รองเท้าฟองน้ำ Off Loading?


นี่แหละค่ะชีวิตคนเราต้องต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อที่จะสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ภายใต้เงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป เราไม่สามารถที่จะกำหนดกฎเกณฑ์ที่ตายตัวได้ ต้องมองหลายๆด้านประกอบกัน

         

ประมาณต้นปี 2551 เราได้ประเมินการ off loading  ด้วยไม้ค้ำยัน พบว่า

  1. ใช้ไม่ค่อยได้ผลในผู้ชาย เพราะเขาต้องออกไปประกอบอาชีพที่ต้องใช้ความแข็งแรง

  2. ผู้ป่วยที่มีความสูงมากกว่า 180 เซ็นต์ติเมตร นั้นไม้ค้ำยันมีความยาวไม่พอ จึงไม่สามารถใช้ได้

          เราจึงต้องคิดหาวิธีการใหม่ในการช่วยเหลือผู้ป่วยของเรากลุ่มนี้...เฮ้อ...คิดๆ เท่าไร คิดไม่ออกซักที...จนครั้งนึงมีโอกาสได้พูดคุยกับคุณพี่กิตติศักดิ์ ( นักกายอุปกรณ์ผู้มีไฟตลอดกาลของเรา ) พี่เค้าเล่าให้ฟังว่าเคยเป็นตาปลามานานหลายปี รักษามาแล้วสารพัดวิธี พอหายไปสักพักหนึ่งแล้วก็กลับมาเป็นอีกเหมือนเดิม ซึ่งนำความรำคาญมาให้พี่เค้ามาก เขาจึงลองใช้แผ่นรองพื้นรองเท้ามาเจาะรูให้ตรงกับบริเวณที่เป็นตาปลาแล้วใส่ซ้อนลงไปในรองเท้าที่เขาใช้อยู่ประจำ หลังจากใส่รองเท้าแบบนี้ประมาณ 1 ปี แล้วกลับมาใช้รองเท้าแบบปกติพี่เค้าก็ไม่เกิดตาปลาบริเวณนั้นอีกเลย หลังจากเล่าให้เราฟังพี่เค้าก็ถามเราว่า แล้วเราจะใช้วิธีกับผู้ป่วยเบาหวานได้มั้ยล่ะ ...โอ้โฮ้พี่...ยอดเยี่ยมมากเลย...ขอบคุณมากนะค่ะพี่กิตติศักดิ์ที่ช่วยเสนอแนวคิดที่ดีมากเลยคะ... 

               พอได้แนวคิดที่ดีแล้วก็ต้องมองหาอุปกรณ์ที่เราจะใช้ ซึ่งแผ่นรองพื้นรองเท้าที่ใช้อยู่มันบางเกินไป คงจะใช้ไม่ได้แน่ ๆ ลองหมุนไปรอบตัว...โอ๊ย...เวียนศีรษะ...แล้วเราพบรองเท้าฟองน้ำที่คุณลุงท่านหนึ่ง (ผู้ป่วยในห้องกายอุปกรณ์ )ใส่มา พร้อมอุปกรณ์เสริม นั่นคือสายรัดส้นเท้าที่ทำมาจากปอแก้วสีแดงสดใส สวยงามมาก ...เราจึงปิ๊งไอเดียเลย...ขออนุญาตคุณลุงลองจับรองเท้าดูเพื่อดูว่ามีความนุ่มพอมั้ยสำหรับผู้ป่วยเท้าเบาหวาน พบว่ารองเท้าที่คุณลุงใส่มานั้นนิ่มมากเลย คงเพราะใช้งานมานานมากแล้ว ต้องไปหาที่ยังใหม่ ๆ อยู่ ลองจับ ๆ บีบ ๆ ดู...อะ...อะ...ถูกใจใช่เลยคะ

             ตานี้แหละ เราต้องการผู้ที่จะมาทดลองใช้ดูแล้วล่ะ….คนแรกที่เราทดลองทำเป็นน้องผู้ชาย รูปร่างสูงใหญ่(สูงประมาณ 190 เซ็นต์ติเมตร หนัก 126 กิโลกรัม) อายุ 37 ปี เดิมมีอาชีพขับรถสิบล้อแต่หลังเป็นแผลต้องมา รพ. ประจำต้องเปลี่ยนอาชีพมารับจ้างตีกลองในวงแตรวง มีแผลที่โคนหัวแม่เท้าข้างซ้ายมาประมาณ 1 ปี มาทำแผลตลอดแต่ไม่หายและไม่มีทีท่าว่าจะหาย เนื่องจากน้องเขาต้องเดินวันละหลายชั่วโมงและต้องแบกกลองไปด้วยเมื่อเขาตกลงใจจะใช้วิธีนี้ เราก็ดีใจมากรีบดำเนินการทำให้ทันทีแต่ด้วยความที่คาดไม่ถึงเราก็ ปรับรองเท้าให้เขาแค่เพียงข้างซ้ายข้างเดียว (เฮ้อ! อีกแล้วนะเรา) เพราะเราต้องการให้น้องเขาเดินให้น้อยลง ในอาทิตย์ถัดมาเมื่อน้องเค้ากลับมาหา ปรากฏว่าน้องเขาถอดแผ่นรองพื้นรองเท้าที่ใช้รองเท้าเจาะรูของเราออกไปเสียแล้ว  ลองสอบถามดูเขาก็บอกว่า ผมก็อยากใช้นะหมอ แต่เวลาผมเดินมากๆมันปวดขาข้างขวา เนื่องจากว่ารองเท้ามันสูงข้าง ต่ำข้าง ผมเลยต้องเอาออก ” แต่เมื่อฟังตำตอบของเขา เราก็อึ้งไปเลย เพราะเราลืมนึกถึงเท้าอีกข้างหนึ่งที่ไม่เป็นแผลไปเลย เหตุผลของเราคือต้องการให้เขาเดินให้น้อยที่สุด  เขายังบอกอีกว่า ถ้าผมไม่เดินแล้วผมจะทำงานอย่างไรล่ะหมอ ขนาดทำงานกันทั้ง สองคนผัวเมีย ยังไม่ค่อยจะพอกินพอใช้เลยเอาละวา  คิดซิค่ะเราต้องคิดหาวิธีการที่ว่าจะทำอย่างไรดีนะ  ลองคุยกับน้องเขาดู เขาก็เสนอว่าถ้าทำให้รองเท้าสูงเท่ากัน มันน่าจะทำให้เราสะดวกเวลาเดินมากขึ้นนะหมอทำไมเราไม่คิดถึงตั้งแต่แรกนะ ถ้าเรารับฟังความคิดเห็นจากคนรอบด้าน โดยไม่ต้องคำนึงว่าเขาจะเป็นใคร เราจะได้ความรู้ความคิดที่ดีๆอีกมากมายเลยว่ามั๊ย แต่น้องเขาขอยังไม่ทำในวันนั้นเลย  แต่จะขอทำในสัปดาห์หน้า ….หลังจากวันนั้นน้องเขาหายไปเลยไม่มาตามนัด เราก็รออยู่ และพยายามติดตามผู้ป่วยรายนี้ผ่านทางโทรศัพท์ที่ให้เบอร์ไว้ แต่ไม่สามารถติดต่อได้ และน้องเขามาเช่าบ้านอยู่ นอกเขตเครือข่ายความรับผิดชอบของเรา และอยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง ไปทำงานที่อื่นด้วย  มาทราบภายหลังว่า เขาได้ขายโทรศัพท์มือถือไป เพราะความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจนี่แหละค่ะชีวิตคนเราต้องต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อที่จะสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ภายใต้เงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป เราไม่สามารถที่จะกำหนดกฎเกณฑ์ที่ตายตัวได้ ต้องมองหลายๆด้านประกอบกันเศร้าเหมือนกันนะเราก็รอวันที่น้องเขาจะกลับมาค่ะหวังว่าคงจะไม่สายจนเกินไป

          เราก็ยังต้องทำงานดูแลผู้ป่วยของเรารายต่อๆไป  คุณลุงอายุ 67 ปี เป็นเบาหวานมานาน ทำงานในอู่ซ่อมรถที่ต้องยืน ต้องเดินทั้งวัน คุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดีตั้งแต่แรกๆนานมาเป็นปีๆ จนมีภาวะแทรกซ้อนที่เท้า เท้ามี Charcot’s foot มีแผลที่กลางฝ่าเท้าซ้ายมาประมาณ 2 ปีกว่า รักษาเบาหวานที่คลินิกอายุรกรรมทำแผลที่อนามัยใกล้บ้านมาตลอด แผลก็ยังเหมือนเดิมไม่ดีขึ้น จนคุณลุงเริ่มท้อใจ และเริ่มทำใจว่ามันคงจะไม่หายแน่ เมื่อ 3เดือนก่อน คุณลุงมาพบแพทย์ด้วยเท้าข้างซ้ายบวมแดงมากขึ้น  แพทย์ส่งมาที่คลินิกสุขภาพเท้าของเราเพื่อตรวจประเมินเท้า เราจึงได้ดูแลรักษาแผลที่เท้าให้คุณลุง และแนะนำให้คุณลุงลองทำการ off loading โดยวิธีการนี้ ซึ่งคุณลุงก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีตอบตกลงทันทีเลย หลังจากคุณลุงใช้รองเท้าที่เราปรับให้ก็มาหาเราทุกวันพุธที่คลินิกสุขภาพเท้า เพื่อดูแลรักษาแผลด้วย  พบว่า ประมาณ 3 เดือนแผลคุณลุงเริ่มดีมากขึ้น แผลแคบลงใกล้ปิดหมดแล้ว ก็นับว่าเป็นวิธีการทีไม่ยุ่งยากวุ่นวาย ทั้งตัวผู้ป่วยเองก็สะดวกสบายมากขึ้น เราก็ลองทำกับผู้ป่วยที่มีแผลที่เท้าอีกหลายๆราย ก็พบว่า บางคนเป็นแผลมากกว่า 5 ปี ถึงเวลานี้แผลดีขึ้นมากจวนหายสนิท  นั่นก็เป็นความสุข ความภาคภูมิใจที่เราได้รับอานิสงค์จากงานที่เราทำ เราคิดว่าถ้าเราสามารถรักษานิ้วเท้าของใครสักคนไว้ได้ไม่ให้ถูกตัด แม้ว่าต้องใช้เวลาเป็นเดือนเป็นปี เราถือว่าคุ้มค่ามากทีเดียว 

 

          การดูแลรักษาแผลที่เท้าในคลินิกเราในปัจจุบันเราก็คิดหาวิธีการต่างๆให้เหมาะสมกับสภาพของผู้รับบริการเป็นรายๆไป มีทั้งเรื่องการใช้ไม้ค้ำยัน  การลดแรงกดที่แผลโดยการเปลี่ยนจุดรับน้ำหนัก   การใช้รองเท้าที่เหมาะสม เราคิดว่าเราคงต้องเรียนรู้ที่จะพัฒนางานหาวิธีการต่างๆของเราไปเรื่อยๆ เพื่อผู้ป่วยของเราไม่ต้องถูกตัดเท้า ตัดขา  เพราะนี้คือความภาคภูมิใจของเรา

         ข้อคิดที่ได้รับ   

      ก่อนที่จะให้ความช่วยเหลือใครสักคน เราอย่าคิดแต่เพียงฝ่ายเดียวว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ที่เราจะให้ความช่วยเหลือ แต่ต้องรู้ว่าสิ่งนั้นตรงกับความต้องการและเหมาะสมกับบริบทของบุคคล คนนั้นหรือไม่ นั่นจึงจะถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขา

เปรมสุรีณ์ ผู้เล่า

 

</span>

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #off loading
หมายเลขบันทึก: 198179เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2008 23:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • ขอบคุณค่ะ สำหรับการให้บริการผู้ป่วยด้วยใจ
  • "ก่อนที่จะให้ความช่วยเหลือใครสักคน เราอย่าคิดแต่เพียงฝ่ายเดียวว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ที่เราจะให้ความช่วยเหลือ แต่ต้องรู้ว่าสิ่งนั้นตรงกับความต้องการและเหมาะสมกับบริบทของบุคคล คนนั้นหรือไม่" ... คำนี้ เหมาะสมที่สุดเลยค่ะ สำหรับใจที่ให้บริการ

ขอบคุณนะคะคุณเพื่อนร่วมทาง ที่เข้ามาให้กำลังใจ ถ้ามีเรื่องดี ๆ อีกจะเขียนมาให้อ่านใหม่คะ

เห็นแล้วน่าภูมิใจแทนผู้ป่วยเบาหวานพุทธชินราช จริงๆนะคะ ที่ได้รับสิ่งดีๆจากทีมเบาหวานพุทธชินราช เสมอ.............

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท