน   นาคพุทฺธํ อภิปูชเต ฯ
  • พระราชาผู้ประเสริฐ ทรงช้างตัวประเสริฐ เสด็จไปยังต้นกากระทิง ทรงเก็บดอกกากระทิงแล้วก็ทรงบูชาจำเพราะพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ฯ

ตามคาถานี้ นาคะ เป็นศัพท์คุณนามแปลว่า ประเสริฐ โดยศัพท์คุณนามใช้ขยายความเทวดา มนุษย์ หรือสัตว์ก็ได้ที่เรายกย่องว่าเป็นผู้ประเสริฐ ส่วนที่เป็นศัพท์นามแปลว่า ต้นกากระทิง

 

แต่บางมติที่บอกว่าแปลว่า ช้าง นั้น ไม่ได้หมายถึงว่าช้างตัวนั้นเป็นสัตว์ประเสริฐ แต่แปลว่าสัตว์ที่ถูกเห็นเหมือนภูเขา ดังบทวิเคราะห์ว่า นโค วิยะ ทิสฺสตีติ นาโค สัตว์ใดย่อมถูกเห็นประดุจภูเขา เหตุนั้น สัตว์นั้นชื่อว่า นาคะ (ผู้ถูกเห็นประดุจภูเขา) ตามวิเคราะห์นี้ นคะ แปลว่า ภูเขา

ในคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาฏีกา ก็บอกว่าแปลว่า งู ได้ ดังวิเคราะห์ว่า น คจฺจตีติ นาโค, ทีฆาทิ สัตว์ใดย่อมไม่ไป เหตุนั้น สัตว์นั้นชื่อว่านาคะ (ผู้ไม่ไป) ได้แก่สัตว์มีตัวยาวเป็นต้น (คืองู) ตามวิเคราะห์นี้ ผู้เขียนไม่เข้าใจอรรถ อาจหมายถึงไปตามปรกติไม่ได้ จะต้องเลื้อยไปหรือ ? ไม่แน่ใจ !

 

ส่วนที่แปลว่า ประเสริฐ นั้น มาจากบทวิเคราะห์ว่า อาคุัง น กโรติ นาโค ผู้ใดย่อมไม่กระทำความผิด (บาป) เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่านาค (ผู้ไม่กระทำความผิด, ผู้ไม่กระทำบาป) ในรูปวิเคราะห์นี้ อาคุ แปลว่า ความผิด หรือบาป  ซึ่งผู้ไม่กระทำผิดหรือไม่กระทำบาปก็คือผู้ประเสริ็ฐนั่นเอง

ตามนัยนี้ ถ้า นาคะ แปลว่า ผู้ไม่กระทำผิด, ผู้ไม่กระทำบาป ซึ่งบ่งความว่าเป็น ผู้ประเสริฐ แล้ว คำว่า บวชนาค ก็ควรจะมีความหมายว่า บวชผู้ไม่กระทำผิด, บวชผู้ไม่กระทำบาป หรือ บวชผู้ประเสริฐ นั่นเอง มิได้บวชงูตามที่เข้าใจกัน เรื่องนี้จะต้องไปถามผู้ที่ใช้คำว่าบวชนาคคนแรกว่าต้องการให้มีความหมายว่าอย่างไร แต่เป็นใครก็ไม่ทราบ เขียนให้อ่านเล่นๆ เป็นเกล็ดความรู้เท่านั้น

 

ประการสุดท้ายที่อยากจะกล่าวถึงก็คือคุณค่าเชิงประเพณี เพราะงานบวชนาคเป็นประเพณีที่สืบทอดมานานเหมือนกับงานแต่งงาน งานศพ ฯลฯ ประเพณีนั้นเป็นเครื่องแสดงออกบางสิ่งบางอย่างในสังคมนั้นและมีคุณค่ามากมาย พระยาอนุมานราชธนกล่าวไว้ทำนองว่า "ถ้าสังคมเห็นว่าประเพณีใดยังมีความสำคัญอยู่ก็ยังคงไว้ หรือถ้าเห็นว่าแบบเดิมๆ ไม่เหมาะสมกับยุคสมัย แต่ยังคงมีความสำัคัญอยู่ สังคมก็จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับยุคสมัย แต่ถ้าเห็นว่าไม่มีความจำเป็นใดๆ สำหรับสังคมแล้ว ประเพณีนั้นก็จะค่อยๆ สลายหายไปกลายเป็นเรื่องเล่าปรัมปราในที่สุด" เฉพาะประเพณีงานบวชนาคนี้ ผู้เขียนเข้าใจว่าสังคมยังเห็นว่ามีความจำเป็น เพราะลูกผู้ชายไทยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นลูกคนจน คนรวย บ้านนอก หรือในกรุง จะเป็นลูกชาวนา กรรมกร ข้าราชการ นักธุรกิจ หรือเหล่าดาราศิลปินต่างๆ ก็ยังนิยมบวชกันอยู่เหมือนเดิม

ปัจจุบัน พระศาสนาหรือวัดได้รับผลกระทบจากสังคมมาก ผู้เขียนบวชมานานรู้สึกถึงมุมมองของชาวบ้านที่มีต่อวัดหรือพระภิกษุสามเณรที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปในแง่ลบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้เป็นลำดับๆ หลายปีก่อนผู้เขียนเคยปรารถกับพระเถระท่านหนึ่งว่า "ต่อไปข้างหน้า เราจะอยู่กันอย่างไร ?" ท่านให้ความเห็นสั้นๆ ว่า "ถ้ายังมีคนบวช ก็ยังมีคนใส่บาตร" ฉะนั้น คุณค่าการบวชเชิงประเพณีในปัจจุบันควรแก่การทำความเข้าใจเป็นอย่างมาก ผู้เขียนจะทิ้งปัญหานี้ไว้ ผู้อ่านคงจะตอบคำถามของตนเองได้ว่า "มีความยินดีที่ได้ไปงานบวชนาคเพราะเหตุอะไร ?"

(มีต่อ)

 

หมายเลขบันทึก: 195415เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2008 11:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เคยไปร่วมงานบวชเณร 2 ครั้ง ลูกชายเพื่อน, และเด็กสถานสงเคราะห์(ที่ร่วมเป็นเจ้าภาพ)

ร่วมงานบวชพระหลายครั้งแต่ที่ประทับใจคือบวชน้องชายตัวเองและน้องชายเพื่อนสนิท เพราะ เป็นความศรัทธาอยากบวชของผู้บวชเอง

ทั้ง 4 คนที่ผ่านการบวช ปัจจุบันเป็นคนดีมีความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม

มีความยินดีกับงานบวช เพื่อช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนา ค่ะ

นมัสการพระคุณเจ้า ตามมาอ่านเรื่อง นาค เรื่องช้าง ครับ

P

กวิน

 

อาจารย์เข้ามาทิ้งรอยจารึกไว้ ทำให้อาตมาได้มีโอกาสอ่านพิสูจน์อักษรอีกครั้ง ก็ได้แก้ที่ผิดอีก ๒-๓ คำ...

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท