คัดลอกผลงานวิชาการ : เจอเข้ากับตัวเอง


เนื้อหาถูกลอกมาทุกตัวหนังสือ แต่ไม่มีการอ้างอิงที่มา

เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา (๒๐-๒๑ สิงหาคม) ดิฉันทำงานอยู่ที่บ้านพักภายในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ช่วงนี้มีงานเอกสารให้อ่านและแก้ไขจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นโครงร่างสารนิพนธ์ของนักศึกษาระดับปริญญาโทที่ส่งมาให้ตรวจทาง e-mail

ดิฉันได้ตรวจโครงร่างสารนิพนธ์เกี่ยวกับเบาหวานเรื่องหนึ่ง อ่านไปได้เพียง ๒-๓ หน้าก็พบเนื้อหาและภาษาที่คุ้นๆ เป็นบางช่วง นึกได้ว่าน่าจะเป็นเนื้อหาจากรายงานในโครงการทบทวนองค์ความรู้เกี่ยวกับเบาหวานและน้ำตาลในเลือดสูง ที่ดิฉันและคณะจัดทำขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๔๗ โดยได้รับการสนับสนุบจากกระทรวงสาธารณสุขและมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

พอเอารายงานมาเทียบกันก็พบว่าเนื้อหาถูกลอกมาทุกตัวหนังสือ แต่ไม่มีการอ้างอิงที่มาที่ถูกต้อง ทั้งๆ ที่เนื้อหาดังกล่าวดิฉันรวบรวมมาจาก articles ตั้งหลายเรื่อง เจอแบบนี้ ๒ ท่อน ดิฉันก็เลยเลิกตรวจงานฉบับนี้ พร้อมทั้งส่ง e-mail กลับไปให้เจ้าของงานว่าขอ reject งานชิ้นนี้ เนื่องจากไปคัดลอกผลงานของดิฉันและคณะมาโดยไม่มีการอ้างอิงใดๆ

ความรู้สึกขณะนั้นเหมือนคนอกหัก เสียใจว่าเราได้แจ้งเรื่องนี้ต่อนักศึกษาหลายต่อหลายครั้งว่าเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง เราไม่ยอมรับ แล้วเหตุใดยังทำได้ แถมยังมาลอกงานของดิฉันอีก ซึ่งถ้ารู้จักการทำงานของดิฉันจะรู้ดีว่าไม่สามารถหลุดรอดสายตาไปได้แน่

วันจันทร์ที่ ๒๓ สิงหาคม ได้คุยเรื่องนี้กับอาจารย์พยาบาลคนหนึ่ง ก็ได้รับความคิดเห็นว่านักศึกษาอาจไปลอกงานของคนอื่นที่ลอกงานของดิฉันมาอีกทีก็ได้ ถ้านักศึกษารู้ว่าเป็นงานของดิฉันตั้งแต่แรกคงไม่กล้าทำ... ไม่รู้ว่าอาจารย์ท่านนี้คิดเองหรือได้ข้อมูลมาจากนักศึกษาแล้ว แต่ก็เป็นจริงดังคาด เพราะต่อมานักศึกษามาขอโทษและสารภาพผิดว่าไปลอกมาจากงาน ๒ ชิ้น มีหลักฐานมาแสดง ๑ ชิ้น อีกชิ้นหนึ่งจำไม่ได้แล้วว่าไปเอามาจากไหน

เจอจังๆ อ่านได้ที่นี่ โครงการการจัดการโรคเบาหวานในชุมชนแบบตระกูลสัมพันธ์ ของศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลตำบลปากดุก อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ได้คัดลอกผลงานของดิฉันไปใส่ในส่วนหลักการและเหตุผลตั้งแต่บรรทัดแรก จำนวนเกือบ ๔ หน้ากระดาษ A4 แล้วมาเติมข้อมูลสถานการณ์เบาหวานในตำบลปากดุกต่อท้าย... แรกๆ ก็พิมพ์เลขที่เอกสารอ้างอิงที่ดิฉันเขียนไว้ด้วย ต่อมาการอ้างอิงก็หายไป แถมดิฉันใส่ภาพแสดงจำนวนผู้ป่วยเบาหวานในภูมิภาคต่างๆ ของโลกที่อ้างมาจาก Zimmet, Shaw, Alberti, 2003 ก็ยังพิมพ์ตาม แต่ไม่มีภาพแสดง

การเข้าถึงข้อมูลและความรู้ต่างๆ ได้ง่าย จึงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

บันทึกนี้ฝากไว้เตือนใจว่าการกระทำใดๆ นั้น สามารถตรวจสอบได้เสมอ และเตือนหน่วยงานที่ส่งเสริมการทำโครงการต่างๆ ว่าต้องมีระบบในการให้ความรู้แก่คนทำงานว่าเรื่องใดควรทำและไม่ควรทำ

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 388663เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2010 22:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

โรคความมักง่ายทางวิชาการ (Plagiarlism) ในประเทศไทย เริ่มบานปลายไปทุกวงการเสียแล้วครับอาจารย์ ... หิริ โอตัปปะ เริ่มใช้ไม่ได้กับคนประเภทนี้อีกต่อไป ... ในฐานะผมอยู่ในวงการการศึกษา คนเป็นครูต้องสอนและสั่งลูกศิษย์ให้เข้าใจถึงเรื่องการละเมิดผลงานแบบนี้ให้จงดีกว่าที่เป็นอยู่นี้ครับ (แต่ครูยังลอกผลงานวิชาการมาส่งกันรึ่ม ๆ)

บทลงโทษควรชัดเจนกว่านี้..ดีไหมครับ อาจารย์ ;)

แอบเข้ามาเรียนรู้อย่างเงียบ ๆ ครับ

ขอบคุณครับ ;)

เรียนอาจารย์ Wasawat

อาจารย์ไม่ต้องมาเงียบๆ ก็ได้ค่ะ เรื่องนี้น่าหนักใจจริงๆ เราสอนนักศึกษาด้วย "ปากว่า" อย่างเดียวคงไม่ได้แล้ว ต้องมีระบบหรือมาตรการเสริม ตอนนี้คิดได้แค่ว่าส่งงานอะไรมาต้องแนบ articles ที่อ้างอิงมาด้วย (เพิ่มภาระให้อาจารย์ตรวจหนักขึ้นไปอีก)เพราะเราเจอบ่อยๆ ที่เขียนอ้างอิงมาดิบดี แต่ไม่มีรายการ articles นั้นใน List ของ References ถ้าเจออย่างนี้หากเป็นเพราะตกหล่นก็ไม่ว่ากัน แต่ที่เจอบ่อยคือไปลอกของคนอื่นมา

ครูที่ไปลอกงานคนอื่นมาส่งเอาผลประโยชน์ สมควรมีการลงโทษให้ยิ่งกว่าเด็กเสียอีกนะคะ

ใครที่เจอเรื่องแบบนี้ต้องช่วยกันเอามาเปิดเผย

วัลลา

สวัสดีอีกครั้งครับ ท่านอาจารย์ วัลลา ตันตโยทัย ;)

มาแบบค่อย ๆ ดังแล้วครับ ไม่เงียบ ๆ ;)

การสอนนักศึกษาระดับปริญญาตรีของผมจะเริ่มที่ "ใบงาน" ที่รัดกุม ดักทาง และดักคอพฤติกรรมการทำรายงานของนักศึกษาไว้ก่อนครับ ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์ของตัวผู้สอนพอสมควร เพราะว่าจะต้องปรับ "ใบงาน" ไปเรื่อย ๆ หลาย ๆ ภาคเรียนเข้าว่า

ชิ้นงานของผมส่วนใหญ่ หากต้องมีการค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ มักจะบอกอย่างชัดเจนว่า "Internet" ไม่ต้องเอามา เพราะในแวดวงแคบ ๆ ของสาขาวิชาชีพเรา เขาชอบเอาจากหนังสือมาลอกขึ้นอยู่แล้ว

หน้าที่ของนักศึกษา คือ เข้าห้องสมุด หาตัวเล่มให้เจอ อ้างอิงให้ถูกต้องทั้งในเนื้อหารายงานและบรรณานุกรรม

พบใครเอามาผิดเงื่อนไขในใบงาน ... ก็ไม่ต้องเอาคะแนนชิ้นนี้ไป พร้อมกับติด Blacklist ในใจของครูไปด้วย (อนาคตมืดมนตอนเกรดออก อิ อิ)

แน่นอนครับว่า เป็นการเพิ่มภาระผู้สอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากเป็นหน้าที่ครูแล้ว ยังเป็น "หัวใจการสอนของครู" อีกด้วย

หากอยากให้ลูกศิษย์เป็นคนดี เข้าใจโลก ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ย่อมต้องเหนื่อยแน่ ๆ ครับ แต่ก็มีความสุขครับ

แต่ก็พบเห็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ให้งานน้อยชิ้น แถมยังไม่ตรวจ แล้วให้เกรดเลยอีกต่างหาก อยู่เกลื่อนกลาดครับ (เงินเดือนรับปกติ แต่ไม่ทำหน้าที่ครู)

ได้ข่าวจากเพื่อนที่เรียน ป.เอก ที่มหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ มีกรณีถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการ หรือ วุฒิการศึกษาเหมือนกันครับ สาเหตุจากการคัดลอกหรือโจรกรรมผลงานวิชาการนี่แหละครับ

แอบไปอย่างเงียบ ๆ แล้วครับ ;)

ขอบคุณอาจารย์ Wasawat อีกครั้ง จะลองนำวิธีการของอาจารย์ไปปรับใช้ จริงอย่างที่อาจารย์ว่าถ้าเราต้องการสอนลูกศิษย์ให้เป็นคนดี ก็ต้องมีการวางแผนป้องกันไม่ให้เขาทำเรื่องที่ไม่ดี พร่ำบอกแต่ปากคงไม่ได้ผล อาจารย์มหาวิทยาลัยบางส่วนอาจจะยังไม่เข้าใจความเป็นครูมากนัก

ดิฉันคิดถึงคุณครูที่สอนเรามาตั้งแต่เด็กๆ สิ่งที่ครูสอนยังติดตัวเรา (อยู่ในวิธีคิดและการกระทำ) จนถึงปัจจุบัน แม้เวลาจะผ่านไปนานหลายปีแล้ว สิ่งนี้จึงเรียกว่าให้การศึกษา ต่างจากยุคปัจจุบันมากๆ ที่เรียนผ่านไปโดยไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้ง

ดิฉันคุยกับอาจารย์ในสาย MIT เขาก็เจอปัญหานักศึกษา ป.โท คัดลอกงานวิชาการเหมือนกัน ดิฉันอยากจะขอให้อาจารย์ทุกท่านร่วมด้วยช่วยกันป้องกันและแก้ไขปัญหา อย่าเห็นเป็นเรื่องธรรมดาว่าใครๆ เขาก็ทำกัน เพื่อสร้างลูกศิษย์ที่เป็นคนดีออกไปอยู่ในสังคม

วัลลา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท