ตลาดนัดความรู้ จังหวัดปัตตานี (วันที่ ๑)


ทุก รพ.ตั้งอกตั้งใจ คุยกัน discuss กันเป็นเวลานานพอสมควรกว่าที่จะประเมินตนเองพร้อมตั้งเป้าหมายในอีก ๑ ปีข้างหน้า

วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๔๙

ดิฉันตื่นนอนตั้งแต่ ๐๔.๐๐ น. เหมือนทุกครั้งของการจัดตลาดนัดความรู้ ใช้เวลาช่วงเช้าตรู่ทบทวนสิ่งที่จะต้องดำเนินการในวันนี้ ตรวจดูไฟล์ PowerPoint ที่จะต้องใช้และปรับแต่งให้เหมาะสมอีกครั้ง กว่าทุกอย่างจะเรียบร้อยก็ถึงเวลารับประทานอาหารเช้า ๐๗.๐๐ น.พอดี

ดิฉันตรวจดูรายชื่อผู้เข้าประชุมที่มาจากทุก รพ.ของจังหวัดปัตตานี (รวม PCU สอ.ด้วย) และทีมจาก รพ.สุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส พบว่าเป็นแพทย์ ๑๐ คน เภสัชกร ๑๔ คน พยาบาลวิชาชีพ ๓๘ คน นักวิชาการสาธารณสุข ๓ คน เจ้าหน้าที่บริหารสาธารณสุข ๑ คน รวม ๖๖ คน จริงๆ แล้วที่เข้าประชุมได้ตลอดงานคือ ๖๕ คน เพราะ นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ จาก รพ.สุไหงโกลก มาได้เฉพาะในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม

คนนี้ที่ชื่อคุณปั้ง วิไลวรรณ ชัยรัตนมโนกร

มีการลงทะเบียนผู้เข้าประชุมตั้งแต่ ๐๘.๓๐ น. พอถึง ๐๙.๐๐ น. เราก็เริ่มงานกันเลย คุณปั้ง วิไลวรรณ ชัยรัตนมโนกร แม่งาน ชี้แจงวัตถุประสงค์ของการประชุม หลังจากนั้นคุณอาฬสา หุตะเจริญ และคุณสุภาพรรณ ตันติภาสวศิน ก็เริ่มกิจกรรม “เปิดตัวเปิดใจ” เริ่มจากให้ผู้เข้าประชุมมาหยิบป้ายชื่อของเพื่อนจากกล่องกลางห้องแล้วไปสวมให้ถูกคน ซึ่งผู้เข้าประชุมก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว มี ๑ คนที่ยังไม่มีป้ายชื่อ อีก ๑ คนที่ป้ายชื่อยังค้างอยู่ในกล่อง และมี ๒-๓ คนที่เพิ่งเดินทางมาถึง ก็ต้องมีการสัมภาษณ์กันเล็กน้อย

หาป้ายชื่อของเพื่อน

ต่อจากนั้นคุณสุภาพรรณตั้งคำถามให้ผู้เข้าประชุมตอบว่า “มาทะเลครั้งนี้ ให้ทายว่าดิฉันคิดถึงอะไร” เป็นคำพยางค์เดียว มีคำตอบประเภท “คิดถึงแฟน” ก็มี แต่ที่ถูกต้องคือคิดถึง “หอย” เพื่อนำเข้าสู่เกมส์ “หอยเปลี่ยนฝา” โดยให้ผู้ที่จะทำหน้าที่เป็น “คุณอำนวย” และ “คุณลิขิต” เป็นได้เฉพาะตัวหอย “คุณกิจ” จะเป็นฝาหอยหรือตัวหอยก็ได้ มีการเปิดเพลงให้ทุกคนเดินเป็นวงรอบๆ ห้อง พอเพลงหยุดคุณสุภาพรรณจะให้โจทย์ เช่น “๓ ฝา ๒ หอย” เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนลงตัวที่หอยและฝาเป็นพวกเดียวกัน

หอย (ด้านใน) กับฝา (ด้านนอก)

จบเกมส์ยังมีเวลาประมาณ ๑๕ นาที ดิฉันจึงใช้เวลานี้แนะนำให้รู้จัก “เครือข่ายเบาหวาน” ว่าเราคือใคร เกิดขึ้นมาได้อย่างไร มีผลงานอะไรบ้าง เมื่อบอกให้รู้ว่าเครือข่ายของเราได้รับการสนับสนุนจาก สคส. รพ.เทพธารินทร์ และมูลนิธิเพื่อพัฒนาการบริบาลผู้ป่วยเบาหวาน ดิฉันให้ผู้เข้าประชุมทายว่า Logo ของ รพ.เทพธารินทร์เป็นรูปอะไร หลายคนทายกันต่างๆ นาๆ เป็นพระอาทิตย์ เป็นเรือ.....ต้องใบ้คำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีคนตอบถูก ได้ของรางวัลที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ไป ๑ ชิ้น

เราพักรับประทานอาหารว่าง ประมาณ ๑๕ นาที เมื่อกลับเข้ามา ดิฉันแนะนำกิจกรรมในตลาดนัดความรู้ว่ามีอะไรบ้าง อธิบายกิจกรรมในกลุ่มย่อย บทบาท “คุณอำนวย” “คุณลิขิต” “คุณกิจ” วิธีการเล่าเรื่องความสำเร็จ การฟังอย่างลึก และการตีความสกัดขุมความรู้ แล้วแบ่งกลุ่มย่อย ๘ กลุ่ม ให้เวลาตั้งแต่ ๑๐.๔๕-๑๒.๓๐ น.

บรรยากาศกลุ่มย่อย

กลุ่มย่อยช่วงแรกๆ แต่ละกลุ่มพูดคุยกันค่อยๆ แต่ดีที่ “คุณลิขิต” ทุกคนเขียนใน flipchart ตั้งแต่ต้น พอเดินกลุ่มไปสักพักก็เริ่มมีเสียงหัวเราะมาจากกลุ่มมะเขือที่มีคุณหมอยา สารี เป็นคุณอำนวย พอใกล้ๆ เที่ยงเสียงของทุกกลุ่มก็ดังขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนได้เล่าเรื่องความสำเร็จของตนเองจนครบ เราพักรับประทานอาหารกลางวันระหว่างเวลา ๑๒.๓๐-๑๓.๓๐ น. อาหารอร่อยมาก

กว่าทุกคนจะกลับเข้าห้องประชุมกันพร้อมหน้าพร้อมตาก็เกือบ ๑๔ น.แล้ว เพราะมีฝนตกลมแรง ทำให้เดินมาห้องประชุมไม่ได้ เราไม่ serious เรื่องเวลามาก เริ่มช้าเราก็จะเลิกช้า แต่ละกลุ่มผลัดกันมานำเสนอว่าในกลุ่มย่อยเมื่อเช้ามีเรื่องเล่าอะไรบ้าง แต่ละเรื่องมีขุมความรู้อะไร เราให้เวลากลุ่มละ ๕ นาที ปรากฏว่าทุกกลุ่มใช้เวลาเป็น ๑๐ นาทีหรือกว่านั้น บรรยากาศกำลังดีๆ เราจึงไม่อยากเข้มงวดเรื่องเวลามากนัก เพราะสิ่งที่แต่ละกลุ่มนำเสนอก็มีความน่าสนใจ

นำเสนอเสร็จ คุณปั้งให้เสริฟอาหารว่างในห้องประชุมเลย เราขอให้ “คุณลิขิต” แต่ละกลุ่มออกจากห้องมาช่วยกันจัดหมวดหมู่ สังเคราะห์ “ขุมความรู้” เป็น “แก่นความรู้” ส่วนที่เหลือให้ชม VCD  "คุณค่าและมูลค่าของปัญญาปฏิบัติ : บทเรียนจากโรงพยาบาลบ้านตาก"

การจัดหมวดหมู่ “ขุมความรู้” และสังเคราะห์ให้เป็น “แก่นความรู้” ในครั้งนี้นั้น มี card จำนวนมากมาย การจะจัดให้ง่ายและเร็วต้องนึกถึงเรื่องเล่าที่มีการนำเสนอก่อนหน้านี้ แล้วจะนึกออกว่าน่าจะมีแก่นความรู้อะไรบ้าง ได้แก่นความรู้มา ๘ เรื่องเท่ากับจำนวนกลุ่มพอดี เรากลับเข้าห้องประชุมอีกครั้งและให้ผู้ที่ชม VCD ตอบคำถามว่าดู VCD แล้วเห็นว่าจะนำ KM ไปใช้ได้อย่างไร ผู้ที่ตอบได้โดนใจก็ได้รับรางวัลไป ๑ ชิ้น

๑๖.๒๐-๑๗.๓๐ น. แบ่งกลุ่มย่อยตามเดิม ให้สร้างเกณฑ์ระดับความสำเร็จกลุ่มละ ๑ แก่นความรู้ ดิฉันลองยกตัวอย่างแนวของ AIDS Competence ที่เคยคุยกับ Dr.Lamboray ซึ่งเริ่มจากความตระหนักเป็นระดับต่ำสุด (ระดับ ๑) จนถึงปฏิบัติจนเป็นอัตโนมัติหรือเป็นธรรมชาติ เป็นระดับสูงสุด (ระดับ ๕) และแนะนำให้หลีกเลี่ยงการสร้างเกณฑ์แบบขั้นบันได หลายกลุ่มมีปัญหาในการทำกิจกรรมช่วงนี้ ต้องขอให้อธิบายเพิ่มเติมว่าให้ทำอะไร มีลักษณะอย่างไร (เจอปัญหานี้ทุกครั้งของการจัดตลาดนัด) แต่ทุกกลุ่มก็ช่วยกันทำงานจนเสร็จ เราตัดกิจกรรมการนำเสนอเกณฑ์ระดับความสำเร็จออกไปเพราะเวลาไม่พอ

ดิฉัน คุณอาฬสาและคุณสุภาพรรณ ช่วยกันนำเกณฑ์ที่แต่ละกลุ่มสร้างไว้มาพิมพ์เป็นเอกสารพร้อมทำแบบฟอร์มไว้ให้แต่ละ รพ.ประเมินตนเอง เรานัดทุกคนที่ห้องประชุมอีกครั้งหลังรับประทานอาหารเย็น เวลา ๑๙.๐๐ น.

๑๙.๐๐ น. ผู้เข้าประชุมมากันเกือบครบ เท่าที่นับดูอาจจะหายไปสัก ๑-๒ คนเท่านั้น เราให้แต่ละ รพ.คุยกันแล้วประเมินตนเองตามเกณฑ์ที่ช่วยกันสร้างขึ้นมา ทุก รพ.ตั้งอกตั้งใจ คุยกัน discuss กันเป็นเวลานานพอสมควรกว่าที่จะประเมินตนเองพร้อมตั้งเป้าหมายในอีก ๑ ปีข้างหน้า เรารู้สึกประทับใจอย่างยิ่งที่เห็นทีมของทุก รพ. มีความตั้งใจและเอาจริงเอาจัง

เราเอาคะแนนการประเมินตนเองมาบันทึก ตรวจสอบความถูกต้องแล้วทำแผนภูมิแม่น้ำ บันไดแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามสูตรของ สคส. หลังจากนั้น AAR ทีมวิทยากรและทีมจัดประชุม เสร็จเรียบร้อยก็เลย ๒๑.๐๐ น.ไปแล้ว

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๙

หมายเลขบันทึก: 42200เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2006 18:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 09:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมพบเอกสารธนาคารของคุณ วิไลวรรณ ชัยรัตนมโนกร ตกอยู่หน้าบ้าน ไม่ทราบว่าเป็นใคร ลอง searh หาชื่อดูพบว่า ทำกิจกรรมอยู่ในบอร์ดนี้ จึงฝากข้อความเผื่อว่ามีใครรู้จักฝากบอกเธอด้วย

ทวี

สนง.สิ่งแวดล้อมภาคที่16

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท