ฐานเรียนรู้ที่4 "รู้ทันปัญหา รู้ทางแก้ไข" งานมหกรรม KM DM-HT ปีที่4 (๑)


ทำอย่างไรที่ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้เรียนรู้กับผู้ป่วยจริง และผู้ป่วยที่เข้ามาร่วมประชุมจะต้องได้ประโยชน์จากการมาร่วมประชุมด้วย

      เล่าจากฐานที่ 4 “รู้ทันปัญหา รู้ทางแก้ไข” ในงานมหกรรมจักการความรู้ การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ปีที่4M-HT)

 โดย ภก.เอนก  ทนงหาญ ผู้เล่าเรื่อง

 

        ฐานที่ 4 เราใช้ชื่อฐานว่า รู้ทันปัญหา รู้ทางแก้ไข เป็นฐานที่มีการเตรียมตัวกันตั้งแต่คิดที่จัดมหกรรมการจัดการความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวานแต่แรก โดยทีมผู้รับผิดชอบกิจกรรมฐานนี้ คือ ดร.วัลลา ตันตโยทัย หมอฝน พญ.สกาวเดือน นำแสงสกุล หมอนก พญ.ศรัณยา สุคันธไชยวงศ์  พี่มด ภญ.ปราณี ลัคณาจันทโชติ และผมที่ช่วยกันออกแบบกิจกรรมเรียนรู้  ด้วยแนวคิดเหมือนเดิมกับทุกครั้งที่เราจัดประชุมปีที่ผ่านมาว่า ทำอย่างไรที่ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้เรียนรู้กับผู้ป่วยจริง ซึ่งเราถือว่าเป็นอาจารย์ที่ดีที่สุด มีความรู้ปฏิบัติอยู่ในตัวมากมาย  รวมไปถึงแนวคิดที่ผู้ป่วยที่เข้ามาร่วมประชุมจะต้องได้ประโยชน์จากการมาร่วมประชุมด้วย

       การเตรียมฐานเรียนรู้  มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อที่จะให้ผู้เข้าประชุมได้เรียนรู้การแก้ปัญหาให้ผู้ป่วย จากผลน้ำตาลในเลือด(SMBG) เป็นหลักร่วมกับวิถีชีวิตที่แตกต่างกันของผู้ป่วยแต่ละราย  ซึ่งเราเตรียมโดยใช้ผู้ป่วยจริงจากทุกภาคของประเทศไทยรวม 20 คน คือภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน และภาคกลาง ภาคละ 5 คน โดยผู้ป่วยทุกคนจะต้องติดตามผลน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองที่บ้าน วันละ 7 ครั้ง ติดต่อกัน 3 วัน   และในวันจริงผู้เข้าประชุมแต่ละกลุ่มจะมีผู้ป่วยอยู่ในความดูแล 1 คน ให้พูดคุยทำความรู้จักกัน พิจารณาข้อมูลชีวิต การรักษา ผล SMBG และอื่นๆ และช่วยกันทำกิจกรรมตามขั้นตอนที่กำหนดให้ในใบงาน คือ 

     ขั้นตอนที่ 1 ค้นหาว่ามีความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือดหรือไม่ ในเวลาใดบ้าง จัดลำดับความสำคัญของปัญหา

     ขั้นตอนที่ 2 ดูว่าปัญหาในข้อ 1 เกิดในเวลาใดบ้าง (เช่น ก่อนอาหาร หลังอาหาร เวลากลางคืน) เกิดขึ้นบ่อยครั้งหรือนานๆ ครั้ง

     ขั้นตอนที่ 3 สืบสวนหาสาเหตุที่เป็นไปได้ของปัญหา (ยา อาหาร และ/หรือกิจกรรมทางกาย)

     ขั้นตอนที่ 4 ลงมือแก้ปัญหา โดยต้องตกลงร่วมกับผู้ป่วย สื่อสารให้ผู้ป่วยเข้าใจเป็นอย่างดีจนคิดว่าจะสามารถนำไปปฏิบัติได้   

  • ยาที่ผู้ป่วยได้รับอยู่ มีอะไรต้องปรับเปลี่ยนบ้าง อย่างไร
  • กิจกรรมทางกายและการออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้ป่วย
  • จัดเมนูอาหารหลักและอาหารว่าง  ใน 1 วัน ที่เหมาะกับผู้ป่วย

      กิจกรรมในวันจริง เรากำหนดไว้ 4 รอบ คือวันที่ 14-15 ธันวาคม 2554 ทั้งช่วงเช้าและบ่าย โดยกำหนด ว่าผู้ป่วย 1 คน จะเข้าร่วมกิจกรรมวันละ  1 รอบ แต่พอวันจริง ผู้ป่วยบางท่านก็ต้องทำงานหนักหน่อย ถึง 2 รอบ และเพิ่มรอบอีกในวันถัดไป เนื่องจากปัญหาเรื่องการนัดแนะเวลา การขอกลับบ้านก่อน  และมีอาการไม่สบายกะทันหันเป็นต้น แต่ถึงอย่างไรเราก็ยังได้ผู้ป่วยมาจากทั่วประเทศครบ ทั้งจากพิษณุโลก จากวังวิเศษตรัง  จากครบุรีโคราช  จากรพ.เปาโลกรุงเทพ และจากสมุทรสาคร  เพื่อความหลากหลายของผู้ป่วยมากที่สุด ถึงแม้จะต้องจัดคิวกันรอบต่อรอบเลยทีเดียว

         เวลารวมทั้งหมดของกิจกรรม คือ 2 ชั่วโมงครึ่ง ดังนั้นเราจึงแบ่งกิจกรรม ให้ทั้งสนุกสนานมากที่สุด โดยยังมีสาระความรู้ที่เข้มข้น โดยต้องให้ผู้เข้าประชุมรู้สึกให้ได้ว่าเป็นการเล่นเกมส์ ไม่ใช่มาทำกรณีศึกษาผู้ป่วย  เพราะท่าทางเอาจริงเอาจังของผู้เข้าร่วมประชุมที่พร้อมเรียนรู้เต็มที่ ผมจึงใช้เวลาประมาณ 15 นาทีแรก เป็นการสันทนาการด้วยเกมส์ของทีมจาก รพร.ตุพนม ที่มีคุณวิเชียร ประภัสรางค์ และคุณวัชชิระ หล้าคำแก้ว  มาเรียกสีสันและเตรียมความพร้อม ซึ่งทำให้แต่ละกลุ่มได้ทำความรู้จักสนิทสนม พร้อมทำงานเป็นทีมกันไปด้วยในตัว  เกมส์ที่ใช้เป็นเกมส์ง่ายๆ เช่นปรบมือตามจังหวะ ทำท่าทางตามกำหนดอย่างพร้อมเพียงเป็นต้น ที่สำคัญในช่วงแรกนี้กลุ่มผู้ป่วย 10 คน ที่อยู่หน้าห้องสามารถทำได้อย่างคึกคัก และสนุกสนาน จนผู้เข้าประชุมเริ่มสงสัยไปในตัวว่ากลุ่มคนที่ใส่เสื้อทีมสีฟ้า หน้าห้องเป็นใคร

   

 

        ช่วงที่สอง ของกิจกรรม ผมใช้เวลา 5 นาที ในการแนะนำกิจกรรมที่จะทำจากนี้ไป ว่ามีกฎ กฏิกา มารยาท อย่างไรบ้าง โดยบอกว่าวันนี้เราจะมาเรียนรู้ด้วยเกมส์(ลดความจริงจัง และเครียดเกินไป)  ผ่านการสื่อสารกับผู้ป่วยตัวจริง(ที่ยืนยิ้มอยู้หน้าห้อง) ภายใต้การทำงานเป็นทีมแบบสหวิชาชีพที่เราจัดกลุ่มให้ล่วงหน้าไว้แล้ว แต่อย่างไรก็ตามถ้ามีข้อติดขัดสงสัย เราก็มีตัวช่วยให้ ซึ่งตัวช่วยจะหมายถึงผู้เชียวชาญด้านต่างที่จะคอยให้ข้อปรึกษาตอบคำถามเมื่อมีการร้องขอและต้องจ่ายเงินค่าปรึกษาครั้งละ 500 บาท  โดยมีข้อจำกัดของเกมส์คือ เรามีเงินให้กลุ่มละ 3,000 บาท ซึ่งหมายถึงจะใช้ได้แค่ 6 คำถามเท่านั้น ภายใต้เวลา และจำนวนผู้เชี่ยวชาญที่จำกัดด้วยในขณะทำกิจกรรม โดยการเตือนทั้งหมดจะมีเสียงนกหวีดเป่าเตือนเมื่อหมดเวลา   

    สิ่งที่ให้ในการเล่มเกมส์มีดังนี้ครับ

   1.ผู้ป่วยตัวจริง 1 คน พร้อมผล SMBG และประวัติการตรวจรักษาแล้วแต่กรณี

   2.ใบงานฐานที่ 4 เพื่อวิเคราะห์ปัญหาผู้ป่วยตามโจทย์

   3.ป้ายกระดาษยกเรียกหาตัวช่วย 5 ป้าย คือ แพทย์  เภสัชกร  นักโภชนาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านออกกำลังกาย  และ Educator ด้าน SMBG

   4.เงินกาโม่ มูลค่า 3,000 บาท สำหรับแลกตัวช่วย

   5.Flip chart  พร้อมปากกาเคมี  เพื่อสรุปใบงาน

 อ่านการทำกิจกรรมต่อในตอนที่๒ (คลิก)

คำสำคัญ (Tags): #km dm-ht4#เกมส์
หมายเลขบันทึก: 424800เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2011 22:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท