Retreat : เครือข่ายเบาหวาน (๒)


เสน่ห์ของเครือข่ายคือการใช้ความรู้มือหนึ่งนำ เป็นการให้เครดิตคนทำงาน เป็นตัวเริ่มเกาะเกี่ยว ให้เครดิตเจ้าของ มีคุณค่าทางใจ ความรู้มือสองก็มีแต่ไม่เอาไปข่ม....

ตอนที่
หลังอิ่มจากอาหารมื้อกลางวัน เกือบๆ บ่ายสอง เราย้ายทำเลไปที่ห้องประชุม ซึ่งมีลักษณะเป็นเรือนไม้ต่อจากอาคารหลังที่เป็น Lobby และห้องรับประทานอาหาร มีทางเดินเชื่อมต่อกันได้หมด ชอบใจที่เรือนหลังนี้มีระเบียงกว้าง มีเก้าอี้วางไว้เป็นจุดๆ ให้เราเลือกนั่งได้ตามสะดวก

ห้องประชุมขนาดย่อม ไม่มีโต๊ะและเก้าอี้ มีผ้าสีขาวปูทับบนพรมและมีหมอนอิงสีเข้ากับห้องวางเรียงไว้ ให้ความรู้สึกน่านอนพัก หมอนิพัธลงนอนก่อนใคร เมื่อพวกเรานั่งล้อมวงกันครบแล้ว น้องหน่อยเริ่มกิจกรรมโดยให้ทุกคนแนะนำตนเองพร้อมทำความรู้จักกับเพื่อนไปด้วย... ตบมือ ๕ ครั้งบอกชื่อตนเองและชื่อเพื่อน....มีวิธีการที่ทำให้คนท้ายๆ บอกชื่อเพื่อนหลายคนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ.....

 

ล้อมวงแนะนำตนเอง

ตามด้วยกิจกรรมนับปลาโลมา ปลาโลมาตัวที่หนึ่ง กระโดด ดึ๋ย.....ปลาโลมาตัวที่สอง......คนที่ทำพลาดซ้ำๆ เช่น โต้ง อาจารย์อารยา น้องหน่อย (คนนำทำกิจกรรม) กิจกรรมไม่ยาก สนุกสนาน หัวเราะกันจนน้ำตาไหล

กิจกรรมต่อไป คุณธวัชให้พวกเรานับ ๑, ๒ แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม ให้เลือกหัวหน้ากลุ่มละ ๓ คน แล้วแนะนำกิจกรรมกระดกกระทะพลิกไข่ เสร็จแล้วให้ลูกทีมแยกออกไปคุยกันนอกห้อง หาวิธีที่จะพลิกไข่ให้ได้มากที่สุด ได้วิธีการแล้วเขียนไว้ ส่วนกลุ่มหัวหน้าทีมให้พูดคุยหาวิธีการจากการดูการลองของจริงอยู่ในห้อง แล้วเขียนบอกไว้ (ถ้าพลิกไข่ได้ ๑ ใบ ได้ ๑ คะแนน ถ้าทำตกออกนอกกะทะ ติดลบ ๒ คะแนน)

กลุ่ม ๑ หัวหน้าทีมคืออาจารย์อารยา หมอนิพัธ และคุณธัญญา กลุ่ม ๒ คือน้องมด คุณพรรณ และหน่อย ดิฉันเป็นลูกทีมของกลุ่ม ๒ ช่วงที่พวกเราออกมาคุยกันนอกห้อง เราช่วยกันคิดวิธีการเรียงไข่ วิธีการกระดกกระทะ ให้ไข่พลิกหงายได้จำนวนมากที่สุด ได้ ๒-๓ วิธี กลุ่มของเรามีคุณอิ่มเป็นคนเขียนวิธีการพร้อมวาดรูปประกอบ โต้งไปเอาจานเล็กๆ กับเงินเหรียญมาลองว่าทำแบบไหนจึงจะ work เราหยุดกินกาแฟกับขนมกันไปพลางๆ รอให้กลุ่มหัวหน้าทีมทำงานเสร็จ

 

การทำงานของกลุ่มลูกทีม

เมื่อได้เวลาอันเหมาะสม คุณธวัชก็เรียกพวกเราเข้าห้อง แต่ให้กลุ่มหัวหน้าทีมออกไปข้างนอก ยังไม่ให้ลูกทีมและหัวหน้าทีมคุยกัน พวกลูกทีมเอาตำราที่เขียนเองเทียบกับที่หัวหน้าทีมได้เขียนไว้ ในกลุ่มของเรา (กลุ่ม ๒) สรุปว่าจะเอาทั้งวิธีการที่คิดเองและที่หัวหน้าทีมคิดไปใช้ประลองกับอีกกลุ่มหนึ่ง

 

ลูกทีมดูตำราที่หัวหน้าทีมเขียนไว้

แต่ละกลุ่มส่งลูกทีม ๓ คนออกมาประลองฝีมือสลับกัน คนที่เหลือก็คอยเชียร์ รอบนี้กลุ่มที่ ๒ มีคะแนนนำคือ ๙ คะแนน ส่วนกลุ่ม ๑ ได้คะแนนติดลบคือ - ๑๖ คะแนน

ต่อจากนั้นคุณธวัชจึงให้หัวหน้าและลูกทีมของแต่ละกลุ่มได้พูดคุยกันเรื่องวิธีการเรียงไข่ วิธีการกระดกกระทะ..... แล้วให้แต่ละกลุ่มส่งตัวแทน ๓ คนออกมาประลองกันใหม่ กลุ่ม ๑ นั้นหัวหน้าทีมลงมือเองทั้ง ๓ คน ทุกคนได้คะแนนเต็ม ๑๐ รวมเป็น ๓๐ คะแนน กลุ่ม ๒ ของดิฉันได้คะแนนเพียง ๒๓ 

 

หัวหน้าทีมและลูกทีมคุยกันว่าวิธีการแบบไหนที่น่าจะได้ผล

คุณธวัชให้พวกเราล้อมวงบอกเล่าความรู้สึกเกี่ยวกับกิจกรรมนี้ ได้ยินหลายความคิดความรู้สึก เช่น
- การเขียนถ่ายทอดไม่ยาก แต่ก็ไม่รู้ว่าคนอ่านจะเข้าใจหรือเปล่า
- อยู่ข้างนอก (ห้อง) ใช้วิธีนึกๆ เอา เพราะไม่ได้หยิบจับของจริง
- เชื่อตำราที่ (หัวหน้า) เขียน เลยทำตาม
- ไม่มั่นใจถ้าไม่ได้ลองทำเอง
- ฯลฯ

 

ล้อมวงบอกเล่าความรู้สึก

สะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้ เช่น
- เวลามีคนมาช่วยกันคิดแบบสบายๆ จะได้อะไรโดยไม่ต้องเค้น.....สิ่งที่ยากคือการถ่ายทอด
- เวลาจะทำตามตำราหรือตามใคร ควรเอามาดูให้เหมาะกับเรา (การกระดกกระทะ คนที่ถนัดซ้ายกับขวาจะทำไม่เหมือนกัน)
- การจะถ่ายทอดอะไร ต้องมีจิตใจที่จะถ่ายทอด
- อ่าน (ที่เขียนไว้) อย่างเดียว ไม่เหมือนมาคุยกัน
- ฯลฯ

 

ใครเป็นใคร ดูเอาเอง

คุณธวัชเฉลยว่ากิจกรรมนี้จะพาเข้าสู่ KM ให้อินเรื่องความรู้ปฏิบัติ...เรื่อง work instruction นั้นคนทำไม่ได้เขียน คนเขียนไม่ได้ทำ ต้องมีโอกาสให้คนได้พูดคุยกัน....ตอนทำมีมือสั่น ตำราไม่ได้เขียนไว้ว่าจะแก้มือสั่นได้อย่างไร

วกกลับมาพูดคุยกันเรื่องเครือข่ายของเรา การทำงานที่ผ่านมารู้สึกกันอย่างไรบ้าง ดิฉันพยายามจดบันทึกสิ่งที่ทุกคนพูด แต่ก็อาจจะยังไม่ครบถ้วน ดังนี้
- กติกามีน้อย มีเพียงเบาหวาน ใครจะทำอะไรก็ได้
- มีการพูดคุยกันแบบไม่เป็นทางการ
- ไม่มีการสั่งการ เป็น creative ที่เราเป็นเจ้าของ
- เรา respect กันในฐานะคนทำงาน เท่ากัน ไม่ใช่ใครเป็นแพทย์ พยาบาล นักกายภาพ ฯลฯ
- เชื่อใจ มั่นใจกัน
- ไม่ทิ้งความเป็นเพื่อน ไม่ใช่แค่งานจบก็จบกัน มีการติดต่อพูดคุยกัน
- เข้ามาแล้วรู้สึกว่ามีเพื่อนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผลักดันให้เราทำงาน
- เสน่ห์ของเครือข่ายคือการใช้ความรู้มือหนึ่งนำ เป็นการให้เครดิตคนทำงาน เป็นตัวเริ่มเกาะเกี่ยว ให้เครดิตเจ้าของ มีคุณค่าทางใจ ความรู้มือสองก็มีแต่ไม่เอาไปข่ม....
- ไม่เพียงแต่เรื่องเบาหวาน มีมิติอื่นด้วย อิสระ เชื่อใจกัน
- ไม่สั่งให้ทำอะไรที่เหนือบ่ากว่าแรง share ได้ไม่ว่าความสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ไม่มีใคร blame
- เป็นวงที่พูดได้มากกว่าเรื่องงาน
- มีใจผูกพัน
- วงนี้ให้คำตอบบางอย่างที่เราได้ประโยชน์
- ความนับถือซึ่งกันและกัน ฯลฯ

คุณธวัชบอกว่าเครือข่ายเบาหวานเหมือน Lab ของ สคส. มีการ create การทำงานบางอย่าง เช่น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีรูปแบบของการ ลปรร. กันเองที่ work ดี เช่น knowledge rally ทำให้เข้าใจการ share ลึกขึ้น

เราหยุดพักให้ทุกคนได้ชื่นชมกับธรรมชาติ และรับประทานอาหารเย็น แล้วนัดรวมตัวกันอีกครั้งตอนค่ำ

 

สนามหญ้าหน้าเรือนที่เป็นห้องประชุม

กิจกรรมช่วงท้ายของวันนี้ หมอฝน “สั่ง” ให้เราม้วนช้อน... มีพวกเราเพียง ๓ คนเท่านั้นที่ม้วนได้นิดหน่อย หมอฝนเล่าว่ากลุ่มผู้ป่วยเคยทำได้มากถึง ๘๐% ...ต่อด้วยกิจกรรมผ่อนพักตระหนักรู้ พวกเรานอนฟังหมอฝนเล่น crystal ดิฉันได้ยินเสียงคนข้างๆ กรนเบาๆ ท่าทางคงหลับสบายแน่ๆ

 

หมอฝน คนสำคัญของงานครั้งนี้

จบกิจกรรมวันแรกเกือบ ๒๑ น. เราเดินชมดาว ท่ามกลางอากาศเย็นสบาย กลับห้องพัก นัดเริ่มกิจกรรมในวันรุ่งขึ้น เวลา ๐๙ น.

 วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 322510เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2009 00:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อนุโมทนา บรรยากาศเป็นกัลยาณมิตรดีมาก

สวัสดีปีใหม่ครับอาจารย์ เห็นบรรยากาศ การประชุมแล้ว นึกถึงเรื่องเล่าครับอยากไปร่วมกิจกรรม

แต่เทอมนี้หนักเรียน สัมนากับ ตัวกำหนดสุขภาพ ต้องออกชุมชนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท