NKM III : วันที่สองภาคเช้า เบาหวานทั้งจังหวัดเคลื่อนไปได้ด้วย KM


หัวใจคือ “คนสำราญ งานสำเร็จ”

 

   เมื่อเย็นวันที่ ๑ ธันวาคม คุณธวัช หมัดเต๊ะ เล่าว่าบางห้องย่อยมีคนเข้าน้อย เราคิดกันว่าคงเป็นเพราะกลุ่มผู้เข้าประชุมไม่ใช่คนทำงานในเรื่องนั้นๆ โดยตรง จึงตกลงกันขอให้จัดห้องย่อยใหม่เอาเวทีออกไปเพื่อให้มีบรรยากาศเป็นกันเองให้มากขึ้น ตอนค่ำทีมวิทยากรเครือข่าย KM เบาหวานคุยกันเพื่อเตรียมการสำหรับวันรุ่งขึ้น ห้องย่อยที่ตอนแรกเราว่าเล็กไป ตอนนี้เรารู้สึกเป็นกังวลว่าจะมีคนเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนหรือเปล่า ต้องหาวิธีชวนคนเข้าห้อง เลยได้ป้ายแบบนี้มาติดหน้าห้อง
   

เช้าวันที่ ๒ ธันวาคม หลังจากฟัง รมต.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ปาฐกถาพิเศษ ดิฉันและน้องอุไรวรรณนัดวิทยากรรอบเช้ามาพบกันที่ห้อง นักศึกษาช่วยงานชื่อ “น้องน๊อต” หนุ่มน้อยหน้าตาน่ารัก ถือแฟ้มเอกสารเรียกแขกอยู่หน้าห้อง เราย้ายเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดมาที่นี่ด้วย ภก.เอนก ทนงหาญ จาก รพร.ธาตุพนม วิทยากรในภาคบ่ายช่วยทำหน้าที่ตรวจเลือดให้ด้วย มีผู้สนใจเข้าห้องนี้ในรอบเช้าไม่เต็มห้อง แต่ก็มีจำนวนพอสมควร

ส่วนหนึ่งของผู้เข้าประชุมในห้องย่อย

พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (สพช.) ให้เกียรติช่วยทำหน้าที่ moderator ในภาคเช้าให้ เริ่มด้วยถามผู้เข้าประชุมว่าเป็นใครบ้าง อยากรู้อะไร ชั่วโมงแรกทีมจากจังหวัดสกลนครคือ นพ.ปรเมษฐ์ กิ่งโก้ รอง สสจ. และคุณวัลภา เฟือยงาราช นักวิชาการสาธารณสุข ๕ PCU กุดจาน อ.คำตากล้า มาเล่าการทำงานของตน

คุณหมอปรเมษฐ์บอกว่าเบาหวานเป็นโรคที่ยิ่งทำยิ่งเยอะ ยิ่งตรวจยิ่งพบ จึงต้องมีการออกแบบระบบการดูแลที่เชื่อมโยงกันทั้งจังหวัด เมื่อรู้จัก KM ก็ได้เอาหลักการมาปรับใช้ หาวิธีการให้เจ้าหน้าที่ที่มีความรู้เรื่อง KM ไม่มากได้ถ่ายทอดความรู้ ให้คนทำมาเล่าให้ฟังให้หมดก่อน พบว่าคนทำงานมีเรื่องดีๆ เยอะ แต่เล่าไม่เป็น มีการสร้างเวทีการเล่าเรื่องตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน หาสิ่งดีๆ คนดีๆ ขึ้นทะเบียนไว้ มีการสร้างวิทยากรโดยใช้ผู้ป่วยเบาหวาน ต่อไปจะเอาเรื่องเล่าดีๆ ใส่ไว้ในสมุดประจำตัว มีเว็บบล็อก มีคลังข้อมูล ขยายคนที่ดูแลผู้ป่วยเบาหวานได้ดี ทำเป็นเครือข่าย การทำดีเพียงหน่วยเดียวไม่ดี เพราะนานๆ ไปเขาจะท้อ และยังฝากด้วยว่าเวทีสำหรับชาวบ้านต้องสม่ำเสมอ การให้คนที่เป็นเบาหวานมาเจอกัน เขาจะมีกำลังใจ เรื่องของการปรับพฤติกรรมจะหักดิบไม่ได้ ต้องใช้หลักพอเพียง คุณวัลภาได้เล่ารายละเอียดการทำงานของ PCU อย่างชัดเจน และยังเอา monofilament ที่ผลิตเองมาโชว์ด้วย คุณหมอสุพัตราเล็งไว้แล้วว่ามีโอกาสจะเชิญไปเล่าให้คนทำงานชุมชนฟัง

จากซ้ายคุณวัลภา คุณหมอประเมษฐ์ และคุณหมอสุพัตรา


ชั่วโมงที่สองในรอบเช้า น้องปั้ง คุณวิไลวรรณ ชัยรัตนมโนกร จากกลุ่มงานพัฒนาศักยภาพบุคลากรและคุณภาพบริการ สสจ.ปัตตานี และคุณอรัญญา ฤทธิเดช พยาบาลวิชาชีพ ๗ รพ.แม่ลาน มาบอกเล่าการขับเคลื่อนงานเบาหวานของจังหวัดปัตตานี เล่าที่มาที่ไปของการเอา KM มาใช้ จริงๆ ก่อนหน้านี้ได้ลองมาหลายวิธีการแล้ว รู้จาก รพ. กะพ้อที่เคยร่วมตลาดนัดความรู้ จึงเป็นที่มาของการจัดตลาดนัดความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวานจังหวัดปัตตานี  จับได้ว่าหัวใจสำคัญคือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งระหว่างกระบวนการคนจะเกิดการปิ๊งแว๊บและคิดต่อยอด จากเวทีนั้นมีการนัดกันว่าเดี๋ยวฉันจะไปดูเธอ เธอจะไปดูฉัน มีการนัดเจอกันทุกเดือน โดยมีคุณปั้งและทีม สสจ.เป็นโต้โผ ทำหน้าที่คล้ายโปโมเตอร์มวย คอยจัดเวทีให้คนมาประลอง คนที่มาต้องเป็นขาประจำ คุณปั้งบอกว่า “น้องอยากทำอะไรบอกมาแล้วพี่จะช่วย”

จากซ้ายคุณวิไลวรรณ คุณอรัญญา

อย่างช่วงถือศีลอด แพทย์ที่เป็นมุสลิมช่วยกันไปศึกษาวิธีการดูแลผู้ป่วยเบาหวานมาก่อน ทุก รพ.มาคุยกันว่าเคยทำอย่างไร ที่ถูกควรทำอย่างไร ได้เป็นแนวปฏิบัติออกมา ใครไปประชุม/อบรม/ดูงานที่ไหน ก็ต้องมาเล่าให้คนที่เหลือรู้ด้วย บางเรื่องก็กลับมา pack ทีมช่วยกันระหว่าง รพ. พยายามดึงศักยภาพของแต่ละคนมาใช้ คนฟังมองเห็นบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างทุกสาขาวิชาชีพและความเกื้อกูลกัน คุณปั้งบอกว่าหัวใจคือ “คนสำราญ งานสำเร็จ” ความสำคัญอยู่ที่ทั้งใจของพี่เลี้ยงและใจของคนทำ

คุณอรัญญาเล่าเบื้องหลังตอนที่ยังไม่รู้จัก KM ว่า เดิมทำงานกันผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็ยังคุมน้ำตาลไม่ได้ ภก.อาหามะ วาเง๊าะพูดให้ได้คิดว่า “เพราะคลินิกเราเป็นตลาดนัดตรวจน้ำตาลในเลือด” แต่พอรู้จัก KM ก็เอามาทำเข็มมุ่งและถ่ายทอดให้คนใน รพ. มีการเปิดอินเตอร์เน็ตดูข้อมูล เอาความรู้มาปฏิบัติ การสอนผู้ป่วยไม่ใช้เจ้าหน้าที่แล้ว ให้ผู้ป่วยสอนกันเอง เขาเกิดการเรียนรู้แล้วกลายเป็นผู้สอนเรา ต่อไปจะจัดเครือข่ายแลกเปลี่ยนสำหรับผู้ป่วย

ผู้ป่วยที่รักษาที่ สอ.คุมน้ำตาลได้ดีกว่าผู้ที่รักษาที่ รพ. เพราะถ้าคุมไม่ดีจะต้องไปพบแพทย์และ counseling ยากับเภสัชกรที่ รพ. “เหมือนเด็กต้องมาพบกับครูใหญ่” จึงไม่มีใครอยากไป คุณอรัญญามีเทคนิคที่ดีในการสื่อสารกับผู้ป่วย เช่น เมื่อให้ยาไปรับประทานจะไม่บอกว่าเป็นยารักษาโรค เพราะคำว่ารักษาแสดงว่าต้องหาย แต่บอกว่าเป็นยาบำรุง ซึ่งคนแก่จะชอบ เมื่อพบผู้ป่วยรายใหม่ อย่าเพิ่งไปป้อนว่าโรคนี้ไม่หาย เป็นแล้วต้องกินยา แต่จะบอกว่า “เป็นโอกาสดีของคุณจริงๆ ที่พบเร็ว บางคนมาก็เป็นอัมพาตเสียแล้ว” ผู้ป่วยก็จะมีกำลังใจและเกิดสนใจมากขึ้น

คุณอรัญญายังฝากไว้ด้วยว่าต้องทำงานให้ผู้ป่วยด้วยใจ ไม่ใช่ทำตามหน้าที่ ผู้เข้าประชุมต่างประทับใจ มี อสม.ท่านหนึ่งบอกว่าอยากให้เจ้าหน้าที่ทำงานแบบคุณอรัญญาทั้งประเทศ

คุณปั้งกล่าวตอนท้ายว่าจุดแข็งของทีมเบาหวานจังหวัดปัตตานีคือมีความเป็นพี่เป็นน้องสูง เรื่องของ KM สำคัญอยู่ที่คุณกิจต้องมีใจ ถ้าไม่มีใจเราก็เชียร์ไม่ขึ้น

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๔๙

 

หมายเลขบันทึก: 65481เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2006 12:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อ่านเพลินไปเลยค่ะ อาจารย์ ประทับใจคุณอรัญญาไปด้วย เพราะอาจารย์ถ่ายทอดออกมาได้เหมือนเราอยู่ในเหตุการณ์ด้วยเลยค่ะ ไม่ต้องเสียดายที่อยู่ในงานแต่ไม่ได้ไปร่วมฟังด้วยเลยนะคะ

ได้ความคิดว่าจะพยายามถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองพบ ออกมาให้ผู้ที่ไม่ได้ไป ได้รู้สึกเหมือนอยู่ในห้องกับเราด้วย อย่างที่อาจารย์ทำบ้างดีกว่านะคะ ขอบคุณอาจารย์ สำหรับตัวอย่างดีๆค่ะ

     ขอมาเรียนรู้ผ่านบล็อกด้วยคนนะครับ

สวัสดียามดึกคะ..อาจารย์...

กะปุ๋มตามรอยพี่โอ๋และพี่ยุทธมาคะ...วันงานกะปุ๋มอยู่ห้องข้างๆ ติดกันแต่ไม่ได้มีโอกาสแวะเข้าไปเลยคะ...คงเก็บเกี่ยวผ่าน Blog นีแล้วกันนะคะ...

ขอบคุณมากคะ...ที่ได้ร่วมซึมซับเรื่องบอกเล่าดีดีคะ

(^__^)

กะปุ๋ม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท