สอบวิทยานิพนธ์ปริญญาโทเรื่องเบาหวาน


ควรเข้มงวดตั้งแต่การทำโครงร่าง อย่าผ่านไปง่ายๆ

เมื่อวันที่ ๒๘-๒๙ เมษายน ๒๕๕๑ ดิฉันได้ทำหน้าที่ประธานกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ของนิสิตปริญญาโท ๔ คนที่ทำวิจัยด้านเบาหวาน ได้เรียนรู้วิธีการที่ดีและข้อที่น่าเป็นห่วงที่อยากจะบันทึกไว้เพื่อแลกเปลี่ยนกัน

การสอบวิทยานิพนธ์ของสถาบันนี้จะให้ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกเป็นประธานสอบ กรรมการมีทั้งกรรมการที่ควบคุมวิทยานิพนธ์ และกรรมการจากภายนอกคณะที่บัณฑิตวิทยาลัยแต่งตั้ง การตัดสินผลการสอบแบ่งเป็นผ่าน Incomplete และไม่ผ่าน

ข้อดีที่พบ
- กรรมการภายนอกคณะที่อ่านงานวิจัยของนิสิตมาทั้งเล่ม สามารถตั้งคำถามและให้ข้อคิดเห็นที่เป็นภาพรวม ภาพใหญ่ และมองไปข้างหน้า ที่บางครั้งกรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์เองอาจนึกไม่ถึง
- การมีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกเป็นประธานสอบและมีกรรมการสอบจากนอกคณะ ช่วย balance การพิจารณาตัดสินผลการสอบได้ดี เป็นมาตรการอย่างหนึ่งในการประกันคุณภาพ
- นิสิตมีความมานะพยายาม ลงทุนทั้งกำลังกาย เงิน และเวลาเพื่อพัฒนาตนเอง
- อาจารย์ที่ปรึกษาและนิสิตมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน อาจารย์ที่ปรึกษารู้จักนิสิตในความดูแลของตนเอง รู้ถึงจุดแข็งจุดอ่อนของแต่ละคน ควบคุมดูแลให้งานของนิสิตไม่ล่าช้า
- ข้อมูลที่นำเสนอแสดงให้เห็นว่านิสิตได้ทำงานด้วยตนเองและมีความซื่อสัตย์

ข้อที่น่าห่วงใยเกี่ยวกับนิสิต  
- อ่อนในการให้เหตุผลว่าเหตุใดจึงทำการวิจัยเรื่องนั้นๆ “ทำไมจึงสนใจศึกษาเรื่อง..........................” “สถานการณ์ที่โรงพยาบาลของคุณเป็นอย่างไร” มักอ้างโน่นอ้างนี่พอเป็นพิธีแล้วสรุปว่าจะศึกษาเรื่องนั้นๆ แบบตั้งธงไว้ก่อนแล้ว ไม่มีการวิเคราะห์สถานการณ์ให้ลึกซึ้ง
- อภิปรายผลการวิจัยแบบผิวๆ ว่าเหมือนหรือแตกต่างจากผลการวิจัยของใครบ้าง
- มีความรู้เป็นเสี่ยงๆ ตอบไม่ได้ในภาพรวมว่าตนเองได้เรียนรู้อะไรจากการทำวิจัยเรื่องหนึ่ง ตอบไม่ได้ว่า “ทำ thesis แล้วมีไอเดีย/มุมมองต่อการทำงานอย่างไร”
- ไม่รู้จักตั้งคำถามในข้อค้นพบของตนเอง ทำงานได้เท่าที่วางแผนไว้เท่านั้น วิเคราะห์ลงลึก/เพิ่มเติมต่อยอดไม่ได้ ไม่รู้จักเลือกประเด็นเด็ดๆ ในการวิเคราะห์
- มีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งความรู้ Explicit อ้างอิงบทความและงานวิจัยที่ไม่ทันสมัย ดู references จากของรุ่นพี่
- ความรู้ในเรื่องระเบียบวิธีวิจัยยังไม่ค่อยเข้มแข็ง
- ความเชื่อมโยงของผลการวิจัยและข้อเสนอแนะ บางทีไม่ไปด้วยกัน เขียนข้อเสนอแนะขึ้นมาเองโดยไม่เกี่ยวข้องกับผลการวิจัยก็มี ความจริงการวิจัยเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้น ถ้ามีข้อค้นพบที่เรายังไม่รู้คำตอบหรือยังไม่กระจ่างชัด ก็สามารถเสนอแนะให้ทำวิจัยต่อ ส่วนข้อค้นพบที่เรารู้ทางแก้แต่ยังไม่ได้ทำ ก็สามารถให้ข้อเสนอแนะทางการปฏิบัติหรือการบริหารได้

เราคงจะต้องใส่ใจให้เวลาให้เครื่องมือในการศึกษาค้นคว้าแก่นิสิตนักศึกษาให้มากขึ้น ในการทำวิทยานิพนธ์ เราควรเข้มงวดตั้งแต่การทำโครงร่าง อย่าผ่านไปง่ายๆ เมื่อมีปัญหาตอนท้าย จะพากันลำบากทั้งอาจารย์และนิสิตนักศึกษา

วัลลา ตันตโยทัย

 

หมายเลขบันทึก: 181567เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2008 14:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ

ทั้งข้อดีที่พบ และข้อที่น่าห่วงใยเกี่ยวกับนิสิต อ่านแล้วเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่กำลังทำวิทยานิพนธ์อยู่ในสาขาอื่นด้วยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

เป็นกันทั้งระบบประเทศไทยเลยนะครับ... โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเกิดใหม่ ยิ่งประสบกับการณ์เช่นนี้อยู่เป็นนิจสิน...

ภายใต้กรอบของการแข่งขันเปิดหลักสูตรขึ้นมาสอนทั้งที่ขาดความพร้อมและความแกร่ง ตามต่อด้วยผู้เรียนเลือกเข้าเรียนได้สบายขึ้นเพราะเปิดกันเปรอะ... ผลที่ตามมาอย่างแน่นอนที่เราต้องยอมรับ คือ คุณภาพของคนเข้ามาเรียนลดลงไปมาก

สกอ. น่าจะล้วงลงลึกๆ กว่าที่เป็นอยู่เพื่อคุณภาพมากกว่าปริมาณ ไม่ต้องอ้างเรื่องกฏหมายเป็นอิสระต่อกัน... (กลับไปแก้ กม. ให้คุมมาตรฐานเดียวกัน มิฉะนั้นสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ทั้งงบรัฐ และ งบส่วนบุคคล เพื่อได้มาซึ่งกระดาษแผ่นเดียว)..??

เรียน อ.วัลลา

หนูเคยมีโอกาสเข้ารับฟังประชุมเบาหวานที่อาจารย์เป็นวิทยากรหลายตรั้งแล้วค่ะ ปัจจุบัน

หนูทำงาน คลินิคเบาหวานที่รพ.ถลางจังหวัดภูเก็ต ได้8 เดือน หลังจากสอบAPN ต้องทำงานทั้งหอผู้ป่วยและคลินิคพิเศษ หน่วยงานได้กระตุ้นให้ทำงาน วิจัยจากการทำงานประจำหนูทำงานวิจัยเบาหวานอยู่ค่ะ แต่หนูอยากเรียนปรึกษาอาจารย์ว่า หนูอยากได้เครื่องมือวัดคุณภาพชีวิต ของ ADA อยากเรียนถามว่าจะติดต่อกับสมาคมเบาหวานของอเมริกาอย่างไรดีค่ะ หนูอยากศึกษาจากต้นฉบับค่ะ

ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ

อรัญญา รักหาบ

เรียนคุณอรัญญา

ลองเข้าเว็บของ ADA ดูนะคะ

พระครูโสภณธรรมประดิษฐ์ (วีระพัฒน์)

เจริญพร ท่าน อ.วัลภา อาตมา ทำวิทยานพนธ์ เรื่อง "การพัฒนาชุดการสอนวิชาพระพุทธศาสนา ตามแนวอริยบสัจสี่ เรื่องหลักธรรม" ตอนนี้สอบหัวข้อผ่านแล้ว อาตมามีข้อสงสัยอยู่ว่า ตอนสอบเค้าโครง ไม่ทราบว่าประธาน คณะกรรมการ จะถามคำถามเกี่ยวกับอะไรบ้าง? อ.วัลภาช่วยตอบหน่อยนะ

กราบนมัสการพระครูโสภณธรรมประดิษฐ์

ดิฉันคาดว่าแต่ละสถาบันการศึกษาจะมีกรอบการพิจารณาในการสอบเค้าโครงการวิจัยอยู่แล้ว ในกรอบนั้นจะเป็นแนวทางในการเตรียมตัวสอบ

โดยทั่วไป หลักๆ น่าจะมีคำถามเกี่ยวกับเหตุผลที่เลือกทำการวิจัยเรื่องดังกล่าว ปัญหาคืออะไร)ความรู้ปัจจุบันในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างไร (เช่น มีใครทำแล้วบ้าง ได้ผลอย่างไร อะไรเป็น gap ของความรู้)การวิจัยครั้งนี้ต้องการตอบโจทย์อะไร กรอบแนวคิดที่ใช้ วิธีดำเนินการวิจัยในขั้นตอนต่างๆ (ควรมีแผนที่ชัดเจน)ฯลฯ

ขอนมัสการค่ะ

วัลลา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท