ผสานพลังเบาหวาน เหนือ-อีสาน-ใต้ (๔)


คำพูดเป็นสื่อของการสร้างสุขสร้างทุกข์

ตอนที่

วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๒
ทีมพุทธชินราช นำโดย นพ.นิพัธ กิตติมานนท์ และลูกทีมอีก ๖ คนคือโต้ง ลัดดาวัลย์ วิภูษณพันธุ์ อ้อ (เล็ก) รัชดา พิพัฒน์ศาสตร์ อ้อ (ใหญ๋) เปรมสุรีณ์ แสนสม อ้อย สุนันทา ภักดีอำนาจ อุ๋ย ปิลันธนา จันทร และเจี๊ยบ ยุคลธร หวังเรืองสถิตย์ เดินทางมาถึงเพชรบูรณ์ราว ๐๘ น.กว่า ทันรับประทานอาหารเช้าที่โรงแรมก่อนเริ่มการประชุม

สายแล้วผู้เข้าประชุมจึงเริ่มทยอยมากัน ๐๙ น. กว่าเล็กน้อย น้องนางนำทำกิจกรรมสันทนาการ ใช้เวลาประมาณ ๑๕ นาที เราเริ่มการประชุมวันนี้ด้วยการแนะนำตัวทีมวิทยากรจากพุทธชินราช หลังจากนั้นจึงเปิด VDO เครือข่าย KM เบาหวานชุดแรก เพื่อให้เห็นว่ามีกิจกรรม KM อะไรบ้างที่เป็นเครื่องมือในการสร้างเครือข่ายและพัฒนาการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน

จบ VDO ดิฉันมีคำถามพร้อมแจกรางวัลสำหรับผู้ที่ตอบได้ถูกต้องว่า มีกิจกรรมอะไรใน VDO บ้าง คำตอบที่คาดว่าจะได้คือตลาดนัดความรู้ เพื่อนช่วยเพื่อน และการใช้ Weblog แต่ผู้เข้าประชุมยังจับสาระสำคัญไม่ค่อยได้ จึงไม่มีใครตอบคำถามได้ครบ

ดิฉันบรรยายเรื่องของ KM ขยายความกิจกรรมที่มีใน VDO ว่าคืออะไร ทำอย่างไร และเกิดผลอะไรบ้าง ใช้เวลาประมาณ ๓๐-๓๕ นาที แล้วจึงพักรับประทานอาหารว่าง

คุณหมอนิพัธรับช่วงต่อมาเล่าเรื่องงานเบาหวานบูรณาการของ รพ.พุทธชินราชว่าทำงานอะไรกันบ้าง นำ KM มาใช้อย่างไร หมอนิพัธเล่าว่าเดิมเป็นหมอ Ortho. ลงไปพูดกับชาวบ้านแรกๆ คนเฒ่าคนแก่พากันหลับ หมออนามัยเป็นคนสอนให้รู้จักวิธีการพูดกับชาวบ้าน และยังสอนเจ้าหน้าที่ของหน่วยเวชศาสตร์ครอบครัวที่ย้ายมาจากหอผู้ป่วยต่างๆ ให้รู้จักวิธีการเข้าชุมชน เห็นภาพของความเป็นเพื่อนที่ต่างก็ถ่ายทอดประสบการณ์ให้กันและกัน ไม่มีใครเป็นผู้รับฝ่ายเดียว

การทำงานมีการค้นหาผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่ร่วมกับ อสม. ในชุมชน เป็นการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงทางด้านหัวใจและหลอดเลือดไปในตัว รพ.-อนามัย-ชุมชน ต่างต้องพึ่งพากันและกัน อยู่คนเดียวไม่ได้ ทั้ง ๓ ระดับต้องประสานกันอย่างสมดุล ตนอยู่กึ่งกลางระหว่าง รพ. อนามัย และชุมชน รู้ว่าเวลาผู้ป่วยมา รพ.จะระมัดระวังตัว ไม่กล้าพูดอะไร เวลาไปอนามัยจะพูดได้ ยิ่งถ้าอยู่บ้าน จะมีความรู้สึกเป็นเจ้าของที่

ทีมพุทธชินราชจัดระบบการทำงานเชื่อมโยงระหว่าง รพ.และ สอ. ผู้ป่วยจะเจาะเลือดล่วงหน้าที่อนามัย มีรถจาก รพ.ไปรับเลือดมาตรวจ ผลการตรวจและคำสั่งการรักษาจะมี copy ส่งกลับไปที่อนามัย ถ้าคุมเบาหวานได้ก็ FU ที่อนามัยทุกเดือนๆ ละครั้ง ถ้า BG ไม่เกิน ๑๔๐ ก็ FU ต่อไปจนเดือนที่ ๖ จึงจะกลับมา รพ. แต่หากคุม BG ไม่ได้ ไม่ต้องรอถึง ๖ เดือน กลับมาตรวจที่ รพ.ได้ทันที ทุกอนามัยจะมีหมอให้คำปรึกษาประจำ ระบบการส่งข้อมูลไป-กลับระหว่าง รพ.และอนามัยนี้ปัจจุบันปรับเป็นระบบคอมพิวเตอร์แล้ว เพราะมีปัญหาเรื่องลายมือ

บทบาทของชุมชนที่สำคัญคือการปรับพฤติกรรมชีวิตใหม่ทั้งกลุ่มดี กลุ่มเสี่ยง กลุ่มป่วย เรื่องอาหารเอาง่ายๆ ไม่อ้วน ไม่หวาน ไม่มัน ออกกำลังกายต้านโรคเบาหวาน การสร้างทัศนคติเชิงบวกเป็นเรื่องสำคัญ เป็นพลังใจอย่างแรงกล้าที่จะทำให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และจะเกิดได้ง่ายขึ้นถ้าคนรวมตัวเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นที่มาของชมรมสุขภาพทั้งหลาย โดยมีชมรมเบาหวานเป็นชมรมแรก

ในระยะแรก ได้เอาผู้มีประสบการณ์มาถ่ายทอด เช่น คนที่ถูกตัดขา มองได้หลายทาง อาจเป็นบทเรียน แต่บางคนอาจคิดว่าฉันไม่เป็นหรอก ใช้ไม่ได้ผล จึงปรับมาเป็นคนต้นแบบ หมออนามัยช่วยเป็นแมวมองหาคนที่มีพฤติกรรมสุขภาพดี ปัจจุบันมีคนต้นแบบ ๒๐๐ กว่าคน (ตำบลละ ๕ คน) คนต้นแบบมีวิธีการทำงานของตน บางคนขอให้พระเทศน์หรือให้โฆษกประจำตำบลช่วยพูด ระยะที่ ๒ ปรับคนต้นแบบให้เป็นหัวหน้าหมู่เบาหวาน มีหน้าที่เจาะเลือดให้สมาชิกเดือนละครั้ง และทำ self-help group ที่อนามัย

หมอนิพัธเล่าว่าได้ใช้กระบวนการ KM ในการทำงานทุกระดับ (รพ.- PCU/ สอ.-ชุมชน) และมีการขยายเครือข่ายไปยัง รพ.ต่างๆ

 

ซ้าย หมอนิพัธ กิตติมานนท์ ขวา อ้อใหญ่ เปรมสุรีณ์ แสนสม

อ้อ (ใหญ่) เปรมสุรีณ์ ใช้เวลาประมาณ ๒๐ นาที เล่าเรื่องค่ายว่าในการจัดค่ายต้องมีความสนุก พอสนุกแล้วคนมีความสุขก็จะเปิดใจรับ ค่ายต้องมีความปลอดภัยด้วย มีการให้ความรู้ ฝึกทักษะการเป็นผู้นำ (แรกๆ ให้ออกมาจับไมค์พูดจะสั่นกันจนต้องกอดไว้ พอผ่านการฝึกเห็นไมค์จะแย่งกันพูด) ฝึกทักษะการประเมินระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง การเลือกรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพเท้า

ให้ความรู้แล้วก็มีการประเมินกลับโดยใช้เกมต่างๆ มีการทำ AAR แต่พูดภาษาอังกฤษชาวบ้านไม่รู้เรื่อง จึงใช้เป็น “สัญญาใจ” ทำจนชำนาญ เดี๋ยวนี้พอแจกหัวใจ ชาวบ้านจะเขียนได้เลยไม่ต้องบอกโจทย์ แล้วให้เขานำเสนอเอง พูดจากปากเขาเอง พูดแล้วเขาต้องทำ

บุคลากรประจำค่าย เอาเท่าที่มีหรืออาจขอความร่วมมือจากทีมในโซน การจัดค่ายมีทั้งครึ่งวัน ๑ วัน ค้างคืน ที่จัดครึ่งวันหรือ ๑ วัน ต้องจัดหลายครั้ง เป็นค่ายคนต้นแบบ ค่ายกลุ่มป่วย และกลุ่มเสี่ยง หวังว่าคนต้นแบบไปกระจายความรู้ได้ ๑ : ๑๐ ปี ๕๑ เริ่มทำค่ายกลุ่มเสี่ยง ทำเป็นตำบล ให้ความรู้คล้ายคนเบาหวาน ยึดหลักเดียวกัน

ผลที่เกิดขึ้นจากการเข้าค่าย ความรู้เพิ่มขึ้นไม่เท่าไหร่ เพราะความรู้เดิมค่อนข้างสูง มีทักษะการประเมิน BG การเจาะเลือด การเลือกอาหาร ออกกำลังกาย มี HbA1C ดีขึ้น เกิดชมรมเบาหวาน ๑๔ ชมรมที่ยั่งยืน อยู่ได้ด้วยตนเอง และเกิดชมรมรักษ์สุขภาพอื่นๆ ตามมา เช่น เรื่องบุหรี่ เหล้า

คนต้นแบบมาช่วยงาน PCU เช่น เจาะเลือด พูดคุยแนะนำกันเอง โดยเราฟังอยู่ห่างๆ อะไรที่ไม่ถูกต้อง ก็ช่วยแก้ แต่ไม่ทำต่อหน้า มีการชวนกันขี่จักรยานไปเยี่ยมเพื่อน จากเดือนละ ๑ ครั้ง เพิ่มเป็นทุก ๑-๒ สัปดาห์ มีการเก็บเงินคนละเล็กคนละน้อย ซื้อของไปเยี่ยม

ก่อนเที่ยงหมอนิพัธใช้เวลา ๑๐ นาทีพูดเรื่องสุนทรียะสนทนา เพื่อเป็นแนวให้ใช้ในกลุ่มย่อยตอนบ่าย มีคำถามว่าอะไรคือความทุกข์ส่วนใหญ่ในชีวิตของคน ความทุกข์เกิดจากความสัมพันธ์ ยิ่งใกล้ชิดมากยิ่งสุขหรือทุกข์มากตามไปด้วย ความสัมพันธ์เกิดจากการพูดคุยเป็นสำคัญ คำพูดเป็นสื่อของการสร้างสุขสร้างทุกข์ สุนทรียะสนทนาหรือ Dialogue เป็น key process ในการเพิ่มสุขลดทุกข์

กติกาคือ
๑. ยอมรับนับถือคนที่อยู่ตรงหน้า (Respecting)
๒. ไม่ด่วนตัดสินว่าถูกหรือผิด (Suspending)
๓. ฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep listening) ฟังทั้งตัวและหัวใจ แยกสิ่งที่ฟังและความคิดของตัวเองที่พร่ำบ่น
๔. พูดจากเสียงแรกของใจเรา (Voicing) รู้สึกอย่างไรพูดออกมาอย่างนั้น

ทำอย่างนี้ได้บรรยากาศแห่งความสุขจะเกิดขึ้น เมื่อมีการพูดคุยอย่างหลากหลาย ยิ่งเกิดพลวัตรของความรู้ เกิดความรู้ใหม่

จบพอดี ได้เวลาพักรับประทานอาหารกลางวัน วันนี้คุณเหมียวจัดเมนูให้มีขนมจีนของขึ้นชื่อของเพชรบูรณ์ด้วย ดิฉันรับประทานแต่ขนมจีนน้ำยากะทิและน้ำยาป่า คำนวณแล้วได้ไปหลายคาร์บทีเดียว

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 237849เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2009 05:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
พญ.เพ็ญศรี มโนวชิรสรรค์

อาจารย์ดร.วัลลา ที่เคารพ

ขอบคุณมากค่ะสำหรับเรื่องราวดีดีเกี่ยวกับการจัดการความร้เบาหวาน

ประเด็นสำคัญที่อาจารย์ได้เล่าเป็นประโยชน์มากค่ะสำหรับการนำไป

ใช้ ทีมของอาจารย์หมอนิพัธเยี่ยมมากค่ะ

เรียนคุณหมอเพ็ญศรี

ดีใจค่ะที่สิ่งที่เอามาเล่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ถ้าจำไม่ผิดคุณหมออยู่ รพ.พิจิตรใช่ไหมคะ ไม่ทราบว่าตอนนี้งานเบาหวานเป็นอย่างไรบ้าง เรากำลังจะจัด KM เบาหวาน-ความดันสูง ระดับภูมิภาค โดยให้ทีมคุณหมอนิพัธรับผิดชอบเขตภาคเหนือ หวังว่าทีมของคุณหมอคงได้มาร่วมเป็นเครือข่ายด้วยนะคะ

พี่วัลลาเก็บรายละเอียดได้ทุกแง่มุม น้บถือมากๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท