BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ศีลข้อมุสาฯ


ศีลข้อมุสาฯ

วันนี้... (วันพระ) ได้นำศีลสี่มาเป็นหัวข้อแสดงธรรม โดยเริ่มต้นจากการแปลคำสมาทานศีลว่า..

  • มุสาวาทา เวรมณีสิกขาปทํ สมาทิยามิ
  • ข้าพเจ้ารับเอาซึ่งหัวข้อในการศึกษาเจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดเท็จ

มุสาวาท แปลว่า การพูดเท็จ นั้น คัมภีร์อธิบายไว้ว่า เจตนาที่ยังกายปโยคและวจีปโยคให้ตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้อื่นรู้ความคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงชื่อว่า มุสาวาท

กายปโยค แปลว่า ความพยายามทางกาย นั่นคือ แม้การสั่นศรีษะ เพื่อให้เค้าทราบสิ่งที่ ใช่ ว่า ไม่ใช่ ก็จัดเป็นมุสาวาท

วจีปโยค แปลว่า ความพยายามทางวาจา นั่นคือ การพูด เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจผิดโดยตรง จัดว่าเป็นมุสาวาท

สรุปความว่า ศีลข้อสี่นี้ แม้จะเป็นกายกรรม แต่ก็อาจแสดงออกได้ทั้งทางกายและทางวาจา

 

ต่อไปก็ขยายความถึงองค์ประกอบของมุสาวาท ซึ่งมี ๔ ประการด้วยกัน กล่าวคือ

  • เรื่องไม่จริง
  • เจตนาจะพูดเรื่องไม่จริงนั้น
  • ความพยายามที่เกิดจากเจตนานั้น
  • ผู้อื่นรับรู้เรื่องไม่จริงนั้น

เฉพาะเจตนานั้น ท่านอธิบายว่าประกอบด้วย ๒ กาล กล่าวคือ ก่อนจะพูดย่อมมีการกำหนดภายในใจว่าจะพูดเท็จ และขณะกำลังพูดก็รู้ตัวอยู่ว่ากำลังพูดเท็จ ส่วนหลังจากพูดแล้วนั้นไม่ใช่สาระสำคัญในเรื่องนี้ แต่สาระสำคัญอยู่ที่องค์ประกอบสุดท้ายว่าผู้อื่นจะรับรู้เรื่องนั้นหรือไม่ ถ้าผู้อื่นรับรู้ก็ถือว่าผิดศีลแล้ว แต่หากเค้าไม่อาจรับรู้ได้ก็ถือว่ายังไม่ครบองค์ประกอบ ยังไม่จัดว่าผิดศีลข้อนี้ (อย่างไรก็ตาม แม้ยังไม่ผิดศีล แต่ก็จัดเป็นบาปทางใจที่เรียกกันว่ามโนทุจริต)

 

ต่อจากนั้นก็แสดงเรื่องโทษหรือบาปของมุสาวาท ซึ่งท่านกำหนดหลายนัย เช่น กำหนดผู้ที่รับรู้เรื่องไม่จริง คือผู้ที่เราโกหกนั่นเอง... กล่าวคือ ถ้าโกหกผู้ที่มีคุณมากก็จัดว่ามีโทษหรือบาปมาก เช่นโกหกพ่อแม่ผู้มีพระคุณ ครูบาอาจารย์ หรือพระสงฆ์ผู้ประกอบด้วยศีลธรรมอันงาม เป็นต้น... แต่ถ้าโกหกคนมีคุณน้อย เช่นพวกโจร หรือคนพาลสันดานโฉด เป็นต้น ก็จัดว่ามีโทษหรือบาปน้อย...

อีกนัยหนึ่ง ก็กำหนดเรื่องเท็จที่พูดออกมา กล่าวคือ การพูดเท็จบางอย่างที่ประสงค์จะไม่ให้สิ่งของที่เรามีอยู่ เช่น มีคนมายืมเงิน ทั้งๆ ที่เรามีอยู่ แต่บอกว่าไม่มี ฯลฯ ทำนองนี้ แม้จะจัดว่าผิดศีลก็จริง แต่จัดว่ามีโทษหรือบาปน้อย เพราะกิเลสอ่อน.. หรือในบรรดาพระสงฆ์ บางครั้งพระเถระพูดขึ้นในงานเลี้ยงพระทำบุญว่า มีขาหมูต้ม มีไก่ย่าง ทั้งๆ ที่ในงานมีเพียงแกงเลียงผัก ต้มหน่อไม้ น้ำพริกผักเท่านั้น ฯลฯ เพื่อประสงค์หยอกล้อเจ้าภาพและให้หัวเราะกันเล่น ทำนองนี้ แม้จะจัดว่าผิดศีลก็จริง แต่ก็ถือว่ามีโทษหรือบาปน้อย เพราะกิเลสอ่อน

แต่การพูดในสิ่งที่ มีอยู่ ว่า ไม่มี เพื่อเป็นการทำลายประโยชน์ของผู้อื่น เช่นการเป็นพยานเท็จในศาลเป็นต้น จัดว่ามีโทษมาก เพราะกิเลสแรงกล้า... ตามนัยนี้ ถ้าทำลายประโยชน์ของผู้อื่นมากก็จัดว่ามีโทษหรือบาปมาก ถ้าทำลายประโยชน์ของผู้อื่นน้อยก็จัดว่ามีโทษหรือบาปน้อย

อย่างไรก็ตาม กิเลส ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการตัดสินความหนักเบาของศีลข้อนี้ นั่นคือ ถ้ากิเลสแรงกล้าก็จัดว่ามีโทษหรือบาปมาก ถ้ากิเลสอ่อนก็จัดว่ามีโทษหรือบาปน้อย...

 

ประการสุดท้าย ได้ถอยกลับไปยังศีลสามข้อแรกว่าเป็น กายกรรม ส่วนศีลข้อสี่นี้จัดเป็น วจีกรรม... โดยศีลสามข้อแรกนั้น เรียกกันว่า กายกรรม ๓ ส่วนศีลข้อสี่นี้ แม้จะเป็นเพียงการเว้นจากพูดเท็จก็จริง แต่ยังครอบคลุมถึงเงาแห่งกุศลในวจีกรรมอื่นอีก ๓ อย่าง นั่นคือ เว้นจากการพูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และพูดเพ้อเจ้อ ซึ่งรวมเรียกว่า วจีกรรม ๔ ...

นั่นคือ การพูดบางอย่างแม้จะไม่ถึงระดับว่าพูดเท็จและผิดศีลข้อสี่ แต่อาจเป็นวจีทุจริตตามเงาแห่งศีลข้อนี้ ในเมื่อพูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และพูดเพ้อเจอ

แม้จะไม่ผิดทางกายและวาจาก็ตาม แต่ความเป็นไปทางใจก็มีอยู่ ซึ่งท่านเรียกว่า มโนกรรม ๓ รวมแล้ว เป็น กรรมบถ ๑๐ ประการ

  • เอวํ ก็มีโดยประการฉะนี้ 
หมายเลขบันทึก: 233174เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2009 14:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 20:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า

มารับธรรมะสำหรับพ.ศ.ใหม่ 2552 ค่ะ

  • เรื่องไม่จริง
  • เจตนาจะพูดเรื่องไม่จริงนั้น
  • ความพยายามที่เกิดจากเจตนานั้น
  • ผู้อื่นรับรู้เรื่องไม่จริงนั้น

-เฉพาะประเด็นแรกก็บาปแล้วค่ะ

-มุสา ข้อเดียวพระคุณเจ้า แจกแจงให้เห็นความบาปได้ชัดเจน

-เป็นบาปทุกขยับเลยนะคะ

-ผิดศีลดูท่าจะหนักกว่าคำว่าบาป

-กราบลา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

มุสาท่านว่าไว้       ให้ตรอง

กระทั่งผอง จิตลด    คดเคี้ยว

บาปน้อยใหญ่ ไล่ลาม   ตามเทียว

เพราะบิดเบี้ยว ปิดใจ     ไม่รู้ วิชชา

 

กราบ 3 หน

 

กราบนมัสการครับ

  • เมื่อวานดูหนังทางทีวี มีตอนหนึ่งสะกิดใจมาก ที่ตัวแสดงพูดถึงเหล้าองุ่น
  • ..
  • ได้คำถามหลังจากดูหนังว่า
  • การที่ผู้ผลิตโฆษณาสินค้าเหล้าของตัวเอง  เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคซื้อไปดื่ม ถือเป็นมุสาอีกประการหนึ่ง (หรือเปล่า)
  • แม้ว่าจะขุดคุ้ยสรรพคุณ (ที่มีอยู่มาก) ขององุ่น เพื่อเชิญชวนให้ลองดื่ม....
  • ทำนองว่า...ลองดื่มดูสิ...มีระโยชน์นะ

กราบลาครับ

 

Pนายขำ

 

  • วิชชาแม้นไม่รู้               ตามแบบ
  • คือสิ่งซึ่งอาจแอบ          ฝึกได้
  • เต็มเปี่ยมสว่างผุดแวบ    ธรรมส่อง ภายใน
  • รู้ไม่รู้ผู้ใกล้                   ซาบซึ้ง ด้วยใจ  

.............

Pคุณพิทักษ์


การโฆษณาเหล้าหรืออื่นๆ ก็ตาม มีส่วนเป็นคุณของสินค้าที่เปิดเผยออกมาเพื่อให้คนพอใจใคร่ซื้อ และอาจมีส่วนเป็นโทษของสินค้าที่ปกปิดหรือนิ่งเฉยไว้....

ตามความเห็นส่วนตัว อาจสงเคราะห์เป็น คำส่อเสียด เพราะมุ่งให้เค้าพอใจและไม่พอใจบางอย่าง... แต่จะถึงระดับเป็น คำมุสา หรือไม่ ต้องพิจารณาดูแต่ละอย่างเป็นการเฉพาะ...
..............

เจริญพร
  • กราบขออนุญาตยกและต่อบทค่าวนะขอรับ
  • ศีลาสิกขา สัมมาว่าฮ้อ รับเอาหัวข้อ จดจ่อศึกษา
    ตั้งใจ๋ละเว้น ก๋ารเป๋นโทษา เอาเจ๋ตนา มาเป๋นที่จั้ง
    คฤหัสถา ศีลห้ามาตั้ง ป๋าณาติป๋าตัง เป๋นเก๊า
    .
    สองอทินนา สามกาเมเค้า สี่มุสาเข้า รวมนัย
    ห้าข้อปั๋ญจะ มัชชะเมาไก๋ สุราเมรัย เว้นไกล๋บ่เข้า
    ยอมือไหว้สา พระมหาเจ้า ข้าขอลำเนา ค่าวเน้น
    .
    ป๋าณาติป๋า ศึกษาเพื่อเว้น ก๋ารเข่นฆ่าล้าง ม้างชีว์
    สัตว์มีชีวิต จิตคิดเบียดสี เพียรทุกวิธี บั่นชีวาสั้น
    สัตว์นั้นต๋ายไป ดั่งใจ๋ว่าอั้น ครบองค์โดยพลัน ขาดนับ

    .
    อทินนาทาน์ รู้ว่าสินทรัพย์ มีเจ้าของอั้น ปันแปง
    มีไถยจิต คิดผิดคิดแผง จักลักของแปง ด้วยแรงอยากได้
    เพียรทุกวิถี ต๋ามวิธีใบ้ ได้ของเมื่อใด ขาดนะ
    .
    ก๋าเมสุ มิจฉาจ๋าระ ล่วงละเมิดอั้น หญิงชาย
    อันเป๋นที่ฮัก มีศักดิ์มีหมาย แต่ก็บ่วาย มีใจ๋เกี่ยวข้อง
    จิตเสน่หา เวียนมาจ้องจ้อง มรรคถึงมรรคปอง ขาดครบ
    .
    มุสาวาทา รู้ว่าความเท็จ มีเจตน์จักเว้า กล่าวคำ
    เพียรก่อกระทู้ อู้หื้อถลำ ชักชี้แนะนำ คำเท็จจ้อยจ้อย
    เหล่าคนหญิงชาย เชื่อในรสถ้อย รับรู้ลงรอย ขาดละ
    .
  • มีต่อในศีลข้อ 5 ขอรับ

นมัสการค่ะ
ถ้าเราพูดไม่จริง พยายามจะให้เขาเชื่อ แต่เขาไม่เชื่อ ศีลก็คงยังไม่ขาดร้อยเปอร์เซ็นต์ใช่ไหมคะ
แต่ส่วนตัวคิดว่า เมื่อได้พูดออกไปแล้ว ศีลข้อนี้ก็ผิดค่ะ

เพิ่มอีกหน่อยค่ะ น่าจะอยู่ที่เจตนา ถ้าตั้งใจพูดโกหก ก็คือ ผิดศีลนั่นเองนะคะ

PSasinand

 

จริงอยู่ว่า เจตนา เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการกำหนดความผิดและโทษหนักเบา...

แต่ถ้าพูดไปแล้วคนอื่นไม่รู้ความเท็จนั้น ความพยายามนั้นก็อาจถือว่ายังไม่สำเร็จ...

อย่างไรก็ตาม เจตนาแรกเริ่มที่มุ่งหมายจะโกหกซึ่งเกิดขึ้นภายในใจนั้น จัดเป็นมโนกรรมฝ่ายทุจริตคอยกำกับอยู่ แม้ไม่จัดเป็นผิดทางกายกรรมหรือวจีกรรม แต่ผิดฝ่ายมโนกรรมแน่นอน...

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท