BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ปัญหาคณะสงฆ์ เป็น ปัญหาวัฒนธรรมองค์กร ?


ปัญหาคณะสงฆ์

ตามความเข้าใจของผู้เขียน วัฒนธรรมองค์กร ก็คือสิ่งที่ดำเนินการกันมาเนิ่นนานและถักทอมาเป็น ธรรมเนียมปฏิบัติ ค่านิยม การยึดถือ และความเชื่อต่างๆ... ซึ่งผู้ที่เข้ามาสู่วัฒนธรรมขององค์กรนั้นๆ ก็จะถูกหลอมละลายค่านิยมเดิมและค่านิยมใหม่ๆก็จะถูกบ่มเพาะโดยองค์กรนั้นๆ...

ปัญหาคณะสงฆ์ปัจจุบันมีมิติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการปกครอง การศึกษา หรือกิจการด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์ ซึ่งเมื่อไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ปล่อยให้ค้างคาไว้อย่างนั้น โดยอ้างว่าเป็นปัญหาวัฒนธรรมองค์กร...

ผู้เขียนจะยกตัวอย่างบางประเด็นเพื่อขอความเห็นว่าเป็นปัญหาเชิงวัฒนธรรมองค์หรือไม่ ?

การยึดถือผู้อาวุโส บางวัดท่านเจ้าอาวาสมีอายุเกือบร้อยปี แต่ก็ยังแข็งแรง ยังมีความเฉลียวฉลาดปราดเปรื่องตามธรรมดาทั่วไป ขณะที่ท่านผู้น้อยภายในวัด ซึ่งต้องการจะแก้ปัญหาอย่างโน้นอย่างนี้... แต่ท่านเจ้าอาวาสไม่เห็นด้วย ก็ไม่สามารถจะกระทำได้ จึงต้องปล่อยค้างคาไว้อย่างนั้น...

กรณีนี้ คิดดูง่ายๆ ท่านผู้น้อยเป็นรองเจ้าอาวาสหรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสอายุท่านก็เจ็ดสิบกว่าแล้ว ยังไม่สามารถใช้ความคิดความเห็นภายในวัดได้เต็มที่ เพราะท่านเจ้าอาวาสไม่เห็นด้วย... จะแข็งข้อก็ยากเพราะท่านเจ้าอาวาสเป็นอาจารย์ (หลายๆ อย่างท่านก็สละให้ เพียงแต่บางอย่างท่านก็ไม่ยอม)...ประมาณนี้

กรณีทำนองนี้ ที่กล่าวขานกันที่สุดก็คือสำนวนว่า ให้ผมตายเสียก่อน... และรู้สึกว่าสำนวนนี้ยังไม่เคยล้าสมัยเลย

การรวมศูนย์อำนาจ กิจการคณะสงฆ์มีลักษณะรวมศูนย์อำนาจไว้ยังส่วนกลาง (จะว่าได้เบ็ดเสร็จก็ได้) เช่น การออกข้อสอบนักธรรมตรี ก็ต้องออกมาจากกรุงเทพฯ การขออนุญาตไปเพื่อทำพาสปอร์ตก็ต้องขอไปตามลำดับชั้นและต้องผ่าน ศตภ. (คณะอนุกรรมการศูนย์ควบคุมไปต่างประเทศของพระภิกษุสามเณร) ซึ่งตั้งอยู่ในส่วนกลาง เป็นต้น

ถือย่าม ตามก้น นิมนต์บ่อย คอยรับใช้ ถวายชาดี บุหรี่ฉุน เจ้าคุณฯ ชอบ .... นี้คือเรื่องที่พูดกันเล่นๆ ว่า ผู้หวังความเจริญก้าวหน้าในทางคณะสงฆ์ต้องเป็นไปอย่างนี้ ซึ่งอาจสะท้อนข้อเท็จจริงบางอย่างได้...

อนึ่ง ผู้มีความเห็นแย้ง และต้องการแก้ไข หลายๆ ท่านก็ร้อนวิชาต้องลาสิกขาออกไปใช้วิชาในเพศคฤหัสถ์ ซึ่งกรณีนี้ก็เป็นที่รับรู้กันทั่วไป

ถ้าเรื่องที่เล่ามาโดยย่อนี้ เป็น ปัญหาวัฒนธรรมองค์กร ผู้เขียนยังมองไม่เห็นทางว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ?

ดังนั้น จึงใครฟังความเห็นสำหรับผู้ที่สนใจกรณีที่เล่ามา....

เจริญพร  

คำสำคัญ (Tags): #ปัญหาคณะสงฆ์
หมายเลขบันทึก: 86434เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2007 22:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 19:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

นมัสการหลวงพี่ครับ

ขออนุญาตเข้ามาตีไข่นะครับ ด้วยความขอบพระคุณ ที่หลวงพี่ได้เมตตาตีไข่ให้ผมในบทความเรื่อง ไม่อยากพลาดเรื่องดีๆ เพียงเพราะไม่ได้ตามตลอด  ครับ  เหมือนๆ กับเป็นการเจิมให้บทความผมยังไงไม่ทราบ เลยมีคนเข้ามาอ่านเยอะครับ  ^__^

ปัญหาที่หลวงพี่ยกมา ผมเห็นด้วยทั้งหมดครับ เป็นปัญหาใหญ่ของวัฒนธรรมองค์กรที่ทำให้พุทธจักรปรับตัวไม่ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเร็วมากๆๆๆๆ  พระรุ่นใหม่ที่เก่งๆ มีมาก แต่กว่าท่านจะข้ึ้นสู่ระดับที่มีบทบาทได้ก็แทบจะหมดไฟแล้ว และก็เรียกได้ว่าถูกกลืนไปกับความเฉื่อยชาของระบบไปแล้ว  ฆราวาสไม่กล้าเข้ายุ่งเรื่องนี้ครับ มีหลายเรื่องที่ผมคิดว่าต้องปรับปรุง แต่การปรับปรุงในระบบนี้มาจากข้างนอกไม่ได้ครับ คงต้องมาจากการรวมตัวของกลุ่มใหม่ ให้เข้มแข็งขึ้นจึงจะสนับสนุนส่งเสริมกันให้มีบทบาทเพิ่มขึ้นได้  ถ้ากลุ่มพระหัวใหม่ยังกระจัดกระจายก็ยากที่จะผลักดันใหม่เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ครับ

P

บวชนานๆ ถูกวัฒนธรรมองค์กรกลืนหมด...อาตมาก็ถูกกลืนแล้วเช่นกัน (......) คิดเรื่องนี้มาหลายเดือนแล้ว ก็เลยนำมาเสนอเล่นๆ...

อันที่จริง ยังมีประเด็นอื่นๆ อีกมาก ซึ่งคงจะค่อยๆ เล่า เมื่อมีโอกาส...

เพื่อนอาตมาบอกว่า พวกที่เขียนหนังสือ คือ พวกที่ทำไม่ได้ หรือไม่มีโอกาสได้ทำ ...อาตมาคงจัดอยู่ในประเภทนี้ (.....ป 

เจริญพร

นมัสการพระคุณเจ้า

ขออนุญาตเรียนถามค่ะ

  • วิธีการปกครองสงฆ์ มีระบุในพระวินัยหรือเปล่าคะ
  • ระเบียบวิธีการปกครองของสงฆ์แต่ละประเทศเหมือนกันหรือแตกต่างคะ
  • ระเบียบของสงฆ์ตามที่อ่านบันทึกของพระคุณเจ้า  ในกรณีข้อสอบนั้น ไม่ทราบว่า เพราะมีคณะกรรมการออกข้อสอบเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่นเดียวกับกรณีของพยาบาลที่ใช้ข้อสอบส่วนกลางเพื่อขึ้นทะเบียนประกอบโรคศิลปะหรือเปล่าคะ ถ้าใช่ก็คิดว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่สงฆ์มีระเบียบที่ยกระดับมาตรฐานการศึกษาไว้น่ะค่ะ....
  • ขอบพระคุณค่ะ
  • ผมว่าคณะสงฆ์ เอาวัฒนธรรมองค์กรของชาวโลกมาใช้มากจนเกินไป  จนบางครั้งวัฒนธรรมองค์กรตามพระวินัยเลยบกพร่อง
  • การเมืองก็แทรกแซงได้อีกต่างหาก...จนดูเหมือนชาวบ้านมาจัดระเบียบพระ
  • สมมติสงฆ์ที่ยังมีกิเลสปะปนอยู่ ก็บ้าเกียรติยศศักดิ์ศรีไม่ต่างกันกับคนธรรมดา อยากได้ อยากมี อยากเป็น 
  • บางแห่งอยากเป็นเจ้าคณะอำเภอจนเนื้อเต้นวิ่งเข้าวิ่งออก สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดจนหน้าวัดเวียนหัว...ยอมได้ทุกอย่างประเภทประจบสอพลอ
  • ให้ร้ายป้ายสี พระอื่น เพื่อให้ความดีของตนโดดเด่น
  • พูดเรื่องพระ "การเมือง"  นี่ยาวครับ..เอาแค่นี้ก่อนแล้วกัน

 

นมัสการครับ

P

อาจารย์ถามมาหลายประเด็น ก็จะตอบย่อๆ

  • ในพระวินัยมีระเบียบบางอย่าง ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการปกครองคณะสงฆ์ แต่ระเบียบการปกครองหรือธรรมเนียมปฏิบัติบางอย่างก็งอกเงยขึ้นมาจากพระวินัย...
  • การปกครองคณะสงฆ์ในส่วนที่เป็นพระธรรมวินัยก็เหมือนกัน แต่ในส่วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายแต่ละประเทศคงจะไม่เหมือนกัน...
  • เป็นส่วนดีที่ใช้มาตรฐานเดียวกัน แต่ส่วนที่เป็นโทษก็มีหลายประเด็น...

เจริญพร

P

ตามที่ว่ามามีปรากฎทุกอย่าง แต่ก็มากบ้างน้อยบ้าง มิใช่ทั้งหมด...

ผู้มีอำนาจในบ้านเมือง และมีเจตนาดีต่อพระพุทธศาสนา พยายามยื่นมือไปแก้ไขประเด็นนี้ ... แต่ก็แปลก ท่านเหล่านั้น ค่อนข้างจะมีอันเป็นไปในทางลบเสมอมา... ทำให้วัฒนธรรมองค์กรสงฆ์เปลี่ยนแปลงไปในทางลบอยู่เสมอ...

พิมพ์มาถึงประเด็นนี้ก็นึกถึง สาเหตุเรื่องการเลือนหายไปของพระพุทธศาสนาในอินเดียในหนังสือเล่มหนึ่งได้ ก็จะคัดลอกมาลงในบันทึกต่อไป...

คุณย่ามแดงค่อยให้ความเห็นอีกครั้ง นะจ้า

เจริญพร

กราบนมัสการครับ

ประเด็นการแทรกแทรงจากฝ่ายอาณาจักรต่อศาสนจักรในเมืองไทยนั้น ผมแน่ใจว่าไม่ได้มีแต่พุทธศาสนาครับ ส่วนจะแก้อย่างไรนี่ ผมก็จนใจ เพียงแต่รู้สึกว่าควรจะเริ่มด้วยการเผชิญหน้ากับความเป็นจริงก่อนครับ

ผมเป็นผู้ศึกษามาน้อย ไม่เข้าใจบาลี จึงขอยกส่วนหนึ่งจากมหาปรินิพพานสูตร ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 10 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 2 ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร วรรค ๑๔๑-๑๔๓ ซึ่งมีผู้รู้แปลมาครับ

     [๑๔๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ก็ข้อนี้ พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมและวินัย อันใด เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็น ศาสดาของพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา ดูกรอานนท์ บัดนี้ พวกภิกษุยังเรียกกันและกันด้วยวาทะว่า อาวุโส ฉันใด โดยกาลล่วงไปแห่งเรา ไม่ควรเรียกกันฉันนั้น ภิกษุผู้แก่กว่า พึงเรียกภิกษุผู้อ่อนกว่า โดยชื่อหรือโคตร หรือโดยวาทะว่า อาวุโส แต่ภิกษุผู้อ่อนกว่าพึงเรียกภิกษุผู้แก่กว่าว่า ภันเต หรืออายัสมา ดูกรอานนท์ โดยล่วงไปแห่งเรา สงฆ์จำนงอยู่ ก็จงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างได้ โดยล่วงไป แห่งเรา พึงลงพรหมทัณฑ์แก่ฉันนภิกษ ท่านพระอานนท์กราบทูลถามว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ก็พรหมทัณฑ์เป็นไฉน พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์  ฉันนภิกษุพึงพูดได้ตามที่ตนปรารถนา ภิกษุทั้งหลายไม่พึงว่า ไม่พึงกล่าว ไม่พึง สั่งสอน ฯ
      [๑๔๒] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสงสัยเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรค หรือในข้อปฏิบัติ จะพึงมีบ้างแก่ภิกษุ แม้รูปหนึ่ง พวกเธอจงถามเถิด อย่าได้มีความร้อนใจภายหลังว่า พระศาสดาอยู่เฉพาะหน้าเราแล้ว ยังมิอาจทูลถามพระผู้มีพระภาคในที่เฉพาะพระพักตร์ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นพากันนิ่ง แม้ครั้งที่สอง ... แม้ครั้งที่สาม พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสงสัยเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรค หรือในข้อปฏิบัติจะพึงมีบ้างแก่ภิกษุแม้รูปหนึ่ง พวกเธอจงถามเถิด อย่าได้มีความร้อนใจในภายหลังว่า พระศาสดาอยู่เฉพาะหน้าเราแล้ว เรายังมิอาจทูลถามพระผู้มีพระภาคในที่เฉพาะพระพักตร์ แม้ครั้งที่สามภิกษุเหล่านั้น ก็พากันนิ่ง ฯ
     ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บางทีพวกเธอไม่ถาม แม้เพราะความเคารพในพระศาสดา แม้ภิกษุผู้เป็นสหาย ก็จงบอกแก่ภิกษุผู้สหายเถิด เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุพวกนั้น พากันนิ่ง ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ข้าพระองค์เลื่อมใสในภิกษุสงฆ์อย่างนี้ว่า ความสงสัยเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรค หรือในข้อปฏิบัติ มิได้มีแก่ภิกษุแม้รูปหนึ่ง ในภิกษุสงฆ์นี้  พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร อานนท์ เธอพูดเพราะความเลื่อมใสตถาคตหยั่งรู้ในข้อนี้เหมือนกันว่า ความสงสัย เคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรค หรือในข้อปฏิบัติ มิได้มีแก่ภิกษุแม้รูปหนึ่ง ในภิกษุสงฆ์นี้ บรรดาภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ภิกษุรูปที่ต่ำที่สุด ก็เป็นโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงมีอันจะตรัสรู้ในภายหน้า ฯ
      [๑๔๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ฯ
      นี้เป็นพระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต ฯ

ในประเด็นของวัฒนธรรมองค์กรในทางโลกนั้น เป็นเรื่องที่ต้องพยายามช่วยกันสร้างและรักษาครับ เมื่อเกิดขึ้นเป็นวัฒนธรรมองค์กรแล้ว จะลุกลามเสมอ หากเห็นว่ามีเรื่องใดที่ไม่ดี ก็ต้องพยายามตัดไฟเสียแต่ต้นลม แก้ไขเสียตั้งแต่ยังแก้ได้

ดังนั้น วัฒนธรรมองค์กรจึงเริ่มสร้างกันตั้งแต่องค์กรมีขนาดเล็กๆ จะง่ายกว่ามากครับ

ตัวอย่างอีกอันหนึ่งซึ่งชัดเจนคือวัฒนธรรมของระบบราชการครับ แม้ว่ามีข้าราชการที่ดีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ผลก็เป็นอย่างที่เห็นอยู่

P

อนุโมทนาที่คุณโยมนำมาให้ทบทวน...

คุณโยมยกระบบราชการมาเปรียบเทียบ รู้สึกว่าชัดเจนเลย ...

เจริญพร

พระอาจารย์ครับ...หากเปรียบเป็นยุทธจักรนิยาย...

 

ยอดฝีมือในสำนักต่าง ๆ ย่อมมีระบบระเบียบของสำนักเป็นครรลองให้ยึดถือ...ฝึกปรือตามกระบวนท่าที่สำนักบัญญัติขึ้นเท่านั้น...หากนอกลู่นอกทาง...ก็นับเป็นศิษย์ทรยศ...

 

แต่ยอดฝีมือที่จะสำเร็จสุดยอดวิชาของบู้ลิ้มได้...มักเป็นศิษย์ทรยศ...555

 

ผู้ที่บรรลุธรรม...สำเร็จมรรคผลก็เช่นกัน...ผมเชื่อว่าอยู่นอกระบบ...(ถึงแม้อยู่ในระบบก็หายินดีกับยศตำแหน่งที่ได้รับไม่ เพราะรังแต่จะเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งให้สะดุดทางที่จะเดินสู่นิพพาน...อิอิ)

P

ใครดีใครชัง ช่างเถิด

ใครเชิดใครชู ช่างเค้า

ใครเบื่อใครบ่น ทนเอา

ใจเราร่มเย็น เป็นพอ

...จำเค้ามานะ ท่านเลขาฯ

เจริญพร

คนบ้านนอกกินกบกินเขียด

ทำไมบวชมาแล้วจึงไม่ลดเลิกละกิเลสเสียทีพระทุกวันนี้ตำแหน่งต่าง ๆ ตายไปเอาไปได้ไหมละ มีแต่กิเลสมักมากในลาภยศฐาบันดาศักดิ์ น่าสมเพชเวทนาเหลือเกินหนอพระผู้ประเสริฐแท้ ประจบสอพลอ สิ้นดี

มหาตื่นยศฐาบรรดาศักดิ์

ไม่ทราบว่าพระทุกวันนี้เข้าใจคำว่า ตถตา, อนัญญตา,อวิถตา,อิทัปปจตาหรือเปล่าจึงได้วิ่งเต้นหาแต่ทุกข์ ในวิสุทธิมรรคได้กล่าวไว้ว่ามีแต่ทางเดิน แต่ขาดคนเดิน มีแต่ทุกข์ แต่คนที่รุ้จักทุกข์นั้นไม่มี มีแต่ความดับแต่ผู้เดินไปสู่ความดับไม่มีเลยจริงไหมขอรับท่านเจ้าประคุณทั้งหลาย ที่หมกมุ่นอยู่กับพิธีกรรมทั้งหลาย ศาสนาพุทธของเรานั้นไม่ไหวแล้วละมั๊ง กระผมว่านะ

หนุ่มรัฐศาสตร์ปโทปี ๒ บุรีรัมย์

บวชมาแล้วหัดสอนตนเองบ้างก็ดีนะท่านพระคุณเจ้าทั้งหลายอย่าสอนแต่ชาวบ้านมากนัก เดี๋ยวชาวบ้านจะย้อนเอานะ การสอนชาวบ้านนั้นง่ายมากไม่ยากเพราะชาวบ้านนั้นศรัทธาพระสงฆ์อยู่แล้ว แต่การที่พระสงฆ์วิ่งเต้นเพื่อลาภเพื่อยศนั้นเป็นสิ่งที่เป็นของพระพุทธศาสนาใช่ไหม เท่าที่ทราบมานะ แก่นของพระพุทธศาสนานั้นคือความหลุดพ้น กระพี้คือปัญญสที่ฆ่ากืเลส เปลือกคือสมาธิสะเก็ดคือศีลส่วนที่ต่ำสุดคือกิ่ง-ใบของพระพุทธศาสนาคือลาภสักการะชื่อเสียงสรรเสริญ ยศฐาบรรดาศักดิ์ ลองไปสำรวจดูซิว่าเราจัดอย่ในระดับไหน หรือพัฒนาจิตไปถึงขั้นไหนแล้ว แต่ที่เห็นก็มีแต่กิ่ง-ใบของพระพุทธศาสนาเท่านั้น และยังทะเลาะกันเรื่องลาภตำแหน่งจนวุ่นวายไปหมดปีนี้ฉันจะต้องได้ขั้นนั้นขั้นนี้ แต่คำสอนของพระพุทธเจ้ากำลังจะตายไปตามกาลเวลา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท