เรียนรู้เรื่อง Outcome Mapping


การประชุมทำแผนในลักษณะนี้น่าจะมีการสร้างบรรยากาศและมีกิจกรรมที่ทำให้คนรู้สึกผ่อนคลายและฝันได้อย่างอิสระ

เมื่อวันเสาร์ที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๐ ดิฉันwfhเข้าประชุมเพื่อทำแผนของแผนงานพัฒนาสถาบันการศึกษาพยาบาลให้เป็นผู้นำในการสร้างเสริมสุขภาพ ที่โรงแรมอะมารี แอร์พอต ดอนเมือง

ความจริงเคยมีการประชุมระดมสมองเพื่อทำแผนนี้ไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายนที่ผ่านมา (อ่านที่นี่) แต่เนื่องจากทีมจัดการได้รับข้อมูลใหม่ๆ จาก สสส. และได้เรียนรู้เรื่อง Outcome Mapping (OM) จึงได้จัดประชุมขึ้นอีก โดยเชิญคุณพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน หรือคุณเด่น จากงานติดตามประเมินผล สำนักพัฒนายุทธศาสตร์ แผน และสมรรถนะ สสส. มาเป็นวิทยากร

คุณเด่นเล่าว่า สสส.ทำงานมา ๕-๖ ปี ก็มีเสียงสะท้อนจากสังคมว่าทำงานได้คุ้มค่ากับงบประมาณที่ได้หรือเปล่า สสส.ทำงานกับเครือข่ายจะตอบได้อย่างไรว่าเป็นผลงานของ สสส. หรือผลงานของเครือข่าย ต่อมาได้รับคำแนะนำเรื่อง OM จากสถาบันวิจัยและพัมนาระหว่างประเทศ (International Development and Research Center, IDRC) เชื่อว่าเครื่องมือนี้จะช่วยตอบโจทย์ของสังคมได้ เริ่มนำมาใช้เมื่อประมาณต้นปี

คุณเด่นบอกถึงข้อจำกัดของการวัด “ผลกระทบ” หลายอย่าง เช่น
- มีปัจจัยและผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก (complex, multiple actors and factors)
- การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่จำกัดเฉพาะช่วงเวลาของแผนงาน
- การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นเส้นตรงและมีปัจจัยภายนอกแทรกซ้อนตลอดเวลา การวัดผลกระทบจึงไม่ fair กับคนทำงาน
- โปรแกรมก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ด้วย
- อยู่นอกเหนืออำนาจของแผนงาน
โดยสรุปผลกระทบหรือ impact เป็นเรื่องไกลตัวออกไปมากจากคนทำงาน

จุดเน้นของ OM : การเปลี่ยนแปลงไม่ได้ไล่เป็น step ทำงานในระบบเปิดอะไรก็เกิดขึ้นได้ Impact น่าจะเป็นผลระยะยาว

OM คือเครื่องมือที่ใช้ในการวางแผนการทำงานที่ให้ความสำคัญกับ
- การทำงานร่วมกันกับภาคีและการพัฒนาศักยภาพภาคี
- การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม
- กำหนดขอบเขตงานที่ชัดเจน
- เน้นสร้างการเรียนรู้ มองวิธีการทำงานเหมือนการเดินทางไปสู่เป้าหมาย ระหว่างทางมีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก เน้นการเรียนรู้และนำมาปรับการทำงานให้ไปสู่เป้าหมายให้ได้
- การทำงานอย่างมีส่วนร่วม ไม่คิดทำงานคนเดียว เพราะจะไปมุมกว้างไม่ได้

การทำงานร่วมกับภาคีต้องมีการกำหนดบทบาทของผู้ที่เราไปเกี่ยวข้อง

เครื่องมือใน OM มี ๓ ขั้นตอนใหญ่คือ (๑) การวางแผน – Intentional design เป็นการออกแบบวิธีการทำงาน (๒) การติดตาม และ (๓) การประเมินผล เพื่อสร้างการเรียนรู้ว่าจะทำอย่างไร

การประชุมในวันนี้ focus ที่ Intentional design ซึ่งมีทั้งหมด ๗ ขั้นตอนคือ vision, mission, boundary partners, outcome challenges, progress markers, strategy maps และ organizational practices ทีมจัดการประชุมแบ่งพวกเราเป็น ๒ กลุ่มย่อยตามรายชื่อเลขคู่-เลขคี่ มีโจทย์ให้ทำงานเป็นระยะๆ เราทำแบบฝึกหัดได้แค่ strategy map เท่านั้น

Step 1 : Vision
วิสัยทัศน์ของ OM เป็นการอธิบายภาพความสำเร็จที่ปลายทาง เป็นภาพจินตนาการไปให้ถึงผู้รับประโยชน์ รอบๆ ตัวผู้รับประโยชน์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง Key words คือจินตนาการ+แรงบันดาลใจ+เป็นไปได้

วิสัยทัศน์เป็นจินตนาการที่สร้างแรงบันดาลใจและเป็นไปได้ ไม่ต้องกังวลว่าเราจะต้องรับผิดชอบให้มันเกิดขึ้น คุณเด่นบอกว่าอยากให้เรามีความสุขกับการจินตนาการ ฝันว่าอยากสร้างความสำเร็จอะไรร่วมกัน ฝันให้เต็มที่ เมื่อเขียนออกมาแล้วคนที่อ่าน/ดู/ฟังเกิดความรู้สึกฮึกเหิมอยากจะร่วมทำงานด้วย

Step 2 : Mission
พันธกิจเป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของความฝัน ต้องคิดอยู่บนพื้นฐานของสิ่งที่เรามี ทั้งฐานทรัพยากรและฐานกำลัง การทำพันธกิจมีคำถาม ๓ ข้อคือจะทำอะไร กับใคร เพื่อให้เกิดผลอะไร

Step 3 : Boundary Partners
เนื่องจากมีข้อจำกัดของทรัพยากรและกำลัง เราต้อง identify ภาคีหุ้นส่วนหรือเจ้าภาพตัวจริงแต่ละเรื่อง เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะเราจะผลักดันงานผ่านคนเหล่านี้ ภาคีหุ้นส่วนอาจเป็นบุคคล กลุ่ม หรือองค์กรที่เราจะทำงานด้วยโดยตรง หวังผลการเปลี่ยนแปลงในเขา และสามารถที่จะผลักดันให้เขาเกิดเปลี่ยนแปลงได้ เขาน่าจะเป็นคนที่มีคุณสมบัติดังนี้ – มีศักยภาพที่จะทำให้บรรลุวิสัยทัศน์ได้ มีความสนใจในงานของเรา

นอกจากนี้ยังมีภาคีเชิงยุทธศาสตร์ ( strategic partners) เป็นผู้ที่ทำงานเรื่องเดียวกับเรา แต่เราไม่หวังผลการเปลี่ยนแปลงในเขา อาจเชิญมาร่วมแลกเปลี่ยนเป็นครั้งคราว

Step 4 : Outcome Challenges
Outcome = การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เน้นพฤติกรรมของคนที่เราไปทำงานด้วย อยากเห็น boundary partners เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร คำที่ควรหลีกเลี่ยงใน outcome challenges เพราะไม่รู้จะวัดอย่างไร เช่น มีการยอมรับมากขึ้น สร้างความเข้มแข้ง ลดความขัดแย้ง เพิ่มความร่วมมือ ความอ่อนไหวในเรื่องเพศ......

Step 5 : Progress Makers
ตัวบ่งชี้ความก้าวหน้า เป็นเป้าหมายรายทาง ถูกวางมาจาก outcome challenge แต่บางทีเมื่อทำไปแล้วอาจได้เลยไปกว่าที่กำหนดไว้ก็ได้ เอาเป้าหมายใหญ่มาแยกเป็นขั้นตอนย่อยๆ คือ
- ขั้นต้น Expect to see เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ เมื่อลงมือทำงาน
- ขั้นกลาง Like to see หลังการทำงานมาระดับหนึ่งจะเกิดอะไรขึ้น
- ขั้นสูง Love to see เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมระยะยาว ถ้าเราออกไปแล้วก็ยังอยู่
เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเป็นขั้นๆ ไป อย่างไรก็ดี progress marker ไม่ควรมีจำนวนมากเกินไป โดยทั่วไปมักมีประมาณ ๑๕ ขั้น

Step 6 : Strategy Maps
แผนที่ยุทธศาสตร์เป็นตารางที่ให้เราวางแผน strategies และ activities ๒ ส่วนคือมุ่งที่บุคคลหรือกลุ่ม และมุ่งที่สภาพแวดล้อมของคนหรือกลุ่มนั้นๆ แต่ละส่วนแบ่งเป็น ๓ เรื่องคือ causal, persuasive, supportive

การประชุมในวันนี้ทำให้รู้เรื่อง OM เพิ่มมากขึ้นกว่าที่เคยอ่านมาบ้างแล้ว เห็นว่าน่าจะเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับวางแผนการทำงาน ดิฉันคิดว่าการประชุมทำแผนในลักษณะนี้น่าจะมีการสร้างบรรยากาศและมีกิจกรรมที่ทำให้คนรู้สึกผ่อนคลายและฝันได้อย่างอิสระ เลิกคิดถึงวิธีการเดิมๆ ที่เราเคยใช้มา

ดิฉันรู้สึกชื่นชม รศ.ดร.นิตย์ ทัศนิยม ผู้จัดการแผนงานและทีมงานที่มีความตั้งใจสูงมากในการทำงานครั้งนี้และให้ทุกสถาบันได้มีส่วนร่วม ขณะเดียวกันก็รู้สึกเห็นใจที่ทีมอาจารย์นิตย์ต้องไปทำงานต่ออีก เพราะเวลาเพียงวันเดียวยังไม่สามารถวางแผนในทุกขั้นตอนได้เสร็จสิ้น ผู้เข้าประชุมมากันไม่ครบทุกสถาบัน ผู้ที่มาบางคนก็มาสาย บางคนก็อยู่ไม่ตลอดการประชุม

ขอแนะนำ website ที่สามารถอ่านและ download หนังสือ OUTCOME MAPPING: Building Learning and Reflection into Development Programs ที่นี่

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 152824เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2007 15:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อ.วัลลาครับ

  • ขอบคุณครับที่นำเรื่องดีๆมาเล่าให้ผมมีโอกาสรับรู้ น่าสนใจมากนะครับ
  • อจ.เล่าเรื่องเก่งนะครับ เนื้อหาสมบูรณ์มากๆ
  • ขอนำไปทำความเข้าใจต่อนะครับ ผมความรู้น้อยต้องค่อยๆเรียนรู้ครับ

สวัสดีค่ะคุณหมอเกรียงศักดิ์

คุณหมอถ่อมตัวจังเลย ดิฉันก็ไม่ค่อยรู้เหมือนกัน เลยต้องตั้งใจบันทึกคำบรรยายของวิทยากรและที่เอามาเขียนบันทึกไว้ก็เพื่อจะได้ทำความเข้าใจให้มากขึ้น

อยากชวนคุณหมอเกรียงศักดิ์และทีมอุดรฯ มาร่วมจัดกิจกรรมในนามของเครือข่าย KM เบาหวานในงาน HA Forum วันที่ ๑๓ มีนาคม คุณหมอช่วยส่ง e-mail address ให้หน่อยนะคะ จะได้นัดหมายคุยกันต่อไป

สวัสดีค่ะอาจารย์

แวะมาเรียนรู้ ขอบคุณประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ ค่ะ

ตามมาเรียนรู้ครับ OM

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท