One day learning ที่อำนาจเจริญ (๑)


ทุกวันนี้เรามองผู้ป่วยต่างกันที่น้ำตาลสูง-น้ำตาลต่ำ

เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญได้จัดการอบรมบุคลากรในโครงการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ๑ วัน ณ ห้องประชุมโรงพยาบาลอำนาจเจริญ มีคุณทิฆัมพร ดิษฐะเนตร พยาบาลวิชาชีพเป็นผู้รับผิดชอบ
 
ดิฉันได้รับเชิญไปเป็นวิทยากร จึงได้ปรับโปรแกรมเสียใหม่แต่ยังคงเนื้อหาตามที่ผู้เขียนโครงการเสนอไว้ และชวนแกนนำเครือข่ายเบาหวานที่อยู่ใก้ลเคียงคือทีมจากอุบลราชธานีและ รพร.ธาตุพนม มาช่วยกันเป็นวิทยากร ดิฉันเดินทางไปถึงอำนาจเจริญตอนค่ำวันที่ ๙ อากาศเย็นกำลังดี ทราบว่าเพิ่งหนาวมา ๒-๓ วัน นี้เอง

กิจกรรมของเราจะไม่เน้นการบรรยายความรู้เชิงทฤษฎี แต่จะเอาประสบการณ์รวมทั้งข้อคิดจากการปฏิบัติมาเล่าให้ฟัง น่ายินดีที่โครงการนี้มีเพื่อนบ้านจากจังหวัดยโสธรส่งบุคลากรมาร่วมอบรมด้วย รวมแล้วมีผู้เข้าอบรมเกือบ ๑๒๐ คน

เช้าวันจัดงานเราไปถึง รพ.อำนาจเจริญประมาณ ๐๘ น.กว่าแล้ว ดูจากภายนอกเห็นว่าไม่ค่อยมีผู้ป่วยพลุกพล่านมากนัก ห้องประชุมที่ชั้น ๓ กว้างขวางดี ตามกำหนดการเราจะเริ่มกิจกรรมตั้งแต่ ๐๘.๓๐ น. แต่กว่าคนจะทยอยกันมาครบก็เลย ๐๙ น.ไปแล้ว มีพิธีเปิดอีกประมาณ ๑๐ นาที ทีมงานเครือข่ายของเราปรับตัวเรื่องเวลาได้เก่ง ไม่ serious อะไร มีเวลามากก็เล่าเรื่องได้มากมีเวลาน้อยก็เล่าได้น้อย แต่เสียดายแทนผู้เข้าอบรมที่จะได้ความรู้น้อยลงตามเวลา

ประมาณ ๐๙.๒๕ น. เราเริ่มด้วยการให้ดู VDO ของเครือข่ายที่มีชื่อยาวๆ ว่า เบาหวาน : สมดุลของความรู้ สมดุลของชีวิต สมดุลของระบบสุขภาพ ที่ใช้เปิดงานมหกรรม KM เบาหวานครั้งที่ ๒ ส่วนที่เป็นเรื่องราวของชาวเบาหวานอำเภอครบุรี ความยาวประมาณ ๒๐ นาที ภก.เอนก ทนงหาญจาก รพร.ธาตุพนมบอกว่าการให้ดู VDO ก่อนจะช่วยรวมความสนใจได้ดี ดิฉันจึงปรับเวลาเสียใหม่และขออนุญาตผู้เข้าประชุมว่าจะพักรับประทานอาหารกลางวันช้าไปเล็กน้อย

 

บรรยากาศในห้องประชุม

หลังจากนั้นเป็นการบรรยาย ๒ เรื่อง เรื่องแรก นพ.สุธี สุดดี หรือหมอจิ้น จาก รพ.วารินชำราบ บรรยายเรื่องการคัดกรอง การวินิจฉัย และการรักษา นอกจากจะให้ความรู้ที่จำเป็นแล้ว หมอจิ้นยังเล่าประสบการณ์ของตนเอง พร้อมทั้งมีตัวอย่างของจริงมาเตือนใจคนทำงาน เสียดายที่ไม่ได้นั่งฟังอยู่ตลอด มีช่วงหนึ่งที่ดิฉันออกจากห้องประชุมเพื่อเตรียมกิจกรรมในภาคบ่าย กลับเข้ามาทันฟังเรื่องความแตกต่างระหว่าง “ความเห็น” ของเจ้าหน้าที่กับ “ความจริง” ของผู้ป่วย

ตัวอย่างเรื่องของ BG เพิ่ม เราเลือกวิธีการง่ายที่สุดคือการเพิ่มยา จริงๆ เป็นปัญหาของเรามากกว่าว่าจะทำอย่างไรให้เข้ากับชีวิตของเขา เช่น พระ กินยาไม่ตรงเวลาหรอก ผู้ป่วยรายหนึ่งอายุ ๔๐ กว่าปี ตาบอดมาตั้งแต่ ๕ ขวบ เราไปคิดเอาเองว่าเขาน่าจะกินยาเองไม่ถูก ทำไมญาติไม่จัดให้ อันนี้เป็นความเห็นของเรา แต่พอไปเยี่ยมบ้านจริงๆ เห็นได้เลยว่าคนตาบอดคนนี้ผ่าฟืน ทำกับข้าว เลี้ยงน้องคนอื่นๆ มาตั้งแต่เล็ก เขามีวิธีกินยา กะเวลาจากการฟังข่าววิทยุ ก็ได้บทเรียนว่าเรารักษาไม่เก่งหรอก เราจัดยาตามน้ำตาล คนไข้น่ะเก่ง

อีกรายเป็นตัวอย่างของการสื่อสารเรื่องอาหารการกินของผู้ป่วยที่น้ำตาลสูงๆ ต่ำๆ อ่านได้ที่นี่ หมอจิ้นฝากไว้ว่าต้องรู้บทบาทของผู้ป่วย เขาเป็นผู้ชำนาญการในชีวิตของเขา เราไม่สามารถไปเปลี่ยนพฤติกรรมของเขาได้ เราไปตัดสินใจให้เขาไม่ได้ แต่ต้องหากลวิธี

You can not make their decision for them.
You can not make them change their behavior.

เจ้าหน้าที่ต้องเปลี่ยนกรอบ เปลี่ยน focus ทุกวันนี้เรามองผู้ป่วยต่างกันที่น้ำตาลสูง-น้ำตาลต่ำ ควรมองว่าต่างกันที่คน ควรจัดบริการรูปแบบใหม่ ที่ต่างกันตามชุมชน/บริบท จัดบริการตามความจริง รายบุคคล รายชุมชน ความรู้ evidence base จึงจะตามมา ทำตามบริบทและความเป็นจริงจึงจะเกิดนวัตกรรม

หลังจากนั้นพักรับประทานอาหารว่าง ๑๐ นาที ผู้เข้าอบรมนั่งคุยกันเป็นกลุ่ม เราเร่งให้ทุกคนเข้าห้องโดยการเป่านกหวีดและให้ทีมทำงานไปเชิญตามโต๊ะ

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 222659เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2008 14:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท