KM สร้างเสริมสุขภาพ (๓)


กิจกรรมของเราน่าจะใช้การได้

ตอนที่

วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๓


วันนี้ถือเป็นวันเริ่มต้นจริงของการประชุม ช่วงเช้ามีพิธีเปิดโดย รศ.ดร.กอบกุล พันธ์เจริญวรกุล สมาชิกวุฒิสภา อดีตคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้เริ่มต้นแผนงานนี้ไว้ หลังพิธีเปิดท่านได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพและบทบาทของสถาบันการศึกษาพยาบาล” ฟังข้อมูลจากผู้เข้าประชุมบอกว่าท่านได้ empower พวกเรา (อ่านข่าว สสส.ที่นี่)

หลังพัก รับประทานอาหรว่าง เป็นเวทีเสาวนาเรื่อง “สร้างเสริมสุขภาพอย่างไรให้มีความสุข” มี ผศ.ดร.นิคม มูลเมือง ผู้แทนสถาบันจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นผู้ดำเนินรายการ ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย รศ.ดร.เรมวล นันท์ศุภวัฒน์ จากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นางสาวจงจิต หงส์เจริญ หัวหน้าหอผู้ป่วยเฉลิมพระเกียรติ ๑๑ โรงพยาบาลศิริราช และนางสาวนูรีดา บินมะดาโอ๊ะ นักศึกษาพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

 

วิทยากรเสวนาบนเวที

ทีมจัดงานต่างชื่มชม ผศ.ดร.นิคม มูลเมือง ที่มีเทคนิคเฉพาะตัวในการเป็นผู้ดำเนินรายการระดับมืออาชีพ ที่สามารถดึงเนื้อหาในอยู่ในวัตถุประสงค์ของหัวข้อและรักษาเวลาได้ดีเยี่ยม

 

ผู้ฟัง

ภาคบ่ายเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในฐานย่อย ซึ่งดิฉันนำรูปแบบฐานการเรียนรู้ของการประชุมมหกรรม KM เบาหวานมาปรับใช้ ก่อนเวทีครั้งนี้ก็หวั่นใจอยู่บ้างว่างานจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะฐานการเรียนรู้ครั้งนี้นำเสนอได้ยากกว่างานเบาหวานที่มีเทคนิควิธีการดูแลผู้ป่วยแบบต่างๆ ที่สามารถแสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม

ดิฉันมอบหมายทีมทำงานซึ่งเป็นอาจารย์พยาบาลจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ๕ คน รับผิดชอบกลุ่มผู้เข้าประชุมคนละกลุ่ม ทำหน้าที่ดำเนินรายการ BAR ตอนเริ่มต้นและ AAR ตอนจบกิจกรรมในฐานสุดท้าย โดยเตรียม PowerPoint ไว้ให้ใช้ได้ทุกห้อง เตรียมกระดาษรูปหัวใจ และกระดาษลงคะแนนความประทับใจไว้ให้ผู้เข้าประชุมทุกคน

วันนี้นักศึกษาจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำหน้าที่ถือป้ายนำกลุ่มและเรียกแขกให้เข้าห้องประชุม ทีมงานของ Organizer ช่วยทำหน้าที่จับเวลา ยกป้ายเตือนว่าเหลือเวลาอีก ๕ นาที เป่านกหวีดเสียงดังเป็นสัญญาณว่าหมดเวลาต้องย้ายห้องย้ายฐานกันแล้ว

ฐานการเรียนรู้ของบ่ายนี้ประกอบด้วย
ห้องที่ ๑ ขยับเส้นขยับสาย สบายชีวี ของทีมคุณจงจิต หงส์เจริญ เข้าห้องนี้ได้ออกกำลังกายกันทุกคน

ห้องที่ ๒ เรียนรู้เพศศึกษา ผ่านการดูหนัง-ฟังเพลง ของทีมอาจารย์และนักศึกษา สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย ผศ.ดร.สายฝน เอกวรางกูร และตัวแทนจากองค์การ PATH ทั้งนักศึกษาและอาจารย์ทำงานร่วมกันอย่างแข็งขัน ทั้งฝ่ายนำเสนอ ฝ่ายกองเชียร์

 

ซ้าย ขยับเส้นขยับสาย ขวา สีสันหน้าห้องเพศศึกษา

ห้องที่ ๓ Animation ชิกุนกุนยา ของทีมนักศึกษา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ที่แสดง Role play การมอบหมายงานในชั้นเรียนรายวิชาการพยาบาลเด็ก เล่าวิธีการทำงานของนักศึกษา โชว์ Animation ได้อย่างน่าประทับใจ สองรอบแรกพูดเยอะ โชว์ Animation ได้น้อย เมื่อ feedback ก็มีการปรับปรุงกันใหม่ได้อย่างทันทีทันใด

ห้องที่ ๔ กิจกรรมในองค์กรสร้างเสริมสุขภาพของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำทีมโดย ผศ.ดร.เสาวมาศ เถื่อนนาดี รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และประกันคุณภาพ เรียกแขกหลายรูปแบบ รวมทั้งการส่ายฮูลาฮุบ มีรางวัลการร่วมกิจกรรมให้ด้วย

 

ซ้าย ทีมงานชิกุนกุนยา ขวา องค์กรสร้างเสริมสุขภาพ มข.

 

ห้องที่ ๕ พาทัวร์ ศูนย์เสริมพลังสร้างสุขภาพรามาธิบดี ด้วยการนำเสนอภาพภายในศูนย์และกิจกรรมที่มี โดยทีมของ รศ.ดร.พรรณวดี พุธวัฒนะ รองคณบดีฝ่ายสร้างเสริมสุขภาพและกิจการสังคม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล วันนี้ในเวลาเดียวกันท่านติดประชุมสำคัญ จึงต้องมอบหมายผู้รับผิดชอบศูนย์ฯ ให้ดำเนินการแทน

เราให้ผู้เข้าประชุมทัวร์ทุกฐานการเรียนรู้จนครบ เสร็จกิจกรรมทั้งหมดแล้วจึงให้ดื่มน้ำชา-กาแฟและรับประทานอาหารว่างก่อนกลับบ้านหรือที่พัก ได้เห็นสีหน้าของผู้เข้าประชุมที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ก็อุ่นใจว่ากิจกรรมของเราน่าจะใช้การได้ หลายคนมาบอกว่า "...ชอบมาก" "ไม่ dry…ทีแรกจะเข้าเพียงฐานเดียวแล้วจะกลับ แต่เข้าแล้วติดใจ ตามไปจนครบทุกฐาน"

สแกนดู AAR ก็ได้รับข้อมูลที่เกินคาด คะแนนความพึงพอใจเต็ม ๑๐๐% อยู่หลายใบทีเดียว

วัลลา ตันตโยทัย

 

หมายเลขบันทึก: 395431เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2010 11:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท