เรื่องเล่า..นางในวรรณคดี คติที่ได้จากนางในวรรณคดี


นางผู้เป็นแบบอย่างหญิงไทย กำเนิดเกิดไซร้ แก่ผู้เป็นกวี

คติที่ได้รับจากนางในวรรณคดี

                    นิสัยของนางในวรรณคดีแต่ละตัว จะมีลักษณะแตกต่างกัน นำไปสู่โชคชะตาที่นางจะได้รับซึ่งมีทั้งโชคดีและโชคร้าย จากเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับนางแต่ละคนนั้น ทำให้ผู้อ่านได้รับแง่คิดที่ดี สำหรับนำมาใช้เป็นคติหรือเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตได้ โดยหากว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากนิสัยที่ไม่ดี ผู้อ่านสามารถนำมาเป็นอุทาหรณ์เตือนใจไม่ทำผิดพลาด หรือหากว่านิสัยนั้นส่งผลให้เกิดเรื่องราวดี ๆ ผู้อ่านก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้

1.ความฉลาดและมีไหวพริบในการแก้ปัญหา ความฉลาดเป็นหนึ่งในคุณสมบัติเด่นของนางในวรรณคดีส่วนมาก แต่ละนางนั้นสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างชาญฉลาด ไม่แพ้ผู้ชายเลยทีเดียว อีกทั้งนางยังรู้จักวางแผนเล่ห์กลอุบายต่าง ๆ เพื่อลวงล่อคู่ต่อสู้ให้ตกหลุมพรางได้ และนางก็จะได้รับชัยชนะในที่สุด ตัวอย่างเช่น

  • นางละเวง เป็นผู้ที่มีความฉลาดและมีมานะในการเรียนรู้ นางละเวงได้ครองเมืองลังกาขณะมีอายุเพียง16ปี แต่นางก็มีขัตติยะมานะที่จะเป็นกษัตริย์ อีกทั้งนางก็มีความเฉลียวฉลาดในการทำศึกสงคราม โดยการใช้กลวิธีต่าง ๆ และท้ายที่สุดก็ประสบความสำเร็จ เพราะได้ทั้งคนรักและบ้านเมืองก็ไม่ต้องตกเป็นเมืองขึ้น จึงจะเห็นได้ว่าผู้ที่มีความฉลาดและมีมานะในการเรียนรู้นั้นจะทำอะไรก็ย่อมประสบความสำเร็จเสมอ
  • นางสุวรรณมาล เป็นผู้มีความฉลาดและมีไหวพริบในการแก้ปัญหา เช่นตอนที่นางต้องการอยู่ห่างจากพระอภัย นางจึงใช้วิธีออกบวชเพื่อพ่อของนาง ซึ่งวิธีนี้พระอภัยก็ขัดขวางไม่ได้

"ฝ่ายพระนุชบุตรีศรีสวัสดิ์     คิดจะผัดผ่อนหาอัชฌาสัย

อยู่อย่างนี้มิได้พ้นพระอภัย   จะแก้ไขขัดขวางให้ห่างกัน

เอาการบุญทูลลารักษากิจ    โปรดพระบิดาให้ไปสวรรค์

นางนิ่งนึกตรึกความเห็นงามครัน         อภิวันท์ชนนีชลีลา"

  • นางวาสิฏฐี   ใช้ปัญญาและความฉลาดของตน นำมาซึ่งสิ่งที่ตนต้องการ เช่น ให้สาตาเคียรพาพระเจ้าอุเทนไปพบองคุลิมาลซึ่งบวชเป็นพระภิกษุแล้ว กษัตริย์ก็ทรงอภัยโทษให้สาตาเคียร และนางก็ใช้ปัญญาขอให้สาตาเคียรยอมให้นางออกบวชตามที่นางต้องการ

2.ความกตัญญ ทุกยุคทุกสมัยทุกครอบครัวมักจะสั่งสอนบุตรหลานให้รู้จักสำนึกและตอบแทนบุญคุณ ให้มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ส่วนมากก็คือบุพการีนั่นเอง และสังคมก็มักจะยกย่องผู้ที่รู้จักบุญคุณคน ดังนั้นความกตัญญูของนางในวรรณคดี จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญของความคิดนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น

  • นางวันทอง เป็นผู้ที่มีความกตัญญู นางมักจะกล่าวอ้างเสมอว่า ขุนช้างมีบุญคุณต่อตน แม้ว่าวันทองไม่ได้รักขุนช้างเลยแต่เมื่อตกเป็นเมียของขุนช้างนางก็ประพฤติตนเป็นเมียที่ดี นางวันทองเป็นหญิงที่มีใจละเอียดอ่อน เมื่อได้รับการดูแลที่ดีจากขุนช้างนางก็มีความสำนึกที่จะทดแทนบุญคุณ เช่น ตอนที่ขุนช้างมีเรื่องกับจมื่นไวยจนขุนช้างต้องติดคุก นางก็จัดหาข้าวปลาอาหารไปส่งให้ในคุกด้วยตนเอง และยังรับปากจะเอาเงินทองไปช่วยติดสินบนคนข้างในให้ช่วยทูลผ่อนปรนโทษ
  • นางบุษบา เป็นลูกที่มีความกตัญญู จากชีวิตของนางสะท้อนให้เห็นภาพชีวิตของสตรีสมัยก่อนว่า ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์เมื่ออยู่กับพ่อแม่ พ่อแม่มีสิทธิ์ขาดที่จะยกให้ใครก็ได้ เช่น กรณีของนาง เมื่ออิเหนาตัดรอนไม่ยอมมาแต่งงานด้วย ทำให้ท้าวดาหากริ้วมากถึงกับประกาศว่าใครมาขอก็ให้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนต่ำศักดิ์เพียงใด ซึ่งนางบุษบาก็ยอมแต่งงานด้วยแม้ในใจจะไม่ชอบก็ตาม นางบุษบาจึงถือว่าเป็นลูกที่ดี เชื่อฟังพ่อแม่
  • 3.ความกล้าหาญ โดยธรรมชาติของผู้หญิงนั้น มักจะเป็นเพศที่อ่อนแอ หวาดระแวง ไม่เด็ดขาด ไม่ค่อยกล้าที่จะตัดสินใจตามลำพัง อย่างไรก็ตามหากมีการกล่าวกันว่า “อยุธยาไม่สิ้นคนดี”แล้ว ในงานวรรณคดีย่อมต้องไม่ขาดสตรีผู้กล้าหาญ ซึ่งนางในวรรณคดีส่วนใหญ่แล้วแต่ละนางก็มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว พร้อมที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น

    • นางสุวรรณมาลี  เป็นผู้ที่มีความกล้าหาญไม่เกรงกลัวที่จะต้องออกไปทำศึก ความกล้าหาญของนางเห็นได้ชัดเจนมากในตอนที่มีศึกเก้าทัพมาตีเมืองผลึก ซึ่งขณะนั้นพระอภัยมณีก็หลงรูปนางละเวงอยู่ นางก็ไม่เกรงกลัวที่จะออกไปสู้รบเพื่อปกป้องบ้านเมืองของนาง แม้กระทั่งนางถูกธนูบาดเจ็บ นางก็ยังคงต้องการช่วยต้านทัพโดยที่ไม่ได้คิดถึงชีวิตตนแม้แต่น้อย ซึ่งความกล้าหาญของนางสุวรรณมาลีนั้นทำให้เห็นได้ว่า ผู้หญิงไม่ใช่เป็นเพียงเพศที่อ่อนแอ แต่ผู้หญิงเข็มแข็งกล้าหาญไม่แพ้ชายเช่นกัน
    • นางละเวง ก็มีลักษณะคล้ายกับนางสุวรรณมาลี คือมีความกล้าหาญในการยกทัพต่อสู้ศัตรู นางสู้รบอย่างองอาจกล้าหาญไม่แพ้ชาย เช่น ครั้งหนึ่งนางละเวงพบโจรป่ากลุ่มใหญ่ถึงสามพันกว่าคน นางก็สู้กับโจรด้วยตัวคนเดียวอย่างกล้าหาญ โดยใช้เกาทัณฑ์ยิงได้แม่นมากเพราะฆ่าโจรได้ทุกดอก

    "นางกษัตริย์กวัดแกว่งพระแสงสู้    ถูกต้องหมู่โจรป่าแทบอาสัญ

    ลงรวนเรเหหันพัลวัน                       นางซ้ำฟันฟาดตายกระจายไป"

                        ความกล้าหาญของนางละเวงก็เป็นประการหนึ่งที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง เพราะบุคคลที่กล้าหาญย่อมเป็นที่ยกย่องชื่นชมของคนทั่วไป และยังประสบความสำเร็จในชีวิต

    • นางสีดา เป็นผู้ที่มีความกล้าหาญแตกต่างจากนางสุวรรณมาลีและนางละเวง กล่างคือนางสีดายอมลุยไฟ เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนว่าไม่ได้นอกใจพระราม ทั้งนี้เพราะนางเชื่อมั่นในความถูกต้อง กล้าหาญเด็ดเดี่ยวที่จะพิสูจน์ความจริงเพื่อรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของตน

4.ความรักนวลสงวนตัว ลักษณะของหญิงไทยที่แตกต่างจากชนชาติอื่นซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ ความรักสงวนตัว ความเป็นกุลสตรีที่มีมาตั้งแต่โบราณ ผู้หญิงมักจะเก็บตัวอยู่กับบ้าน ไม่ค่อยได้พบปะพูดคุยกับผู้ชาย แม้ว่าระยะหลังสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ซึ่งผู้หญิงนั้นจะต้องออกไปทำงานนอกบ้าน แต่ความเป็นกุลสตรีและรักนวลสงวนตัวก็ยังคงอยู่ นางในวรรณคดีเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น

  • นางบุษบา แม้ว่านางจะมีใจให้อิเหนาอยู่แล้วแต่เมื่อถูกลักพามาอยู่ในถ้ำ นางก็หาได้แสดงความยินดีไม่ เพราะนางต้องการให้อิเหนาทำตามประเพณีให้ถูกต้อง จึงพยายามบอกอิเหนาให้พานางกลับเมืองแล้วค่อยมาสู่ขอตามประเพณีเสียก่อน แสดงถึงความเป็นคนรักนวลสงวนตัว และรักศักดิ์ศรีของตนเอง

  • นางสุวรรณมาลี เป็นหญิงที่มีความรักนวลสงวนตัว นางไม่ยอมตกเป็นชายาของพระอภัยมณีโดยง่าย นางจะไม่ปล่อยตัวปล่อยใจ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สตรีทุกคนพึงมี เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของลูกผู้หญิง ดังจะเห็นได้จากที่นางใช้อุบายต่าง ๆหลอกพระอภัยมณี

5. ความรัก

ความรักนั้นมีหลายแบบ อาจเป็นความรักที่มีต่อสามี พี่น้อง หรือลูก ซึ่งมีความแตกต่างกันไป ภาพรวมของความรักนั้นโดยมากแล้วเป็นความรักที่เกิดจากความผูกพัน ความห่วงใย และมีความปรารถนาดีต่อกัน และความรักเหล่านี้เองก็ตราตรึงอยู่ในจิตใจของคนที่มีความรู้สึกรักตราบนานเท่านาน ซึ่งเราสามารถพบได้จากนางในวรรณคดี โดยแต่ละคนล้วนมีจิตใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก ความรู้สึกที่ลึกซึ้งที่มีต่อคนที่นางรักนั่นเอง

ความรักและความซื่อสัตย์ที่มีต่อสามี/คนรัก

  • นางวันทอง เป็นคนที่มีความรักและความซื่อสัตย์ต่อสามี เห็นได้จากเมื่อนางทราบข่าวว่าขุนแผนเสียชีวิตในสนามรบ แม่ของนางบังคับให้แต่งงานกับขุนช้างแต่นางวันทองไม่ยินยอมเพราะยึดมั่นในความซื่อตรงต่อสามี แต่เมื่อนางต้องตกเป็นภรรยาของขุนช้าง นางก็ทำหน้าที่ภรรยาที่ดีได้อย่างสมบูรณ์แบบ เข่น การดูแลสามี ดูแลความเรียบร้อยต่างๆในบ้าน
  •  ความรักของนางบุษบาที่มีต่ออิเหนา เป็นความรักที่ซื่อสัตย์และจงรักภักดี ดังที่นางได้พยายามจะสงวนตัวไว้เพื่ออิเหนาหลังจากที่ตกเป็นภรรยาของอิเหนาแล้ว ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดีของภรรยา และแสดงให้เห็นถึงความเป็นคนรักเดียวใจเดียวของนางบุษบา

  •  การรักและเคารพสามี เป็นคุณสมบัติที่ดีของผู้หญิง เพราะสามีจะเป็นคนช่วยปกป้องดูแลและเลี้ยงดูภรรยา นางสุวรรณมาลีก็เป็นตัวละครอีกตัวหนึ่ง ดังเห็นได้จากการที่นางขอออกบวชตามพระอภัยมณี

“ขอตามติดคิดคุณพระมุนี              เป็นหลวงชีปรนนิบัติด้วยศรัทธา

พอประโยชน์โพธิคุณประการใด                  จะตามใต้บาทาสารพัน”

  • นางสีดารักพระรามเป็นอย่างมาก นางซื่อสัตย์และมั่นคงต่อสามี ไม่คิดเป็นอื่น เนื่องจากนางสีดาเป็นหญิงรูปงาม กริยางาม ย่อมเป็นที่มายปองของผู้ชายมากมาย ถึงแม้ว่านางจะเป็นพระมเหสีของพระราม นางก้ยังมีชายอื่นมาแย่งชิงแต่นางก็ไม่สนใจชายเหล่านี้ แม้ว่านางจะตกไปอยู่ในมือของทศกัณฐ์ นางก็ไม่เคยยอมเป็นของทศกัณฐ์ ยามที่พระรามตกที่นั่งลำบากนางก็ขอให้พระลักษณ์ไปช่วย กลอนที่เห็นถึงความรักของนางที่มีต่อพระราม

แม้นตายเสียดีกว่าจากพราก     พระภัสดาธิราชรังสรรค์

จะตามไปที่ในอารัญ                  กว่าชีวันจะม้วยมรณา”

  • ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ นับตั้งแต่วินาทีแรกที่นางได้ตกหลุมรักกามนิต นางวาสิฏฐีก็ต้องเผชิญกับความทุกข์ใจตลอดมา ตั้งแต่ทุกข์ใจที่ไม่ทราบว่ากามนิตเป็นใคร เศร้าโศกเมื่อกามนิตจากไป และทุกข์หนักที่สุดเมื่อทราบว่ากามนิตได้ตายเสียแล้ว แค้นใจที่ถูกสาตาเคียรหลอก และจนถึงกับป่วยเป็นไข้ด้วยพิษรักนั้น จนเมื่อนางสลัดความรักได้ นางจึงก้าวเข้าไปสู่นิพพานในที่สุด

ความรักระหว่างพี่น้อง

  • ความรักและความผูกพันระหว่างนางบุษบากับวิยะดา ที่แม้จะไม่ได้เป็นพี่น้องกันจริงๆแต่ก็รักสนิทสนมกัน เมื่อนางต้องไปอยู่ในถ้ำที่อิเหนาจัดไว้ ก็ยังคงคิดถึงวิยะดาและให้พาวิยะดามาอยู่ด้วย แสดงให้เห็นถึงความรักที่แน่นแฟ้นซาบซึ้งไม่แพ้ความรักระหว่างหญิงชาย

ความรักและความห่วงใยที่มีต่อลูก

  • นางสีดารักพระมงกุฏและพระลบซึ่งเป็นลูกของนางสีดา ในเวลานั้นแม้นางจะประสบความยากลำบาก นางไม่เคยทอดทิ้งลูก คอยดูแล เอาใจใส่และเป็นห่วงอยู่ตลอดเวลา ดังคำกลอนที่ว่า
  • ครั้นถึงจึ่งให้เสวยนม        เชยชมด้วยความพิสมัย
  • แสนรักสุดรักดั่งดวงใจ               ในสองโอรสยิ่งนัก”
  • 6. ความอดทนอดกลั้น

    โดยทั่วไปแล้วผู้หญิงจะมีเพศที่อดทนได้มากกว่าผู้ชาย และถือว่าเป็นเพศที่มีความอดทนเป็นเลิศ คุณสมบัตินี้เป็นลักษณะที่ทำให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆไปได้อย่างราบรื่น นางในวรรณคดีไทยก็เช่นกัน ทุกคนจะมีความอดทนอดกลั้นในด้านต่างๆที่แตกต่างกันไป ซึ่งส่งผลให้ได้รับความสำเร็จในที่สุด

    • นางสีดาเป็นนางในวรรณคดีที่มีความอดทนเป็นเลิศ โดยดูได้จากการที่นางออกติดตามพระรามไปอยู่ในป่าและนางต้องอดทนต่อการใช้ชีวิตอย่างลำบากและแร้นแค้น ดังคำกลอนที่ว่า

    "ข้าขอพิสูจน์เพลิงถวาย          เบื้องบาทพระนารายณ์

    ต่อหน้าฝูงเทพเทวัญ                     กับพวกพลขันธ์วานรรังสรรค์"

                        อีกทั้งตอนที่นางสีดาถูกขับไล่ออกจากเมืองในขณะที่ตั้งครรภ์ นางต้องอดทนต่อความทุกข์ยากลำบากมากมาย

    ความอดทนของนางวันทอง เห็นได้จากการที่นางยอมไปทนทุกข์ยากลำบากกับขุนแผนในป่า นางก็ยอมทิ้งความสะดวกสบายในการอยู่กับขุนช้าง เพราะคิดว่า ขุนแผนพามาด้วยความรัก ถึงแม้ว่านางวันทองจะอาลัยอาวรณ์ในความสุขสำราญซึ่งความสุขอันนี้ย่อมมีอยู่ในปุถุชนทุกผู้ทุกนามแต่ก็สามารถเอาอำนาจความรักมาข่มความอาลัยในความสุขอันนี้เสีย เพื่อความสุขทางใจอันเป็นสิ่งที่นางปรารถนามากกว่า

  • นางวาสิฏฐี มีความพยายามอย่างไม่ลดละที่จะตามเสด็จพระพุทธองค์ไป โดยไม่ย่อท้อต่อความลำบาก และไม่แยแสต่ออาการเจ็บป่วยของตน เป็นที่น่าสรรเสริญยิ่ง

7. คติสอนใจในด้านอื่นๆ

                    นางในวรรณคดีไทยบางคน มีลักษณะนิสัยและการดำเนินชีวิตที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ซึ่งผู้อ่านสามารถนำมาดัดแปลงเป็นแง่คิดและแบบอย่าง เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันต่อไปได้ เช่น

7.1 คติที่ได้จากความมีทิฐิมานะและใจแข็งของนางละเวง

                    จะเห็นได้ว่า นางละเวงเป็นผู้มีทิฐิมานะและใจแข็ง ซึ่งลักษณะนี้ก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในจิตใจของนาง คือนางหลงรักพระอภัยมณี ซึ่งถือเป็นศัตรูของนาง จนเกือบที่จะทำให้นางต้องทุกข์ใจและสูญเสียคนรักไป เพราะความมีทิฐิของนาง แต่ในที่สุดนางก็ผ่ายแพ้ต่อความรัก ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจทำตามความปรารถนาของตนที่ถูกต้อง หากนางไม่ทำเช่นนี้แล้ว นางละเวงก็จะสูญเสียคนรักและไม่มีความสุขในชีวิต ดังนั้น จะเห็นว่าการมีทิฐิมานะไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นและไม่ใช่หนทางในการแก้ปัญหา หากแต่การแก้ปัญหาที่ดี ต้องตัดสินใจโดยใช้ความคิดที่รอบคอบ

                    แต่ใช่ว่า ความใจแข็งของนาง จะก่อให้เกิดผลเสียเพียงอย่างเดียว ความใจแข็งก็มีส่วนให้นางสามารถควบคุมความรู้สึกตนเองได้ โดยจะเห็นได้ว่านางละเวงเป็นตัวละครหญิงเพียงคนเดียวในวรรณคดีไทยที่ร่วมหลับนอนกับตัวละครชาย โดยที่ไม่สูญเสียพรหมจรรย์ “…นับว่านางเป็นผู้หญิงที่รู้จักธรรมชาติวิสัยของมนุษย์เป็นอย่างดีและสามารถควบคุมธรรมชาติวิสัยได้ทั้งของตนเองและผู้อื่น” (รื่นฤทัย สัจจพัจน์) ซึ่งเป็นข้อคิดและบทเรียนให้ผู้หญิงได้ว่า หากเรารู้จักระงับและควบคุมอารมณ์ รวมทั้งใจแข็งในเรื่องนี้แล้วนั้น ปัญหาการชิงสุกก่อนห่ามก็จะลดลง

7.2 การมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และความพากเพียรพยายามของนางละเวง

                    ผู้อ่านจะเห็นได้ว่า แม้นางละเวงจะเป็นเพียงผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่เมื่อแรกนั้น ไม่มีความรู้ในด้านการปกครองประเทศและการศึกสงครามเลย นางต้องทำหน้าที่เป็นกษัตริย์ปกครองประเทศ ซึ่งเป็นภาระอันใหญ่หลวง แต่นางก็ทำหน้าที่นี้ได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยนางต้องมีความเพียรพยายามเริ่มต้นศึกษากลศึกตั้งแต่เริ่มต้น นางต้องเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อความผาสุกของประชาราษฎร์ แต่ทั้งนี้นั้น นางก็ไม่เคยย่อท้อที่จะละทิง้ตำแหน่งและหันกลับไปใช้ชีวิตสุขสบายเยี่ยงหญิงสาวทั่วไป นางตระหนักอยู่เสมอว่า นางมีหน้าที่ต้องปกป้องชาติและศาสนาของตน ดังนั้น เราควรดูนางเป็นแบบอย่างในการรับผิดชอบต่อหน้าที่และมีความพยายาม เพื่อจะได้ประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ

๗.๓ การยึดมั่นในศาสนาของนางวาสิฐีและเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรมของนางวันทอง

  •  นางวาสิฏฐี โดยเนื้อแท้แล้วนั้นเป็นคนที่มีจิตใจดีงาม แม้บางครั้งจะมีปัจจัยภายนอกทำให้จิตใจไขว้เขวไปในทางชั่วบ้าง นางก็ยังรู้สึกได้ว่าสิ่งที่นางกำลังจะทำนั้นเป็นความชั่ว นางก็มักจะละอายใจที่จะกระทำการนั้นหรือขยะแขยงเกินกว่าที่จะฝืนใจทำลงได้ เช่น ตอนที่องคุลิมาลบอกให้นางใช้มายายั่วยวนล้วงเอาความลับจากสาตาเคียรนางก็ทำไม่ลง หรือตอนที่นางเป็นพระภิกษุณีแล้ว แต่กลับมีจิตใจหมกมุ่นอยู่กับชายหนุ่ม(กามนิต) นางก็รู้สึกอับอายมาก และไม่อยากให้ใครเห็นนางในสภาพนั้น
  • จากเรื่องขุนช้างขุนแผน จะเห็นได้ว่า นางวันทองยอมรับความทุกข์ยากที่ตนได้รับโดยไม่ปริปาก และไม่โทษว่า เป็นความผิดของผู้อื่น เพราะนางเชื่อว่า ความทุกข์ทั้งหมดเป็นผลมาจากกรรมที่นางเคยทำไว้ เมื่อขุนแผนพานางหนีเข้าป่า และต้องตกระกำลำบาก นางก็ไม่โทษขุนแผนแต่อย่างใด แต่นางคิดว่า ขุนแผนพามาด้วยความรัก ในเรื่องนี้นั้น ผู้อ่านสามารถนำมาใช้ในเวลาที่มีความทุกข์ โดยอาจคิดว่าเป็นผลมาจากกรรมที่เคยทำไว้ จะได้ไม่ยึดมั่นถือมั่นจนเกินไป รู้จักปลง แต่ก็ไม่ใช่งอมืองอเท้ารอรับผลกรรม โดยไม่คิดที่จะทำความดีเพิ่มขึ้น

                     นอกจากนี้ ผู้อ่านจะพบว่า ยังมีคติสอนใจในเรื่องอื่นๆอีกมากมายที่เราสามารภนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง เช่น การใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ โดยไม่พิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน อาจนำมาซึ่งความผิดพลาดในชีวิตได้ เช่น การที่นางวันทองโกรธขุนแผน จึงประชด โดยยอมเป็นเมียขุนช้าง

                ดังนั้น ผู้อ่านจึงสามารถนำคติสอนใจ ข้อคิด และอุทาหรณ์มาประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยทำตามเยี่ยงอย่างความดีของนางในวรรณคดีไทย ในขณะเดียวกันก็อย่าเอาอย่างความผิดพลาดของนางเหล่านี้ โดยเอาความผิดพลาดดังกล่าวมาเป็นบทเรียนในการดำเนินชีวิตต่อไป

  •  
หมายเลขบันทึก: 154937เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2007 12:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 13:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
สวัสดีครับ ภาพสุดท้ายแจ๋วมากครับ กำลังหาอยู่พอดี แต่ว่าลงภาพใหญ่ไปนิด ย่อให้พอดีกับข้อความ ก็แจ่มเลยครับ ;)
เนื้อหาน่าสนใจดีค่ะ น่านำไปเป็นแบบอย่างดีค่ะ แล้วมาอัพให้อ่านบ่อยๆนะค่ะ
อ่านแล้วเพลินดีจริงๆค่ะ
หาคนสนใจในวรรณคดีได้ยากมากครับ พอมีคนให้ความสนใจในเรื่องนี้ ผมประทับใจมากๆครับ
อ่านแล้วน่าสนใจมากเลยครับ ผมยังอยากให้ประเทศไทยมีสตรีอย่างนางในวรรณคดีเยอะเลยครับ แล้วนำมาเล่าสู่กันฟังอีกนะครับ

อ่านแล้วน่าคิดดีนะค่ะ น่าจะมีนายในวรรณคดีมาวิจารณืบ้าง

ยาวจัง แต่หนูชอบวรรณคดีค่ะ

สวัสดีค่ะ แวะมาเยี่ยมค่ะ

ได้ความรู้ด้านวรรณคดีที่ดีงาม นางในวรรณคดีมีความงามตามที่กล่าวจริง ๆ

วรรณคดีคือเรื่องค่อนข้างจริงและเป็นแนวทางในการนำมาใช้ในการดำรงชีวิตของคนปัจจุบัน

ดีมากเลยค่า หนูชอบมากเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท