BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

การแบกของหนักเป็นทุกข์


การแบกของหนักเป็นทุกข์

วันนี้... ได้รับรู้เรื่องราวที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลหลายสิ่งหลายอย่าง เป็นสภาพที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะบางอย่างเราก็ไม่มีหน้าที่โดยตรงที่จะเข้าไปจัดการได้ และถ้าจะต้องดำเนินการก็ต้องประสานคนหลายฝ่าย ซึ่งก็ยังคาดคะเนไม่ได้ว่าผลกระทบจะเป็นอย่างไรบ้าง จะแน่ใจได้ก็เพียงอย่างเดียวในขณะนี้ คือต้องการให้สภาพที่เป็นอยู่ดีขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น... นี้ประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง การรับรู้ความไม่ได้เรื่องของคนใกล้ชิดบางคน ซึ่งผิดซ้ำๆ ซากๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า ถ้าว่าสิ่งนั้นก่อให้เกิดปัญหาเฉพาะเจ้าตัวคนเดียวก็พอทน แต่ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลกระทบไปยังคนอื่นๆ ซึ่งเป็นที่รักใคร่ห่วงใยส่วนตัวด้วย ทำให้รู้สึกหงุดหงิด เบื่อ เซ็ง รำคาญ และอื่นๆ ที่ยากจะบรรยาย.... นี้ประการต่อมา

ยังมีอีกหลายประการ แต่ประการสุดท้ายที่ต้องการจะบ่นก็คือ ความไม่เอาไหน ความไม่ได้เรื่อง ความเกียจคร้าน รวมความว่าบรรดากิเลสของตนเองนั่นแหละ... ตอนนี้มีงานที่จะต้องเขียนอยู่สองเรื่อง เรื่องแรกก็คือเรียบเรียงเรื่องเจ้าปายาสิฯ ใหม่เพื่อจะได้พิมพ์เป็นเล่ม (คลิกที่นี้) ตามที่รับปากพี่ท่านไว้ หลังจากเขียนในบล็อกเสร็จก็ยังไม่ได้เริ่มเลย... อีกเรื่องก็มงคลสูตร (คลิกที่นี้) ซึ่งมีสำนักพิมพ์สนใจติดต่อมาว่าจะเอาไปพิมพ์เผยแพร่ โดยขอต้นฉบับที่ขัดเกลาสำนวนแล้ว รับปากไว้ว่าเสร็จเมื่อไหร่จะส่งไป สองเดือนผ่านไปก็ยังไม่ได้เริ่ม เมื่อ ๔-๕ วันก่อนก็ทวงถามมาอีก จึงบอกกลับไปว่ายังไม่ได้เริ่มเพราะ ตอนนี้ไม่มีไฟ ! (5 5 5...)

เมื่อหลายๆ อย่างถมทับความรู้สึกนึกคิดจิตใจ ก็นอนเพ่งไปที่ความรู้สึก ทำให้นึกถึงบทสวดมนต์แปลของสำนักสวนโมกข์ตอนหนึ่งว่า....

  • ภารา หะเว ปัญจักขันธา        ขันธ์ทั้งห้า เป็นของหนักเน้อ
  • ภาระหาโร จะ ปุคคะโล          บุคคลแหละเป็นผู้แบกของหนักพาไป
  • ภาราทานัง ทุกขัง โลเก         การแบกถือของหนักเป็นความทุกข์ในโลก
  • ภาระนิกเขปะนัง สุขัง            การสลัดของหนักทิ้งลงเสียเป็นความสุข
  • นิกขิปิต๎วา คะรุง ภารัง           พระอริยเจ้าสลัดทิ้งของหนักลงเสียแล้ว
  • อัญญัง ภารัง อะนาทิยะ         ทั้งไม่หยิบฉวยเอาของหนักอันอื่นขึ้นมาอีก
  • สะมูลัง ตัณหัง อัพพุย๎หะ       เป็นผู้ถอนตัณหาขึ้นได้กระทั่งราก
  • นิจฉาโต ปะรินิพพุโต             เป็นผู้หมดสิ่งปรารถนาดับสนิทไม่มีส่วนเหลือ

คาถานี้มาจากภารสูตร ผู้ใคร่จะอ่านจากพระไตรปิฏกโดยตรง เชิญคลิกที่นี้

 

ครั้นแล้วก็รำลึกไปถึงความเป็นพระอรหันต์ นั่นเป็นอุดมคติแห่งชีวิต... แต่สำหรับพระปุถุชนคนยังปล่อยวางและปล่อยเลยตามเลยไม่ได้ในหลายๆ เรื่อง... ความขัดแย้งก็เกิดขึ้นทันที ระหว่างชีวิตในอุดมคติกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ยังมีชีวิตอยู่...

คนนะสอนยาก (แต่ตัวเองนะสอนยากที่สุด) เรียนหนังสือมาก็เยอะ แต่ก็ไม่อาจสอนคนใกล้ชิดหรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้มาก จึงรู้สึกเบื่อๆ...

อย่างไรก็ตาม แม้สอนคนอื่นให้เปลี่ยนพฤติกรรมไม่ได้ แต่ทุกคราวที่มีปัญหาเกิดขึ้น สิ่งที่เคยเรียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมะของพระพุทธเจ้า มักจะผุดขึ้นมาสู่คลองความคิดเสมอ ได้แค่นี้ ผู้เขียนก็ภูมิใจแล้ว...

หมายเลขบันทึก: 243119เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2009 03:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 04:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

ภาระหาโร จะ ปุคคะโล บุคคลแหละเป็นผู้แบกของหนักพาไป

สาธุครับ พระอาจารย์ :)

สุภาษิตกระเหรี่ยง "จุดตะเกียงดีกว่าก่นด่าความมืด"

นมัสการพระคุณเจ้า มาช่วยรับรู้ภาระหนัก และวิธีใช้ธรรมปลดเปลื้องเรื่องหนัก ๆ ที่อยู่ไกล้ ๆ หนักที่สุดคือหนักใจครับ

เผลอเมื่อไร  หนักเมื่อนั้นครับ

Padayday

 

 

มีอุปมาเปรียบเทียบว่า ทุกข์เหมือนของหนัก ส่วนสุขเหมือนของเบา ว่า...

  • จกฺกํว วหโต ปทํ  = (ทุกข์ย่อมติดตามไป) เหมือนล้อติดตามรอยเท้าโคตัวที่กำลังลากเกวียน
  • ฉายาว อนุปายินี = (สุขย่อมติดตามไป) เหมือนเงาคอยติดตามตัว

.....

Pนายนพ

 

 

  • "จุดตะเกียงดีกว่าก่นด่าความมืด"
อนุโมทนายิ่งสำหรับภาษิตนี้ จะจำไว้
..........

Pวอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

 

 

นั่นแหละบัง หนักใจหนอ! หนักใจหนอ! หนักใจหนอ!

ชีวิตก็เป็นทำนองนี้แหละ เรามักเห็นเศษละอองที่ขอบตาของคนอื่น แต่มักไม่เห็นท่อนซุงที่หางตาของเรา...

........

Psmall man~natadee

 

 

คนวัยกลางคน มักจะเป็นอย่างนี้ เพราะมีปัญหารุมสุ่มที่จัดการได้ไม่หมด กล่าวคือ ปัญหาภายในครอบครัวของตัว ปัญหาพ่อแม่และญาติพี่น้องทั้งของตนเองและคู่ชีวิต ปัญหาการทำงาน ปัญหาเพื่อนฝูง... เผลอเมื่อไหร่ รู้สึกหนัก ! ทันที ครั้งแล้วครั้งเล่า ซ้ำๆ ซากๆ...

อาตมาอยู่วัด แม้ปัญหาบางอย่างจะไม่มี ก็ยังรู้สึกหนักเลย... จึงคิดว่าเพื่อนๆ อยู่บ้าน คงต้องหนักกว่า...

.......

เจริญพรทุกท่าน

นมัสการพระอาจารย์

ดีที่สุด ก็คงต้อง วาง นั่นกระม้ง

ผมเคยรับปากโรงพิมพ์จะเขียนหนังสือ 1 เล่ม จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้แค่ไหน ตัดสินใจแจ้งผู้ประสานงานว่า ขอยกเลิก

 

สบายยยยยยย

PMr Boonchai Theerakarn

 

 

เรื่องเขียนหนังสือนั้น สามารถ วาง ! ได้ไม่ยากนัก เพียงแต่เสียหน้าและเสียความรู้สึกส่วนตัวเล็กน้อยเท่านั้น...

แต่หลายอย่างในความเป็นอยู่ปัจจุบันนั้นมีความกดดันสูง จะปล่อยวาง หรือปล่อยปะละเลย ก็อาจดีในทำนองว่า เฉยไว้ก็ดีเอง แต่ก็อาจเข้าข่าย เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ หรือ ทองไม่รู้ร้อน... ส่วนบางอย่างนั้นไม่อาจหลีกเลี่ยงได้โดยประการทั้งปวงทำนองว่า ตกกระไดพลอยโจน ... แต่ถ้าวิตกกังวลมากเกินไปก็อาจเข้าข่าย เจ๊กตื่นไฟ... และถ้าทำอะไรก็ไม่สำเร็จไม่ได้เรื่องได้ราว ก็อาจเข้าข่าย เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ... (สำนวนไทยมีเยอะแยะ ที่สะท้อนถึงความไม่เหมาะสม หรือไม่ควรในสถานการณ์นั้นๆ )

ความเหมาะสม! ความเหมาะสม! ความเหมาะสม! .... คำนี้พิมพ์ไม่ยาก แต่ทำยากจริงๆ  อาจารย์หมอเห็นด้วยหรือไม่ ?

เจริญพร

นมัสการพระอาจารย์

 

หากมัน แทรกซ้อน หลายเหตุหลายปัจจัย เช่นนั้น

 

ก็คงต้อง วาง จริงๆแล้วหล่ะพระอาจารย์ 

 

และบางที วางเสีย อาจเป็น ความเหมาะสม ที่แท้จริงก็ได้กระมังครับ

"อย่างไรก็ตาม แม้สอนคนอื่นให้เปลี่ยนพฤติกรรมไม่ได้ แต่ทุกคราวที่มีปัญหาเกิดขึ้น สิ่งที่เคยเรียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมะของพระพุทธเจ้า มักจะผุดขึ้นมาสู่คลองความคิดเสมอ ได้แค่นี้ ผู้เขียนก็ภูมิใจแล้ว."

อนุโมทนาสาธุครับพระคุณเจ้า กระผมก็คิดเช่นนั้นครับ (แต่กรณีของ กระผมๆ คิดว่ากระผมสามานย์ เอ้ยสามารถเปลี่ยน คนบางคนได้ โดยเปรียบเทียบจาก อดีต กับ ปรัตยุบัน โดยเมื่อใน อดีต ดูจะไม่ค่อยพอใจในสถานภาพตนเอง จึงพยายามไขว่คว้าความสุขจากภายนอก มาเติมเต็มความสมุขภายในที่ตนเองขาดหาย แต่ทว่าใน ปรัตยุบัน ดูสนใจครอบครัวมากขึ้น เริ่มที่จะค้นหาความสุขจากภายใน มากกว่าที่จะไปเสียเวลาค้นหาความสุขจากภายนอก  ซึ่งเรียกได้ว่า กลับหน้ามือเป็นหลังมือ (มานึกๆ ดูกระผมได้ใช้ เมตตา กรุณา มากพอสมควร ความสำเร็จจึงบังเกิด ตอนนี้ก็กำลัง ใช้ มุทิตา (ยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี) และ อุเบกขา ประกอบขึ้นเป็น (มหา)วิหาร แห่งพรหม เอาไว้ให้ใจได้พักอาศัย ครับ)

วกกลับมาเข้าเรื่องนะครับ ในฐานะที่กระผมเป็นพุทธมามกะ ผู้เข้าถึง ไตรสรณคมน์ และเนื่องด้วยมีอาจารย์ท่านหนึ่ง กำลังทำวิจัยในหัวข้อที่เกี่ยวกับ คัมภีร์อนาคตวงศ์ เมยเตยยสูตต์  และเมตเตยยวงศ์ กระผมระลึกถึงพระคุณเจ้าผู้เป็น สรณะ จึงมานิมนต์พระคุณเจ้า ได้ช่วยอรรถาธิบาย/หรือให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหัวข้อวิจัยดังกล่าว เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้สนใจ และเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจศึกษาวิจัยเกี่ยวเนื่องด้วย คัมภีร์อนาคตวงศ์ เมยเตยยสูตต์  และเมตเตยยวงศ์ ขอรับ

กวิน

นิมนต์ ที่บันทึกนี้ ครับ http://gotoknow.org/blog/penpal/237661 ความคิดเห็นที่ 18 และ 20 ครับ

PMr Boonchai Theerakarn

 

ความเหมาะสม เป็นประเด็นสำคัญในการดำเนินชีวิต มีแนวคิดเรื่องนี้ไว้มาก เช่น... 

จริยศาสตร์ของอริสโตเติลมีแก่นอยู่ที่เรื่องนี้ โดยให้พิจารณาความเหมาะสมระหว่างที่สุดโต่ง ๒ อย่าง เช่น ความสุรุ่ยสุร่ายกับความตระหนี่ถี่เหนียว หรือความบ้าบิ่นกับความขลาดกลัว...

คำสอนของพระพุทธเจ้าก็มีเรื่องนี้มาก เช่น อปัสเสนธรรม ซึ่งเคยเล่าไว้ (คลิกที่นี้)

และก็มีคำกลอนจากอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งจำมาท่องเล่นเสมอ นั่นคือ

  • ถ้าแคบนักมักคับขยับยาก
  • ถ้ากว้างนักมักไม่มีที่ใส่สม
  • ถ้าเบานักมักปลิวไปตามลม
  • ถ้าหนักนักมักจมลงบาดาล

...........



  • เข้าไปดูแล้ว แต่คงจะช่วยอะไรไม่ได้ เพราะมิใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนั้น...
....
เจริญพรทั้งสองท่าน

อ่านแล้วยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีประโยชน์สามารถนำไปปฏิบัติได้เป็นรูปธรรมมากและสอนนักเรียนชัดเจน ดีใจแทนคนสงขลาที่มีพระที่มีชื่อเสียงขอคุณความดีทั้งหลายมีต่อลูกหลานของท่านพระอาจารย์

ไม่มีรูปภาวนา สรเสณี

 

เจริญพร

นมัสการพระอาจารย์

  • มี "ทุกข์" คราใด ถึงได้แวะมาอ่านธรรมะออนไลน์ของพระอาจารย์นะขอรับ
  • สัปดาห์ก่อนกัลยาณมิตรบอกว่า ให้ละวางขันธ์ 5 วันนี้ได้อ่านอีกที ยิ่งน่าสนใจเข้าไปอีกครับ
  • กราบขอบพระคุณครับ

     นมัสการพระคุณเจ้า

  • เห็นท่านเงียบหายไป ผมรู้สึกว้าเหว่ไปพักใหญ่
  • ดีใจที่ได้อ่านงานท่านอีกครั้ง ถึงแม้จะค่อยๆแกะ ค่อยๆทำความเข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วมีความสุข.
  • เมื่อยามที่ผมไปเยี่ยมพี่ชายที่สงขลา(หน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา)ผมคิดอยากไปกราบนมัสการสนทนาธรรมกับท่าน
  • แต่ก็ไม่กล้า เกรงว่าจะไปรบกวนเวลาพระคุณเจ้าเดี๋ยวจะเป็นบาป
  • แต่อย่างไรเสีย ผมจะติดตามอ่านงานของท่านตลอดไป

Pหมอน้อย 447

 

กัลยาณมิตรที่รู้จักกันใน GoToKnow เคยมาเยี่ยมถึงกุฏิเท่าที่นึกได้ขณะนี้ น่าจะมี ๓ ท่าน และเป็นสุภาพบุรุษทั้งหมด (ยังไม่เคยมีสุภาพสตรีมาเยี่ยมเลย 5 5 5) ถ้าคุณโยมแวะผ่านมาเยี่ยมเป็นท่านต่อไป ก็มิใช่เรื่องที่แปลก อัศจรรย์ หรือเป็นบุญเป็นบาปอะไรนัก...

กุฏิอาตมามีประตู ๓ ชั้น คือ ประตูไม้ด้านนอก ประตูเหล็กด้านใน และประตูห้อง...ประตูไม้ด้านนอกจะปิดตลอด แต่สามารถกระโดดข้ามด้านข้างเข้ามาได้ ประตูเหล็กมักจะปิดเมื่ออยู่ในห้อง ขณะที่ประตูห้องส่วนตัวในกุฏิปิดบ้างไม่ปิดบ้าง... ดังนั้น คนทั่วไปมักไม่ขึ้นมา แต่ถ้าเป็นญาติหรือเพื่อนสนิทมาหาก็มักจะตะโกนเรียกหรือโทรศัพท์เรียกที่หน้าประตู (5 5 5)

เจริญพร 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท