BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ศีลข้อสุราฯ


ศีลข้อสุราฯ

วันนี้... (วันพระ) ได้นำศีลข้อห้ามาเป็นหัวเรื่องในการแสดงธรรม โดยเริ่มต้นจากการแปลคำสมาทานศีลว่า...

  • สุราเมรยมชฺชปมาทฎฺฐานา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
  • ข้าพเจ้าขอรับเอาซึ่งหัวข้อในการศึกษาเจตนาเป็นเครื่องเว้นจากน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

ในบรรดาศีลห้านั้น ศีลข้อนี้ต่างจากข้ออื่น กล่าวคือ ศีลสี่ข้อแรกนั้น จะไม่มีคำว่า เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท กำกับอยู่ ซึ่งประเด็นนี้อาจอธิบายโดยรวบรัดได้ว่า ศีลสี่ข้อแรกประสงค์ให้งดเว้นอย่างเด็ดขาด ขณะที่ศีลข้อนี้ อาจดื่มได้เพื่อเป็นยาเป็นต้นในบางกรณี แต่ต้องตระหนักว่ามิได้ตั้งอยู่ในความประมาท แต่โบราณาจารย์แนะนำว่า การไม่ดื่มเลยน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าการดื่มโดยตระหนักว่าจะไม่ประมาท...

ต่อจากนั้น ได้อธิบายศัพท์ว่า มัชชะ แปลว่าน้ำเมา ซึ่งได้แก่ สุรา หมายถึงเหล้ากลั่น และ เมรัย หมายถึงเหล้าหมัก แต่ปัจจุบันคำว่า มัชชะ อาจรวมเอาของมึนเมาหรือยาเสพติดทุกชนิด... ประเด็นนี้ ผู้เขียนเคยขยายความไว้แล้ว ผู้สนใจ (คลิกที่นี้)

ต่อจากนั้น ได้นำประวัติสุราในกุมภชาดกมาเล่าเป็นเรื่องเสริม ซึ่งมีความยาวพอสมควร สรุปว่านาย สุระ พรานป่าเป็นผู้ค้นพบจึงได้ชื่อว่า สุรา ... และพระเจ้าสรรพมิตรมีราชโองการสั่งห้ามการผลิตสุรา ซึ่งคำว่า สรรพมิตร นี้เอง คือที่มาของคำว่า กรมสรรพสามิต ที่ควบคุมเรื่องการผลิตสุราในยุคปัจจุบัน... ผู้สนใจอ่านกุมภชาดกทั้งหมด (คลิกที่นี้)

 

ต่อจากนั้นก็ได้ประมวลมาถึงองค์ประกอบของการผิดศีลข้อนี้ ซึ่งมีหลายนัย กล่าวคือ สำหรับฆราวาสคือชาวบ้าน จะประกอบด้วยองค์ ๔ ดังนี้

  • น้ำเมา
  • จิตคิดจะดื่ม
  • ความพยายามในการดื่ม
  • น้ำเมาไหลลงสู่ลำคอ

ในประเด็นนี้นั้น ให้ถือเอาเจตนาคือความที่จิตคิดจะดื่มเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าขาดองค์ประกอบข้อนี้แล้ว การดื่มก็จะเป็นไปไม่ได้ หรือถ้ามีการดื่มโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นั่นคือไม่มีเจตนาในเบื้องต้นแล้วก็ไม่ถือว่าผิดศีลข้อนี้....

 

ส่วนพระภิกษุ มีวินัยห้ามไว้ในพระปาฏิโมกข์ว่า สุราเมรยปาเน ปาจิตฺติยํ เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ในเพราะการดื่มสุราเมรัย ซึ่งประเด็นนี้วินัยบอกว่า ประกอบด้วยองค์ ๒ เท่านั้น คือ

  • น้ำเมา
  • การดื่ม

นั่นคือ สำหรับพระภิกษุ จะรู้ตัวหรือมีเจตนาในการดื่มเบื้องต้นหรือไม่ก็ตาม แม้สุราเมรัยล่วงผ่านลำคอก็จัดว่าเป็นอาบัติปาจิตตีย์แล้ว (ศัพท์วินัยเรียกว่า อจิตตกะ นั่นคือ ไม่ขึ้นอยู่กับเจตนา)

อนึ่ง สำหรับสามเณรก็ต่างไปอีก คัมภีร์บอกว่ามีองค์ ๔ เหมือนกับชาวบ้าน ดังนั้น สามเณรรู้ตัวและมีจิตคิดจะดื่มในเบื้องต้นแล้วดื่มเข้าไป จึงจะผิดศีล นั่นคือ ถ้าสามเณรไม่รู้ตัวหรือไม่มีเจตนาในเบื้องต้น ดื่มเข้าไป ก็ไม่จัดว่าผิดศีล (ศัพท์วินัยเรียกว่า สจิตตกะ นั่นคือ ขึ้นอยู่กับเจตนา)... และวินัยยังเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับสามเณร ศีลข้อนี้ จัดเป็นวัตถุแห่งปาราชิก นั่นคือ สามเณรใดมีเจตนาดื่มเข้าไป ถือว่าเป็นผู้พ่ายแพ้และขาดจากความเป็นสามเณร...

 

ก่อนจะจบพระธรรมเทศนาวันนี้ ก็ได้ยกโทษแห่งการดื่มสุราในกุมภชาดกมานิดหน่อยพอเป็นตัวอย่าง ซึ่งโทษทั้งหมดนี้ ผู้เขียนได้ลอกมาไว้ ผู้สนใจ (คลิกที่นี้)

ในบรรดาศีลห้านี้ ความต่างกันระหว่างศีลสี่ข้อแรก กับศีลข้อสุดท้ายคือข้อสุราฯ นี้ มีหลายนัย ซึ่งผู้เขียนก็ทิ้งท้ายว่า จะยกยอดไปแสดงในวันพระต่อไป....

  • เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้
หมายเลขบันทึก: 234493เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2009 17:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • กราบขออนุญาตยกค่าวมาและต่อบทด้วยศีลข้อที่ 5 ขอรับ
  • ศีลาสิกขา สัมมาว่าฮ้อ รับเอาหัวข้อ จดจ่อศึกษา
    ตั้งใจ๋ละเว้น ก๋ารเป๋นโทษา เอาเจ๋ตนา มาเป๋นที่จั้ง
    คฤหัสถา ศีลห้ามาตั้ง ป๋าณาติป๋าตัง เป๋นเก๊า
    .
    สองอทินนา สามกาเมเค้า สี่มุสาเข้า รวมนัย
    ห้าข้อปั๋ญจะ มัชชะเมาไก๋ สุราเมรัย เว้นไกล๋บ่เข้า
    ยอมือไหว้สา พระมหาเจ้า ข้าขอลำเนา ค่าวเน้น
    .
    ป๋าณาติป๋า ศึกษาเพื่อเว้น ก๋ารเข่นฆ่าล้าง ม้างชีว์
    สัตว์มีชีวิต จิตคิดเบียดสี เพียรทุกวิธี บั่นชีวาสั้น
    สัตว์นั้นต๋ายไป ดั่งใจ๋ว่าอั้น ครบองค์โดยพลัน ขาดนับ

    .
    อทินนาทาน์ รู้ว่าสินทรัพย์ มีเจ้าของอั้น ปันแปง
    มีไถยจิต คิดผิดคิดแผง จักลักของแปง ด้วยแรงอยากได้
    เพียรทุกวิถี ต๋ามวิธีใบ้ ได้ของเมื่อใด ขาดนะ
    .
    ก๋าเมสุ มิจฉาจ๋าระ ล่วงละเมิดอั้น หญิงชาย
    อันเป๋นที่ฮัก มีศักดิ์มีหมาย แต่ก็บ่วาย มีใจ๋เกี่ยวข้อง
    จิตเสน่หา เวียนมาจ้องจ้อง มรรคถึงมรรคปอง ขาดครบ
    .
    มุสาวาทา รู้ว่าความเท็จ มีเจตน์จักเว้า กล่าวคำ
    เพียรก่อกระทู้ อู้หื้อถลำ ชักชี้แนะนำ คำเท็จจ้อยจ้อย
    เหล่าคนหญิงชาย เชื่อในรสถ้อย รับรู้ลงรอย ขาดละ
    .
    สุราเมรัย สิ่งใดมัชชะ สัพพะแม่นมั่น น้ำเมา
    ทั้งทั้งที่รู้ จิตสู้ใช่เขลา เพียรจักดื่มเอา น้ำเมาว่าอั้น
    น้ำเมาล่วงไหล ลงในคอหั้น ครบองค์แห่งอัน ขาดแล้ว
    .
  • ในวันพระหน้า ขอพระคุณท่านช่วยว่าด้วยเรื่องบทสรุปแห่งเบญจศีลให้ด้วยนะขอรับ
  • กราบ 3 หนขอรับพระคุณท่าน

เรียนพระคุณเจ้า...วันนี้ผมก็ไปหาเพื่อนมา ปรากฎว่าเขานั่งกินเบียร์กันผมก็ต้องกินน้ำตามระเบียบครับ

Pทนัน ภิวงศ์งาม

 

จะว่าตามอาจารย์ ในวันธัมมัสสวนะต่อไป... (..........)

................

P เบดูอิน

 

เคยฟังจากพระเถระรูปหนึ่งว่า คนที่จิตใจสูง ก็คือเพื่อนกินเหล้าแต่เราไม่กิน เพื่อนสูบบุหรี่แต่เราไม่สูบ ฯลฯ... ส่วนผู้ที่เคยกินเหล้าเคยสูบบุหรี่ และสามารถเลิกได้เด็ดขาด ถือว่าเป็นผู้มีจิตใจสูงกว่า...

อาตมาก็คิดต่อไปว่า สำหรับผู้ที่เลิกได้เด็ดขาดแล้ว ยังมีความสามารถชักชวนให้ผู้อื่นเลิกได้ด้วย ถือว่าเป็นผู้มีจิตใจสูงที่สุด...

อาจารย์นั่งร่วมกับคนกินเหล้ากินเบียร์ แต่อาจารย์ไม่กิน โดยสามารถสนทนาปราศัยกันได้ตามสมควร กล่าวได้ว่าเป็นผู้มีจิตใจสูงเช่นเดียวกัน...

..........

เจริญพรทั้งสองท่าน

นมัสการพระอาจารย์

กระผมเองได้ฝึกปฏิบัติธรรมแบบค่อยเป็นค่อยไปมาเป็นระยะหนึ่งแล้ว

ถึงแม้จะเลิกสิ่งที่ผิดศีลยังไม่ได้ แต่ก็ลดละลงไปมากครับ

มีอยู่วันหนึ่ง ยุง บินเข้ามาในมุ้ง จะตีก็ไม่กล้าตี

วันหนึ่งไปตลาด ตั้งใจจะต้มปลาอร่อย ๆ ให้เพื่อน ๆ ชิม แต่กว่าจะกล้าซื้อปลาได้ ก็เดินวนอยู่หลายรอบ เพราะไม่อยากทำลายชีวิตปลา

วันต่อมาจึงนำมาพิจารณาอยู่นาน ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตนเอง

จึงตัดสินใจจะหลีกเลี่ยงการผิดศีลให้ดีที่สุด เว้นแต่เพื่อการเลี้ยงชีวิตตามประสาปุถุชนครับ

P ธรรมดา

 

  • อนุโมทนา สาธุ

หลักพระพุทธศาสนา มีเรื่องการบำเพ็ญบารมีธรรม นั่นคือ การค่อยๆ ลดละเลิกสิ่งที่เป็นบาป ความชั่ว หรืออกุศล... และค่อยๆ เก็บสะสมเพิ่มพูนสิ่งที่เป็นบุญ ความดี หรือกุศล...กล่าวคือ หมั่นละชั่วทำดี นั่นเอง

ผู้ที่บารมีแก่กล้าก็อาจทำชั่วได้ยาก ทำดีได้ง่าย... ขณะที่ผู้มีบารมีอ่อนแอก็อาจทำชั่วได้ง่าย ทำดีได้ยาก...

สำหรับคุณโยม บารมีอาจเริ่มแก่กล้าแล้ว เพราะมีการชะงักยับยั้งในสิ่งที่เห็นว่าไม่ถูกไม่ควรมากยิ่งขึ้น...

เจริญพร

นมัสการค่ะ
แล้วคนที่ดื่มไวน์ เพื่อสุขภาพ แต่ไม่เมาล่ะคะ ผิดไหม ดิฉันไม่เคยดื่มนะคะ แค่เรียนถามค่ะ

PSasinand

 

  • การดื่มไวน์นั้น เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท หรือไม่ ?

เจริญพร

น่าสงสัยยิ่งครับพระอาจารย์...

ประเด็นแอลกอฮอล์มีประโยชน์ต่อร่างกาย...ถ้าระดับโลกียะคงหาข้อสรุปได้ยาก...แต่ถ้าเข้าเขตโลกุตระ...อันนี้น่าพิจารณาได้ชัดเจน(ว่าเป็นเหตุให้ฐานที่ตั้งของสติสั่นคลอนได้...555)

 

สุราเม เล่ห์ร้าย              คนลวง

ติดบ่วงรส ตรึงใจ          ไป่ลี้

กิเลสลึก ฝังแล้ว            ยากแท้ ไถ่ถอน

กินเพื่อรู้ ค่อยแก้           อย่าอ้าง ให้ตาย

 

กราบ 3 หน

 

 P นายขำ

 

 

  • สุ   ไหลรินส่งเข้า      ลำคอ
  • รา  ไม่ต่อข้าขอ        หยุดได้
  • เม  บอกเพื่อนข้ารอ   เอ็งอยู่   นะเว้ย
  • รัย  นั่นช้าถ้าไข้        อย่าใกล้ ร้านเหล้า

(อธิบายศัพท์...

  • สุ เป็นรากศัพท์ใช้ในความหมายว่า ไหล.... 
  • รา แผลงมาจาก ลา หมายความว่า สิ้นสุด ยกเลิก จากกัน... 
  • เม ลดรูปมาจากคำว่า Email ... 
  • รัย สำนวนใต้แปลว่า ชักช้า ยืดยาด...)

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท