ค่ายเบาหวานที่ มวล. (๑)


เป้าหมายที่ต้องการคือกินให้ระดับน้ำตาลขึ้นช้าๆ และไม่ขึ้นสูง

มวล. ในที่นี้คือมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ การจัดค่ายเบาหวานครั้งนี้ต่อเนื่องมาจากกิจกรรมวันเบาหวานโลกเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ (อ่านที่นี่ และ ) ที่ได้เชิญหมอฝน พญ.สกาวเดือน นำแสงกุล และทีมมาเล่าเรื่องการทำงานเบาหวานของ รพ.ครบุรี เราได้สอบถามผู้เข้าประชุมว่ามีโรงพยาบาลใดสนใจที่จะเอารูปแบบของ รพ.ครบุรี ไปใช้บ้าง เมื่อได้รายชื่อมา ดิฉันได้เลือกโรงพยาบาลชุมชน ๔ แห่งจาก ๔ จังหวัดมาเข้าค่ายนำร่องเป็นรุ่นแรก ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ โดยได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ไทย) จำกัด

เรากำหนดให้ชาวค่ายมีทั้งเจ้าหน้าที่สหสาขาวิชาชีพและผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อที่จะได้เรียนรู้และเข้าใจผู้ป่วยมากขึ้น ที่ขอให้จัดทีมสหสาขาวิชาชีพมานั้น ก็เพื่อประโยชน์ในการกลับไปเคลื่อนงานต่อ ถ้าไม่กำหนดไว้เลยเกรงว่าจะมีมาแต่พยาบาล เราต้องการให้มีแพทย์มาด้วย เพราะเมื่อผู้ป่วยเข้าค่ายได้เรียนรู้และมีการปรับพฤติกรรมตนเองแล้ว หากแพทย์ไม่เข้าใจไม่ปรับยาหรืออินซูลินก็คงจะควบคุมเบาหวานได้ยาก

ชาวค่ายครั้งแรกของเราประกอบด้วยทีมจาก รพ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ข้างหน้า มวล. นี่เอง รพ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี รพ.วังวิเศษ จ.ตรัง และ รพ.ควนขนุน จ.พัทลุง รวม ๓๓ คน เป็นเจ้าหน้าที่ ๒๐ คน ผู้ป่วย ๑๓ คน ทีมใหญ่ที่สุดคือทีมของ รพ.วังวิเศษ มาทั้งหมด ๑๒ คน มีแพทย์เพียง ๑ คนจาก รพ.ท่าศาลา ที่อยู่ค่ายได้ไม่ต่อเนื่อง ถูกตามตัวกลับไปทำงานอยู่เรื่อย

ทีมวิทยากรเดินทางมาถึง มวล. เมื่อเย็นวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ประกอบด้วยหมอฝน พญ.สกาวเดือน นำแสงกุล น้องกวาง ภญ.กอบกาญจน์ ไวถนอมสัตว์ น้องสาว นางสาวหทัยรัตน์ สร้อยสละ นักกายภาพบำบัด และน้องหน่อย นางสาวคุณสุนทรีย์ ดีจำปา นักจิตวิทยา จาก รพ.ครบุรี และ อาจารย์ ดร.ชนิดา ปโชติการ จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

การเตรียมจัดค่ายเป็นการทำงาน ๓ ประสาน ทีมหมอฝนเตรียมเรื่องเนื้อหาและกิจกรรม ทีม มวล.เตรียมเรื่องสถานที่ ที่พัก รถ อาหาร คนช่วยงาน อุปกรณ์เครื่องใช้บางส่วน ประสานงานกับทุกฝ่าย ฯลฯ ทีมจอห์นสันฯ ขนของที่ต้องใช้จากทั้งครบุรีและกรุงเทพฯ มาที่ มวล. และส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยทำงานตลอดค่าย

ค่ายของเราจัดกิจกรรมที่เรือนพักรับรองริมน้ำ (อยู่ริมอ่างเก็บน้ำ) ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งมีทิวทัศน์โดยรอบสวยงามและสงบ โดยชาวค่ายพักค้างคืนที่เรือนวลัย ที่พักภายในมหาวิทยาลัยของเรา

 

สถานที่จัดค่ายและห้องประชุม

เราเปิดค่ายเมื่อเวลาประมาณ ๐๘.๓๐ น. ทีมจาก รพ.ท่าศาลามาถึงก่อนใครเมื่อเวลา ๐๘ น. กว่า ทีมอื่นๆ ทยอยตามกันมา ได้ยินว่าทีม รพ.วังวิเศษออกเดินทางกันตั้งแต่ ๐๔.๓๐ น. น่าประทับใจจริงๆ เมื่อทุกคนลงทะเบียนกันแล้ว เราแจกป้ายชื่อที่ใส่ชื่อ รพ. และรูปดอกไม้ประจำจังหวัด เขียนชื่อให้ตัวโตๆ ต่อจากนั้นจึงตรวจระดับน้ำตาลจากเลือดปลายนิ้ว เอาไว้เป็นข้อมูลพื้นฐาน ทีมของแต่ละ รพ. จะต้องนำข้อมูลผู้ป่วยแต่ละคนมาส่งด้วย

 

เจาะเลือดตอนเช้า

ดิฉันกล่าวต้อนรับชาวค่ายและแนะนำวิทยากรแบบง่ายๆ ตามด้วยกิจกรรมล้อมวงนับปลาโลมาที่เรียกเสียงหัวเราะได้ ชาวค่ายนับปลาโลมากันหลายรอบ จนถึงปลาโลมาตัวที่ ๖ น้องหน่อยชี้แจงกติกา ทำความตกลงร่วมกัน ทุกกิจกรรมที่ทำจะมีคะแนนให้แต่ละ รพ.

ต่อจากนั้นชาวค่ายได้ตอบคำถาม “คาดหวังจะได้อะไรกลับไปบ้าง” เราได้รู้ความคาดหวังของทุกคน เช่น ทีมที่มาจะเป็นแกนนำเอาไปปรับใช้, อยากได้มุมมองกว้างๆ วิธีให้ความรู้ที่ไม่ใช่การดุด่าว่ากล่าว, อยากมีความรู้เรื่องคุมน้ำตาล, อยากให้เพื่อนคนไข้เอาความรู้ไปปฏิบัติตัวให้ได้, อยากเข้าถึงใจของผู้ป่วย, อยากได้ความรู้เรื่องอาหาร เอาไปแนะนำผู้ป่วยด้วยกัน, อยากรู้รูปแบบการจัดค่าย จะได้เอาไปปฏิบัติ...ทำยังไงที่จะให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสักนิด, อยากได้ความรู้เอาไปบอกเพื่อนๆ..............ฯลฯ

 

ชาวค่าย

เมื่อทุกคนบอกความคาดหวังเสร็จ น้องหน่อยตกลงวิธีการบอกความพร้อมของชาวค่าย...คุณเป็นใคร มาทำอะไร ใครสั่งมา....พร้อมทำท่าทางประกอบ พยายามใช้ภาษาใต้แต่เสียงออกอีสาน ต้องให้ ภญ.นุชนาฎ ตัสโต ของ รพ.ท่าศาลาช่วยพูดแทน

๐๙.๕๐ น. เป็นการให้ความรู้เรื่องอาหารโดยอาจารย์ชนิดา เนื่องจากอาจารย์ต้องเดินทางกลับกรุงเทพในช่วงบ่าย เราจึงต้องเอาเรื่องอาหารขึ้นมาก่อน เราคุยกันตั้งแต่เมื่อวานว่าต้องการให้ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องใดบ้าง มากน้อยแค่ไหน อธิบายให้ง่ายๆ อย่างไร

อาจารย์ชนิดาบอกว่าอาหารบางอย่างที่เคยชอบ กลับกินไม่ได้ บางอย่างทำไมกินแล้วน้ำตาลไม่ลง แต่ละคนไม่เหมือนกัน ต้องเข้าใจตัวเราก่อน...การเจาะน้ำตาลถี่ๆ จะบอกได้ กินอย่างเดียวกัน น้ำตาลขึ้นไม่เหมือนกัน...เป้าหมายที่ต้องการคือกินให้ระดับน้ำตาลขึ้นช้าๆ และไม่ขึ้นสูง...เมื่อกินอาหาร ต้องมีรถบรรทุก (อินซูลิน) มารับเอาน้ำตาลเข้าไปในโรงงานเพื่อให้เผาเป็นพลังงาน

 

ชาวค่ายกำลังเรียนเรื่องอาหาร

พลังงานคืออะไร มีคนตอบว่าสิ่งที่ใช้ในการทำงาน ทำกิจกรรม พลังงานคือสิ่งที่ไม่มีตัวตน แต่สามารถทำงานได้ เปลี่ยนรูปร่างได้...คิดว่าตัวท่านมีพลังงานหรือเปล่า คำตอบคือมีเพราะเคลื่อนไหวได้ เหมือนรถที่วิ่งได้ พลังงานมาจากไหน...มาจากอาหาร ดังนั้นพลังงานจะไม่หาย...พลังงานได้มาจากอาหาร

อาหาร ๕ หมู่ เวลากินเข้าไปแล้วมันไปทำอะไรในร่างกาย เราไม่ค่อยได้คิด เวลากินอะไรเข้าไป จะถูกย่อย แล้วดูดซึมเข้าร่างกายเป็นกูลโคส พวกข้าวแป้งกลายเป็นน้ำตาล ให้พลังงาน เนื้อสัตว์สร้างกล้ามเนื้อ สร้างภูมิคุ้มกัน ฮอร์โมน ผักผลไม้ไปทำให้เฟืองหมุนคล่อง ไขมันเก็บสำรองไว้...

ข้าวผัดไข่ดาว มีอะไรบ้างที่เป็นแป้ง...ผักมีแป้งและน้ำตาลแล้วแต่ชนิดของผัก ไขมัน ไม่มีแป้ง จริงๆ สิ่งที่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงคือข้าวแป้ง ผลไม้ที่มีแป้งเยอะ เช่น เงาะ..ข้าว ๑ ทัพพีเท่ากับคาร์โบไฮเดรต ๑๕ กรัม เท่ากับน้ำตาล ๑ ชต. (๓ ชช.)

ควรกินผักหลายๆ สี พยายามกินให้ได้ ๕ สี อย่างน้อยหาให้ได้ ๓ สี เพราะจะไปช่วยต้านไม่ให้เซลล์เสื่อม ผัก ๑ ส่วนเท่ากับคาร์โบไฮเดรต ๕ กรัม พลังงาน ๒๕ แคลอรี่ กินได้ ๓ ทัพพี ให้น้ำตาลเท่าข้าว ๑ ทัพพี จึงกินได้เยอะ.........มีความรู้อีกเยอะที่อาจารย์ชนิดาถ่ายทอดให้ฟัง

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 337903เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2010 22:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท